หลวงพ่อเผือก วัดกิ่งแก้ว เทพเจ้าแห่งปากน้ำ

ประวัติ หลวงปู่เผือก ปัญญาธโร วัดกิ่งแก้ว จ.สมุทรปราการ

เมืองปากน้ำ สถานที่ตั้งของสนามบินสุวรรณภูมิ ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง จากรุ่นสู่รุ่นอดีตจวบจนปัจจุบัน พระเกจิอีกรูปหนึ่ง ถึงแม้ท่านจะละสังขารไปนานกว่า 50 ปีแล้ว แต่วัตถุมงคลของท่านที่จัดสร้างไว้ กลับได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ลูกศิษย์ลูกหาและนักสะสมเป็นอย่างยิ่ง

ท่านได้รับการยกย่องเป็นเทพเจ้าแห่งปากน้ำ คือ “พระครูกรุณาวิหารี” หรือที่ชาวบ้านทั่วไปนิยมเรียกกันติดปาก ว่า “หลวงปู่เผือก ปัญญาธโร” อดีตเจ้าอาวาสวัดกิ่งแก้ว ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

ทั้งนี้ วัดกิ่งแก้ว ตั้งอยู่ที่ 23 ถนนกิ่งแก้ว หมู่ 13 ต.ราชาเทวะ อ. บางพลี จ.สมุทรปราการ สร้างเมื่อปี 2428 เดิมเรียกว่า “วัดกิ่งไผ่” ต่อมา หม่อมแก้วได้มาทำนุบำรุงและบูรณะพัฒนาวัดให้เจริญมั่นคง จึงได้ขนานนามวัดใหม่ว่า “วัดกิ่งแก้ว” มาจนถึงปัจจุบัน วัดแห่งนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อประมาณปี 2429

กล่าวสำหรับ หลวงปู่เผือก เกิดในสกุล ขุมสุขทอง ที่บ้านคลองสำโรง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม 2412 ตรงกับวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 9 ปีมะเส็ง โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายทองสุขและนางไข่ ขุมสุขทอง มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 8 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 5

เมื่ออายุ 13 ปี โยมบิดาของท่านนำไปฝากเรียนหนังสือกับพระอาจารย์อิ่ม อินทสโร ที่วัดกิ่งแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ จนอายุครบ 15 ปี มีความรู้พออ่านออกเขียนได้ จากนั้นกลับมาช่วยครอบครัวประกอบอาชีพทำนา ทำสวน จวบจนอายุ 18 ปี ถูกคัดเลือกเข้าเป็นทหารเรือในกองประจำการ รับราชการ 2 ปี จึงกลับมาช่วยบิดา-มารดา ประกอบอาชีพกสิกรรม อย่างเดิม

เมื่ออายุครบ 21 ปี ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทตามประเพณีที่วัดกิ่งแก้ว โดยมี หลวงปู่ทอง วัดราชโยธา (วัดราชบัวขาว) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์อิ่ม อินทสโร วัดกิ่งแก้ว เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายา “ปัญญาธโร”

ภายหลังอุปสมบท ได้อยู่จำพรรษาที่วัดกิ่งแก้ว ศึกษาภาษาไทยเพิ่มเติมจนมีความรู้แตก ฉาน จึงเริ่มศึกษาพระธรรมวินัย ศึกษาอักขระขอมและฝึกการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน โดยมีพระอาจารย์อิ่ม เจ้าอาวาสวัดกิ่งแก้ว เป็นผู้อบรมสั่งสอน

พ.ศ.2442 พระอาจารย์อิ่มมรณภาพ ที่ประชุมสงฆ์และชาวบ้านมีความเห็นพ้องกันให้หลวงปู่เผือก ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบแทน หลังจากรับตำแหน่งเจ้าอาวาสแล้ว หลวงปู่เผือก ได้บูรณะวัด โดยมีชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจพร้อมสละกำลังทรัพย์เป็นอย่างดี ได้มีการสร้างถาวรวัตถุขึ้น เช่น อุโบสถ ประดิษฐานพระ พุทธชินราชจำลอง วิหาร ศาลาการเปรียญ มณฑป โรงเรียนพระปริยัติธรรม และโรงเรียนประชาบาล

พ.ศ.2443 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลราชาเทวะ พ.ศ.2446 ได้รับแต่งตั้งเป็น พระสมุห์ฐานานุกรมของพระครูสุนทรสมุทร (จ้อย) เจ้าคณะจังหวัดสมุทรปราการ วัดกลางวรวิหาร และได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2480 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูกรุณาวิหารี”

พ.ศ.2487 ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสงฆ์ องค์การสาธารณูปการ ใน อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

หลวงปู่เผือก เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีความเข้มขลังทางด้านวิทยาคม สั่งสอนคณะศิษยานุศิษย์ ด้วยความเมตตา

พระเครื่องวัตถุมงคลของหลวงปู่เผือก ได้รับความนิยมอย่างมากหลายรุ่นหลายพิมพ์ อาทิ เหรียญรูปหล่อ พระกริ่ง พระเนื้อผง และที่นิยมกันมาก คือ พระผงหลวงปู่เผือก รุ่นขุดสระเล็กและใหญ่ สร้างปี 2460-2465, เหรียญสี่เหลี่ยมหลวงปู่เผือก สร้างปี 2481, พระพุทธชินราชหลวงปู่เผือก สร้างปี 2485-2486 เป็นต้น

วัตถุมงคลหลวงปู่เผือก เล่าขานกันปากต่อปากถึงพุทธคุณอันยอดเยี่ยม ครบถ้วนทั้งทางด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาดปลอดภัย คงกระพันชาตรี ชนะใจนักสะสมพระเครื่องวัตถุมงคล เหตุที่มีการกล่าวขวัญเรียกชื่อวัตถุมงคลว่ารุ่นขุดสระนั้น มีมูลเหตุการจัดสร้าง “วัดกิ่งแก้ว” ที่แต่เดิมเป็นที่ราบลุ่มแวดล้อมไปด้วยคูคลองที่มีสวนล้อมรอบ เวลาฝนตกจะมีน้ำขัง

ในขณะนั้นหลวงปู่เผือกมีความตั้งใจจะสร้างโบสถ์ พื้นที่ถูกขุดดินไปกลายเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ สามารถเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้ เพื่อเป็นอนุสรณ์และสินน้ำใจที่บรรดาศิษย์และชาวบ้านได้ช่วยลงแรงกายแรงใจกัน

หลวงปู่เผือก จึงได้สร้างพระเนื้อผง ขึ้นมาจำนวนหนึ่งเพื่อแจกเป็นที่ระลึก เรียกชื่อพระรุ่นนี้ว่า “พระรุ่นขุดสระ”

หลวงปู่เผือก มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2501 สิริอายุ 89 ปี พรรษา 69

Leave a Comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.