ประวัติ หลวงพ่อเงินพุทธโชติ

หลวงพ่อเงิน พุทธโชติ พระเกจิอาจารย์เลื่องชื่อด้านไสยเวทแห่งเมืองพิจิตร ได้รับยกย่องเป็นเทพเจ้าแห่งอำเภอโพทะเล พุทธคุณที่เล่าสืบทอดกันมา วัตถุมงคลท่านเด่นทางด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาด ให้คุณโชคลาภ เงินทองไหลมาเทมา ค้าขายเจริญรุ่งเรือง การเดินทางปลอดภัย สยบศัตรูหมู่มารทั้งปวง

หลวงพ่อเงินมีนามเดิมว่า เงิน (สมัยนั้นยังไม่มีนามสกุล) เกิดวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2353 ตรงกับวันศุกร์ เดือน 10 ปีฉลู บิดาชื่อ อู๋ เป็นชาวบ้านบางคลาน จ.พิจิตร มารดาชื่อ ฟัก ชาวอำเภอขาณุวรลักษณ์บุรี (เดิมเป็นอำเภอแสนตอ) จ.กำแพงเพชร ตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ไปอยู่กับลุงชื่อนายช่วงที่กรุงเทพฯ เข้าเรียนที่บ้านตองปุ (วัดชนะสงคราม) จังหวัดพระนคร ครั้นอายุ 12 ก็บรรพชาเป็นสามเณร ศึกษาธรรมวินัย เวทย์วิทยาการต่างๆ แตกฉาน ก่อน อุปสมบทเป็นพระภิกษุ จำพรรษาที่วัดตองปุ ร่ำเรียนวิปัสสนา 3 พรรษา จากนั้นมาอยู่วัดคงคาราม (วัดบางคลานใต้) 1 พรรษา ขณะนั้นหลวงพ่อพระอุปัชฌาย์เป็นเจ้าอาวาสอยู่ ท่านเป็นพระเรืองวิชา ชอบเล่นแร่ แปรธาตุ แต่หลวงพ่อเงินเคร่งธรรมวินัย ชอบความสงบ ท่านจึงย้ายออก

กล่าวกันว่าเมื่อจากวัดคงคารามมา ท่านปลูกกุฏิไม้ไผ่มุงหลังคาด้วยแฝกอยู่องค์เดียว และพร้อมกันนั้นได้นำกิ่งโพธิ์มาปักไว้ที่ริมตลิ่ง แล้วอธิษฐานว่า ถ้าท้องถิ่นนี้จะเจริญรุ่งเรืองเป็นอารามต่อไป ขอให้โพธิ์งอกงามแผ่กิ่งก้านสาขาเป็นนิมิตดีต่อไปด้วย เหตุการณ์เป็นจริงดังอธิษฐานไว้ คือปรากฏ วัดวังตะโก เกิดขึ้น โดยหลวงพ่อท่านสร้างเมื่อ พ.ศ.2377 วัดวังตะโก หรือวัดหิรัญญาราม เจริญอย่างรวดเร็ว มีผู้คนเคารพนับถือและถวายตัวเป็นศิษย์ ขอมาฟังธรรม ขอเครื่องรางของขลัง และขอให้หลวงพ่อช่วยรักษาโรคให้ ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์และสมณศักดิ์เป็นเจ้าคุณฝ่ายวิปัสสนา

ชื่อเสียงหลวงพ่อท่านโด่งดังอย่างยิ่ง สาธุชนเลื่อมใสศรัทธา เข้านมัสการท่านมิได้ขาดสาย เล่ากันมาว่า ครั้งที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ทรงศึกษาวิชาในสำนักหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท จนเสร็จสิ้นแล้ว ท่านได้ตรัสถามหลวงปู่ศุขถึงพระอาจารย์ทางวิทยาคม หลวงปู่ศุขตอบว่า “ยังมีอยู่รูปหนึ่งที่พิจิตร คือหลวงพ่อเงิน วัดท่านั่ง บางคลาน ที่ชำนาญทางกสิณยิ่งนัก พระองค์ท่านน่าขึ้นไปขอคำชี้แนะ” กรมหลวงชุมพรฯ จึงเสด็จไปฝากตัวเป็นศิษย์

นอกจากนั้น สมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณ วชิโรรสทรงปกครองคณะสงฆ์ ได้เสด็จไปประทับ ณ วัดบางคลานหลายครั้ง ทรงตรัสชมเชยการปกครองและระเบียบปฏิบัติของหลวงพ่อเงินเป็นอันมาก แล้วทรงสถาปนาหลวงพ่อเงินพุทธโชติ เป็นพระอุปัชฌาย์กิตติมศักดิ์ด้วย

เมื่อมาอยู่วัดวังตะโกและได้พัฒนาวัดจนรุ่งเรือง เป็นที่รู้จักกันไปทั่วว่า หลวงพ่อเงินสามารถรู้ผู้มาเยือนด้วยญาณวิเศษได้อย่างมหัศจรรย์ และยังเป็นหมอที่เชี่ยวชาญในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้อย่างชะงัด สำหรับวัตถุมงคลที่ได้รับความนิยม หลวงพ่อท่านได้สร้างและปลุกเสกไว้หลายชนิด ทั้งพระรูปหล่อ เหรียญหล่อ พระเนื้อดิน และตะกรุด โดยที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ รูปหล่อและเหรียญหล่อ รูปหล่อหลวงพ่อเงิน เป็นพระเนื้อโลหะผสมประเภททองเหลือง มี 2 พิมพ์ คือ พิมพ์นิยมและพิมพ์ขี้ตา สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ.2460 ส่วนเหรียญหล่อหรือเหรียญจอบ มีทั้งพิมพ์จอบใหญ่และพิมพ์จอบเล็ก

หลวงพ่อเงิน พุทธโชติ มรณภาพเมื่อ พ.ศ.2464 สิริอายุ 111 ปี

พระครูสมุห์พินิต

พระครูสมุห์พินิต

ท่านเป็นชาวเพชรบูรณ์ เกิดวันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 ตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 (วันวิสาขบูชา) บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 8 ขวบเศษ เป็นศิษย์หลวงพ่ออุตตมะวัดวังวิเวการาม กาญจนบุรี, หลวงพ่อพูล วัดไผ่ล้อม นครปฐม, หลวงปู่ขุ้ย วัดซับตะเคียน เพชรบูรณ์, หลวงปู่เทียน อกาลิโก(สายหลวงปู่มั่น) ชัยภูมิ, หลวงปู่สรวง เทวดาเล่นดิน และพระเกจิอาจารย์อื่นๆ ทั้งเรียนโดยตรงและเรียนจากตำราอีกเกือบ 40 ท่าน อาทิ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า, หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพธิ์, หลวงปู่รุ่ง วัดท่ากระบือ ฯลฯ ในครั้งที่ธุดงค์ในจังหวัดชัยภูมิ ได้มีโอกาสพบกับหลวงปู่เทพโลกอุดร ซึ่งท่านได้เมตตา ปรับขันธ์ธาตุทำให้เกิดความสมดุล จึงทำให้พระอาจารย์สามารถรวมวิชาคาถาอาคมต่างๆ เข้าเป็นหนึ่งเดียวกันได้ ส่งผลให้วัตถุมงคลที่ท่านอธิษฐานจิตมีพุทธคุณครอบคลุมในทุกด้านทั้งเมตตามหานิยม โชคลาภมหาอำนาจ แคล้วคลาดคงกระพันชาตรี และมหาอุด

พระอาจารย์ตี๋เล็ก ธุดงค์เพื่อปฏิบัติธรรมตั้งแต่ยังเป็นสามเณรจวบจนปัจจุบัน โดยธุดงค์ทั้งในป่าแถบเหนือ อิสาน กลาง และพม่า ในระหว่างการธุดงค์นอกจากจะพบสถานที่สงบสำหรับฝึกปฎิบัติธรรม และกำจัดกิเลสแล้ว ยังทำให้การเจริญวิปัสสนากรรมฐานของท่านเจริญรุดหน้าตามลำดับ นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสพบปะและศึกษาวิปัสสนากรรมฐานเพิ่มเติม และศึกษาวิชาอาคมกับพระอริยสงฆ์หลายรูป

ในคราวที่ท่านไปศึกษาอยู่กับหลวงปู่สรวง เทวดาเล่นดิน จ. ศรีษะเกษ เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน โดยศึกษาวิชาอาคมต่างๆ จากหลวงปู่สรวงในลักษณะที่เป็นปริศนาธรรม ซึ่งพระอาจารย์ตี๋เล็กสามารถศึกษาได้ทั้งหมด (พระธุดงค์ที่ร่วมไปด้วยได้เฉพาะวิชาอาคม) จึงทำให้วัตถุมงคลของท่านมีพุทธคุณทางเมตตามหานิยม โภคทรัพย์ และโชคลาภเป็นเลิศด้วย

ประวัติหลวงปู่คำพันธ์

ประวัติ หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ วัดธาตุมหาชัย ต.มหาชัย อ.ปลาปาก จ.นครพนม (หลวงปู่สอนธรรม)

ประวัติ หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ วัดธาตุมหาชัย ต.มหาชัย อ.ปลาปาก จ.นครพนม (หลวงปู่สอนธรรม)

๏ สถานะเดิม

พระเดชพระคุณพระสุนทรธรรมากร (หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ) อดีตเจ้าอาวาสวัดธาตุมหาชัย บ้านมหาชัย ต.มหาชัย อ.ปลาปาก จ.นครพนม “ เทพเจ้าลุ่มน้ำโขง” ผู้เรืองธรรม มีปฐวีกสิณเป็นเอก เล่นแร่แปรธาตุจนดังสนั่น ชื่อเสียงเลื่องลือ ๒ คาบฝั่งโขง เป็นสมัญญานามที่ผู้คนต่างรู้จักดี

ท่านมีนามเดิมว่า คำพันธ์ ศรีสุวงค์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๘ ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๒ ปีเถาะ ณ บ้านหมู่ที่ ๔ ต.นาแก อ.นาแก จ.นครพนม โยมบิดาชื่อ นาย เคน ศรีสุวงค์ โยมมารดาชื่อ นางล้อม ศรีสุวงค์ เป็นบุตรคนโต มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดาเดียวกัน ๒ คน คือ
( ๑) พระเดชพระคุณพระสุนทรธรรมากร ( คำพันธ์ ศรีสุวงค์)
( ๒) นาย พวง ศรีสุวงค์

วัยเด็กเป็นคนขยันขันแข็ง ช่วยโยมบิดา-มารดาทำนา อุปนิสัยเป็นคนเรียบง่าย เรียบร้อย พูดน้อย จบการศึกษาภาคบังคับ ป. ๔ จากโรงเรียนบ้านโพนคู่ ต.พุ่มแก อ.นาแก จ.นครพนม

๏ การบรรพชาและอุปสมบท

วันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๕ (อายุ ๑๗ ปี) ได้เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดศรีบุญเรือง บ้านหนองหอย ต.นาแก อ.นาแก จ.นครพนม โดยมีพระอาจารย์เชื่อม เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากบรรพชาแล้ว ก็ได้ศึกษาอักษรธรรม และหนังสือสูตรคามแบบโบราณ ในขณะเดียวกันก็ได้ฝึกปฏิบัติกัมมัฎฐานควบคู่ไปด้วย

หลังจากบรรพชาเป็นสามเณรได้ ๓ พรรษา ก็ออกเดินธุดงค์ทรงกรดไปที่จังหวัดเลย พร้อมกับพระภิกษุ ๒ รูป คือ พระภิกษุบุญ และพระภิกษุวัน ก่อนหน้าที่จะได้ฝึกปฏิบัติกัมมัฏฐานนั้น เคยได้รับความรู้เรื่องกัมมัฏฐานมาจาก ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ซึ่งท่านไปอบรมสั่งสอนประชาชนที่วัดโพนเมือง จ.อุบลราชธานี

ท่านพระอาจารย์เสาร์ ให้แนวทางในการปฏิบัติกรรมฐานไว้ว่า “ ให้กำหนดลมหายใจเข้า-ออก” และได้ให้ข้อคิดต่อไปอีกว่า “ ร่างกายของคนเรานั้นเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง มันทำงานอยู่ตลอดเวลา ลมหายใจเข้า-ออกนั้น มีความสำคัญมาก ถ้าลมไม่ทำงานคนเราจะตายทันที ดังนั้นจึงจำเป็นต้องกำหนดลมหายใจ”

นอกจากนั้นท่านพระอาจารย์เสาร์ยังได้ย้ำอีกว่า “ ให้คนเราตีกลองคือขันธ์ ๕ ให้แตก” ซึ่งก็หมายความว่า ท่านให้ทำความเข้าใจขันธ์ ๕ ให้จงดี ให้เข้าใจตามสภาพที่เป็นจริง

หลวงปู่ได้ศึกษาภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติกับท่านพระอาจารย์เสาร์ประมาณ ๑ ปี และได้ยึดแนวทางของท่านเป็นแนวทางในการปฏิบัติเรื่อยมา นับแต่นั้นต่อมาก็ได้ไปศึกษาและปฏิบัติธรรมร่วมกับ อาจารย์ครุฑ ซึ่งเป็นพระขาว (ปะขาว) และได้รับความรู้ในเรื่องการปฏิบัติธรรมจากท่านอาจารย์ครุฑนี้เพิ่มเติมเป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นหลวงปู่คำพันธ์ก็ได้นำเอาแนวทางการปฏิบัติของอาจารย์ทั้ง ๒ มาเป็นแนวทางปฏิบัติกัมมัฎฐาน

หลวงปู่ได้จำพรรษาอยู่ที่จังหวัดเลย เป็นเวลา ๑ พรรษา หลังจากนั้นได้เดินธุดงค์ไปยังจังหวัดเชียงราย ประมาณ ๓-๔ เดือน ต่อมาได้รับข่าวโยมบิดาได้เสียชีวิตลง หลวงปู่จึงได้เดินทางกลับมาทำบุญงานศพบิดาและมาอยู่จำพรรษาที่บ้านเดิม คืออำเภอนาแก

พ.ศ. ๒๔๗๘ อายุ ๒๐ ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ และเริ่มศึกษาพระปริยัติธรรม

พ.ศ. ๒๔๘๒ อายุ ๒๔ ปี มารดาก็ถึงแก่กรรม เวลานั้นเหลือน้องผู้หญิง ๒ คน ซึ่งยังเล็กมาก จึงได้ลาสิกขาบทออกไปเลี้ยงดูน้อง

วันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๘ อายุ ๓๐ ปี ได้กลับเข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุอีกครั้ง ณ พัทธสีมาวัดโพธิ์ชัย บ้านพุ่มแก ต.พุ่มแก อ.นาแก จ.นครพนม ได้รับนามฉายาว่า “ โฆสปัญโญ” ซึ่งแปลว่า “ ผู้มีปัญญาระบือไกล” และได้ออกไปจำพรรษาที่วัดป่าเป็นเวลา ๓ พรรษา

ต่อมาก็ได้ปฏิบัติกัมมัฏฐานพร้อมเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมด้วย ที่วัดพระพุทธบาทจอมทอง บ้านหนองหอยใหญ่ ต.นาแก อ.นาแก จ.นครพนม

หลังจากนั้นได้เดินธุดงค์ไปยังสถานที่ต่างๆ ในเขตจังหวัดนครพนม จังหวัดสกลนคร จังหวัดอุดรธานี จังหวัดหนองคาย และข้ามไปฝั่งลาวประมาณ ๓-๔ เดือน แต่ไม่ได้จำพรรษา แต่กลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านเดิม อยู่ประมาณ ๓ ปี และญาติโยมชาวบ้านก็นิมนต์ท่านให้เข้ามาอยู่จำพรรษาที่วัดบ้าน เพื่อโปรดญาติโยมชาวบ้านบ้าง หลังจากออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ก็ออกเดินธุดงค์ต่อ จนอายุถึง ๔๐ ปี จึงหยุดเดินธุดงค์ แต่ก็พยายามศึกษาปฏิบัติธรรมกัมมัฎฐานมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน

พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้นำญาติโยมประมาณ ๕ ครอบครัว จากบ้านหนองหอยใหญ่ ต.นาแก อ.นาแก มาสร้างบ้านและวัดใหม่ที่โนนมหาชัย ให้ชื่อบ้านว่า “ บ้านมหาชัย” ในปัจจุบันนี้ และได้สร้างวัดใหม่ คือ “ วัดธาตุมหาชัย” ( เดิมชื่อ วัดโฆษการาม) จนเจริญรุ่งเรืองตราบถึงปัจจุบั

๏ การศึกษา

พ.ศ. ๒๔๗๒ สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ที่โรงเรียนบ้านโพนดู่ บ้านโพนดู่ ต.พุ่มแก อ.นาแก จ.นครพนม

พ.ศ. ๒๔๗๙ อายุ ๒๒ ปี สอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี สำนักเรียนคณะจังหวัดนครพนม วัดพระพุทธบาทจอมทอง บ้านหนองหอยใหญ่ อ.นาแก จ.นครพนม

พ.ศ. ๒๔๘๘ อายุ ๓๐ ปี สอบไล่ได้นักธรรมชั้นโท สำนักเรียนคณะจังหวัดนครพนม วัดพระพุทธบาทจอมทอง บ้านหนองหอยใหญ่ อ.นาแก จ.นครพนม

พ.ศ. ๒๔๘๙ อายุ ๓๑ ปี สอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก สำนักเรียนคณะจังหวัดนครพนม วัดพระพุทธบาทจอมทอง บ้านหนองหอยใหญ่ อ.นาแก จ.นครพนม

๏ การศึกษาพิเศษ

– ได้ศึกษาอักษรธรรม อักษรขอม อักษรไทยน้อย อ่านเขียนได้คล่องแคล่ว และมีความชำนาญมาก

– ทรงจำพระปาฏิโมกข์ได้แม่นยำ เป็นพระผู้สวดพระปาฏิโมกข์ในวันทำสังฆกรรมอุโบสถ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๐ เรื่อยมา

๏ ความชำนาญการ

– มีความชำนาญการแสดงพระธรรมเทศนาโวหาร บรรยายธรรม เทศนาธรรม และเทศนาธรรมแบบปุจฉาวัสัชนา ๒ ธรรมาสน์ จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วเขตอีสานเหนือ ยากที่จะหาพระธรรมกถึกรูปอื่นเสมอเหมือนในสมัยนั้น

– มีความชำนาญการเทศนาธรรม ทำนองแหล่ภาษาอีสาน มีความสามารถในการประพันธ์กลอนแหล่ทำนองอีสานได้ เช่น กลอนอัญเชิญพระเวสสันดรเข้าเมือง, พระเวสสันดรทรงพบพระประยูรญาติ, พระเวสสันดรลาป่า, นางมัทรีเดินป่า เป็นต้น

– เป็นพระวิปัสสนาจารย์ใหญ่ สายพระอาจารย์ เสาร์ กนฺตสีโล พระอาจารย์ มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ ฝั้น อาจาโร ให้การอบรมวิปัสสนากรรมฐานประจำที่วัดป่ามหาชัย

วัดป่ามหาชัย เป็นวัดที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ ใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมประชาชน เมื่อปี ๒๕๒๙ เป็นต้นมา และได้พระภิกษุจากอาวาสต่างในจังหวัดนครพนม สนใจแนวทางการปฏิบัติกรรมฐาน เข้ามาเรียนรู้และลองปฏิบัติ เกิดความเข้าใจในหลักพระกรรมฐาน ได้นำไปเผยแผ่ในเขตอาวาสของตน การปฏิบัติธรรมกรรมฐาน ได้แพร่หลายในจังหวัดนครพนม จนถึงปัจจุบัน และยังได้นำพาศิษยานุศิษย์ จัดปฏิบัติธรรมกรรฐานในสถานที่ต่างๆ

วัดป่ามหาชัย จึงเป็นวัดต้นแบบของการฝึกปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ในเขตจังหวัดนครพนม (ประวัติวัดป่ามหาชัย)

– มีความชำนาญการด้านนวัตกรรม การออกแบบก่อสร้างเสนาสนะ ทั้งงานไม้ งานปูน โดยเป็นผู้นำในการก่อสร้างกุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ และพระธาตุมหาชัย (การก่อสร้างครั้งแรกๆ ทำเองทั้งหมด เพราะสมัยนั้นไม่มีช่างผู้ชำนาญการ และเงินงบประมาณมีไม่เพียงพอ)

๏ ลักษณะนิสัยทั่วไป

พระเดชพระคุณหลวงปู่เป็นพระมหาเถระ ที่มีอัธยาศัยใจคอกว้างขวาง เยือกเย็น มีความเมตตา กรุณาต่อศิษยานุศิษย์ ตลอดถึงญาติโยมทุกคนที่เข้าหาท่าน ใครก็ตามที่มีปัญหา หรือมีความทุกข์เข้าหาท่าน จะได้รับการต้อนรับจากท่านอย่างดียิ่ง เสมอกันหมด ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใครก็ตาม ต่อครูบาอาจารย์และพระเถระที่อาวุโสกว่า หลวงปู่จะแสดงอาการอ่อนน้อมถ่อมตนเสมอ โดยไม่เคยจะแสดงอาการแข็งกระด้างใดๆ เลย ด้วยเหตุนี้หลวงปู่จึงเป็นที่เคารพนับถือของศิษยานุศิษย์และญาติโยมโดยทั่วไปเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้แล้ว หลวงปู่ก็ยังเป็นพระเถระที่มีความตั้งใจมั่นคงหนักแน่นอีกด้วย จะเห็นได้จากการที่ท่านตั้งใจจะทำสิ่งใดแล้ว จะต้องทำสิ่งนั้นให้สำเร็จให้จงได้ คงเป็นเพราะความตั้งใจจริงและความตั้งใจมั่นคงนี้เอง ที่ทำให้หลวงปู่ทำสิ่งใดก็สำเร็จลุล่วงด้วยดี และรวดเร็วเกินความคาดหมายทุกประการ

ตัวอย่างเช่น พระธาตุมหาชัย, อุโบสถวัดธาตุมหาชัย, กำแพงล้อมรอบวัดธาตุมหาชัย และกุฏิสงฆ์หลังใหม่ ๒ หลัง ซึ่งสิ่งก่อสร้างแต่ละอย่างล้วนแต่ใช้ค่าก่อสร้างจำนวนมากทั้งสิ้น เมื่อคณะศรัทธาญาติโยมที่มีความเคารพนับถือในตัวหลวงปู่ได้ทราบ ต่างก็มีจิตศรัทธาช่วยกันสละกำลังทรัพย์มาช่วยในรูปของกฐินบ้าง ผ้าป่าบ้าง จนงานก่อสร้างดังกล่าวสำเร็จรวดเร็วเกินคาด

อีกประการหนึ่ง โดยอุปนิสัยแล้ว หลวงปู่ท่านถือการปฏิบัติกัมมัฏฐานเป็นประจำนับตั้งแต่อุปสมบทพรรษาแรก จนกระทั่งมรณภาพ

๏ การมรณภาพ

พระเดชพระคุณพระสุนทรธรรมากร (หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ) ได้ละสังขารอย่างสงบในกุฏิจำพรรษา ด้วยโรคชราภาพ ประกอบกับมีโรคประจำตัวหลายอย่างแทรกซ้อน หลังจากอาพาธมานานหลายปี เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๖ เวลาประมาณ ๐๑.๕๙ น. ณ วัดธาตุมหาชัย สิริรวมอายุได้ ๘๙ พรรษา ๕๙ สร้างความสลดโศกเศร้าให้แก่บรรดาลูกศิษย์ลูกหาที่ใกล้ชิด ตลอดจนพุทธศาสนิกชนทั่วไปที่เลื่อมใสศรัทธาหลวงปู่เป็นอย่างยิ่ง วันนี้…หลวงปู่คำพันธ์ พันธุ์ไม้มีแก่นในตัว ไม่โอ้อวด ไม่ยึดติด ท่านสิ้นใจแต่ไม่สิ้นธรรม

ที่มา http://watpamahachai.com/d1.htm

ประวัติหลวงพ่อโสธร

ประวัติหลวงพ่อโสธร

หลวงพ่อโสธร วัดโสธรวรารามวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา
หลวงพ่อโสธร มีการเล่าขานกันสืบต่อมาว่า ในสมัยล้านช้าง – ล้านนา เศรษฐีพี่น้อง 3 คน ซึ่งอาศัยอยู่ทางเหนือมีจิตเลื่อมใสศรัทธาจะสร้างพระพุทธรูปเพื่อเสริมสร้าง บารมีและเพื่อพูนผลานิสงส์ จึงได้เชิญพราหมณ์มาทำพิธีหล่อพระพุทธรูปปางต่างๆ ตามวันเกิด อันมีปางสมาธิ ปางสะดุ้งมาร และปางอุ้มบาตร แล้วทำพิธีบวงสรวงชุมนุมเทวดาตามโหราศาสตร์ เพื่อทำพิธิปลุกเสกด้วยอันเชิญเข้าสู่วัด

ในกาลต่อมาได้เกิดยุคเข็ญ ขึ้น พม่าได้ยกทัพมาตีไทยหลายครั้งหลานหน จนครั้งสุดท้าย คือ ประมาณครั้งที่ 7 ก็ตีเมืองแตก และได้เผาบ้านเผาเมืองตลอดจนวัดวาอารามต่างๆ หลวงพ่อ 3 พี่น้อง จึงได้ปรึกษากันเห็นว่าเป็นสถานการณ์ขับขัน จึงได้แสดงอภินิหารลงบนแม่น้ำปิง แล้วล่องมาทางใต้ตลอด 7 วัน จนกระทั่งมาถึงแม่น้ำเจ้าพระยาตรงบริเวณที่ปัจจุบันเรียกว่า “สามเสน” จึง ได้แสดงอภินิหารลอยให้ชาวบ้านชาวเมืองเห็น ชาวบ้านนับแสนๆ คน ได้ทำการฉุดหลวงพ่อทั้ง 3 องค์ ถึง 3 วัน 3 คืน ก็ฉุดไม่ขึ้น ตำบลนั้นจึงได้ชื่อว่า “สามแสน” ซึ่งได้เพี้ยนเป็น “สามเสน” ในภายหลัง

หลวง พ่อได้ลอยต่อไปตามลำน้ำบางปะกง เลยผ่านวัดโสธรไปจนถึงใต้คุ้งน้ำใต้วัดโสธร แล้วแสดงอภินิหารให้ชาวบ้านเห็นอีก ชาวบ้านได้ช่วยกันฉุดก็ยังไม่สำเร็จ จึงได้เรียกหมู่บ้านและคลองนั้นว่า “บางพระ” ต่อจากนั้น ก็ลอยทวนน้ำวนอยู่หัวเลี้ยวตรงกองพันทหารช่างที่ 2 สถานที่ลอยวนอยู่นั้นจึงเรียกว่า “แหลมหัววน” และคลองก็ได้ชื่อว่า “คลองสองพี่น้อง” มาจนทุกวันนี้ ต่อ จากนั้นพระพุทธรูปองค์พี่ใหญ่ได้แสดงอภินิหารลอยไปถึงแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม ชาวประมงได้ช่วยกันอาราธนาท่านขึ้นประดิษฐานไว้ ณ วัดบ้านแหลมมีชื่อเรียกกันว่า “หลวงพ่อบ้านแหลม” อีกองค์หนึ่งได้แสดงปาฏิหาริย์ล่องเข้าไปในคลองบางพลี ชาวได้อาราธนาขึ้นประดิษฐานที่วัดบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ มีชื่อเรียกว่า “หลวงพ่อโตบางพลี” พระพุทธรูปองค์สุดท้าย หรือหลวงพ่อโสธรนั้น ได้แสดงอภินิหารลอยมาขึ้นที่หน้าวัดหงส์ ชาวบ้านได้พยายามฉุดขึ้นฝั่งหลายครั้งหลายหน แต่ก็ไม่สามารถอัญเชิญหลวงพ่อขึ้นจากน้ำได้ จนกระทั่งมีอาจารย์ผู้มีความรู้ ทางไสยศาสตร์ผู้หนึ่ง ได้ตั้งศาลเพียงตาาบวงสรวงเอาสายสิญจน์คล้องกับพระหัตถ์พระพุทธรูป และเชิญชวนประชาชนทั้งชาวไทยชาวจีนพร้อมใจกันจับสายสิญจน์ จึงสามารถอาราธนาขึ้นฝั่งได้โดยง่ายใช้คนไม่กี่คน และนำมาประดิษฐานที่วิหารวัดหงส์ได้เป็นผลสำเร็จตามประสงค์เมื่อวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 5 ซึ่ง สันนิฐานว่าน่าจะอยู่ในราวปี พ.ศ.2313 อันเป็นสมัยต้นกรุงธนบุรีนั้นเอง

พระพุทธโสธรเป็นพระ พุทธปฎิมากรปางสมาธิ ประทับอยู่เหนือรัตนบังลังก์ 4 ชั้น ซึ่งปูลาดด้วยผ้าทิพย์ อันมีความหมายถึงการอยู่สูงสุด เป็นพุทธเหนือ พระอริยบุคคล 4 คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์

ตาม ตำนานกล่าวว่า พระพุทธโสธรเดิมเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยสำริดอย่างสวยงามแต่ต่อมา พระสงฆ์ในวัดเห็นว่ากาลต่อไปภายหน้า คนที่กิเลสแรงกล้าจะลักไป เพื่อประโยชน์ส่วนตัว เพื่อความปลอดภัย จึงพอกปูนเสริมให้ใหญ่หุ้มองค์จริงไว้ภายใน

พุทธลักษณะขององค์ หลวงพ่อโสธรที่ปรากฏในปัจจุบันจึงเป็นแบบปูนปั้น ลงรักปิดทองพระวรกายแบบเทวรูป พระพักตร์แบบศิลปะลานนา พระเกตุมาลาแบบปลี อันหมายถึงความอยู่เป็นสุขตามคติของชาวจีน ข้อพระกรข้างขวา มีกำไรรัดตรึง เป็นเครื่องหมายถึงความอาทรห่วงใย ที่หลวงพ่อทรงมีต่อสาธุชน ผู้เคารพบูชาในองค์ท่าน ทรงจีวรแนบเนื้อ มีความกว้างของพระเพลา 3 ศอก 5 นิ้ว (1 เมตร 65 เซนติเมตร ) สูง 1 เมตร 98 เซนติเมตร ขณะนี้ในวัดมีพระพุทธรูปบนแท่นฐานชุกชีทั้งหมด 13 องค์ องค์พระพุทธโสธรคือองค์ที่อยู่ตรงกลาง

เวลาเปิด – ปิด พระอุโบสถหลังใหม่
วันธรรมดา 07.00 – 16.30 น.
วันเสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดต่างๆ 07.00 – 17.00 น.

ครูบาศรีวิชัย

ครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นที่รู้จักกันทั่วไป โดยเฉพาะในเขตล้านนาว่าเป็น “ตนบุญ” หรือ “นักบุญ” อันมีความหมายเชิงยกย่องว่า เป็นนักบวชที่มีคุณสมบัติพิเศษ หรือที่มีการเรียกท่านว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัย พระครูบาศรีวิชัย ครูบาศีลธรรม หรือ ทุเจ้าสิริ (อ่าน “ตุ๊เจ้าสิลิ”) ในขณะที่ท่านเองมักเรียกตนเองว่า พระชัยยาภิกขุ หรือ พระศรีวิชัยชนะภิกขุ