สมเด็จพระพุฒาจารย์โต

ในยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมราชย์แห่งราชวงค์จักรี แม้ว่าบ้านเมืองจะอยู่ในระหว่างศึกสงคราม มีสิ่งหนึ่งที่เกิดมาเพื่อเป็นคู่บุญของพระองค์ท่าน และเป็นมิ่งขวัญในด้านศาสนาเป็นอย่างมาก นั่นคือในปี พ.ศ. 2331 จุลศักราช 1150 ปีวอก เดือน 5 ขึ้น 12 ค่ำ ตรงกับวันที่ 17 เดือนเมษายน ในปีที่กล่าวนี้ ได้เกิดอัจฉริยะบุคคลขึ้นผู้หนึ่ง บุคคลผู้นั้นเกิดที่บ้านไก่จัน (ท่าหลวง) อ. ท่าเรือ จ. พระนครศรีอยุธยาฯ

สมัยยังเป็นเด็กมารดาตั้งชื่อให้ว่า “โต” เนื่อจากมีรูปร่างบอบบางมาก และการตั้งชื่อว่าโตนั้น ก็เพื่อเป็นศิริมงคลนั่นเอง โยมมารดาของท่านชื่อ “เกศ” เป็นชาวบ้านท่าอิฐ จ. อุตรดิตถ์ ต่อมาโยมมารดาของท่านได้ย้ายมาอยู่ จ. พระนครศรีอยุธยา และได้ให้กำเนิด เด็กชาย “โต” ขึ้น ณ จัดหวัดนี้
พอเด็กชายโต อายุได้ 12 ปี ก็ได้บวชเป็นเณร ณ วัดสังเวชวิทยารามจังหวัดพระนคร พระบวรวิริยะเถระเป็นอุปัชฌา ในระหว่างที่บวชเป็นเณรอยู่นั้น เด็กชายโตหรือสามเณรโตก็มุ่งเคร่งครัดแต่ในด้านการศึกษาพระธรรม และไม่เคยด่างพล้อยในทางศาสนาเลย กล่าวคือในทางโลกนั้นสามเณรโตก็ไม่เคยเกี่ยวข้องในทางโลกีย์เลย ท่านใช้ชีวิตให้หมดไปในแต่ด้านพระธรรมเพียงอย่างเดียว ซึ่งผิดแผกไปจากสามเณรต่างๆ ที่มุ่งแต่เล่นสนุกโดยมิได้สนใจในด้านการศึกษาพระธรรมเหตุนี้เอง สามเณรโตจึงได้ย้ายมาศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดโฆสิตาราม จังหวัดธนบุรี

พอถึงปี พ.ศ. 2350 สามเณรโตก็มีอายุครบ 20 ปีจึงได้บวชเป็นพระ โดยได้รับพระราชเมตตาจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าให้เป็นนาคหลวงอุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยพระอุปัชฌาสมเด็จพระสังฆราชสุข (ไก่เถื่อน) แห่งวัดมหาธาตุ และได้รับฉายาว่า “พรหมรังสี” ตั้งแต่นั้นมา

หลังจากท่านบวชเป็นพระแล้ว ท่านก็เริ่มศึกษาพระปริยัติธรรมจนแตกฉานยากนักที่จะหาพระอาจารย์สอนได้อีก จนถึงกับกล่าวกันว่า “ท่านได้สำเร็จณาณ” จากความเชี่ยวชาญในพระปริยัติธรรมนั่นเอง ถึงกับทรงเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกให้ไปเทศน์ ณ หน้าพระที่นั่งจนเป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่งนัก และทรงรับสั่งขึ้นว่า “เทศน์ได้ไพเราะมาก” ไม่ว่าแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจะทรงโปรดเท่านั้นก็หาไม่ แม้แต่พระอนุชาซึ่งในระหว่างที่ดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรก็ทรงโปรดพระภิกษุโตเป็นอย่างมาก ถึงกับทรงพระราชทานเรือกันยาหลังคากระแชงให้ไว้ใช้ จากความโปรดปรานของพระอนุชา (รัชกาลที่ 2) ดังกล่าวมานี้ตราบจนกระทั่งถึงแผ่นดินพระสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงกับรับสั่งให้พระภิกษุโตเข้าเฝ้าและรับสั่งที่จะพระราชทานแต่งตั้งพระสมณศักดิ์ให้ แต่พระภิกษุโตกลับปฏิเสธและทูลลา

พอสิ้นแผ่นดินพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระภิกษุโตก็ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงปราศัยกับพระภิกษุโตเป็นอย่างยิ่ง จนเป็นที่พอพระราชหฤทัยแล้ว จึงได้รับคำสั่งแต่งตั้งสมณศักดิ์ให้ พระภิกษุโตก็รับ

ทำไมสมเด็จพระพุฒาจารย์โต (พรหมรังสี) จึงรับพระราชทานสมณศักดิ์

เกี่ยวกับเรื่องนี้มีเรื่องเล่าว่า ในคราวที่พระราชทานสมณศักดิ์เป็นที่พระธรรมกิติเจ้าอาวาสวัดระฆังฯ เมื่อปีพ.ศ. 2395 (ในระหว่างนั้นพระภิกษุโตมีอายุ 65 ปีแล้ว) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งถามพระภิกษุโตว่า ในแผ่นดินพระนั่งเกล้าฯ ทรงโปรดให้แต่งตั้งให้ และทำไมจึงไม่รับ แต่คราวนี้ทำไมจึงไม่หนี พระภิกษุโตจึงถวายพระพรด้วยปฏิภาณเฉียบแหลมว่า ในแผ่นดินพระนั่งเกล้าฯ นั้น ไม่ได้ทรงเป็นเจ้าฟ้า เพียงแต่เป็นพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น ท่านจึงหนีได้ แต่มหาบพิตรพระราชสมภารเจ้าทรงเป็นทั้งเจ้าฟ้าและเจ้าแผ่นดิน ท่านจึงหนีไปไหนไม่พ้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงฟังก็ทรงพระสรวล

ต่อมาในปีพ.ศ. 2397 พระภิกษุโตได้รับพระราชทานสมณศุกดิ์ เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่พระเทพกวี และในปีพ.ศ. 2409 ท่านก็ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์องค์สำคัญ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สมเด็จพระพุฒาจารย์โต (พรหมรังสี) ได้มรณภาพเมื่อปี พ.ศ. 2415 ณ วัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี รวมพระชนมายุได้ 85 ปี มีพรรษา 65 พรรษา

ที่มา หนังสือ “ปฏิมากรรมพระเครื่อง แห่งประเทศไทย”

Leave a Comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.