พระนางจามเทวี

พระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรหริภุญไชย ชาติกำเนิดของพระนางจามเทวี มีที่มาจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน ทั้งจากตำนาน พงศาวดารและหลักฐานอื่น ในตำนานจามเทวีวงศ์ กล่าวว่าพระนางเป็นธิดาของกษัตริย์แห่งกรุงละโว้ ได้เดินทางพร้อมพระสงฆ์ผู้ทรงพระไตรปิฏกและช่างผู้มีฝีมือหลากหลายประเภท 500 คน จากเมืองละโว้ สู่นครหริภุญไชย (อ้างอิงจาก จามเทวีวงศ์ ตำนานมูลศาสนา และมูลศาสนา สำนวนล้านนา) อีกสำนวนหนึ่งซึ่งเป็นมุขปาฐะ สำนวนพื้นบ้าน กล่าวว่า พระนางจามเทวีนั้นทรงมีชาติกำเนิดเป็นชาวหริภุญไชยมาแต่เดิม โดยเป็นบุตรีของคหบดีผู้หนึ่ง นามว่า อินตา ส่วนมารดาไม่ทราบชื่อ ทั้งสองเป็นชาวเมงคบุตร อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านหนองดู่ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ได้มีการบันทึกตามพระชาตาพระนางจามเทวีเมื่อแรกประสูติไว้ว่าตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะโรง พ.ศ. ๑๑๗๖ เวลาจวนจะค่ำ

พระนางจามเทวีไปสู่ราชสำนักละโว้

เมื่อพระนางจามเทวีเจริญพระชนมายุได้ ๑๓ พรรษา ใกล้จะรุ่นสาว ได้สำเร็จซึ่งวิชาการทั้งหลายเป็นการบริบูรณ์แล้ว ท่านสุเทวฤๅษีจึงได้ผูกดวงและตรวจสอบชะตา ทราบว่ากุมารีผู้เป็นบุตรบุญธรรมของท่านจะมีวาสนาเป็นถึงจอมกษัตริย์ ปกครองบ้านเมืองอันใหญ่โตซึ่งจะรุ่งเรืองไปในภายภาคหน้า จึงตกลงใจว่าจะต้องส่งเด็กหญิงไปสู่ราชสำนักเพื่อรับการอภิเษกขึ้นเป็นเชื้อพระวงศ์ให้สมควรแก่การที่จะได้เป็นใหญ่ต่อไป และที่เหมาะสมในสายตาท่านฤๅษีคือ ราชสำนักแห่งกรุงละโว้ ซึ่งเป็นราชสำนักที่เจริญรุ่งเรืองที่สุดแห่งหนึ่งในสุวรรณภูมิเวลานั้น

ท่านสุเทวฤๅษีจึงได้เนรมิตแพขึ้น ส่งกุมารีน้อยล่องไปตามน้ำจากเมืองเหนือ โดยพญากากะวานรและบริวารจำนวนหนึ่งโดยสารแพไปด้วย อีกทั้งยังฝากหนังสือไปฉบับหนึ่งเพื่อกราบทูลพระเจ้ากรุงลวปุระว่ากุมารีน้อยนี้จะไปช่วยละโว้ประหารศัตรู เด็กหญิงและวานรทั้งหลายล่องตามลำน้ำไปเป็นเวลานานหลายเดือนจึงเข้าสู่เขตกรุงลวปุระ ประชาชนชาวละโว้สองฝั่งลำน้ำได้โจษขานถึงแพเล็กๆ นี้ด้วยความประหลาดใจครั้นถึงท่าน้ำหน้าวัดชัยมงคล แพเนรมิตก็มิได้ล่องตามน้ำต่อไปกลับลอยวนเวียนอยู่บริเวณนั้น ชาวบ้านเห็นเหตุเป็นอัศจรรย์และต่างพากันชื่นชมเด็กหญิงซึ่งมีผิวพรรณผุดผ่องน่ารักน่าเอ็นดูอย่างยิ่ง ความทราบถึงบรรดาขุนนาง จึงได้ไปตรวจดูที่ฝั่งน้ำ เห็นความจริงประจักษ์แก่ตาจึงรีบกลับเข้าพระราชวังกราบบังคมทูล พระเจ้าจักวัติ ผู้ครองกรุงลวปุระให้ทรงทราบทันที

เจ้าแผ่นดินกรุงลวปุระได้เสด็จไปยังท่าน้ำหน้าวัดชัยมงคลพร้อมด้วยมเหสีในทันทีนั้น เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นความเป็นไปทั้งหมด พระองค์ทรงมีรับสั่งให้ทหารที่ตามเสด็จชะลอแพเนรมิตเข้าสู่ฝั่ง แต่เหตุการณ์อันไม่มีใครคาดคิดก็บังเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง กำลังของเหล่าทหารแห่งกรุงลวปุระไม่อาจชักลากแพเข้าสู่ท่าน้ำได้ ไม่ว่ากษัตริย์จะมีพระบัญชาให้เพิ่มจำนวนทหารมากขึ้นสักเท่าใดก็ตาม การณ์อันเป็นไปโดยอัศจรรย์ดังนี้ ทำให้เจ้าแผ่นดินทรงประจักษ์แจ้งแก่พระปรีชาญาณว่า กุมารีแรกรุ่นในท่ามกลางฝูงวานรบนแพนี้คงจะเป็นผู้มีบุญญาธิการมากมาย และแพนั้นก็คงจะเป็นแพวิเศษที่สามัญชนจะไปแตะต้องมิได้ พระองค์จึงเสด็จจากที่ประทับพร้อมด้วยพระมเหสีและทรงยึดเชือกที่ผูกแพนั้นไว้ด้วยพระหัตถ์ของทั้งสองพระองค์

และแล้วเหตุอัศจรรย์ก็บังเกิดขึ้นอีกเป็นคำรบสาม พระเจ้ากรุงลวปุระและพระมเหสีเพียงแต่ทรงชักเชือกนั้นด้วยแรงเฉพาะสองพระองค์ แพวิเศษก็ลอยเข้าสู่ท่าน้ำได้โดยง่าย และดูราวกับเทพยดาฟ้าดินจะทรงอำนวยพรให้แก่ประพฤติเหตุอันอัศจรรย์นี้ เพราะเมื่อแพวิเศษลอยเข้าเทียบท่าน้ำ ได้มีฝนโปรยปรายเป็นละอองบางเบา ยังความสดชื่นแก่ทุกคนในที่นั้น ประชาชนทั้งสองฝั่งลำน้ำได้เห็นต่างก็พากันชื่นชมพระบารมีของทั้งสองพระองค์ และสรรเสริญบุญญานุภาพของกุมารีน้อยไปทั่วทั้งพระนคร

พระเจ้ากรุงละโว้และพระมเหสีได้รับกุมารีน้อยไว้ด้วยความเสน่หาอย่างยิ่ง พระมเหสีนั้นถึงกับเสด็จเข้าไปสวมกอดและจุมพิตกุมารีตั้งแต่แรกขึ้นสู่ฝั่ง พระเจ้ากรุงละโว้ผู้เต็มไปด้วยความปิติในพระหฤทัยได้ทรงน้ำกุมารีผู้น่ารักขึ้นประทับบนราชรถ และต่างพากันเสด็จเข้าสู่ราชสำนักกรุงลวปุระท่ามกลางประชาชนที่มาเฝ้าชมพระบารมีสองข้างทางด้วยความชื่นชมยินดีโดยทั่วหน้า

พระธิดาแห่งกรุงลวปุระ

ในราชสำนักกรุงละโว้ กุมารีได้รับการผลัดเปลี่ยนฉลองพระองค์ให้งดงามสมพระเกียรติ ครั้นแล้วได้เสด็จสู่ท้องพระโรงอันเป็นที่ประชุมเหล่ามุขมนตรีเสนาอำมาตย์ทั้งหลาย กษัตริย์และพระมเหสีก็เสด็จออกประทับบนพระบัลลังก์ มีพระราชดำรัสให้พระราชครูพยากรณ์ดวงชะตาของเด็กหญิง พระราชครูได้คำนวณกาลชะตาโดยละเอียดแล้วถวายคำพยากรณ์ว่า “ขอเดชะ กุมารีน้อยผู้นี้เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งบุญญานุภาพและพระบารมีอันยิ่งใหญ่ ต่อไปภายหน้าจักได้เป็นถึงจักรพรรดินีครองแว่นแค้น ปรากฏพระเกียรติยศเกริกไกรไปทั่ว แม้ว่าพระราชาและเจ้าชายพระองค์ใดได้เสกสมรสด้วยก็จักเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยรัตนะทั้ง ๗ ประการอย่างแน่นอน”

พระเจ้ากรุงละโว้ทรงทราบดังนั้นก็ทรงเปี่ยมด้วยความโสมนัสอย่างยิ่ง เพราะได้ประจักษ์แก่พระปรีชาญาณว่าเทพยดาฟ้าดินได้ประทานกุมารีผู้นี้แด่พระองค์และกรุงลวปุระ ทั้งพระองค์เองและพระมเหสียังมิได้ทรงมีพระโอรสธิดา จึงทรงมีพระราชโองการให้จัดพระราชพิธีอภิเษกกุมารีวีขึ้นดำรงพระยศเป็นพระธิดาแห่งกรุงละโว้และได้ทรงเฉลิมพระนามใหม่ประกาศไว้ในพระสุพรรณบัฏว่า เจ้าหญิงจามเทวี ศรีสุริยวงศ์ บรมราชขัตติยนารี รัตนกัญญา ลวะปุรีราเมศวร
ตำนานว่า วันประกอบพิธีอภิเษกนั้นเป็นวันที่ ๓ ภายหลังพระนางจามเทวีเสด็จเข้าสู่ราชสำนักลวปุระ ตรงกับวารดิถีอาทิตยวารขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะเมีย พุทธศักราช ๑๑๙๐ เวลานั้นทรงมีพระชนมายุได้ ๑๔ พรรษา เจ้าหญิงพระองค์แรกแห่งนครลวปุระทรงถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นปฐมว่า
“ข้าฯ ขอกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันพิทักษ์รักษากรุงละโว้ว่าข้าฯ จะเป็นมิตรที่ดีต่อท่านทั้งหลาย จะขอปกปักษ์พิทักษ์รักษาอาณาจักรละโว้ด้วยชีวิต จะปฏิบัติทุกทางที่จะยังความสุขให้ทั่วพระราชอาณาจักรแห่งนี้”

สิ้นพระราชดำรัส ปวงเสนาอำมาตย์และพสกนิกรทั้งหลายต่างพากันแซ่ซ้องถวายพระพรพระธิดาพระองค์ใหม่ ทั้งราชสำนักและบ้านเมืองกระหึ่มด้วยเสียงมโหรีปี่พาทย์ที่บรรเลงเพลงสรรเสริญ มีการบังเกิดพระพิรุณโปรยปรายเป็นละอองชุ่มเย็นไปทั่วเมืองละโว้เป็นกาลอัศจรรย์อีกครั้งหนึ่ง
ภายหลังพระราชพิธีอภิเษก พระเจ้ากรุงละโว้ได้พระราชทานพระธิดาในพระเจ้าทศราชแห่งกรุงรัตนปุระ ๒ พระองค์ คือ เจ้าหญิงปทุมวดี และ เจ้าหญิงเกษวดี ให้เป็นพระพี่เลี้ยงคอยถวายการดูแลพระธิดาพระองค์ใหม่ รวมทั้งเป็นผู้ถวายการสอนวิชาศิลปะศาสตร์แขนงต่างๆ เพิ่มเติมแก่พระธิดาน้อยด้วย

สงครามชิงเจ้าหญิงจามเทวี

เจ้าหญิงจามเทวีได้เสด็จประทับในราชสำนักกรุงลวปุระ และเจริญพระชันษาขึ้นโดยเป็นที่รักใคร่เสน่หาของพระราชา พระมเหสี พระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนเสนาอำมาตย์และประชาชนชาวละโว้ทั้งหมด เวลาได้ล่วงเลยจนพระองค์ทรงเจริญพระชนมายุได้ ๒๐ พรรษา ปรากฏว่าทรงมีพระสิริโฉมงดงามเป็นที่เลื่องลือไปยังทุกอาณาจักรอันใกล้เคียง พระปรีชาญาณและบุญญานุภาพแห่งพระองค์นั้นก็แผ่ไพศาล เป็นที่หมายปองของเจ้าครองนครต่างๆ

ความงดงามในพระรูปแห่งพระองค์หญิงจามเทวีนั้น เป็นที่เล่าลือกันว่าไม่มีหญิงใดจะทัดเทียมทั้งสิ้น ดังมีบรรยายไว้ในตำนานต่างๆ ว่า
“ดวงพระพักตร์เป็นรูปไข่ พระเนตรดำซึ้งเป็นแวววาวและต้องผู้ใดแล้วยังผู้นั้นให้งงงวยไปด้วยพิษเสน่หา พระขนงโก่งเรียวยาวประดุจคันธนูขณะน้าวสาย พระนาสิกโด่งคมสันรับกับพระพักตร์ ริมพระโอษฐ์แดงระเรื่อดุจชาดป้าย พระทนต์เรียบขาวสะอาดเป็นเงางามดุจไข่มุก ขณะยุรยาตรพระวรกายอันอ่อนไหวให้ชวนพิศ เวลาก้าวพระบาทนั้นประดุจพระนางหงส์เมื่อเยื้องย่างกราย พระวรกายหอมดังกลิ่นดอกบัวหลวง หาสตรีใดเทียบมิได้”

พระเจ้ากรุงละโว้ทรงพระดำริว่าพระธิดาของพระองค์ทรงมีพระชันษาสมควรที่จะเสกสมรสแล้ว จึงได้ทรงกำหนดให้เจ้าหญิงจามเทวีทรงหมั้นหมายกับ เจ้าชายรามราช แห่งนครรามบุรี ซึ่งอยู่ใกล้กรุงลวปุระ ตามตำนานเจ้าชายรามราชนั้นทรงเป็นพระญาติของพระเจ้ากรุงละโว้ และทรงมีพระจริยาวัตรดีงามเหมาะสมกับเจ้าหญิงจามเทวีอยู่ วันที่ประกอบพระราชพิธีหมั้นตรงกับวันพฤหัสบดี ข้างขึ้น เดือน ๖ พุทธศักราช ๑๑๙๖ เจ้าผู้ครองนครทั้งหลายต่าง พากันส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายเป็นเกียรติแก่พระราชพิธีดังกล่าวอย่างมโหฬาร ภายหลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีแล้ว ก็มีมหรสพสมโภชกันอย่างเอิกเกริกในกรุงละโว้ เป็นที่รื่นเริงสนุกสนานแก่ไพร่บ้านพลเมืองทั่วไปโดยถ้วนหน้า

แต่แล้ว เรื่องยุ่งยากก็เกิดขึ้นในปีนั้นเอง เมื่อเจ้าชายแห่งนครโกสัมพีได้ส่งพระราชสาส์นพร้อมเครื่องราชบรรณาการมากมายมาถวายพระเจ้ากรุงลวปุระ พร้อมทั้งแจ้งความประสงค์จะขอเจ้าหญิงจามเทวีไปเป็นพระชายาเพื่อเป็นเกียรติแก่นครโกสัมพี ซึ่งเป็นนครใหญ่เหมาะสมด้วยศักดิ์ศรีแห่งพระนาง พระเจ้ากรุงละโว้ได้ทรงตอบสสาส์นนั้นไปตามความเป็นจริงว่าทรงหมั้นเจ้าหญิงจามเทวีไว้กับเจ้าชายรามราชแล้ว การณ์กลับกลายเป็นว่าเจ้าชายแห่งโกสัมพีทรงลุแก่โทสะ ทรงมีพระดำริว่ากรุงละโว้คงไม่ประสงค์จะมีสัมพันธไมตรีกับกรุงโกสัมพีเสียแล้ว จึงทรงรวบรวมกองทัพโดยความช่วยเหลือของพระญาติ พระวงศ์ และพระราชาแห่งกลิงครัฐที่เป็นพันธมิตร ทำให้กองทัพของพระองค์เป็นกองทัพใหญ่มีกษัตริย์เป็นผู้นำทัพทั้งสิ้น ในราวเดือนอ้าย ปลายปี พ.ศ. ๑๑๙๖ กองทัพนี้ได้ยกเข้าโจมตีนครรามบุรีเป็นอันดับแรก อาจเป็นเพราะความแค้นหรือนครนั้นอยู่ในเส้นทางการเดินทัพก่อนจะถึงละโว้ก็เป็นได้

แน่นอน กองทัพที่รักษานครรามบุรีนั้นไม่มีความหวังที่จะต้านทานข้าศึกที่ยกพลมามากมายขนาดนั้นได้ เจ้าชายรามราชต้องทรงนำกองทหารเท่าที่มีตั้งรับข้าศึกไว้เพื่อประวิงเวลา และส่งสาส์นขอความช่วยเหลือจากกรุงลวปุระอย่างเร่งด่วนที่สุด

ทางละโว้เมื่อทราบข่าวก็จัดประชุมกันโดยทันที บรรดาแม่ทัพนายกองได้ถวายความเห็นแก่พระเจ้ากรุงละโว้ว่า ไม่น่าจะทำศึกกับกองทัพโกสัมพีเพราะว่าเป็นกองทัพขนาดใหญ่มาก เสนาบดีต่างๆ ก็กราบบังคมทูลว่า เห็นทีคราวนี้จะต้องรับไมตรีจากเจ้าชายแห่งโกสัมพีเสียแล้ว แต่ในท่ามกลางความอกสั่นขวัญแขวนของทุกคนในที่ประชุม เจ้าหญิงจามเทวีซึ่งประทับอยู่ในที่นั้นด้วยได้ทรงมีพระดำรัสว่า “น่าจะต้องเข้าร่วมสงคราม”

ทุกคนในที่นั้นล้วนตกตะลึงพรึงเพริด แม้แต่พระบิดาและพระมารดา เจ้าหญิงผู้ทรงพระสิริโฉมแห่งลวปุระตรัสต่อไปอย่างเด็ดเดี่ยวว่า พระองค์จะทรงนำทัพเอง เวลานั้นพระมเหสีจึงรีบทัดทานว่า เป็นหญิงจะนำทัพไปออกศึกได้อย่างไร พระธิดาก็ตรัสตอบว่า “หากว่าหม่อมฉันไม่ออกศึกเสียเอง กรุงลวปุระซึ่งเป็นเมืองใหญ่ก็จะเป็นที่ครหาต่อไปได้ อีกทั้งเหล่าประเทศราชจักต้องแข็งข้อเพราะเห็นว่าละโว้อ่อนแอ ปัญหาต่างๆ จะบังเกิดตามมาอีกมากมายนัก และที่สำคัญยิ่ง คือ กองทัพของโกสัมพีที่ยกมาครั้งนี้เป็นทัพกษัตริย์ เจ้าชายแห่งละโว้จะทำศึกก็ไม่มี จึงสมควรที่พระบิดาเจ้าจะพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ลูกหญิงของพระองค์ออกกระทำศึกจะเป็นการเหมาะสมแก่พระเกียรติยศของบรรดากษัตริย์ที่ทรงนำทัพมานั้นด้วย”

ด้วยจำนนต่อเหตุผลนั้น และพระเจ้ากรุงละโว้ทรงระลึกได้ว่าเมื่อแรกรับพระธิดาองค์นี้เข้าวัง ทราบความที่ท่านสุเทวฤๅษีฝากมาว่าพระธิดาพระองค์นี้จะมาช่วยบำราบอริราชศัตรู และจากเหตุการณ์ที่ล่วงมาแล้วก็แสดงว่า พระธิดานี้ทรงมีบุญญาธิการแก่กล้านัก เห็นทีศัตรูจะทำอันตรายมิได้เป็นแน่ พระเจ้ากรุงละโว้และพระมเหสีทรงอนุญาตให้พระธิดาทรงจัดทัพจากกรุงลวปุระไปช่วยเจ้าชายรามราชและโปรดฯ ให้นิมนต์สมเด็จพระสังฆราชเจ้าและพระสงฆ์ผู้ทรงสมณศักดิ์เข้ามายังพระอาราหลวงโดยพร้อมกันเพื่อประกอบพิธีถวายพระพรชัยเจ้าหญิงจามเทวีเสียก่อน

จากนั้นเจ้าหญิงจามเทวีทรงมีรับสั่งให้ขุนศึกทั้งหลายเตรียมทัพทันที ทรงให้พระพี่เลี้ยงทั้งสองช่วยกันจัดทัพหน้าเป็นชาย ๒๐๐๐ คน หญิง ๕๐๐ คน รวมกับพญากากะวานรและบริวารทั้ง ๓๕ ตัวที่ติดตามมาจากระมิงค์นคร เมื่อการจัดทัพสำเร็จเสร็จสิ้น พระนางจามเทวีเสด็จประทับเบื้องหน้าทวยทหารทั้งปวง ตรัสว่า “เพื่อปิตุภูมิ เราจะขอทำหน้าที่และยอมสละชีวิตก่อนท่านทั้งหลาย แต่ถ้าผู้ใดไม่เต็มใจไปราชการด้วยครั้งนี้เราจะไม่เอาโทษ จะปลดปล่อยทันที”
บรรดาทหารได้ยินรับสั่งเช่นนั้นก็พากันโห่ร้องถวายพระพรกันเซ็งแซ่ ทุกคนถวายสัตย์ปฏิญาณว่า จะขอตายเพื่อพระนางและผืนแผ่นดินละโว้โดยไม่มีใครคิดจะหนีจากการสู้รบเลย กองทัพของเจ้าหญิงจามเทวีนี้แม้จะมีไพร่พลไม่สู้มาก แต่ไม่นานต่อมาก็ได้กำลังสมทบจากกองทัพนครต่างๆ ที่มีสัมพันธไมตรีกับกรุงละโว้มาแต่เดิม ตามตำนานว่ากองทัพจากพันธมิตรที่มาช่วยกรุงละโว้ครั้งนี้มาจากกรุงรัตนปุระทัพหนึ่ง เมืองชากังราวทัพหนึ่ง และเมืองอัตตะปืออีกทัพหนึ่ง ล้วนแต่กษัตริย์และพระราชวงศ์องค์สำคัญทรงนำทัพมาเองทั้งสิ้น

ครั้งท้องฟ้าแจ่มใส เห็นเป็นศุภมิตรอันดีแล้ว พระเจ้ากรุงละโว้จึงพระราชทานพระแสงอาญาสิทธิ์แก่พระธิดาของพระองค์เจ้าหญิงจามเทวีทรงนำไพร่พลเดินทางออกจากละโว้ทันที เมื่อเดินทัพไปถึงเขตนครเขื่อนขัณฑ์ จึงส่งม้าเร็วเชิญพระอักษรไปกราบทูลพระคู่หมั้นว่าพระนางกำลังนำทัพไปช่วยแล้ว ขอให้ทรงทิ้งเมืองเสีย อพยพชาวเมืองออกไปแล้วแกล้งทำเป็นล่าถอยทัพไปเรื่อยๆ ไปทางเทือกเขาสุวรรณบรรพต ซึ่งเจ้าชายรามราชก็ทรงทำตามแผนการนั้นทุกอย่าง ดังนั้นเมื่อทหารรามบุรีชุดสุดท้ายทิ้งพระนครไปแล้วฝ่ายโกสัมพีเข้ายึดเมืองได้ จึงพบกับเมืองร้างที่ไม่มีคนอยู่อาศัย เมื่อเห็นว่ากองทัพและประชาชนชาวรามบุรีกำลังมุ่งหน้าไปทางเทือกเขาสุวรรณบรรพต จึงรีบเร่งติดตามไปทันที

ส่วนพระธิดาแห่งกรุงลวปุระก็ทรงนำกองทัพทั้งหมดไปตั้งค่ายรอที่เขาสุวรรณบรรพตเรียบร้อยแล้ว และทรงแบ่งกองทัพทั้งหมอออกเป็น ๓ ส่วนโอบล้อมเทือกเขา เมื่อกองทัพฝ่ายรามบุรีล่าถอยมาถึง กองทัพฝ่ายโกสัมพีได้ตามติดเพื่อไล่ขยี้อย่างเมามันจนกระทั่งเข้ามาตกในวงล้อมฝ่ายละโว้ ด้วยเหตุนั้นทัพหน้าของโกสัมพีทั้งหมดจึงถูกโจมตีย่อยยับภายในเวลาอันรวดเร็ว รี้พลมากมายต้องสูญเสียไปในสมรภูมินี้

ในที่สุดทัพหลวงของทั้งสองฝ่ายก็เข้าห้ำหั่นกัน กองทัพละโว้และพันธมิตรสามารถยันทัพฝ่ายโกสัมพีได้อย่างเหนียวแน่น และได้รับความเสียหายมากมายด้วยกันทั้งสองฝ่าย พระนางจามเทวีจึงได้ส่งพระราชสาส์นถวายเจ้าชายโกสัมพีว่า “ข้าแต่เจ้าพี่ สงครามครั้งนี้เหตุเกิดจากเรื่องส่วนตัวระหว่างเจ้าพี่กับหม่อมฉัน มิควรที่จะให้ชีวิตทวยราษฏร์ทั้งหลายต้องมาล้มตาย จะเป็นที่ครหาแก่หมู่เทพยาดาและมนุษย์ทั้งหลายเปล่าๆ ขอเชิญเจ้าพี่แต่ทหารมาทำการสู้รบกันตัวต่อตัว ให้เป็นขวัญตาแก่ไพร่ฟ้าเข้าแผ่นดินเถิด”

จอมทัพแห่งโกสัมพีเมื่อประจักษ์ความจริงจากราชสาส์นนั้นว่าหญิงที่ตนหลงรักกลายเป็นผู้นำทัพฝ่ายตรงข้ามที่จะต้องมาประหัตประหารกัน ก็ทรงวิตกไปหลายประการ พระองค์ไม่คาดคิดเลยว่าจะต้องมาสัประยุทธ์กับเจ้าหญิงโฉมงามที่พระองค์หมายปอง และยังเป็นเจ้าหญิงพระองค์เดียวกับที่วางแผนการอันชาญฉลาดที่ทำให้กองทัพของพระองค์ต้องประสบความพินาศย่อยยับถึงเพียงนี้ อีกทั้งพระองค์ยังเคยทรงทราบมาว่า เจ้าหญิงทรงเป็นศิษย์พระฤๅษีคาถาอาคมก็คงจะเชี่ยวชาญ มิฉะนั้นไหนเลยจะมาเป็นแม่ทัพ สถานการณ์เช่นนี้ก็ทำให้พระองค์ไม่อาจตัดสินพระทัยอย่างไรได้ ต่อจากนั้นอีก ๒ วัน กองทัพทั้งสองจึงหยุดการสู้รบในรูปแบบของการระดมกำลังทหารทั้งหมด แล้วเปลี่ยนเป็นจัดขุนศึกของแต่ละฝ่ายออกสู้รบกันตัวต่อตัวแทน

ล่วงไปได้ ๖ วันในการทำสงครามนี้ บรรดากษัตริย์และทวยทหารทั้งสองฝ่ายต้องเอาชีวิตไปทิ้งเป็นอันมาก โดยเฉพาะที่ได้รับความเสียหายหนักที่สุดคือ กองทัพฝ่ายโกสัมพี เพราะเสียขุนศึกที่เป็นเจ้านายประเทศพันธมิตรไป ๒ พระองค์ ในขณะที่ขุนศึกพันธมิตรของละโว้สิ้นพระชนม์ไปเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น
ลุวันที่ ๗ ก็ถึงเวลาที่ทั้งสองต้องเผชิญหน้ากัน เพื่อผลแพ้ชนะที่เด็ดขาด ท่ามกลางสายตาของทหารหาญทั้งหลาย เจ้าชายแห่งโกสัมพีถึงแก่ทรงตกตะลึง เมื่อเจ้าหญิงจามเทวีผู้ทรงพระสิริโฉมงดงามยิ่งกว่าสตรีใดที่พระองค์ทรงเคยทอดพระเนตรมาก่อนปรากฏพระองค์ในชุดขุนศึกฝ่ายละโว้อันงดงามวิจิตรแพรวพราย พร้อมด้วยพระแสงอาญาสิทธิ์เลอค่าที่ได้รับพระราชทานมาจากพระบิดา เจ้าหญิงผู้เลอโฉมทอดพระเนตรเห็นอีกฝ่ายตกตะลึงอยู่เช่นนั้น จึงตรัส
“เจ้าพี่จะมัวยืนเหม่ออยู่ด้วยเหตุอันใดเล่า หม่อมฉันขอเชิญเจ้าพี่มาประลองฝีมือกัน อย่าให้ทหารทั้งหลายต้องพลอยยากลำบากด้วยเราต่อไปอีกเลย”
เจ้าชายแห่งโกสัมพีได้สดับเช่นนั้นพระสติจึงกลับคืนมา ทรงมีรับสั่งย้อมถามทันทีว่า

“การศึกครั้งนี้ใยพระนางต้องทำพระวรกายมาให้เปรอะเปื้อนโลหิตอันมิบังควรสำหรับสตรีเพศ หรือละโว้นั้นจะสิ้นแล้วซึ่งชายชาตรี” “อันละโว้จะสิ้นชายชาตรีนั้นหามิได้” เจ้าหญิงทรงมีพระดำรัสตอบ “ แต่หม่อมฉันเป็นราชธิดาแห่งเสด็จพ่อ เสด็จแม่ เป็นเอกธิดาภายใต้เศวตฉัตร อันบุรุษมีใจสตรีก็มีใจ ผิว่าหม่อมฉันพลาดพลั้งเจ้าพี่ก็เอาชีวิตหม่อมฉันไปเถิด หากเจ้าพี่พลาดพลั้งก็ขอได้โปรดอภัยให้แก่หม่อมฉัน” เจ้าชายโกสัมพีทรงเห็นความหาญกล้าของพระนางเช่นนั้น ก็ยังไม่ทรงตัดสินพระทัยจะประลองฝีมือกันโดยทันที และเนื่องจากเห็นว่าเวลาใกล้เที่ยงวันด้วย จึงทรงมีรับสั่งว่าขอเชิญน้องหญิงและไพล่พลพักเหนื่อยกันก่อนเถิด พอบ่ายอ่อนเราจึงค่อยมาสู้กั้น พระนางก็ทรงเห็นชอบด้วย

และแล้ว เมื่อเวลาที่จะต้องสู้รบกันจริงๆ มาถึง เจ้าชายแห่งโกสัมพีจึงได้ทรงประจักษ์แก่พระองค์เองอีกคำรบหนึ่งว่า เจ้าหญิงแห่งลวปุระที่พระองค์หมายปองนี้ไม่เพียงแต่จะทรงมีพระสิริโฉมงดงามและทรงพระปรีชาเยี่ยมยอดในการวางแผนการรบเท่านั้น พระนางเธอยังทรงมีวิชาเพลงดาบที่เหนือกว่าพระองค์อีกด้วย ในที่สุดหลังจากการดวลดาบกันตัวต่อคัว เจ้าชายทรงเพลี่ยงพล้ำถูกนางจามเทวีฟันพระกรได้รับบาดเจ็บ ผลแพ้ชนะก็ปรากฏแก่ตาเหล่าทหารทั้งหลาย และด้วยเหตุนั้นเองทหารฝ่ายโกสัมพีทั้งปวงเกิดแตกตื่นพากั้นถอยทัพ ทหารละโว้ก็ติดตามตีซ้ำ ยังความเสียหายย่อยยับแก่กองทัพผู้รุกรานเป็นอันมาก เจ้าชายแห่งโกสัมพีทรงอับอายและเสียพระทัยเกินกว่าจะทรงยอมรับความพ่ายแพ้ครั้งนี้ ได้ปลงพระชนม์พระองค์เองเสียในที่รบ กองทัพโกสัมพีที่เหลือก็เสียขวัญแตกพ่ายถูกจับเป็นเชลยจำนวนมาก

ชัยชนะในการสงครามนี้นำมาซึ่งความชื่นชมยินดีแก่พระเจ้าแผ่นดินและพระมเหสี ตลอดจนบรรดาเสนาอำมาตย์ ทหารและประชาชนชาวละโว้เป็นอันมาก เมื่อพระธิดาแห่งกรุงลวปุระทรงนำกองทัพกลับถึงพระนครจึงได้มีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ ตามตำนานว่าอยู่ในช่วงสามเดือน ปีพุทธศักราช ๑๑๙๖

แต่เจ้าหญิงจามเทวีนั้น มิได้ทรงปิติยินดีในชัยชนะที่ทรงได้รับเลย แม้จะทรงได้รับการสรรเสริญจากราชสำนักรวมทั้งประชาชน ตลอดจนกษัตริย์ผู้ครองนครที่เป็นพันธมิตรตลอดไปจนถึงประเทศราชและอาณาจักรอื่นๆ ที่อยู่ห่างไกลออกไป จนชื่อเสียงของพระนางขจรขจายไปทั่ว พระนางยังทรงระลึกถึงภาพอันสยดสยองของเหล่ากษัตริย์และทหารทั้งสองฝ่ายที่ต้องล้มตายเพราะพระนางเป็นต้นเหตุ จึงทรงมีรับสั่งให้สร้างศาลาเป็นจำนวนเท่ากับกษัตริย์ที่สิ้นพระชนม์ในครั้งนี้ ทรงสร้างวัดขึ้นในพื้นที่อันเป็นสมรภูมิรบนั้นด้วยวัดหนึ่งและเปลี่ยนชื่อสุวรรณบรรพตเสียใหม่ว่า “วังเจ้า” เพราะเหตุที่กษัตริย์และเจ้านายทั้งหลายมาสิ้นพระชนม์ที่นี่จำนวนมากนั่นเอง

ส่วนพระศพของเจ้าชายแห่งโกสัมพีนั้น พระนางได้ทรงนำปรอทจากสุวรรณบรรพตมากรอกพระศพ ทำการตกแต่งให้สมพระเกียรติก่อนที่จะตั้งพระศพบำเพ็ญกุศลไว้ระยะหนึ่งแล้วจึงถวายพระเพลิงร่วมกับกษัตริย์และเจ้านายพระองค์อื่น หลังจากนั้นทรงจัดให้มีพิธีสงฆ์เพื่อบำเพ็ญกุศลแก่ดวงพระวิญญาณและทหารที่เสียชีวิตอีกครั้ง พระอัฐิก็โปรดฯให้อัญเชิญกลับไปยังโกสัมพีและนครที่มาช่วยโกสัมพีรบ

ภายหลังพิธีการต่างๆ เสร็จสิ้น พระเจ้ากรุงละโว้จึงทรงจัดพระราชพิธีสยุมพรพระธิดาของพระองค์กับเจ้าชายรามราช โดยจัดอย่างยิ่งใหญ่ครบครันตามราชประเพณีโบราณทุกประการ ตำนานว่าวันประกอบพระราชพิธีอภิเษกสมรสนั้นตรงกับวันข้างขึ้น เดือน ๖ ปีขาล หรือพุทธศักราช ๑๑๙๘ จากนั้นองค์ขัตติยนารีแห่งละโว้เสด็จไปเมืองรามบุรีกับพระสวามีเพื่อปรับปรุงสภาพภายในเมืองเสียใหม่พร้อมทั้งวางแผนราชการงานเมืองให้เป็นปึกแผ่น จะเห็นว่าเจ้าหญิงจามเทวีได้ทรงแสดงให้เห็นพระปรีชาญาณอันเหมาะสมแก่การที่จะต้องทรงเป็นจอมกษัตริย์ต่อไปในกาลข้างหน้าตั้งแต่ยังดำรงพระยศเป็นพระธิดาแห่งเจ้ากรุงละโว้เท่านั้น

ตำนานพื้นเมืองบางฉบับว่า ภายหลังราชพิธีอภิเษกสมรสแล้ว พระเจ้ากรุงลวปุระทรงมอบเวนราชสมบัติให้เจ้าชายรามราชขึ้นครองนครลวปุระต่อไป แต่ข้อนี้ตำนานอื่นไม่มี

สุเทวฤๅษีสร้างนครหริภุญไชย

ณ ดินแดนทางภาคเหนือซึ่งเป็นถิ่นประสูติของเจ้าหญิงจามเทวีนั้น เดิมเป็นที่ตั้งของเมืองมิคสังคร ซึ่งท่านสุเทวฤๅษีได้สร้างไว้ให้โอรสธิดาของท่าน ซึ่งบังเกิดจากนางเนื้อที่ได้มาดูดกินน้ำมูตรของท่านฤๅษีที่มีอสุจิปนอยู่เข้าไป รวมกับผู้บังเกิดอย่างอัศจรรย์ในรอยเท้าสัตว์ ๓ ชนิด คือ ช้าง แรด และวัว หรือ โคลานซึ่งท่านฤๅษีไปพบเข้าภายหลังลงจากดอยสุเทพ เจ้าผู้ครองมิคสังครองค์แรกนี้มีพระนามว่า กุนรฤษี โดยมีพระชายาเป็นพี่น้องกันคือ มิคุปปัตติ ทั้งสองพระองค์ได้ครองนครโดยตั้งอยู่ในโอวาทของพระสุเทวฤๅษีได้ ๗๗ ปี มีโอรส ๓ พระองค์ คือ เจ้ากุนริกนาสหรือกุนริสิคนาส เจ้ากุนริกทังษะ และเจ้ากุนริกโรส พระธิดาอีก ๑ องค์ ชื่อเจ้าปทุมาเทวี ท่านสุเทวฤๅษีจึงได้สร้างเมืองให้พระโอรสทั้ง ๓ ปกครององค์ละเมือง เมื่อพระเจ้ากุนรฤษีสวรรคต เจ้ากุนริกนาสจึงเสด็จกลับไปครองเมืองมิคสังคร แล้วกลับไปครองเมืองรันนปุระที่ท่านฤๅษีสร่างไง้ให้แต่เดิมอีก บางตำนานก็ว่าท่านฤๅษีเนรมิตเมืองใหม่ให้อีกเมืองหนึ่งให้เจ้ากุนริกนาสละจากเมืองมิคสังครไปปกครอง ชื่อรมยนคร เพราะท่านฤๅษีเกิดเห็นว่าเมืองมิคสังครเป็นที่ไม่สมควร

รมยนครแห่งนี้ต่อมาได้ประสบภัยพิบัติ เนื่องจากเจ้าครองนครเป็นผู้ปราศจากทศพิธราชธรรม ไม่เอาใจใส่ในความเดือดร้อนของอาณาประชาราษฎร์ คือ เกิดมีคดีลูกตบตีมารดาของตน เมื่อมารดาเข้าร้องทุกข์ต่อเจ้าครองนคร กลับได้รับกาตัดสินว่าการใดๆ ที่ลูกกระทำไปเป็นการถูกต้องแล้ว ซ้ำลงโทษให้ไล่ผู้เป็นแม่นั้นไปจากเมืองอีกด้วย หญิงนั้นจึงได้ร้องไห้วิงวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ยังผลให้เทวะทั้งหลายพิโรธ บันดาลให้เกิดอาเพศและภยันตรายต่างๆ ผู้คนในเมืองนั้นได้รับความเดือดร้อน จนในที่สุดบรรดาผู้มีศีลธรรมได้พากันอพยพไปเสียจากเมือง เทวดาทั้งหลายจึงบันดาลให้มหาอุทกท่วมนครนั้นล่มจมไปหมดสิ้น กล่าวกันว่าที่ที่เคยเป็นเมืองรมยนครนั้นมีชื่อปรากฏภายหลังว่า หนองมอญ

ท่านสุเทวฤๅษีเฝ้ามองความเป็นไปต่างๆ ด้วยความสลดใจ และเห็นว่าบรรดาผู้มีศีลธรรมจากนครเหล่านั้นยังคงพากันเร่ร่อนอยู่ จึงได้เชิญฤๅษีพี่น้องของท่านคือ ท่านสุกทันตฤๅษีที่ละโว้ ท่านสุพรหมฤๅษีที่สุภบรรพต รวมทั้งเหล่าฤๅษีผู้มีตบะแก่กล้าอื่นๆ มาประชุมกันและช่วยกันสร้างเมืองขึ้นมาใหม่ โดยให้นกหัสดีลิงก์นำหอยสังข์ขนาดใหญ่จากมหาสมุทรมาเป็นแบบ แล้วใช้ไม้ขีดแผ่นดินเป็นวงไปตามสัณฐานของเปลือกหอยสังข์นั้น วงขอบปากหอยก็เกิดเป็นคูน้ำคันดินขึ้น พระดาบสทั้งสองจึงประกาศไล่รุกขเทวดาทั้งหลายภายในเขตเมืองใหม่ให้ออกไปอยู่ที่อื่น ยังแต่รุกขเทวดาอนาถาองค์หนึ่งทุพพลภาพไม่สามารถจะย้ายไปจากที่นั่นได้ จึงขออาศัยอยู่ที่เดิมต่อไปจนกว่าจะจุติ ท่านฤๅษีทั้งสองก็อนุญาตและสถานที่ซึ่งรุกขเทวดาเฒ่านั้นอาศัยเป็นเนินดินพูนสูงกว่าที่อื่น นครนี้จึงมีชื่อเรียกต่อมาว่า ลำพูน
ในตำนานระบุว่าเวลาสร้างเมืองนั้นตรงกับวันอาทิตย์ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๓ ปีขาล พ.ศ. ๑๑๙๘ ใช้เวลาสร้าง ๒ ปี สัณฐานนครเมื่อแรกสร้างมีปริมณฑลโดยรอบได้ ๒๒๕๐ วา หรือ ๑๒๗ เส้นกับ ๑๐ วา พระฤๅษีทั้งสองได้ประกอบสัมภาระสำหรับนครแห่งใหม่พร้อมด้วยป้อมปราการ ประตูเมือง หอรบทั้งปวง อีกทั้งพระราชนิเวศน์มณเฑียรสถาน อุทยานหลวงและสถานที่ต่างๆ ทั้งท้องพระคลังครบถ้วน เมื่อสำเร็จแล้วท่านฤๅษีทั้งสองได้ปรึกษากันว่าเมืองใหม่แห่งนี้งดงามนัก ใครหนอที่จะสมควรมาครองราชย์สมบัติในเมืองนี้
ท่านสุกทันตฤๅษีจึงแนะว่า “สมเด็จพระเจ้ากรุงละโว้ทรงมีราชธิดาคือ พระนางจามเทวี เป็นผู้มีสติปัญญาสามารถฉลาดรอบรู้สรรพกิจขัตติยราชประเพณี มีมารยาทและพระอัธยาศัยเสงี่ยมงามพร้อมมีน้ำพระทัยโอบอ้อมอ่อนน้อมตั้งอยู่ในศีลสัตย์ยุติธรรม สมควรจะเป็นเจ้าเป็นใหญ่ปกครองพสกนิกรในนครนี้ได้ ควรเราไปทูลขอราชบุตรีนี้จากพระเจ้ากรุงละโว้มาปกครองนครนี้เถิด”
ท่านสุเทวฤๅษีเห็นชอบด้วย จึงได้แต่งทูตผู้หนึ่ง ซื่อนายควิยะเชิญศุภอักษรและเครื่องราชบรรณาการและบริวารอีก ๕๐๐ คน รวมทั้งท่านสุกทันตฤๅษีลงเรืองล่องไปตามแม่น้ำปิงไปยังกรุงละโว้ กราบบังคมทูลขอเจ้าหญิงจามเทวีไปเสวยราชย์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งเมืองที่สร้างขึ้นใหม่โดยไม่ช้า

พระนางจามเทวีเสด็จไปหริภุญไชย

เมื่อคณะท่านสุกทันตฤๅษีและนายควิยะถึงเมืองละโว้ พระบิดาของเจ้าหญิงจามเทวีได้จัดให้ทั้งหมดพำนักอยู่ทางทิศตะวันออกของเมือง วันต่อมาทั้งหมดจึงได้เข้าเฝ้า ณ พระราชวังแห่งลวปุระ ท่านสุกทันตฤๅษีได้ถวายพระพรว่า
“ในวันนี้ตูทั้งหลายชื่อดังนี้น้อมนำมายังบรรณาการของฝากอันท่านสุเทวฤๅษีมาถวายมหาราชเจ้า และท่านสุเทวฤๅษีตนนี้เป็นสหายด้วยเราแท้จริง เธอชวนเราไปช่วยสร้างพระนครอันหนึ่งหนน้ำขุนโพ้น พระนครอันนั้นก็สำเร็จบริบูรณ์เรียบร้อยทุกประการแล้ว บัดนี้สุเทวฤๅษีมีความปรารถนาอยากจะใคร่ได้เชื้อชาติท้าวพระยาที่อื่นที่ประกอบไปด้วยศีลและปัญญา ทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมไปเสวยราชสมบัติในพระนครที่นั้น อำมาตย์จึงได้แนะนำว่า เชื้อชาติท้าวพระยาผู้ดีหาไม่มีในที่แห่งอื่น แต่รู้ข่าวว่าพระราชธิดาของมหาราชเจ้าพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่านางจามเทวี ถ้าเราได้พระนางมาเสวยราชสมบัติเป็นนางพระยาในพระนครนี้จะสมควรยิ่งนัก
เหตุดังนี้ ท่านสุเทวฤๅษีจึงได้ให้นายควิยะพร้อมด้วยบริวารมีประมาณ ๕๐๐ คน น้อมนำมายังเครื่องบรรณาการของฝากกับด้วยตัวเรา ให้นำทูลถวายมหาราชเจ้า เพื่อให้เราทูลขอพระนางจามเทวีราชธิดาของพระองค์ไปเสวยราชสมบัติเป็นนางพระยาในนครนั้นด้วย ขอมหาราชเจ้าได้ทรงพระเมตตา โปรดประทานพระอนุญาตให้พระนางได้ไปเสวยราชสมบัติในพระนครนั้นด้วย”
พระเจ้ากรุงละโว้เมื่อทรงสดับข่าวอันเป็นมหามงคลเช่นนั้น จึงทรงมีพระดำรัสตอบว่า
“ข้าแต่เจ้าฤๅษี เราจะตอบในบัดเดี๋ยวนี้ยังไม่ได้ จะต้องไต่ถามลูกเขาดูเสียก่อน เหตุว่าข่าวสาส์นอันพระสุเทวะให้มาถึงเรานั้นยากนักหนา ถ้าหากเราให้เขาไป เขาพอใจไปก็ดีอยู่ ถ้าเขาไม่พอใจจะไป เราจะบังคับให้เขาไปนั้นเป็นไปไม่ได้”
จากนั้นจึงทรงมีรับสั่งให้อำมาตย์นำข้อความที่ท่านสุกทันตฤๅษีกราบทูลนั้นไปทูลเจ้าหญิงจามเทวี เมื่อพระนางสดับแล้ว ก็ทรงเข้าพระทัยได้ดีทุกอย่าง จึงได้กราบทูลพระบิดาว่า
“ข้าแต่พระบิดาเจ้า หม่อมฉันขอกราบทูลใต้เบื้องบาทพระบิดาเป็นเจ้า เมื่อพระบิดาทรงมีพระประสงค์จะให้หม่อมฉันไปเสวยราชสมบัติในพระนครหนขุนน้ำโพ้น หม่อมฉันขอรับพระราชทานไปตามพระประสงค์พระบิดาทุกประการ ถ้าหากว่าพระบิดาไม่พอพระทัยในการไปเช่นนั้น หม่อมฉันก็ไม่สามารถจะล่วงพระอาญาพระบิดาไปได้”
พระเจ้ากรุงละโว้ทรงสดับเช่นนั้นแล้ว จึงทรงมีพระดำรัสแก่พระธิดาว่า “ข่าวสารอันเจ้าฤๅษีผู้ประกอบไปด้วยฤทธานุภาพให้มาถึงเรา ๒ พ่อลูกนี้เป็นอันประเสริฐยิ่งนัก บัดนี้พ่อจักให้เจ้าไปเสวยราชสมบัติเป็นนางพระยาหนขุนน้ำตามคำพ่อเจ้าฤๅษีขอมานั้นแท้จริง”
พระนางจึงทรงได้รับพระราชทานพระราชนุญาตที่จะเสด็จออกจากละโว้ แม้ว่าขณะนั้นพระนางจะทรงพระครรภ์ได้ ๓ เดือนแล้ว ตำนานมูลศาสนากล่าวว่าส่วนพระสวามีนั้น พระเจ้ากรุงละโว้ก็ทรงตั้งให้เป็นที่อุปราชครองเมืองรามบุรี และเพราะว่าเวลานั้นเจ้าหญิงจามเทวีทรงพระครรภ์อยู่ พระเจ้ากรุงละโว้จึงทรงมีพระราชโองการให้เจ้าชายรามราชเข้าเฝ้า ว่าการที่ท่านสุเทวฤๅษีส่งทูตมาขอเจ้าหญิงจามเทวีไปเป็นนางพระยา พ่อก็มีความปรารถนาอยากจะให้ไปนี้แหละ เจ้าจงอยู่เป็นอุปราชากับพ่อ หากมีความพอใจในหญิงใดพ่อจะจัดให้ตามความประสงค์ทุกประการ เจ้าชายรามราชจึงกราบทูลว่าขุนน้ำโพ้นไกลนักหนาทีเดียว ผิว่าตามใจของพระองค์แล้วพระองค์ก็ไม่อยากจะให้พระนางจากไป จึงแม้เช่นนั้นพระองค์ก็เห็นดีในพระประสงค์พระเจ้ากรุงละโว้ทุกอย่าง ทูลแล้วเสด็จกลับวัง และแก่เจ้าหญิงจามเทวีว่า

“น้องรัก บัดนี้พระราชบิดาเราพระองค์มีพระประสงค์จะให้น้องไปเป็นนางพระยาในพระนครขุนน้ำโพ้น พระองค์ตรัสดังนี้ พระน้องเจ้าจงไปเป็นนางพระยา เสวยราชสมบัติให้ชอบในทศพิธราชธรรมเถิด ความสวัสดีจงมีแก่พระน้องนางเทอญ”
เจ้าหญิงจามเทวีก็กราบไหว้พระสวามี แล้วทูลตอบว่า

“สาธุ ข้าแต่พระองค์ผู้มีบุญ หม่อมฉันจักได้อำลาพระบาทพลัดพรากไปไกลครั้งนี้ ขอพระราชสามีเป็นเจ้าแห่งหม่อมฉันนี้จงได้อยู่เป็นอุปราชากับด้วยพระราชบิดาของหม่อมฉัน ตามจารีตประเพณีอันเป็นคลองแห่งอุปราชาอันดีมาแต่ก่อน ให้เหมือนดังเมื่อเราทั้งสองยังอยู่พร้อมเพรียงกันนั้นทุกประการเทอญ”
แต่ในจามเทวีวงศ์กล่าวว่าเจ้าชายรามราชออกบวชเสียในขณะนั้น เจ้าหญิงจามเทวีจึงทรงอยู่ในฐานะไร้พระสวามี ทางลำพูนจึงได้ส่งสาส์นมาทูลขอดังกล่าว ตำนานพื้นบ้านว่าเจ้าหญิงจามเทวีทรงรับที่จะครองเมืองลำพูนเพราะว่าเมืองลำพูนเวลานั้นราษฎรเดือดร้อนด้วยขาดผู้นำ และพระนางก็ระลึกถึงพระคุณท่านสุเทวฤๅษีที่เคยชุบเลี้ยงมาแต่ก่อน

และด้วยเหตุนั้น จึงมีพระราชโองการอภิเษกเจ้าหญิงจามเทวีขึ้นเป็นกษัตริย์ โดยเฉลิมพระนามใหม่ดังปรากฏไว้ในพระสุพรรณบัฏว่า พระนางเจ้าจามเทวี บรมราชนารีศรีสุริยวงศ์ องค์บดินทร์ ปิ่นธานีหริภุญไชย

จากนั้นได้พระราชทานพระราชทรัพย์ ข้าราชบริพารตามเสด็จจำนวนมาก รวมทั้งพระสงฆ์ พราหมณ์ ผู้เชี่ยวชาญในศิลปวิทยาต่างๆ ตามคำกราบบังคมทูลของพระนางจามเทวีสำหรับที่จะไปสร้างบ้านเมืองแห่งใหม่นั้นให้บริบูรณ์ยิ่งขึ้น หมู่คนทั้งหลายที่พระนางจามเทวีทูลขอนั้น และได้รับพระราชทานอย่างครบถ้วนนั้นได้แก่
1. พระมหาเถระที่ทรงปิฎก ๕๐๐ รูป
2. หมู่ปะขาวทั้งหลายที่ตั้งอยู่ในเบญจศีล ๕๐๐ คน
3. บัณฑิต ๕๐๐ คน
4. หมู่ช่างแกะสลัก ๕๐๐ คน
5. ช่างแก้วแหวน ๕๐๐ คน
6. พ่อเลี้ยง ๕๐๐ คน
7. แม่เลี้ยง ๕๐๐ คน
8. หมู่หมอโหรา ๕๐๐ คน
9. หมอยา ๕๐๐ คน
10. ช่างเงิน ๕๐๐ คน
11. ช่างทอง ๕๐๐ คน
12. ช่างเหล็ก ๕๐๐ คน
13. ช่างเขียน ๕๐๐ คน
14. หมู่ช่างทั้งหลายต่างๆ ๕๐๐ คน (คือช่างโยธา) ๕๐๐ คน

บรรดาพสกนิกรไพร่ฟ้าชาวละโว้ที่ทราบข่าวและพากันมารอฟังข้อตกลงอยู่ภายนอกพระราชวังอย่างล้นหลามต่างก็อนุโมทนาในการตัดสินพระทัยของพระนาง แม้จะมีความอาลัยรักในเจ้าหญิงผู้ทรงบุญญานุภาพของพวกเขาเหลือที่จะพรรณนาได้ เวลาต่อมาพระนางจามเทวีก็กราบบังคมทูลลาพระเจ้ากรุงละโว้ พระมเหสี พระสวามี และพระญาติพระวงศ์ ต่างก็โศกากันแสงสั่งซึ่งกันและกัน ครั้นคลายความเศร้าแล้ว จึงเสด็จพร้อมด้วยพระพี่เลี้ยงทั้งสองพระองค์นำผู้คนและทรัพย์สมบัติทั้งหมดออกจากนครลวปุระท่ามกลางความอาลัยรักของประชาชนที่มาเฝ้าส่งเสด็จจากพระนครไปครั้งนี้จะเป็นการจากไปชั่วนิรันดร์ จะไม่มีชาวละโว้คนใดได้เห็นเจ้าหญิงผู้งดงามของเขาอีก

ตามตำนานว่า พระนางจามเทวีและข้าราชบริพารทั้งหมดได้เดินทางโดยกระบวนเรือขึ้นไปตามลำน้ำมุ่งสู่ดินแดนล้านนา และสิ่งสำคัญ ๒ สิ่ง ซึ่งพระนางได้นำไปด้วย คือ พระแก้วขาว ซึ่งว่ากันว่าเป็นองค์เดียวกับที่ประดิษฐาน ณ วัดเชียงมั่น จ.เชียงใหม่เวลานี้องค์หนึ่ง กับ พระรอดหลวง ซึ่งประดิษฐานที่วัดมหาวัน จ.ลำพูนอีกองค์หนึ่ง บางตำนานว่าระหว่างที่ยังมิได้เสด็จถึงนครลำพูนนั้น พระนางได้ทรงศีลและฉลองพระองค์ขาวโดยตลอด
จากเรื่องในตำนาน เส้นทางที่เสด็จโดยชลมารคนั้นเกินระยะเวลายาวนานกว่า ๗ เดือน โดยได้หยุดพัก ณ ตำบลต่างๆ ตายรายทาง ได้แก่
· เมืองบางประบาง ว่ากันว่าจะเป็นปากบางหมื่นหาญ ใกล้ปากน้ำพุทราเวลานี้
· เมืองคันธิกะ ว่ากันว่าจะเป็นนครสวรรค์
· เมืองบุราณะ ยังไม่แน่ใจว่าเป็นเมืองอะไรในปัจจุบัน
· เมืองเทพบุรี ปัจจุบันคือ บ้านโดน
· เมืองบางพล ปัจจุบันอยู่ใน จ.กำแพงเพชร
· เมืองรากเสียด คือ เกาะรากเสียดเวลานี้
· หาดแห่งหนึ่ง เกิดน้ำรั่วเข้าเรือพระที่นั่ง จึงเรียกกันต่อมาว่า หาดเชียงเรือ
· ตำบลหนึ่ง พระนางจามเทวีทรงมีรับสั่งให้พระพี่เลี้ยงและข้าราชบริพารนำสิ่งของทั้งหลายอันเปียกชุ่มน้ำขึ้นตาก จึงเรียกสถานที่นี้ต่อมาว่า บ้านตาก
· ตำบลหนึ่ง เป็นที่รวมน้ำแม่วังต่อกับแม่ระมิงค์ รี้พลทั้งหลายพากันง่วงเหงาอยู่ พระนางเองก็ดูเหงาๆ ไป จึงได้เรียกต่อมาว่า จามเหงา หรือ ยามเหงา ครั้นต่อมาจึงเพี้ยนเป็นสามเงาในทุกวันนี้ ตำนานว่าพระนางโปรดให้สร้างวัดขึ้นแห่งหนึ่ง ประดิษฐานพระพุทธรูปและพระสาวกให้คนทั้งหลายสักการบูชาสรณาคมน์ ที่นั้นจึงได้ชื่อเวลาต่อมาว่า พุทธสมาคม
· ตำบลหนึ่ง มีแก่งน้ำมีหน้าผาชะโงกเงื้อมลงปรกแม่น้ำ ที่นั่นนางกำนัลคนหนึ่งเสียชีวิต พระนางจามเทวีจึงพระราชทานเพลิงศพและฝั่งอัฐิไว้ ต่อมาพระนางเสด็จลงสรง ทรงเสี่ยงสัตยาธิฐานว่า
“ข้าน้อยจักนำพระศาสนาและราชประเพณีไปประดิษฐานยังแว่นแคว้นลำพูนในครั้งนี้ หากเจริญรุ่งเรืองดังมโนรถอันมุ่งหมาย ขอเทพยดาจงดลบันดาลให้มีน้ำไหลหลั่งลงมาจากเงื้อมผานี้ให้ข้าน้อยได้สรงสรีระในกาลบัดนี้เถิด พอสิ้นคำอธิษฐาน ก็บังเกิดเหตุอัศจรรย์มีอุทกธาราโปรยปรายหลั่งไหลตกลงมาจากเงื้อมผานั้นให้พระนางได้สรงสนานเป็นที่สำราญพระหฤทัย สถานที่นั้นจึงได้ปรากฏชื่อต่อมาว่า ผาอาบนาง ยังมีน้ำตกโปรยจากผาลงมาในลำน้ำจนถึงทุกวันนี้
· ตำบลหนึ่ง ปรากฏว่ามีผาตั้งขวางทางน้ำอยู่ ไม่เห็นช่องที่เรือจะผ่านไปได้ พระนางจามเทวีจึงทรงมีรับสั่งให้คนไปสำรวจพบช่องทางน้ำเลี้ยวพันหน้าผานั้นอยู่อีกด้านหนึ่ง จึงเคลื่อนกระบวนเรือไปถึงบริเวณหน้าผา ณ ที่นั่น พระนางโปรดฯ ให้ช่างเขียนทำรูปช้างแปรหน้าคืนไว้ สถานที่นั้นจึงมีนามปรากฏต่อมาว่า ผาแต้มบ้าง ผาม่านบ้าง เพราะเหตุว่ารูปทรงของหน้าผาเหมือนผ้าม่านขึงขวางลำน้ำไว้
· เมืองร้างแห่งหนึ่ง ที่นี่พระนางจามเทวีทรงให้หยุดกระบวนเรือพักแรม ปรากฏว่ามีเต่าจำนวนมากมายมารบกวนคน สถานที่นั้นจึงเรียกว่า ดอยเต่า
· ตำบลหนึ่ง มีชื่อว่า บ้านโทรคาม เป็นรมณียสถานอันพอพระทัยนัก พระนางโปรดฯ ให้พักแรมอยู่ ณ ที่นี้ และทรงสร้างพระสถูปขึ้นพระองค์หนึ่ง ประทานพระนามว่า วิปะสิทธิเจดีย์ เมื่อสร้างเสร็จได้มีพิธีฉลองและกระทำการสักการบูชาเป็นอันมาก
· ท่าเชียงทอง มีชาวบ้านหญิงชายพากันออกมาคอยรับเสด็จจำนวนมาก พระนางจึงทรงมีรับสั่งให้พระนางกำนัลผู้หนึ่งถามคนทั้งหลายนั้นว่า
“ดูกร ชาวพ่อชาวแม่ทั้งหลาย แต่นี้ถึงเมืองลำพูน ยังประมาณมากน้อยเท่าไร” คนเหล่านั้นตอบว่า “ข้าแต่มหาราชเทวีเป็นเจ้า แต่นี้ถึงเมืองลำพูนนั้น ข้าทั้งหลายได้ยินมาว่าหนึ่งโยชน์แล”

ด้วยเหตุดังกล่าว สถานที่นี้จึงได้ชื่อต่อมาว่า เมืองฮอด และได้มีการหยุดประทับแรมกันเป็นครั้งสุดท้ายที่ท่าเชียงทองนั้นเอง พระนางจามเทวีทรงมีพระดำริว่าแม้จะใกล้ชานเมืองลำพูนแล้ว แต่ก็ควรจะหยุดพักกระบวนเรือและตั้งเวียงเล็กขึ้นบริเวณนอกเมืองเสียก่อน ไม่ควรรีบร้อนเข้าไปในเมือง จากนั้นทรงปรึกษากับข้าราชบริพารทั้งหลายเพื่อกำหนดสถานที่ตั้งค่ายประทับแรม โหราจารย์ได้ถวายความเห็นให้ทรงเสี่ยงธนูดูตามประเพณีที่มีมาแต่ก่อน จึงโปรดฯ ให้กระทำดังนั้น ปรากฏว่านายขมังธนูน้าวคันศรส่งลูกธนูไปทางทิศเหนือด้วยกำลังแรง ลูกธนูไปตกอยู่ ณ สถานที่แห่งหนึ่งเป็นชัยภูมิอันเหมาะสม พระสงฆ์ทั้งหลายจึงเจริญพระพรว่าพระนางควรจะหยั่งรากพระศาสนาลง ณ ที่นั้นเป็นเบื้องแรก พระนางจึงโปรดฯ ให้ก่อพระอารามขึ้น พร้อมด้วยพระมหาเจดีย์ยังจุดที่ลูกธนูตก และยังโปรดฯ ให้หล่อพระพุทธรูปเท่าพระองค์บรรจุพระบรมธาตุประดิษฐานไว้ในพระอารามตามที่บรรดาพระเถระทั้ง ๕๐๐ ได้ถวายพระพร พระมหาเจดีย์นั้นปัจจุบันอยู่ในวัดละโว้ ส่วนพระพุทธรูปนั้นต่อมาก็มีปาฏิหาริย์ศักดิ์สิทธิ์ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บคนทั้งหลายจึงเรียกว่า “พระยา” มาจนทุกวันนี้
นอกจากพระพุทธรูปซึ่งพระนางโปรดฯ ให้สร้างเท่าพระองค์สำหรับประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุนั้นแล้ว บรรดาเสนามหาอำมาตย์ที่ตามเสด็จ เป็นต้นว่าพระยาแขนเหล็ก และพระยาบ่เพกก็โดยเสด็จพระราชกุศลสร้างพระพุทธรูปด้วยคนละองค์สององค์ พระพุทธรูปทั้งหลายจึงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองเหนือตั้งแต่นั้น
จากนั้น พระนางจามเทวีจึงทรงสถาปนาเวียงเล็กขึ้น ประกอบด้วยพระราชนิเวศน์เรือนหลวงสำหรับเสด็จประทับรวมทั้งที่พักคณะผู้ติดตามทั้งหมด พระนางและปวงเสนาประชาราษฏร์ที่ตามเสด็จต่างอาศัยอยู่ในเวียงเล็กนั้นด้วยความสุขสบาย สถานที่ดังกล่าวจึงได้ชื่อว่า รมย์คาม และคนทั้งหลายเรียกกั้นสืบมาว่า บ้านระมัก จากนั้นท่านสุกทันตฤๅษีและนายควิยะได้เดินทางล่วงหน้าต่อไปยังเมืองลำพูนเพื่อแจ้งข่าวการเสด็จมาถึง

ท่านสุเทวฤๅษีรวมทั้งไพร่บ้านพลเมืองทั้งหลายพอทราบข่าวก็พากันตกแต่งพลับพลารับเสด็จไว้ทางทิศตะวันออก ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเคยเสด็จประทับตรัสพุทธพยากรณ์มาแต่ก่อน และสองข้างถนนที่จะเสด็จพระดำเนินด้วยราชวัตรฉัตรธงบุปผชาติต่างๆ จากนั้นท่านสุเทวฤๅษีจึงนำชาวเมืองเชิญเครื่องบูชาสักการะอย่างเต็มอัตราไปเฝ้าเตรียมรับเสด็จตั้งแต่ชานเมืองด้วยความปิติอย่างยิ่ง ไม่ช้ากระบวนเสด็จของพระนางจามเทวีก็มาถึงโดยสถลมารค พระนางเมื่อทอดพระเนตรเห็นท่านสุเทวฤๅษีซึ่งเปรียบเสมือนบิดาก็ตื้นตันพระทัยเสด็จออกจากราชยานมากราบ พระฤๅษีทั้งสองได้กราบบังคมทูลขอให้พระนางสละเพศนักพรตกลับเป็นกษัตริย์และขอให้ทรงเสวยราชย์ยังพระนครแห่งนี้ จากนั้นจึงแห่แหนพระนางไปยังพลับพลา ที่นั่นได้มีพระราชพิธีราชาภิเษก ท่านสุเทวฤๅษีกราบบังคมทูลเชิญพระนางเสด็จขึ้นประทับบนกองสุวรรณอาสน์เพื่อทรงสรงน้ำพระมูรธาภิเษกทและวันที่เสด็จขึ้นเสวยสิริราชสมบัตินั้นตรงกับวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย พุทธศักราช ๑๒๐๒ พระชนมายุได้ ๒๖ พรรษา ปรากฏพระนามเมื่อทรงรับการราชาภิเษกในพระสุพรรณบัฏว่า พระนางเจ้าจามเทวี บรมราชนารี ศรีสุริยวงศ์ องค์บดินทร์ ปิ่นธานีหริภุญไชย

เมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว ๗ วัน พระครรภ์ได้ครบทศมาส พระนางจามเทวีจึงทรงมีประสูติกาลพระโอรส ๒ พระองค์ในวันเพ็ญเดือน ๓ ราชกุมารทั้งคู่ทรงศิริลักษณ์งามละม้ายกัน เป็นที่ปิติยินดีไปทั้งพระนคร พระนางได้พระราชทานนามพระเชษฐาว่า พระมหันตยศ และพระอนุชาว่า พระอนันตยศ

นครหริภุญไชยในปฐมรัชกาล

พระนางจามเทวี ทรงสถาปนาความรุ่งเรืองแก่นครหริภุญไชยของพระนางมากขึ้นไปอีก จนเป็นนครในอุดมคติที่มนุษย์ทั้งหลายใฝ่ฝันอย่างแท้จริง โดยตำนานนั้นกล่าวว่าอาณาประชาราษฎร์เป็นสุขสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติโดยถ้วนหน้า เฉพาะบ้านใหญ่นั้นมีจำนวนถึง ๔๐๐๐ บ้าน บ้านน้อยอีกเป็นอันมาก มีไร่นาเรือกสวนบริบูรณ์ และพสกนิกรต่างมีใจศรัทธาสร้างวัดขึ้นเป็นจำนวนถึง ๒๐๐๐ แห่ง สำหรับถวายพระสงฆ์ผู้ทรงพระไตรปิฎกมาจากละโว้ ๕๐๐ รูป แยกย้ายผลัดเปลี่ยนกันสั่งสอนเผยแผ่พระศาสนา วัดทั้ง ๒๐๐๐ แห่งนั้นต่อมาก็มีภิกษุจำพรรษาเต็มพระอารามทุกแห่ง ยิ่งไปกว่านั้น พระนางยังโปรดฯ ให้เฟ้นหาบัณฑิตที่ชำนาญการสวดพระธรรมอีก ๕๐๐ คนสำหรับช่วยสวดพระธรรมในวัดทั้ง ๒๐๐๐ แห่งนั้นด้วย

บรรดาผู้คนซึ่งตามเสด็จพระนางจามเทวีมาแต่กรุงละโว้นั้น พระนางก็โปรดฯ ให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่กันทางทิศตะวันออกของพระนคร ชาวมิคสังครเดิมอยู่ทิศตะวันตก พวกที่รอดตายมาจากรมยนครอยู่ทิศใต้ และตระกูลที่เกิดจากรอยเท้าสัตว์นั้นก็อยู่ภายในเมือง

ต่อมาพระนางมีพระดำริว่า เวลานี้พระโอรสทั้ง ๒ ก็ยังเยาว์พระชันษาอยู่ ถ้ามีข้าศึกมาเบียดเบียนจะเป็นการลำบาก จึงโปรดฯ ให้มีพระราชพิธีพลีกรรมสังเวยเทพยดาผู้รักษาพระนคร ขอประทานช้างมงคลตัวประเสริฐสำหรับใช้ในการสงคราม เทวะทั้งหลายจึงดลใจช้างเชือกหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยคชลักษณ์อันบริบูรณ์ทุกประการ คือมีกายขาวประดุจเงินเลียง และงาสีเขียว พลัดออกจากโขลงที่ใกล้ตีนดอยอ่างสรงแล้วมุ่งลงใต้มายังนครหริภุญไชย เวลานั้นก็เกิดเหตุอัศจรรย์ มีฝนตกตลอด ๗ วัน ๗ คืน เมื่อมาถึงพระนคร พระนางจามเทวีทรงพอพระทัยยิ่งนัก ทรงมีพระราชโองการให้เสนาอำมาตย์ทั้งหลายจัดเครื่องบูชาข้าวตอกดอกไม้และดุริยดนตรีแห่ไปรับมายังโรงช้างทางทิศตะวันออก ประดับด้วยแก้วแหวนเงินทองอันงดงามเลอค่า จากนั้นทรงสถาปนาเป็นพระคชาธารคู่พระบารมี และโปรดฯ ให้มีมหรสพสมโภชในเมืองถึง ๓ วัน ๓ คืน

ช้างนี้ คนรุ่นหลังต่างพากันเรียกว่า ช้างภู่ก่ำงาเขียว กล่าวกันว่ามีอานุภาพยิ่ง คือเวลาใกล้เที่ยงหากใครไปยืนเบื้องหน้าช้างก็จะเกิดมีอันเป็นไปต่างๆ ถ้าไม่บวงสรวงด้วยข้าวตอกดอกไม้เสียแล้วก็อาจถึงแก่ชีวิตเลยทีเดียว

ในตำนานพื้นเมืองกล่าวว่า พระนางจามเทวีไม่เพียงแต่ทรงเอาพระทัยใส่ในการศาสนา จนเมืองหริภุญไชยเป็นประดุจพุทธนครเท่านั้น ในด้านยุทธศาสตร์การป้องกันพระนครพระนางก็โปรดฯ ให้สร้างด่านไว้ที่ชายแดนที่เวียงนอกและเวียงสามเสี้ยว ปัจจุบันก็คือบริเวณหมู่บ้านกอกและทุ่งสามเสี้ยว เขต อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ นอกจากนี้ก็โปรดฯ ให้จัดการซ้อมรบเพื่อทดสอบความพลั่งพร้อมของกำลังพล โดยทรงออกอุบายให้ด่านที่เวียงนอกและเวียงสามเสี้ยวแกล้งตั้งตัวเป็นกบฏและทรงมีรับสั่งให้จัดทัพไปปราบปรากฏว่าฝ่ายพระนครชนะศึก แต่แม้ว่าจะเป็นการซ้อมรบแต่ต่างฝ่ายก็ไม่รู้กันเป็นเหตุให้เกิดการสูญเสียชีวิตมากมาย พระนางจึงทรงอุปถัมภ์เลี้ยงดูครอบครัวของทหารที่ตายในการสู้รบครั้งนี้ให้เป็นสุขต่อไป ผู้ที่รอดชีวิตก็พระราชทานบำเหน็จความดีความชอบตามควรแก่ฐานะ

พระนางจามเทวี ได้ทรงปกครองเมืองหริภุญไชยต่อมาด้วยทศพิธราชธรรมแท้จริง พระนางทรงสั่งสอนบรรดาเสนาข้าราชสำนัก ตลอดจนพสกนิกรทั้งหลายตั้งอยู่ในธรรมเสมอ นครหริภุญไชยจึงเป็นที่สงบสุขน่าปิติยินดีราวกับเมืองสวรรค์ในโลกมนุษย์

สงครามขุนวิลังคะ

ด้วยพระนางจามเทวีทรงเป็นจอมกษัตริย์ผู้ทรงปกครองนครหริภุญไชยที่รุ่งเรือง ทั้งพระนางเองก็ทรงมีพระรูปเลอโฉม พระปรีชาญาณหลักแหลม เป็นที่สรรเสริญแก่บรรดาประเทศใหญ่น้อยทั่วไป บรรดาเจ้าครองนครหลายองค์จึงใคร่จะได้พระนางไปเป็นพระมเหสี แต่ผู้ที่แสดงความปรารถนานั้นก่อนคนอื่นก็คือ ขุนวิลังคะ ผู้นำชาวลัวะ ซึ่งส่งทูตพร้อมเครื่องบรรณาการถึง ๕๐๐ สาแหรก มาถวายสาส์นทูลเชิญพระนางเสด็จไปเป็นพระมเหสีแห่งระมิงค์นคร ซึ่งบางตำนานว่าตกในราวๆ ต้นปี พ.ศ. ๑๒๒๖ เมื่อพระนางทรงมีรับสั่งให้เข้าเฝ้า ทูตลัวะก็กราบบังคมทูลอย่างวางอำนาจว่า
“ข้าแต่มหาราชเทวีเป็นเจ้า ขุนแห่งข้าพเจ้ามีนามว่าวิลังคราชอยู่ทิศดอยละวะโพ้น เป็นใหญ่กว่าลัวะทั้งหลาย ใช้ให้ข้าพเจ้าทั้งหลายนำเครื่องบรรณาการมาถวายพระนางบัดนี้ โดยเหตุที่ขุนวิลังคราชมีความรักใคร่ในพระเทวีเป็นเจ้า จักเชิญพระแม่เจ้าไปเป็นอัครมเหสี”
พระนางจามเทวีทรงพิโรธมาก เพราะการกระทำเช่นนี้ถือเป็นการหมิ่นพระเดชานุภาพ และเป็นการแสดงอำนาจคุกคามพระนางอย่างแท้จริง แต่ยังทรงตรัสถามอย่างพระทัยเย็นว่า “ดูกรท่านอำมาตย์ เรายังไม่เคยได้เห็นขุนผู้นั้นแม้สักหนเดียวเลย ขุนผู้นั้นหน้าตาเป็นอย่างใดเล่า”
ทูตลัวะทูลตอบว่า “ขุนแห่งข้าพเจ้านั้นรูปร่างหน้าตาก็เหมือนดังตัวข้าพเจ้านี้แหละ”
พระนางจึงทรงมีรับสั่งว่า “ผิว่าขุนแห่งท่านมีหน้าตาเหมือนดังท่านแล้ว อย่าว่าแต่มาเป็นผัวเราเลย แม้แต่มือเราก็ไม่จักให้ถูกต้อง ท่านจงรีบไปเสียให้พ้นจากเรือนเราเดี๋ยวนี้”

แล้วทรงขับไล่ทูตลัวะออกไปเสียจากพระนคร ทูตลัวะผู้นำรีบนำผู้คนกลับไปเมืองระมิงค์ ด้วยความวิตกว่าตนรับเชิญสาส์นเจ้าเหนือหัวมาครั้งนี้หวังว่าจะได้รับความดีความชอบ แต่ต้องกลับกลายเป็นผู้นำข่าวร้ายไปสู่เจ้านครลัวะแทนเสียแล้ว ขุนวิลังคะได้ทราบเช่นนั้นก็บังเกิดความโกรธอย่างรุนแรงสั่งเตรียมยกทัพบุกเข้าทำลายนครหริภุญไชยให้พินาศทันที เพราะถึงเมืองของพระนางจามเทวีจะเจริญรุ่งเรืองและมั่นคงด้วยปราการหอรบต่างๆ พร้อมสรรพเพียงใดก็ยังเป็นเมืองเล็กอยู่ แต่เมื่อความโกรธผ่อนคลายลงบ้างและเพราะเห็นว่าเป็นเมืองพระพุทธศาสนา จะเข้าตีเสียเลยก็ไม่เหมาะสม จึงส่งสาส์นเกลี้ยกล่อมอีกครั้งหนึ่ง ก็ได้รับคำตอบว่า พระนางยังไม่ตัดสินพระทัยเสด็จไปยังระมิงค์นครเพราะพระนางเพิ่งมีพระประสูติกาลพระโอรส พระวรกายยังไม่บริสุทธิ์พอจะทรงรับการอภิเษกเป็นพระมเหสีแห่งชาวลัวะได้ ขอให้รอไปก่อน ขณะเดียวกันภายในเมืองหริภุญไชยพระนางจามเทวีก็โปรดฯ ให้สั่งสมเสบียงและอาวุธยุทโธปกรณ์ไว้อย่างเต็มที่ รวมทั้งเตรียมกำลังทหารให้พร้อมรบที่สุด ทางฝ่ายขุนวิลังคะได้รับคำตอบเช่นนั้นก็เบาใจและรั้งรออยู่อย่างนั้น บางตำนานว่าหลงกลรอต่อไปเป็นเวลานานถึง ๗ ปีทีเดียว

ในที่สุดขุนวิลังคะก็ตาสว่างว่าตนเสียรู้ จึงนำทัพเข้าล้อมเมืองด้วยทหารจำนวนถึง ๘๐๐๐๐ คน พระนางจามเทวีก็ทรงมีพระราชโองการให้พระโอรสทั้งสองซึ่งเจริญพระชมมายุได้ ๗ พรรษาแล้วขึ้นประทับเหนือช้างภู่ก่ำงาเขียวนำทัพออกศึก โดยพระมหันตยศประทับคอช้าง พระอนันตยศประทับกลางช้าง กองทัพของหริภุญไชยมีจำนวนเพียง ๓๐๐๐ คน แต่เมื่อกองทัพของทั้งสองฝ่ายประจันหน้ากัน พลรบชาวลัวะก็ให้บังเกิดอาการหน้ามืดตามัวหมดกำลัง เพราะเผชิญหน้ากับช้างภู่ก่ำงาเขียวในเวลาเที่ยงวันพอดี จนในที่สุดไม่มีผู้ใดทนได้ก็พากันแตกทัพอลหม่านโดยไม่ทันได้สู้รบทิ้งอาวุธและสิ่งของไว้เป็นอันมาก พระนางจามเทวีจึงทรงมีรับสั่งให้ชาวพระนครพรากับออกไปรวบรวมสิ่งของเหล่านั้นไปเป็นของตนเองเสีย ทำเลที่ทหารลัวะทิ้งของไว้นั้นจึงมีชื่อว่า ลัวะวาง ในกาลต่อมา

หลังจากนั้น พระนางจามเทวีจึงเสด็จไปยังระมิงค์นครในฐานะผู้ชนะศึก เพื่อทรงช่วยเหลือบำรุงขวัญประชาชนให้กลับเป็นปกติสุขอีกครั้ง จากนั้นจึงพระราชทานเอกราชให้แก่ชาวระมิงค์นครมิให้ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของหริภุญไชยเป็นการแสดงพระกรุณา โดยจารึกไว้ในพระสุพรรณบัฎเมื่อวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีจอ พ.ศ. ๑๒๓๐

ในตำนานจามเทวีวงศ์มีขยายความเรื่องเกี่ยวกับลัวะต่อไปอีกคือ ภายหลังการสงครามขุนวิลังคะ พระมหันตยศและพระอนันตยศ ก็ทรงได้พระธิดาขุนวิลังคะเป็นชายาด้วย ดังนั้นพระนางจามเทวีจังทรงมีพระสุณิสาลำดับแรกเป็นเจ้าหญิงชาวลัวะ

เรื่องเผชิญพวกลัวะนี้ ตำนานพื้นเมืองอีกฝ่ายหนึ่งกล่าวไว้พิสดารออกไป คือ หลวงมิลังคะ (ไม่ใช่ขุนวิลังคะ) ผู้นำเผ่าลัวะเกิดหลงใหลพระสิริโฉมแห่งพระนางจามเทวีจนไม่เป็นอันกินอันนอน จึงได้แต่งทูตมาสู่ขอ แต่พระนางจามเทวีไม่ทรงสนพระทัยและไม่ให้คำตอบใดๆ ทั้งสิ้น เป็นเหตุให้หลวงมิลังคะยกไพร่พลมาประชิดเมือง พระนางจึงทรงพระดำริว่า ถ้าจะรบกับหลวงมิลังคะบ้านเมืองคงย่อยยับแน่ จึงออกอุบายแก่หลวงมิลังคะว่า หากหลวงมิลังคะพุ่งเสน้า (ธนู) จากดอยสุเทพมาตกกลางเมืองลำพูนพระนางก็จะทรงตกลงเป็นพระมเหสี หลวงมิลังคะจึงดีใจถือธนูขึ้นดอยสุเทพ บริกรรมคาถาอาคมแล้วพุ่งเสน้าจากดอยสุเทพเพียงครั้งแรกก็มาตกที่นอกเมืองทางทิศตะวันตก ห่างกำแพงเมืองไปเพียงไม่กี่วาเท่านั้น สถานที่เสน้าตกนี้เรียกกันว่า หนองเสน้า เวลาต่อมา
พระนางจามเทวีทรงเห็นเช่นนั้นก็หวั่นพระทัยนัก ทรงเกรงว่าหากให้มีการพุ่งเสน้าเป็นครั้งที่ ๒ และ ๓ คงจะมาตกกลางเมืองแน่ จึงทรงออกอุบายอีกครั้งหนึ่ง ให้ข้าราชบริพารนำซิ่นในมาตัดเย็บเป็นหมวกส่งไปให้หลวงมิลังคะสวม ข้างหลวงมิลังคะนั้นพอได้รับของฝากจากพระนางก็ดีใจเป็นที่สุด รีบสวมหมวกนั้นแล้วลองพุ่งเสน้าเป็นครั้งที่ ๒ และ ๓ ปรากฏว่าเสน้ากลับลอยไปตกห่างจากตัวเมืองยิ่งกว่าเดิมหลายเท่า จึงได้พบว่าเสียรู้และถูกทำลายคาถาอาคมเสียแล้ว เลยหมดกำลังใจที่จะพุ่งเสน้าต่อไป พระนางจามเทวีจึงมิได้เป็นราชินีของชาวลัวะด้วยเหตุดังกล่าว แต่ต่อมาชาวลัวะกับชาวลำพูนก็ยังได้มีสัมพันธ์ต่อกันบ้างในรุ่นหลังจากนั้น

อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี
อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี

สร้างพุทธปราการและกำเนิดเขลางค์นคร
ในตำนานมูลศาสนาและจามเทวีวงศ์กล่าวว่า ในลำดับต่อมาพระนางจามเทวีทรงอภิเษกพระมหันตยศซึ่งมีพระชนม์มายุ ๗ พรรษาขึ้นเป็นกษัตริย์ครองหริภุญไชยแทนพระนาง และมีการมหรสพสมโภชเป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน ต่อมาก็อภิเษกพระอนันตยศขึ้นเป็นพระอุปราช รวมเวลาที่พระนางทรงเสวยราชย์ในกรุงหริภุญไชยได้ ๗ ปี เมื่อพระมหันตยศได้เสวยราชย์แล้ว ทรงดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทแห่งพระมารดาทุกประการ นครหริภุญไชยจึงยิ่งเจริญรุ่งเรือง พสกนิกรดำรงอยู่ด้วยความสุข ในเมืองไม่มีโจรผู้ร้าย มีแต่ความสงบร่มเย็นในพระศาสนา

เมื่อถึงเวลานี้ พระนางจามเทวีก็เสด็จประทับอยู่ในพระราชสำนักแห่งพระนางด้วยความสุขอย่างบริบูรณ์แล้ว เช้าวันหนึ่งพระนางตื่นบรรทมขึ้นมา เป็นเวลาที่อากาศแจ่มใสน่าสบายอย่างยิ่ง พระนางยังทรงประทับอยู่ ณ ที่ไสยาสน์ ระลึกถึงห้วงเวลาทั้งหลายที่ผ่านมาแล้วบังเกิดความปิติในพระหฤทัยว่าสิ่งใดที่พระนางปรารถนาไว้เวลานี้พระนางก็ถึงพร้อมด้วยสิ่งนั้นแล้วทั้งหมด ทรงมีพระดำริว่ากัลยาณกรรมอันพระนางได้ทำมาแล้วในกาลก่อน พระนางจึงได้มาสำเร็จในชาตินี้ กรรมอันเป็นกุศล ควรที่พระนางคิดทำไว้ในอนาคตก่อนที่จะชราภาธ ด้วยพระดำริเช่นนั้นเอง พระนางก็ทรงสรงน้ำ ฉลองพระองค์แล้วนำข้าราชบริพารออกสำรวจรอบพระนคร เห็นสถานที่ต่างๆ ที่เหมาะสมพระนางก็โปรดฯ ให้สร้างพระอารามแห่งใหม่ขึ้น ๔ มุมเมืองนั้น ได้แก่

1. วัดอรัญญิกกรัมมการาม ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพระนคร ทรงสร้างวิหารและพระพุทธรูป แล้วถวายให้เป็นที่อยู่แห่งสงฆ์ มีพระสังฆเถระเป็นประธาน
2. วัดอาพัทธาราม ทางทิศเหนือของพระนคร มีวิหารหลังหนึ่ง สำหรับพระสงฆ์ผู้มาแต่ลังการาม
3. วัดมหาวนาราม ทางทิศตะวันตกของพระนคร สร้างพระวิหาร พระพุทธรูป และกุฏิสำหรับให้พระสงฆ์จำพรรษา
4. วัดมหารัดาราม ทางทิศใต้ของพระนคร สร้างพระวิหาร พระพุทธรูปอย่างงดงาม ให้พระสงฆ์จำพรรษาและเลี้ยงดูด้วยข้าวด้วยน้ำ

อาณาประชาราษฏร์ต่างพากันอนุโมทนาและโดยเสด็จพระราชกุศลด้วยการสร้างวัดเพิ่มเติม อีกเช่นกัน เมื่อถึงเทศกาลต่างๆ ก็พากันหอบลูกจูงหลานเข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรม ไม่เว้นแม้แต่เสนามหาอำมาตย์ หริภุญไชยจึงเท่ากับเป็นพระพุทธนครอันรุ่งเรืองยิ่งนัก นอกจากนี้ยังปรากฏภายหลังว่า พระเดชานุภาพแห่งพระนางแผ่ขึ้นไปถึงที่ใด ณ ที่นั้นจะมีวัดที่ได้ทรงสร้างหรือเกี่ยวข้องเป็นประจักษ์พยานอยู่ ตัวอย่างเช่น วัดพระธาตุดอยคำ และวัดพระธาตุดอยน้อย ใน จ. เชียงใหม่เวลานี้ เป็นต้น

ส่วนพระอนันตยศนั้นเมื่อทรงเป็นอุปราชแล้วก็หามีความพอพระทัยไม่ ด้วยทรงมีพระดำริว่าพระเชษฐาธิราชประสูติมาพร้อมกัน พระเชษฐาธิราชได้เสวยราชสมบัติแล้วพระองค์ก็น่าจะได้ครองเมืองบ้าง จึงกราบทูลพระนางจามเทวีตามพระดำรินั้น พระนางเมื่อสดับแล้ว จึงพระราชทานพระราโชวาทว่า
“ลูกรักของแม่ ถ้อยคำที่เจ้ากล่าวกับแม่นี้ แม่ก็เห็นสมควรอยู่ แต่ถึงกระนั้นก็ดี พวกเราได้มาอยู่เมืองหริภุญไชยนี้ก็ด้วยเหตุท่านสุเทวฤๅษี หากเจ้ามีความปรารถนาดังนั้น แม่จะให้เจ้าไปกราบเรียนท่านสุเทวฤๅษีดูก่อน”

แล้วพระนางจึงโปรดฯ ให้หาบัณฑิตผู้ฉลาดด้วยโวหารมาคนหนึ่ง ให้โดยเสด็จพระโอรสไปช่วยกราบเรียนท่านสุเทวฤๅษีที่พำนัก ท่านสุเทวฤๅษี เมื่อทราบเรื่องแล้วจึงถวายคำแนะนำแก่พระอนันตยศให้ไปไหว้ฤๅษีพุทธชฏิลที่ดอยโชติบรรพต ไปหาพรานเขลางค์ที่ดอยลุทธบรรพต และไปกราบท่านสุพรหมฤๅษี ที่ดอยเขางามริมแม่น้ำวังกะนที เพื่อขอให้ช่วยสร้างพระนครแห่งใหม่ พระอนันตยศทรงดำเนินการตามนั้นทุกอย่าง จึงได้ท่านสุพรหมฤๅษีและพรานเขลางค์ไปช่วยกันสร้างเมือง ท่านสุพรหมฤๅษีได้ตรวจดูทำเลอันเหมาะสมแล้วจึงใช้อำนาจเนรมิตเมืองใหญ่ขึ้นแห่งหนึ่ง แล้วเอาชื่อพรานเขลางค์มาตั้ง พระนครแห่งใหม่จึงปรากฏชื่อมาจนทุกวันนี้ว่า เขลางค์นคร ครั้นแล้วท่านสุพรหมฤๅษีก็ถวายการราชาภิเษกพระเจ้าอนันตยศขึ้นเสวยราชสมบัติในพระนครแห่งใหม่

พระเจ้าอนันตยศทรงระลึกถึงพระมารดา จึงส่งอำมาตย์ผู้หนึ่งอัญเชิญพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระนางจามเทวีเพื่อกราบบังคมทูลเชิญเสด็จมาประทับยังเขลางค์นครแห่งนี้ พระนางเมื่อทรงทราบความเช่นนั้นก็ทรงมีความปิติในพระหฤทัยมาก จึงได้เสด็จพระราชดำเนินจากหริภุญไชยนครมาถึงเขลางค์นคร เมื่อเสด็จเข้าสู่ตัวตัวเมือง ได้ทอดพระเนตรเห็นบ้านเมืองบริบูรณ์ด้วยโภคสมบัติก็พอพระทัยมาก และโปรดฯ ให้จัดพระราชพิธีราชาภิเษก พระเจ้าอนันตยศอย่างเป็นทางการขึ้นอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นให้มีมหรสพสมโภช ๗ วัน ๗ คืน และได้เสด็จไปนมัสการท่านสุพรหมฤๅษีซึ่งได้เดินทางกลับไปดอยเขางามก่อนหน้านั้นแล้วด้วย เมื่อเสด็จกลับเขลางค์นคร พระเจ้าอนันตยศโปรดฯ ให้สร้างปราสาทก่อด้วยไม้อ้อสำหรับถวายอภิเษกพระมารดาเป็นพิธีใหญ่ แล้วถวายราชสมบัติพระตำหนักที่ประทับ พระนางจามเทวีได้เสด็จอยู่ในเขลางค์นครนี้ ๖ เดือน แต่ในจามเทวีวงศ์ว่าต้องทรงอยู่ถึง ๖ ปี

เหตุที่จะต้องทรงอยู่ถึง ๖ ปี ก็เนื่องจากภายหลังพระราชพิธีอภิเษกที่พระเจ้าอนันตยศจัดถวาย และมีมหรสพสมโภชต่อมาอีก ๗ วัน พอถึงวันที่ ๘ พระเจ้าอนันตยศก็ปรารถนาจะได้พระนางไว้เสด็จประทับสิริมงคลในเมืองใหม่ของพระองค์ตลอดไป จึงกราบทูลพระมารดาว่า “ข้าแต่พระมารดาเจ้า ขอพระมารดาเจ้าจงอยู่ในพระนครนี้กับข้าพระบาทจนถึงกำหนดพระชนมายุเถิด ข้าพระบาทไม่อาจจะว่างเว้นพระมารดาเจ้าให้นานนักได้ ก็อีกประการหนึ่งครั้นเมื่อพระมารดาเจ้าอยู่ในพระนครนี้ บุญภาคส่วนการจำแนกแจกบุญกุศลก็จะบังเกิดมีแก่ข้าพระบาทเหลือล้น ขอพระมารดาเจ้าได้ทรงพระกรุณาโปรดทรงรับการเชื้อเชิญเสด็จของข้าพระบาทเพื่ออนุเคราะห์แก่ข้าพระบาทเถิด”

พระนางจามเทวีได้สดับดังนั้นก็ทรงมีพระดำริว่า พระโอรสทั้งสองพระองค์นี้พระองค์ทรงเสน่หาเหมือนกัน จะทรงรักองค์ใดองค์หนึ่งมากกว่าแม้เท่าปลายผมก็หามิได้ แต่พระเจ้าอนันตยศนี้เพิ่งจะครองราชย์ได้ไม่นาน จะสามารถหรือไม่สามารถปฏิบัติภารกิจอันสำคัญให้สำเร็จเรียบร้อยหรือก็ยังไม่ทราบ ดังนั้น จึงสมควรที่พระนางจะประทับที่เขลางค์นครเพื่อทรงช่วยเหลือพระโอรสบริหารราชการไปสักระยะหนึ่งก่อน จึงทรงรับสั่งว่า “ลูกรัก ถ้าลูกปรารถนาอย่างนี้ แม่จะอยู่ในพระนครนี้กับลูก ๓ ปี แล้วแม่จึงจะกลับไปอยู่กับพี่ชายของลูกที่หริภุญไชยภายหลัง”

พระเจ้าอนันตยศก็พอพระทัย ถวายราชสมบัติแด่พระมารดาแล้วกราบทูลว่าพระองค์จักไปเที่ยวเล่นภายนอกพระนคร แล้วจึงทรงนำข้าราชบริพารจำนวนหนึ่งไปประพาสในป่าอันรื่นรมย์นอกเมือง จากนั้นเสด็จไปหาท่านสุพรหมฤๅษีแจ้งให้ทราบถึงสิ่งที่กระทำทุกอย่าง ท่านสุพรหมฤๅษีจึงเนรมิตเมืองใหม่อีกแห่งหนึ่งถวายพระเจ้าอนันตยศ เมืองใหม่ที่สร้างขึ้นในเนินอันย้อยมาตามแนวเขลางค์นคร มีปราสาทราชมณเฑียรและบ้านเรือนพร้อมสรรพ ชื่อว่า “อาลัมพางค์นคร”
ต่อมาพระเจ้าอนันตยศก็เสด็จประทับในอาลัมพางค์นครนั้นให้พระมารดาเสด็จประทับในเขลางค์นครแทน จากนั้นพระองค์ก็เสด็จไปเยี่ยมพระนางในเขลางค์นครนั้นไต่ถามสารทุกข์ต่างๆ และถวายการรับใช้ทุกวันบ้าง สองสามวันหรือห้าวันบ้าง พระนางจามเทวีจึงเท่ากับทรงบริหารราชกิจในการสร้างเขลางค์นครให้เจริญรุ่งเรืองด้วยพระองค์เองเช่นเดียวกับที่พระนางทรงสร้างหริภุญไชยมาก่อน ครั้นพอได้ ๓ ปี พระนางก็มีรับสั่งจะลาพระเจ้าอนันตยศกลับหริภุญไชย พระเจ้าอนันตยศก็กราบทูลอ้อนวอนว่า

“ข้าแต่พระมารดาเจ้า เมื่อพระมารดาเจ้าอยู่ในพระนครนี้ จิตของข้าพระบาทก็เป็นสุข ครั้นเมื่อพระมารดาเจ้าเสด็จไปแล้วความสุขอะไรจะบังเกิดมีแก่ข้าพระบาท เพราะเหตุนั้น ขอพระมารดาเจ้าอย่าได้ละทิ้งข้าพระบาทเลย ถ้าพระมารดาละทิ้งข้าพระบาทไปเสียแล้วชีวิตของข้าพระบาทก็จะตั้งอยู่ไม่ได้นานเป็นแน่”
พระนางฟังแล้วก็พระทัยอ่อน จึงทรงมีรับสั่งตอบว่า “เอาเถิดลูกรัก ถ้าลูกปรารถนาอย่างนี้แม่จะอยู่กับลูกอีกสามปี แต่จากนี้ไปลูกจงอยู่ในเขลางค์นคร แม่จะไปอยู่ในอาลัมพางค์นคร ถ้าความประสงค์ของแม่ไม่เป็นที่ชอบใจของลูก แม่จะกลับหริภุญไชย”

พระโอรสจำต้องยอมรับเงื่อนไขนั้น พระนางจามเทวีจึงเสด็จไปประทับที่อาลัมพางค์นครแทน เหตุที่ทรงเปลี่ยนที่ประทับดังกล่าวก็เพราะทรงมีพระดำริว่าหากทรงอยู่ในเขลางค์นครต่อไป ความเป็นกษัตริย์ของพระโอรสก็จะไม่ปรากฏแก่คนทั้งหลาย และยังจะมีผู้ครหานินทาพระนางเสียด้วย พระเจ้าอนันตยศจึงต้องว่าราชการต่อไปในเขลางค์นคร และเสด็จไปเฝ้าพระมารดาที่อาลัมพางค์นครเป็นระยะๆ แทน

เมื่อเวลาผ่านไปอีกสามปี พระนางจามเทวีจะเสด็จกลับหริภุญไชย พระโอรสก็อ้อนวอนพระนางอีก แต่คราวนี้พระนางไม่ทรงตามพระทัยพระโอรสของพระนางแล้ว ประจวบด้วยเวลานั้นพระนางเกิดประชวร จึงต้องเสด็จกลับไปรักษาพระองค์ที่หริภุญไชย ซึ่งพระโอรสก็ต้องจำยอม

แต่ในตำนานพื้นเมืองกลับกล่าวถึงเรื่องนี้ไปอีกอย่างหนึ่ง ต่างกับจามเทวีวงศ์ และตำนานมูลศาสนาดังที่กล่าวมาแล้วอย่างสิ้นเชิง นั่นคือพระนางจามเทวีได้ครองสิริราชสมบัติบริหารราชการแผ่นดินนครหริภุญไชยไปถึงต้นเดือน ๘ ปีกุน พ.ศ. ๑๒๓๑ จึงทรงสละราชสมบัติพระราชทานพระเจ้ามหันตยศขึ้นครองหริภุญไชยแทน และในวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ปีเดียวกัน ก็มีการราชาภิเษกพระเจ้าอนันตยศขึ้นครองเขลางค์นคร เวลานั้นพระนางทรงมีพระชมมายุได้ ๕๕ พรรษาแล้ว และก็มิได้กล่าวถึงรายละเอียดการสร้างเขลางค์นคร อีกทั้งมิได้กล่าวถึงการที่พระนางเสด็จประทับทั้งในเขลางค์นครและอาลัมพางค์นครด้วย ตามตำนานพื้นเมืองซึ่งจะเล่าต่อไปข้างหน้านี้ พระนางจามเทวีภายหลังสละราชบัลลังก์แล้วก็ยังมิได้ตัดขาดจากราชการงานเมืองในหริภุญไชยเสียทีเดียว ยังเสด็จอยู่ในพระราชวังเพื่อช่วยเหลือพระเจ้ามหันตยศในการสร้างและปกครองพระนครต่อไปอีกระยะหนึ่ง

ตำนานพระธาตุลำปางหลวง

วัดพระธาตุลำปางหลวง
วัดพระธาตุลำปางหลวง

ใน จ.ลำปาง ปัจจุบัน ยังคงปรากฏวัดสำคัญคือ วัดพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งมีตำนานเกี่ยวข้องกับพระนางจามเทวี กล่าวคือได้กล่าวกันว่าพระนางได้เสด็จมาปฏิสังขรณ์วัดนี้ครั้งหนึ่ง การเสด็จมาครั้งนั้นได้ทิ้งร่องรอยไว้ในตำนานท้องถิ่นจำนวนมาก ดังจะเล่าโดยสังเขปดังนี้

ตามตำนานพระธาตุลำปางหลวง เล่าว่าเมืองลำปางเป็นเมืองโบราณมาแต่ก่อน ชื่อว่า ลัมภะกัปปะนคร มีพระเจดีย์บรรจุเส้นพระเกศาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอันพระเจ้าปเสนทิโกศลโปรดให้สร้างได้แต่เดิม ครั้นถึงรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดีย พระกุมารกัสสปะเถระและพระเมฆิยะเถระได้อันเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานเพิ่มอีก ซึ่งก็คือพระธาตุลำปางหลวงองค์ปัจจุบันนี้ นับว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มาก

ต่อมา ในรัชสมัยพระนางจามเทวี คราวหนึ่งพระนางเสด็จไปราชการศึกที่แม่สลิต ขากลับเสด็จผ่านมาตั้งค่ายที่สบยาว คืนนั้นเวลาก่อนรุ่งสาง ขณะที่พระนางประทับสำราญพระอิริยาบถอยู่ในค่ายพระบรมสารีริกธาตุดังกล่าวก็แสดงปาฏิหาริย์ลอยจากลัมภะกัปปะนครไปตกกลางค่ายพักของพระนาง
แต่พระเทวีเป็นเจ้าเข้าพระทัยว่า ชาวบ้านแถวนั้นหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วยการจุดไฟโตนดให้มาตก พอรุ่งเช้าจึงโปรดฯ ให้เสนาบดีผู้ใหญ่เข้าเฝ้า และตรัสเล่าสิ่งที่ทอดพระเนตรในคืนนั้น แต่ปรากฏว่า พระธาตุเสด็จครั้งนั้นพระนางทอดพระเนตรเพียงพระองค์เดียว บรรดาแม่ทัพนายกองแม้จนพวกอยู่เวรยามไม่มีใครเห็นเลย

เมื่อเกิดความสับสนกันขึ้น ล่ามพันทอง ซึ่งเข้าเฝ้าอยู่ในที่นั้นด้วยจึงกราบทูลว่า “ข้าแต่พระแม่เจ้า ที่พระแม่เจ้าได้เห็นไฟโตนดตกนั้น หาใช่ไฟโตนดไม่ ความจริงแล้วเป็นพระบรมสารีริกธาตุ อันตั้งอยู่ที่วัดลัมภะกัปปะนครที่เสด็จแสดงปาฏิหาริย์ให้พระแม่เจ้าอยู่หัวได้ทราบ ทั้งนี้ด้วยบุญญาธิการของพระแม่เจ้าอยู่หัวต่างหาก”

พระนางจามเทวีทราบเช่นนั้นก็ดีพระทัยนัก โปรดฯ ให้ยกทัพเดินทางต่อไปจนถึงลัมภะกัปปะนคร เมื่อไปถึงพระธาตุก็ได้เสด็จเข้ากราบนมัสการ เวลานั้นชาวบ้านชาวเมืองที่ทราบข่าวพากันมาเฝ้าชมพระบารมีเนืองแน่นไปหมด พระนางจึงทรงมีพระราชปฏิสันถานถึงความทุกข์สุขของพวกเขาเหล่านั้น ชาวบ้านก็กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า “ข้าแต่พระเทวีเป็นเจ้า ด้วยพระบารมีปกเกล้าแผ่ความร่มเย็นแก่พวกข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายมาช้านาน คงมีแต่น้ำบริโภคที่ยังความเดือดร้อนให้เท่านั้น กล่าวคือ ทุกวันเวลานี้จะใช้น้ำต้องเอาเกวียนไปบรรทุกมาจากห้วยแม่วังและห้วยแม่ยาวอันเป็นระยะทางไกลมาก เมื่อจะขุดบ่อในบริเวณนี้ก็หาสายน้ำมิได้ จึงเป็นอันจนใจพวกข้าพระพุทธเจ้ายิ่งนัก”

พระนางจามเทวีได้สดับคำกราบบังคมทูลเหล่านั้นแล้ว จึงทรงเสี่ยงสัจจาธิษฐานเบื้องหน้าองค์พระธาตุว่า
“ถ้าสถานที่นี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระอรหันต์เถระเจ้าได้อัญเชิญมาแต่ชมพูทวีปจริงแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าขอให้มีสายน้ำแตกออกจากใจกลางเมืองนี้ เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยแก่หมู่คนทั้งหลายอันได้รับความเดือนร้อนด้วยเถิด”

จากนั้นพระนางกราบนมัสการลาองค์พระธาตุ และเสด็จขึ้นช้างพระที่นั่งยาตราทัพไปสู่เมืองตาล เมืองรมณีย์ อันเป็นที่สำราญของพระองค์ต่อไป
เย็นวันนั้นเอง ผู้คนในเมืองลัมถะกัปปะนครก็พบสายน้ำพุ่งออกมาจากดินใจกลางเมืองจริงๆ จึงพากันขุดแต่งให้เป็นบ่อด้วยความปลื้มปิติในพระบุญญานุภาพแห่งพระนางจามเทวี น้ำในบ่อนั้นใส เย็น มีรสหอมอร่อย ต่างกับน้ำบ่อธรรมชาติอื่นๆ อย่างเทียบกันไม่ได้

เมื่อพ่อเมืองให้คนนำไหอย่างนี้มาบรรจุน้ำนั้นหามไปถวายพระนางจามเทวีที่เมืองตาล พระนางทรงพอพระราชหฤทัย จึงเสด็จกลับมาตั้งค่ายพักที่เมืองลัมภะกัปปะนครอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นได้ทรงเตรียมพระราชพิธีสมโภชพระบรมธาตุเป็นพิเศษ มีการเฉลิมฉลองกันถึง ๗ วัน ๗ คืน โดยพระนางได้ถวายนมัสการที่นาราคานับล้านเบี้ยให้เป็นที่นาของพระบรมสารีริกธาตุ ถวายล่ามพันทองกับนางดอกไม้ที่เป็นบาทบริจาริกาให้เป็นผู้ปฏิบัติรักษาองค์พระธาตุรวมทั้งข้าพระชายหญิงอีก ๘ ครัว นอกจากนั้นยังพระราชทานทาสชายหญิงอีก ๒ ครัว ให้คอยดูแลบ่อน้ำอันเกิดจากสัจจาธิษฐานแห่งพระองค์ ก่อนจะยกทัพกลับบ้านเมืองของพระนาง

สถานที่ที่เกี่ยวข้องกับตำนานนี้ปัจจุบันมีอยู่จริงทั้งหมด เช่น บริเวณที่พระนางจามเทวีทรงตั้งค่ายพัก และเกิดปาฏิหาริย์พระธาตุเสด็จ คือ บริเวณที่ปากห้วยแม่ยาวไหลมาบรรจบแม่วัง ห่างจากวัดพระธาตุลำปางหลวงไปประมาณ ๒ กิโลเมตร เมืองตาล เมืองรมณีย์ที่เป็นที่สำราญของพระนางนั้น ก็เล่ากันว่าคือเมืองร้างอยู่บริเวณดอยขุนตาล ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของที่ว่าการอำเภอห้างฉัตร ส่วนบ่อน้ำที่เกิดจากพระสัจจาธิฐาน ปัจจุบันเรียกว่าน้ำบ่อเลี้ยง และทั้งแถบนั้นก็ไม่มีบ่อน้ำไหนอีกเลย ชาวบ้านต้องอาศัยน้ำจากบ่อนี้เท่านั้น

ในวัดพระธาตุลำปางหลวงทุกวันนี้ ยังมีอาคารสำคัญแห่งหนึ่ง คือ วิหารพระเจ้าศิลา บ้างก็เรียกวิหารละโว้หรือวิหารจามเทวี เล่ากันว่าพระเจ้าละโว้ พระบิดาพระนางจามเทวีได้มาสร้างไว้เพื่อประดิษฐานพระเจ้าศิลา ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหินสีเขียวปางนาคปรก บางตำราว่าพระนางจามเทวีทรงสร้างไว้ด้วยพระองค์เองก็มี นับว่าเป็นของสำคัญคู่บ้านคู่เมืองลำปากอีกสิ่งหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับพระนางยังปรากฏหลักฐานมาจนถึงปัจจุบัน

จากตำนานนี้ จะเห็นว่าพระนางจามเทวีทรงมีบุญญานุภาพยิ่งใหญ่แท้จริง จนพระธาตุคู่เมืองลำปางยังเสด็จให้ทอดพระเนตรเพื่อจะได้ทรงช่วยเหลือชาวเมืองที่เดือนร้อน ซึ่งพระสัจจาธิษฐานครั้งนั้นมีอานุภาพมาก ถึงกับทำให้เกิดสายน้ำขึ้นเลี้ยงดูประชาชนต่อมาเป็นเวลานับพันปีได้

บั้นปลายรัชสมัย
ครั้นบ้านเมืองสงบสุข ประชากรทั้งมวลร่มเย็นภายใต้พระบารมีและเดชานุภาพแห่งพระเจ้ามหันตยศเป็นที่บริบูรณ์แล้ว เมื่อถึงวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะโรง พ.ศ. ๑๒๓๖ พระนางจามเทวีซึ่งทรงมีพระชนมายุได้ ๖๐ พรรษาแล้วจึงทรงละจากการกำกับดูแลราชการแผ่นดินทั้งปวง และทรงสละเพศฆราวาสฉลองพระองค์ขาวเสด็จไปประทับทรงศีลที่วัดจามเทวี และทรงเอาพระทัยใส่ต่อการทำนุบำรุงพระศาสนายิ่งขึ้นอีกมากมาย พระพี่เลี้ยงทั้งสอง คือ เจ้าหญิงปทุมวดีและเจ้าหญิงเกษวดีซึ่งก็ทรงชราภาพแล้วเช่นกันก็เสด็จออกจากราชสำนักฉลองพระองค์ขาวไปประทับทรงศีล ณ สำนักศิวะการาม ที่เมืองหน้าด่าน นับได้ว่าเป็นการแยกจากพระนางจามเทวีครั้งแรกหลังจากที่เจ้าหญิงทั้งสองได้ถวายการปรนนิบัติดูแลพระนางมาเป็นเวลาถึง ๖๖ ปีเต็ม และก็เป็นการแยกจากกันชั่วนิรันดร์

เพราะอีก ๓๖ ปี คือ พ.ศ. ๑๒๗๒ เจ้าหญิงทั้งสองก็สิ้นพระชนม์ ณ สำนักศิวะการามนั้นเอง พระเจ้ามหันตยศโปรดฯ ให้รักษาพระศพไว้ ๑ ปี จึงมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๑๒๙๓ ปีนั้นพระนางจามเทวีก็ยังทรงมีพระชันษายืนถึง ๙๗ เป็นที่อบอุ่นใจแก่พสกนิกรของพระนางอยู่

แต่ในอีกไม่กี่เดือนถัดมานั้นเอง พระนางก็เสด็จสวรรคตเมื่อวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๘ พ.ศ. ๑๒๙๔ รวมพระชันษาได้ ๙๘ ปี ท่ามกลางความตกตะลึงของไพร่ฟ้าทั่วแผ่นดินหริภุญไชยนครและเขลางค์นคร เพราะก่อนหน้าที่จะเสด็จสวรรคตนั้นไม่ทรงประชวรด้วยโรคใดๆ ทั้งสิ้น และได้สิ้นพระชมม์ไปขณะทรงบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานอยู่นั้นเอง เมื่อถึงตอนนี้พระเจ้าอนันตยศก็เสด็จจากเขลางค์นครมาช่วยพระเชษฐาธิราชเปลี่ยนฉลองพระองค์พระศพเป็นพัสตราภรณ์แห่งกษัตริย์หริภุญไชยเป็นครั้งสุดท้าย ท่ามกลางความเศร้าโศกของทวยราษฏร์ทั้งสองนคร เวลานั้นทั้งเมืองมีแต่เสียงร่ำไห้ เจ้าผู้ครองนครบ้านใกล้เรือนเคียงต่างก็เสด็จมารวมทั้งมาจากระมิงค์นครด้วย และร่วมเป็นเจ้าภาพในการประดิษฐานพระศพและจัดให้มีการบำเพ็ญพระราชกุศลสวดอภิธรรมตลอดระยะเวลา ๑ เดือนเต็ม จากนั้นจึงรักษาพระศพไว้ที่วัดจามเทวีอีก ๒ ปี ก่อนที่จะประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงเมื่อวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๖ ปีวอก พ.ศ. ๑๒๗๖
วันถวายพระเพลิงนั้นเป็นวันสุดท้ายที่ชาวนครหริภุญไชยได้มีโอกาสเฝ้าถวายความจงรักภักดีจอมกษัตริย์ของพวกเขา กระบวนแห่ที่ใหญ่โตสมพระเกียรติยศได้อันเชิญพระศพออกจากวัดจามเทวีไปยังพระเมรุมาศ ณ เชตุวันพนาเวศ เมื่อเสด็จพระราชพิธีถวายพระเพลิงแล้ว ได้อัญเชิญพระอัฐิไปประดิษฐานไว้ที่วัดจามเทวี ในกาลนั้นกษัตริย์แห่งหริภุญไชย เขลางค์ และระมิงค์ได้เสด็จไว้ทุกข์เป็นเวลา ๑ ปี

ส่วนในตำนานมูลศาสนา และจามเทวีวงศ์ที่ต่างออกไปนั้น พระนางจามเทวีไม่ทรงมีพระชันษายืนเลย เพราะได้ทรงเสวยราชย์ในนครหริภุญไชยเพียง ๗ ปี แล้วสละราชบัลลังก์พระราชทานพระเจ้ามหันตยศ จากนั้นเสด็จไปประทับที่เขลางค์นครกับอาลัมพางค์นครกับพระเจ้าอนันตยศอีก ๖ ปี ครั้นเริ่มประชวรเสด็จกลับมายังหริภุญไชย ทรงเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยทักษิณาวรรตแล้วทรงศีลต่อไปอีกเพียง ๘ วัน พระโรคาพาธก็กำเริบแรงกล้าจนถึงเสด็จสวรรคต และเมื่อถึงวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพนั้น ด้วยกุศลกรรมอันพระนางได้สั่งสมมา และทั้งได้เจริญพระไตรลักษณ์ด้วยการเปล่งวาจาว่า ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา เมื่อจุติจากมนุษยโลกนี้ก็ได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตเทวโลก

ในจามเทวีวงศ์ กล่าวว่าพระเจ้ามหันตยศโปรดฯ ให้จัดพิธีบูชาสักการะพระศพเป็นการใหญ่ ๗ วัน แล้วก่อพระเมรุมาศสำหรับถวายพระเพลิงได้จัดการถวายพระเพลิงพร้อมทั้งดุริยดนตรีฟ้อนรำประโคมเป็นระยะเวลาถึง ๗ วัน แล้วก่อพระเมรุมาศสำหรับถวายพระเพลิงได้จัดการถวายพระเพลิงพร้อมด้วยมีดุริยดนตรี ฟ้อนรำประโคมเป็นระยะเวลาถึง ๗ วัน จากนั้นดับพระเพลิงนั้นด้วยน้ำหอม แล้วตั้งกระบวนเชิญพระอัฐิธาตุ พระเจดีย์นั้นเบื้องบนมีพระพุทธรูปหุ้มด้วยแผ่นทองคำ จึงมีนามว่าสุวรรณจังโกฏิเจดีย์

ตำนานมูลศาสนากล่าวว่าภายในเจดีย์นั้นนอกจากเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิธาตุแล้ว ยังได้บรรจุเครื่องประดับของพระนางไว้ด้วย เป็นต้นว่า ซ้องและหวีรอง รวมทั้งได้บรรจุงาทั้งสองของช้างภู่ก่ำงาเขียวคู่พระบารมีของพระนางไว้ด้วยกัน สุวรรณจังโกฏิเจดีย์จึงกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของนครหริภุญไชยต่อมาจนทุกวันนี้

Leave a Comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.