หลวงพ่ออ๋อย วัดไทร กรุงเทพมหานคร

หลวงพ่ออ๋อย วัดไทร กรุงเทพมหานคร

ข้อมูลประวัติ หลวงพ่ออ๋อย วัดไทร กรุงเทพมหานคร

“หลวงพ่ออ๋อย” มีนามเดิมว่า “อ๋อย ถาวรวยัคฆ์” เป็นชาว อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร โดยกำเนิดโดยเกิดเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์

พ.ศ.2413 บิดา-มารดาชื่อ “นายเสือ-นางสำริด” ในวัยเด็กได้เข้าเรียนหนังสือไทยที่ “วัดนางสาว” โดยเรียนรู้อักษรไทยสมัยเก่าแค่อ่านออกเขียนได้คล่อง จึงกลับไปช่วยงานทางบ้านกระทั่งอายุย่างสู่ปีที่ 26 จึงอุปสมบท ณ วัดนางสาว เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2439 โดยมี “หลวงพ่อเกิด วัดนกกระจอก” เป็นอุปัชฌาย์ได้รับฉายาว่า “ยโส” โดยสมัยนั้นมีพระที่บวชวัดเดียวกันซึ่งต่อมาได้เป็นสหายทางธรรมที่สนิทสนม กันคือ “หลวงพ่อคง” หลังจากจำพรรษาอยู่ที่วัดนางสาวได้ 1 พรรษา จึงย้ายไปจำพรรษาที่ “วัดไทร บางขุนเทียน” เพื่อทำการ ศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัยอันเป็นข้อปฏิบัติของสงฆ์

พร้อมทั้งร่ำเรียนอักษรขอมแล้วจึงหันมาสนใจ การศึกษาด้านพุทธาคมเวทมนต์คาถา กระทั่งเชี่ยวชาญและต่อมาได้เป็นสหายทางธรรมกับ “หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ” และมีความใกล้ชิดสนิทสนมกันมากจึงไปมาหาสู่กันเป็นประจำโดย “หลวงพ่อรุ่ง” จะเดินทางมาหา “หลวงพ่ออ๋อย” ที่ “วัดไทร” เป็นประจำพร้อมค้างแรมครั้งละหลายคืนเสมอเพราะ “พระคณาจารย์” ผู้เป็นสหายทางธรรมมักจะมีการแลกเปลี่ยนวิชากันนั่นเองเนื่องจาก “หลวงพ่ออ๋อย” เองเป็นชาวกระทุ่มแบนอันเป็นเขตที่ “วัดท่ากระบือ” ของ “หลวงพ่อรุ่ง” พระคณาจารย์ทั้งสองจึงชอบพอกันเป็นพิเศษ

ประกอบกับ “หลวงพ่ออ๋อย” โด่งดังด้าน “ยาสัก” โดยใช้ “สมุนไพร” สักลงบนผิวหนังเพื่อ “รักษาโรคภัยไข้เจ็บ” ให้ชาวบ้านหายขาดอยู่เสมอจึงมีชื่อเสียงโด่งดังมาก นอกจากนี้ยังได้เป็น เจ้าอาวาสวัดไทร พร้อมได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น “พระครูถาวรสมณวงศ์” และมรณภาพโดยความสงบขณะมีอายุ 89ปี เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2501 ตรงกับวันอาทิตย์ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 11 ปีจอ จุลศักราช 1320

ในย่านบางขุนเทียน นอกจากชื่อเสียงอันเกริกไกรของหลวงปู่เอี่ยม (พระภาวนาโกศลเถระ) หรือ “เจ้าคุณเฒ่า” วัดหนังแล้ว “หลวงปู่อ๋อย วัดไทร”นับเป็นเกจิอาจารย์ดังอีกองค์หนึ่งที่มีวิทยาคมไม่เป็นสองรองใคร

ท่านเชี่ยวชาญด้านยาสัก และการเล่นแร่แปรธาตุจนสำเร็จเป็นทองคำ นาก เพชร พลอย รวมทั้งสร้างพระด้วยเนื้อผงผสมว่านต่างๆแจกลูกศิษย์ ซึ่งมีพุทธคุณยอดเยี่ยมทางเหนียว แคล้วคลาด เมตตามหานิยม สมเด็จพระสังฆราช(แพ) วัดสุทัศน์ เลื่อมใสมาก เวลาสร้างพระกริ่งและปลุกเสกคราวใดจะต้องนิมนต์ท่านมาด้วยทุกครั้ง

พลังจิตของท่านกล้าแข็งมาก สามารถเสกใบมะขามเป็นตัวต่อแตนได้ และเสกสิ่งของวัตถุมงคลอย่างใด ก็ล้วนแต่ขลังศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก

หน้าที่การงานและสมณศักดิ์

พ.ศ.2452 เป็นเจ้าอาวาสวัดไทร และเจ้าคณะหมวดบางประทุน พ.ศ.2457 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น “พระครูถาวรสมณวงศ์” พระครูพิเศษชั้นตรี ผู้ช่วยเจ้าคณะแขวงล่าง

พ.ศ.2472 เป็นพระอุปัชฌาย์ อยู่ในตำแหน่งได้ 29 ปี พ.ศ.2487 เลื่อนเป็นพระครูพิเศษชั้นโท ในตำแหน่งเจ้าคณะตำบลบางขุนเทียน

พ.ศ.2490 เลื่อนเป็นพระครูชั้นเอก ในตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าคณะอำเภอ

หลวงปู่อ๋อยท่านชอบธุดงค์เป็นชีวิตจิตใจ โดยระหว่างนั้นได้หาแร่ธาตุต่างๆที่เห็นว่าแปลกและต้องกับตำราว่ามีกฤตยานุภาพ ตลอดจนที่มีกล่าวไว้ในตำราเล่นแร่แปรธาตุ สะสมรวบรวมเอาไว้นอกจากนี้ ยังสะสมว่านต่างๆไว้มากมาย ทั้งว่านยา ว่านมหามงคล และว่านที่มีอานุภาพทางคงกระพันชาตรี โดยท่านจะนำบางอย่างมาใช้ทำเป็น “ยาสัก”อันเลื่องชื่อของท่าน

ด้วยความเป็นผู้ชอบศึกษาค้นคว้าและเป็นนักทดลอง สมัยที่ยังมีชีวิตจะเห็นตำรับตำรา เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆมากมาย และในยามว่างจากรักษาคนไข้แล้ว ท่านจะทดลองถลุงแร่ แปรธาตุต่างๆ เมื่อปฏิบัติเห็นผลแล้ว ท่านก็เลิกทำ เพราะเป็นเครื่องชักจูงให้ติดอยู่ในทางให้เกิดความโลภของลูกศิษย์

แพทย์แผนโบราณก็เป็นวิชาที่ท่านสนใจมากเช่นกัน วิชาที่รักษาโรคใดที่ยังไม่ได้เรียน ก็จะมุ่งมั่นค้นคว้าจากตำราจนสำเร็จ ทั้งนี้ การรักษาโรคด้วยยาสักมีเคล็ดอยู่ว่า “ถ้าใครไม่ขอร้องให้รักษา จงอย่าขันอาสารักษาให้”

น้ำมันมนต์ของท่านช่วยชีวิตคนที่เป็นโรคห่า (อหิวาตกโรค)ไว้มากมาย ข้าวสารเสกเลื่องลือมาก หากใครได้กินจะร่ำเรียนปัญญาดี คนบางขุนเทียนสมัยนั้นนิยมกันมาก แม้แต่คนกรุงเทพฯยังเอาไปให้ท่านเสกกันเป็นจำนวนมาก ตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านเสกทรายใส่ถุงเล็กๆแจกจ่ายทหารและชาวบ้านให้ไปพกติดตัว ปรากฏว่าไม่เป็นอันตรายเลย เป็นเรื่องเล่าขานกันมาจนทุกวันนี้

สมัยนั้นตลาดน้ำวัดไทรเป็นที่ชุมนุมเรือขายของต่างๆมากมาย บางคนขึ้นมาถ่ายเบา-ถ่ายหนักท่านก็จะออกไปว่ากล่าวตักเตือนจนไม่มีใครกล้าทำ อีกเลย พระ-เณรในวัด ถ้าไม่ท่องหนังสือจะมาเดินเล่นหน้าวัดหรือบริเวณวัดไม่ได้ บางองค์ฟังวิทยุท่านก็จะบอกว่าการบันเทิงไม่ใช่กิจของสงฆ์

ท่านพูดเสียง ดังฟังชัด ชอบพูดตรงๆไม่อ้อมค้อม และชอบคนที่พูดตรงๆเช่นกัน ใบหน้าท่านเอิบอิ่ม ยิ้มแย้มแจ่มใส แต่ดวงตาของท่านกล้า แข็งเป็นที่เกรงกลัวกันมาก ทว่าใครก็ตามที่ได้สัมผัสใกล้ชิดแล้ว ต่างกล่าวขานถึงความเมตตาอันมากล้น โดยเฉพาะผู้ที่รอดพ้นจากความตายด้วย “ยาสัก”ของท่าน ต่างเชื่อมั่นในบารมีแห่งตัวท่านไม่เสื่อมคลาย เช่นเดียวกับผู้ที่มี “พระว่าน”หรือ” เหรียญรูปเหมือน” ของท่านติดตัวบูชา ต่างรู้ซึ่งถึงคุณค่าและพุทธคุณที่ล้ำเลิศจนน่าอัศจรรย์ใจ!!!

หลวงพ่อรุ่ง วัดหนองสีนวล

หลวงพ่อรุ่ง วัดหนองสีนวล

หลวงพ่อรุ่ง ฆคสุวณฺโณ วัดหนองสีนวล อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ เป็นวัดดั้งเดิมที่เกี่ยวข้อง กับกองบิน ๔ มากที่สุด อยู่ห่างจากพื้นที่กองบิน ๔ ไม่ถึง๑ ก.ม. โดยอยู่ทิศเหนือของ กองบิน ๔ ( หลังกองบิน ๔ ) ซึ่งวัดนี้หลวงพ่อรุ่งเป็นผู้นำสร้าง และเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก

หลวงพ่อรุ่ง ฆคสุวณฺโณ เกิดเมื่อวันพุธที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ.๒๔๑๒ ที่บ้านหัวหวาย อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ โดยบิดาชื่อ แป้น แป้นโต โยมมารดาชื่อ พุ่ม แป้นโต อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดมะปรางเหลือง อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ โดยมีหลวงพ่อปั้น วัดหัวถนน เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อเงิน วัดมะปรางเมือง เป็นกรรมวาจาจารย์ หลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล เป็นอนุสาวนาจารย์ เมื่ออุปสมบทแล้วได้จำ
พรรษา ณ วัดมะปรางเหลือง

ศึกษา – พัฒนา ได้ศึกษาธรรมวินัยที่วัดมะปรางเหลืองกับพระกรรมวาจาจารย์ ทั้งคันถธุระและวิปัสสนาธุระปรากฏว่าท่านสามารถหยั่งรู้ความเป็นไปของสัตว์ในคติภพต่างๆ เมื่อศึกษาจนเป็นที่พอใจในระดับหนึ่งแล้ว ท่านได้กลับมาจำพรรษาที่วัดบ้านเกิดคือวัดหัวหวาย และเมื่อวัดว่างเจ้าอาวาส ท่านก็ได้รับเป็นเจ้าอาวาสวัดหัวหวาย ในขณะที่พรรษาได้ประมาณ ๕ พรรษาต่อมาที่บ้านหัวหวายมีความเดือดร้อนลำเค็ญเกี่ยวกับเรื่องน้ำและสภาวะบีบคั้นด้านอื่นๆ ท่านสงสารญาติโยมจึงได้จาริก แสวงหาทำเลที่ตั้งหมู่บ้านใหม่โดยท่านได้ใช้วิชาที่ศึกษาเล่าเรียนมาเสี่ยงทายหาทำเลที่เหมาะสมประมาณ ๔-๕ ที่ จึงได้มาพบหนองน้ำที่มีนกเขาชุกชุมมากและมีนกเขาตัวหนึ่งสีนวลสวยงามเป็นจุดเด่นอยู่ด้วย ท่านจึงตกลงใจยึดทำที่เหมาะสมกลับไปนำญาติโยมจากบ้านหัวหวายอพยพมาอยู่ครั้งแรก ๓๐ ครอบครัว ต่อมาได้อพยพตามมาเป็นจำนวนมาก ท่านได้รื้อกุฏิและศาลาวัดหัวหวายมาสร้างที่ วัดหนองสีนวลด้วยโดยได้สร้าง วัดหนองสีนวล เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๔๔ ตรงกับรัชสมัยของพระปิยมหาราช ร.๕

ครั้งถึง พ.ศ.๒๔๕๓ ท่านได้พบ แสงศร และได้นำทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.๖ ด้วยตนเอง ซึ่งพระแสงศรดังกล่าว จัดเป็นของสำคัญอีกอย่างหนึ่งในรัชสมัยของพระองค์ด้วย

ความเกี่ยวพันกับหลวงพ่อเดิมฯ หลวงพ่อรุ่งมีความเกี่ยวข้องเป็นญาติกับหลวงพ่อเดิม (เป็นพี่หลวงพ่อเดิม ๑๑ ปี) โดยโยมมารดาของท่านทั้งสองเป็นพี่น้องกันและท่านทั้งสองได้ช่วยกันปฏิบัติศาสนกิจมาโดยลำดับเช่น การก่อสร้างอุโบสถ วัดหนองสีนวล ก็ปรากฏว่าหลวงพ่อเดิมได้มีส่วนช่วยในการก่อสร้างจนสำเร็จลุล่วงอย่างรวดเร็ว

หลวงพ่อรุ่งได้พัฒนาวัดหนองสีนวลมาโดยลำดับจนถึง วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๙ ท่านได้มรณภาพละสังขาร สิริรวมอายุได้ ๗๗ปี พรรษา ๕๔ เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองสีนวล ๔๔ ปี

รูปเหมือนหลวงพ่อรุ่ง กองบิน ๔ ได้ระลึกถึงพระคุณของท่านจึงได้หล่อรูปเหมือนหลวงพ่อรุ่ง เมื่อพ.ศ. ๒๕๓๐ จากโรงหล่อใกล้วัดประดิษฐารามกรุงเทพมหานคร ฐานกว้าง๓๒ นิ้ว หน้าตักกว้าง ๓๒ นิ้ว ส่วนสูง ๓๙ นิ้ว ค่าหล่อ ๓๖,๐๐๐ บาท (สามหมื่นหกพันบาทถ้วน) ได้ทำพิธีพร้อมพิธีพุทธาภิเษก วัตถุมงคล หลวงพ่อเพชรเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ ณ วิหารหลวงพ่อเพชร ด้วย

หลวงพ่อแพ เขมังกโร

หลวงพ่อแพ เขมังกโร

หลวงพ่อแพ เขมังกโร เป็นชาว จ.สิงห์บุรี โดยกำเนิด ซึ่งเป็นดินแดนแห่งวีรชนคนกล้า “ชาวบ้านบางระจัน” อันลือลั่นในประวัติศาสตร์ของชาติไทย

ท่านมีนามเดิมว่า “แพ ใจมั่นคง” ชาตะเมื่อวันจันทร์ที่ ๑ มกราคม ๒๔๔๘ ณ บ้านสวนกล้วย ต.พิกุลทอง อ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี เป็นบุตรของนายเทียน และนางหน่าย ใจมั่นคง เมื่ออายุได้ ๘ เดือน มารดาผู้ให้กำเนิดได้ถึงแก่กรรม นายบุญ และนางเพียร ขำวิบูลย์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นอา ได้ขอด.ช.แพ จากนายเทียน บิดาบังเกิดเกล้า มาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม

พ.ศ. ๒๔๖๓ ด.ช.แพ อายุ ๑๖ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดพิกุลทอง ต.พิกุลทอง อ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี โดยมี พระอธิการพันธ์ จันทสโร เจ้าอาวาสวัดพิกุลทอง เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากนั้นท่านได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดชนะสงคราม กรุงเทพฯ ศึกษาภาษาบาลีไวยากรณ์ จนสอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค

พ.ศ.๒๔๖๙ สามเณรแพ มีอายุครบ ๒๑ ปีบริบูรณ์ ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดพิกุลทอง โดยมี พระมงคลทิพยมุนี (มุ้ย) เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาส กรุงเทพฯ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “เขมังกโร” แปลว่า “ผู้ทำความเกษม”

ภายหลังอุปสมบทแล้ว พระภิกษุแพ ได้กลับมาจำพรรษาที่วัดชนะสงคราม เช่นเดิม

พ.ศ.๒๔๗๐ พระภิกษุแพ สอบเปรียญธรรมได้ ๔ ประโยค และได้หยุดการศึกษาด้านปริยัติธรรม เนื่องจากมีปัญหาด้านสายตา ที่ต้องใช้ในการอ่านตำรับตำรา

หลังจากนั้น ท่านได้เริ่มหันมาศึกษาแนวทางปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน และวิชาไสยเวท โดยได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของ พระครูใบฎีกาเกลี้ยง วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ และ หลวงปู่ศรี วัดพระปรางค์ อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี โดยท่านได้ศึกษาจนเจนจบ และมีความเชี่ยวชาญชำนาญทางนี้มาก

พ.ศ.๒๔๗๔ หลวงพ่อแพ อายุ ๒๖ ปี ได้รับนิมนต์ให้มาเป็นเจ้าอาวาส วัดพิกุลทอง แทนเจ้าอาวาสรูปเดิม ที่ลาสิกขา

ท่านได้พัฒนาวัดพิกุลทองให้เจริญรุ่งเรืองในทุกด้าน ดังปรากฏในทุกวันนี้

สำหรับตำแหน่งหน้าที่การงานสำคัญที่ท่านได้รับ คือ พ.ศ.๒๔๘๓ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.๒๔๘๔ เป็นพระครูสัญญาบัตรในนาม “พระครูศรีพรหมโสภิต” พ.ศ.๒๕๓๙ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นกรณีพิเศษ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมในนาม “พระธรรมมุนี ฯลฯ

ตลอดชีวิตของหลวงพ่อแพ ท่านได้บำเพ็ญสาธารณประโยชน์แก่สังคมอย่างอเนกอนันต์ และได้อุทิศเวลาส่วนใหญ่ให้แก่ชาวบ้านผู้เดือดร้อน หรือตกทุกข์ได้ยากตลอดมา เปรียบเสมือนร่มโพธิ์ร่มไทรของประชาชนทั่วไป จวบจนท่านมรณภาพเมื่อวันพุธที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ สิริอายุ ๙๔ ปี พรรษา ๗๓

ทีมา คมชัดลึก (ปกิณกะพระเครื่อง โดยไพศาล ถิระศุภะ)

หลวงพ่อเผือก วัดกิ่งแก้ว เทพเจ้าแห่งปากน้ำ

หลวงพ่อเผือก วัดกิ่งแก้ว เทพเจ้าแห่งปากน้ำ

ประวัติ หลวงปู่เผือก ปัญญาธโร วัดกิ่งแก้ว จ.สมุทรปราการ

เมืองปากน้ำ สถานที่ตั้งของสนามบินสุวรรณภูมิ ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง จากรุ่นสู่รุ่นอดีตจวบจนปัจจุบัน พระเกจิอีกรูปหนึ่ง ถึงแม้ท่านจะละสังขารไปนานกว่า 50 ปีแล้ว แต่วัตถุมงคลของท่านที่จัดสร้างไว้ กลับได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ลูกศิษย์ลูกหาและนักสะสมเป็นอย่างยิ่ง

ท่านได้รับการยกย่องเป็นเทพเจ้าแห่งปากน้ำ คือ “พระครูกรุณาวิหารี” หรือที่ชาวบ้านทั่วไปนิยมเรียกกันติดปาก ว่า “หลวงปู่เผือก ปัญญาธโร” อดีตเจ้าอาวาสวัดกิ่งแก้ว ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

ทั้งนี้ วัดกิ่งแก้ว ตั้งอยู่ที่ 23 ถนนกิ่งแก้ว หมู่ 13 ต.ราชาเทวะ อ. บางพลี จ.สมุทรปราการ สร้างเมื่อปี 2428 เดิมเรียกว่า “วัดกิ่งไผ่” ต่อมา หม่อมแก้วได้มาทำนุบำรุงและบูรณะพัฒนาวัดให้เจริญมั่นคง จึงได้ขนานนามวัดใหม่ว่า “วัดกิ่งแก้ว” มาจนถึงปัจจุบัน วัดแห่งนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อประมาณปี 2429

กล่าวสำหรับ หลวงปู่เผือก เกิดในสกุล ขุมสุขทอง ที่บ้านคลองสำโรง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม 2412 ตรงกับวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 9 ปีมะเส็ง โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายทองสุขและนางไข่ ขุมสุขทอง มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 8 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 5

เมื่ออายุ 13 ปี โยมบิดาของท่านนำไปฝากเรียนหนังสือกับพระอาจารย์อิ่ม อินทสโร ที่วัดกิ่งแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ จนอายุครบ 15 ปี มีความรู้พออ่านออกเขียนได้ จากนั้นกลับมาช่วยครอบครัวประกอบอาชีพทำนา ทำสวน จวบจนอายุ 18 ปี ถูกคัดเลือกเข้าเป็นทหารเรือในกองประจำการ รับราชการ 2 ปี จึงกลับมาช่วยบิดา-มารดา ประกอบอาชีพกสิกรรม อย่างเดิม

เมื่ออายุครบ 21 ปี ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทตามประเพณีที่วัดกิ่งแก้ว โดยมี หลวงปู่ทอง วัดราชโยธา (วัดราชบัวขาว) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์อิ่ม อินทสโร วัดกิ่งแก้ว เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายา “ปัญญาธโร”

ภายหลังอุปสมบท ได้อยู่จำพรรษาที่วัดกิ่งแก้ว ศึกษาภาษาไทยเพิ่มเติมจนมีความรู้แตก ฉาน จึงเริ่มศึกษาพระธรรมวินัย ศึกษาอักขระขอมและฝึกการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน โดยมีพระอาจารย์อิ่ม เจ้าอาวาสวัดกิ่งแก้ว เป็นผู้อบรมสั่งสอน

พ.ศ.2442 พระอาจารย์อิ่มมรณภาพ ที่ประชุมสงฆ์และชาวบ้านมีความเห็นพ้องกันให้หลวงปู่เผือก ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบแทน หลังจากรับตำแหน่งเจ้าอาวาสแล้ว หลวงปู่เผือก ได้บูรณะวัด โดยมีชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจพร้อมสละกำลังทรัพย์เป็นอย่างดี ได้มีการสร้างถาวรวัตถุขึ้น เช่น อุโบสถ ประดิษฐานพระ พุทธชินราชจำลอง วิหาร ศาลาการเปรียญ มณฑป โรงเรียนพระปริยัติธรรม และโรงเรียนประชาบาล

พ.ศ.2443 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลราชาเทวะ พ.ศ.2446 ได้รับแต่งตั้งเป็น พระสมุห์ฐานานุกรมของพระครูสุนทรสมุทร (จ้อย) เจ้าคณะจังหวัดสมุทรปราการ วัดกลางวรวิหาร และได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2480 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูกรุณาวิหารี”

พ.ศ.2487 ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสงฆ์ องค์การสาธารณูปการ ใน อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

หลวงปู่เผือก เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีความเข้มขลังทางด้านวิทยาคม สั่งสอนคณะศิษยานุศิษย์ ด้วยความเมตตา

พระเครื่องวัตถุมงคลของหลวงปู่เผือก ได้รับความนิยมอย่างมากหลายรุ่นหลายพิมพ์ อาทิ เหรียญรูปหล่อ พระกริ่ง พระเนื้อผง และที่นิยมกันมาก คือ พระผงหลวงปู่เผือก รุ่นขุดสระเล็กและใหญ่ สร้างปี 2460-2465, เหรียญสี่เหลี่ยมหลวงปู่เผือก สร้างปี 2481, พระพุทธชินราชหลวงปู่เผือก สร้างปี 2485-2486 เป็นต้น

วัตถุมงคลหลวงปู่เผือก เล่าขานกันปากต่อปากถึงพุทธคุณอันยอดเยี่ยม ครบถ้วนทั้งทางด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาดปลอดภัย คงกระพันชาตรี ชนะใจนักสะสมพระเครื่องวัตถุมงคล เหตุที่มีการกล่าวขวัญเรียกชื่อวัตถุมงคลว่ารุ่นขุดสระนั้น มีมูลเหตุการจัดสร้าง “วัดกิ่งแก้ว” ที่แต่เดิมเป็นที่ราบลุ่มแวดล้อมไปด้วยคูคลองที่มีสวนล้อมรอบ เวลาฝนตกจะมีน้ำขัง

ในขณะนั้นหลวงปู่เผือกมีความตั้งใจจะสร้างโบสถ์ พื้นที่ถูกขุดดินไปกลายเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ สามารถเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้ เพื่อเป็นอนุสรณ์และสินน้ำใจที่บรรดาศิษย์และชาวบ้านได้ช่วยลงแรงกายแรงใจกัน

หลวงปู่เผือก จึงได้สร้างพระเนื้อผง ขึ้นมาจำนวนหนึ่งเพื่อแจกเป็นที่ระลึก เรียกชื่อพระรุ่นนี้ว่า “พระรุ่นขุดสระ”

หลวงปู่เผือก มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2501 สิริอายุ 89 ปี พรรษา 69

ประวัติหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค

หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค

ชาติภูมิ ของหลวงพ่อปาน

ท่านได้ถือกำเนิดที่ย่านวัดบางนมโค เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๔๑๘ โยมบิดาชื่อ อาจ โยมมารดาชื่อ อิ่ม นามสกุล สุทธาวงศ์ โดยอาชีพทางครองครัว คือ ทำนา

สาเหตุที่โยมบิดาขนานนามท่านว่า “ปาน” เนื่องจากท่านมีสัญลักษณ์ประจำตัวคือปานแดงอยู่ที่นิ้วก้อยมือซ้าย ตั้งแต่โคนนิ้วถึงปายนิ้วคล้ายปลอกนิ้ว

ประวัติหลวงพ่อปาน (ฉบับเก่า)

ประวัติหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค – โดยหลวงพ่อฤาษีลิงดำ

ประวัติ หลวงพ่อปาน

หลวงพ่อปานในวัยเด็ก

พระมหาวีระ ถาวโร หรือหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ท่านได้เล่าไว้ในหนังสือประวัติหลวงพ่อปานว่า

“…ท่าน (หลวงพ่อปาน) บอกว่า สมัยท่านเป็นเด็กอายุสัก ๓-๔ ขวบ ท่านวิ่งเล่นใต้ถุนบ้าน หลวงพ่อปาน ท่านเป็นคนบางนมโค และเป็นคนตำบลนั้น ไม่ใช่คนที่อื่น เป็นคนที่มีฐานะค่อนข้างจะมั่งคั่งอยู่สักหน่อย สมัยนั้นเขามีทาสกัน ที่บ้านท่านก็มีทาส

ท่านบอกว่า ท่านวิ่งเล่น อยู่ใต้ถุนบ้านย่าของท่าน ก็ปรากฏว่าย่าของท่านกำลังป่วยหนัก ใกล้จะตาย เวลานั้นก็เห็นจะเป็นเวลาบ่ายสัก ๒-๓ โมงกว่า ท่านว่าอย่างนั้นโดยประมาณ

คนทุกคนเขามาเยี่ยมย่า พ่อแม่ของท่านก็ไป เมื่อคนทุกคนขึ้นไปแล้ว ท่านบอก เห็นร้องดังๆ บอก แม่ แม่ อรหันนะ อรหัน ภาวนาไว้ อรหัน พระอรหัน จะช่วยแม่ ก็ร้องกันเสียงดังๆ ท่านอยู่ใต้ถุน ท่านยืนฟัง เขาว่าอรหันกันทำไม

พอท่านสงสัยก็ย่องขึ้นไปที่หน้าบันไดชานเรือน พอท่านขึ้นไปแล้วก็ปรากฏว่า ผู้อยู่เขาเอาปากกรอกไปที่ข้างหูของคุณย่าท่าน บอกแม่ แม่ อรหันนะ อรหัน แต่ว่าพอผู้ใหญ่เขามองเห็นท่านเข้าไป เขาก็ไล่ท่านไป เขาจะหาว่าไอ้เจ้าเด็กมันรุ่มร่าม ท่านก็เลยไปเล่นใต้ถุนบ้านอื่น

พอมาถึงตอนเย็น เวลากินข้าว ท่านแม่ก็ป่าวหมู่เทวฤทธิ์คือเรียกลูกกินข้าว เมื่อทุกคนมาพร้อมกันแล้วท่านแม่ก็จัดกับข้าวมาวางกลาง สำหรับตัวท่านเองเป็นเด็ก เขาเอาข้าวใส่จานมาให้แล้วเอาแกงเผ็ด ท่านบอกว่า ไอ้แกงฉู่ฉี่แห้ง ท่านชอบ เขาใส่มาให้ เรียกว่า ไม่ต้องหยิบกับข้าว กินแบบประเภทข้าวราดแกง

เวลาที่ท่านกินเข้าไปแล้วมานั่งนึกว่า กับข้าวมันอร่อยถูกใจ ก็เกิดความชุ่มชื่น พอจิตมันนึกขึ้นได้ว่าเขาบอก อรหัง อรหัง นึกถึงคำว่า อรหัง ขึ้นมาได้ ท่านก็เลยปลื้มใจอย่างไรชอบกล เลยเปล่งวาจาออกมาดังๆว่า อรหัง อรหัง ว่า ๒-๓ คำ

ท่านแม่ที่มองตาแป๋วลุกพรวด จับชามข้าวที่ท่านถืออยู่วางไว้ จับตัวท่านวางปังออกไปนอกชาน แล้วร้องตะโกน “เอ้า มึงจะตายโหง ตายห่าก็ตายคนเดียว มันจะมาว่า อรหัง ที่นี่ได้รึ? คำว่า อรหัง พุทโธ นี่คนเขาจะตายเท่านั้นแหละเขาว่ากัน นี่ดันมาว่า อรหัง ที่นี่ ทำเป็นลางร้ายให้คนอื่นเขาพลอยตายด้วย”

ท่านแปลกใจ คิดว่า นี่เราว่าดีๆ นี่แม่ดุเสียงเขียวปัด นี่มันเรื่องอะไรกัน ในเมื่อถูกแม่ดุอย่างนั้น จะขืนว่าอีกก็เกรงไม้เรียว ก็เลยไม่ว่า

พอท่านพูดถึงตอนนี้แล้ว ท่านก็หัวเราะบอกว่า “คุณแม่ฉันน่ะโง่นะ ไม่ได้ฉลาดหรอก อีตอนใหม่นั้น ตอนฉันมาบวชได้แล้ว อรหังหรือพุทโธนี้ ถ้าใครภาวนาไว้ เป็นวาจาที่กล่าวถึงคุณงามความดีของพระพุทธเจ้า และพระอริยสงฆ์ทั้งหมด ถ้าใครภาวนาคำนี้ได้ตกนรกไม่ได้…

แต่ว่าแม่ของฉัน นี่ท่านไม่รู้ ก็เป็นโทษเพราะไม่ได้รับการศึกษา แต่ว่าไม่เป็นหรอก ตอนหลังที่ฉันบวชแล้วนี่นะ ฉันกลับใจแม่ของฉันได้ ฉันแนะนำให้ท่านทราบแล้ว เวลาท่านตายท่านก็ยึดพุทโธ อรหังเป็นอารมณ์ แต่ไม่ได้ยึดเวลาตาย ฉันให้ท่านว่าทุกวัน….”

สมัยก่อน เมื่อลูกชายมีอายุครบบวช ก็จะทำการอุปสมบท ทางบิดามารดาจะต้องส่งบุตรของตนไปอยู่วัดเพื่อรับการอบรม และท่องขานนาคเป็นเวลาประมาณ ๓ เดือน เป็นอย่างน้อย

ท่านเองมีความสงสัยในใจว่า เหตุไฉนสตรีเพศจึงดึงดูดบุรุษเพศมากมายนัก ทำให้หลงใหลใฝ่ฝัน ตัวท่านเองก็ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับผู้หญิงมาก่อน จึงคิดว่าจะหาวิธีลองของจริงดูว่าเป็นอย่างไร ถ้าดีจริงบวชครบพรรษาจะสึกออกมา ถ้าไม่เป็นจริงตามวิสัยโลกก็จะไม่สึก

ที่บ้านของท่านมีคนรับใช้อยู่คนหนึ่งเรียกกันว่าทาส ชื่อว่าพี่เขียว อายุประมาณ ๒๕ ปี ตอนกลางวันอยู่ด้วยกันสองคน ท่านเกิดสงสัยเนื้อผู้หญิงขึ้นมา บอกว่าตั้งแต่เกิดมานอกจากเนื้อแม่กับเนื้อพี่แล้ว ไม่เคยจับเนื้อใคร ท่านคิดว่าเนื้อผู้หญิงมันดียังไงผู้ชายถึงได้อยากกันนัก บางทีถึงกับฆ่ากันเลย ก็สงสัยว่าจะบวชแล้วนี่ ถ้ามันดีจริงแล้วก็จะสึก ถ้าไม่ดีก็จะไม่สึกละ

เมื่อคนว่างก็เข้าไปหาพี่เขียว พี่เขียวแกอยู่ในครัว เป็นทาส แต่ว่าท่านเรียกพี่ในฐานะที่เขาแก่กว่าตัว ยกมือไหว้ บอกว่า “พี่เขียว ขออภัยเถอะ ฉันขอจับเนื้อพี่เขียวดูหน่อยได้ไหมว่า เนื้อผู้หญิงน่ะมันดียังไง เขาถึงชอบกันนัก”

พี่เขียวก็แสนดี อนุญาต ท่านก็เลือกจับเนื้อกล้าม เขาเรียกว่า กล้ามเนื้อที่หน้าอก ผู้หญิงนี้มีกล้ามเนื้อพิเศษ อยู่ที่กล้ามเนื้อ ๒ กล้ามที่หน้าอก แต่ไม่ได้จับมากหรอก จับตรงนั้น แต่ก็ไม่ได้ลวนลามไปถึงไหน จับๆ แล้วก็มาจับน่อง เอ๊! มันคล้ายกัน

บอกพี่เขียวว่านี่มันคล้ายกันนี่ พี่เขียวแกก็บอกว่าเป็นอย่างนั้นมันก็คล้ายกัน แล้วท่านก็ถามพี่เขียวว่า ทำไมผู้ชายเขาถึงชอบเนื้อผู้หญิงนัก ดันไปถามผู้หญิงได้ นี่ว่ากันอย่างเราๆนะ แล้วเขาจะตอบอย่างไร เขาก็บอกไม่รู้เหมือนกัน

แล้วท่านก็ยกมือไหว้ขอขมาพี่เขียวบอกว่า “ขอโทษ ที่ขอจับเนื้อนี่ไม่ได้ดูถูกดูหมิ่น อยากจะพิสูจน์เท่านั้นว่ามันดีอย่างไร” เมื่อท่านหมดความสงสัยในใจแล้ว ก็ตกลงใจว่าจะบวช คราวนี้จะไม่ขอสึกหาลาเพศ ก็สมจริงกับที่ท่านตั้งใจทุกประการ

สู่ร่มกาสาวพัสตร์

หลังจากที่โยมมารดาบิดาได้นำท่านมาฝากไว้กับหลวงปู่คล้าย ให้ฝึกหัดขานนาคให้คล่องแคล่วแล้ว ท่านก็ได้เข้าอุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดบางนมโค เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๘ ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะแม

โดยมี หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ เป็นพระอุปัชฌาย์
พระอาจารย์จ้อย วัดบ้านแพ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระอาจารย์อุ่ม วัดสุธาโภชน์ เป็นอนุสาวนาจารย์

มีฉายาว่า “โสนันโท”

หลวงพ่อปานเรียนวิชา

หลังจากที่ได้อุปสมบทแล้ว หลวงพ่อปานท่านก็ได้ติดตามพระอุปัชฌาย์ คือ หลวงพ่อสุ่น ด้วยความสนใจใคร่ศึกษา เพราะว่าในสมัยนั้น หลวงพ่อสุ่นท่านเป็นพระที่แก่กล้าทางคาถาอาคม และรักษาโรคภัยไข้เจ็บ

เมื่อตามไปเล่าเรียนเป็นศิษย์แล้ว หลวงพ่อสุ่นเห็นลักษณะของหลวงพ่อปานว่ามีลักษณะดี จะได้เป็นครูบาอาจารย์ต่อไปภายภาคหน้า จึงได้ให้สติหลวงพ่อปานเบื้องต้นในการเบื่อหน่ายกิเลสว่า

๑.อย่าอยากรวย อยากมีลาภ ได้ทรัพย์มาแล้วดีใจ ตั้งหน้าสะสมทรัพย์
๒.เป็นอย่างต้นแล้ว เมื่อทรัพย์หมดก็เป็นเหตุให้เสียใจ
๓.อยากมียศฐาบรรดาศักดิ์ ได้ยศมาแล้วปลื้มใจ
๔.เมื่อหมดยศไปแล้วก็เสียใจ
๕.ได้รับคำสรรเสริญแล้วยินดี
๖.เมื่อถูกนินทาก็ไม่พอใจ
๗.มีความสุขความเพลิดเพลินในกามารมณ์
๘.เมื่อมีความทุกข์ก็หวั่นไหวท้อแท้ใจ

จากเพศฆราวาสมาสู่เพศบรรพชิตแล้วอย่าหวังรวย ถ้ารวยแล้วไม่ใช่พระ พระต้องรวยด้วยบุญญาบารมี เงินที่ได้มาอย่าติด จงทำสาธารณประโยชน์เสียให้สิ้น เหลือกินเหลือใช้แต่พอเลี้ยงอาตมา

อย่าหวังในยศ ถ้าหลีกเลี่ยงไม่รับยศไม่ได้แล้ว ก็อย่าเมายศฐาบรรดาศักดิ์ มันเป็นเครื่องถ่วงกิเลส ยศ ลาภ สรรเสริญ ความสุขในกามารมณ์ มันเป็นตัวกิเลส มันเป็นโลกธรรม ต้องตัดออกให้หมด ถ้าพอใจในสี่สิ่งนี้ก็ไม่ใช่พระ จะพาให้สู่ห้วงนรก

จงระลึกอยู่เสมอว่า เราบวชเพื่อนิพพาน อย่างที่กล่าวในตอนขออุปสมบทครั้งแรกว่า “นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ เอตัง กาสาวัง คะเหตะวา” อันหมายความว่า เราขอรับผ้ากาสาวพัสตร์เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน

จากนั้นหลวงพ่อสุ่นก็สั่งให้ท่องสวดมนต์ตลอดจนคาถาธาตุทั้งสี่ คือ นะ มะ พะ ทะ ให้ว่าถอยหลังแล้วเป่า ให้กุญแจหลุด ถ้าเจ้าเป่าหลุดแล้วบอกพ่อ จะให้วิชาต่างๆ ให้หมดไม่ปิดบัง นี่คือการฝึกสมาธิจิตที่หลวงพ่อสุ่นสอนหลวงพ่อปานทางอ้อม คือถ้าจิตไม่มีสมาธิแล้วอย่าหวังเลยว่า ด้วยคาถาเพียงสี่ตัวจะดีกว่าลูกกุญแจได้

หลวงพ่อปานท่านก็มีความอดทน หมั่นฝึกเป่ากุญแจนานเป็นเดือน เป่าเท่าไหร่ก็ไม่หลุด มาหลุดเอาตอนที่ท่านทำใจสบายเป็นสมาธิ นึกถึงคาถาเป่ากุญแจได้ จึงลุกขึ้นมาเป่ากุญแจ คราวนี้กุญแจหลุดหมด ทดลองกับลูกอื่นๆ ก็หลุด เพิ่มกุญแจขึ้นเรื่อยๆ จนถึง ๔๐ ดอก แขวนไว้บนราว ก็หลุดหมด แล้วจึงทดลองให้หลวงพ่อสุ่นดูจนพอใจ

หลังจากนั้นหลวงพ่อสุ่นก็สอนวิปัสสนาให้แก่หลวงพ่อปาน ตั้งแต่ชั้นต้นจนถึงที่สุด ด้วยความเมตตาหลวงพ่อปาน ในตอนท้ายว่า เมื่อมีฤทธิ์แล้วอย่าแสดงให้คนอื่นเขาเห็นเป็นการอวดดี จะเป็นโทษตามที่พระพุทธองค์ทรงห้ามไว้

จบจากวิปัสสนาแล้วหลวงพ่อสุ่นยังได้ถ่ายทอดวิชาแพทย์แผนโบราณให้ ซึ่งหลวงพ่อปานก็ได้อาศัยใช้ช่วยชีวิตผู้ได้รับทุกข์ทรมานให้หายมามากต่อมาก จนท่านได้ชื่อว่าเป็น “พระหมอ” หลวงพ่อสุ่น สอนว่า “การเป็นหมอนั้น บังคับไม่ให้คนไม่ตายไม่ได้ หมอเป็นเพียงช่วยระงับทุกข์เวทนาเท่านั้น” จากนั้นหลวงพ่อสุ่นก็ถ่ายทอดกสิณต่างๆ ให้หลวงพ่อปานจนกระทั่งสิ้นความรู้

องค์อาจารย์ของหลวงพ่อปาน

การเรียนวิชาของหลวงพ่อปานนั้น พอจะรวบรวมได้ดังนี้

เรียนวิชาวิปัสสนากรรมฐาน และวิชาแพทย์จาก หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ เรียนวิชาปริยัติธรรมที่ วัดเจ้าเจ็ด กับ พระอาจารย์จีน ด้วยเหตุที่หลวงพ่อสุ่นท่านได้ถ่ายทอดวิชาต่างๆ ให้จนหมดสิ้นแล้ว ท่านจึงแนะนำให้มาเรียนปริยัติธรรมที่วัดเจ้าเจ็ด กับพระอาจารย์จีน

จากปากคำของชาวบ้านแถบวัดเจ้าเจ็ด และผู้ที่เคยไปเรียนกับพระอาจารย์จีนได้ให้ปากคำตรงกันว่า พระอาจารย์จีนเป็นคนโมโหร้าย เวลาโมโหแล้วยั้งไม่อยู่ ปากว่ามือถึง ดังนั้น เวลาสอนใคร ถ้าลูกศิษย์ทำไม่ถูกต้องตามใจที่สอนไปแล้ว กลัวว่าจะไปทำร้ายลูกศิษย์เข้า ท่านจึงได้สร้างกรงใหญ่ขึ้นสำหรับขังตัวท่านเอง เวลาสอนหนังสือ โดยให้ลูกศิษย์เป็นคนใส่กุญแจขังแล้วเก็บกุญแจไว้

เวลาสอนหนังสือ ลูกศิษย์คนใดไม่ตั้งใจเรียนหรือตอบคำถามไม่ถูกต้อง ทำให้อาจารย์จีน ท่านก็จะโมโหโกรธา เอามือจับลูกกรงเหล็กเขย่า จนลูกศิษย์ที่เรียนตกใจขวัญหนีดีฝ่อ แต่พอท่านคลายโทสะลงแล้ว ท่านก็กลายเป็นพระอาจารย์จีนรูปเดิม

หลวงพ่อปานท่านมีความมานะพยายามเป็นที่ตั้ง ท่านต้องพายเรือมาเรียนหนังสือที่วัดเจ้าเจ็ดทุกวัน เวลาพายเรือไปเรียนท่านก็จะท่องพระปาฏิโมกข์ และบทเรียนที่อาจารย์สอนจนขึ้นใจ พอเวลาเรียน อาจารย์ถามอะไร ก็ตอบได้ถูกต้อง เป็นที่พอใจแก่อาจารย์ยิ่ง

ในที่สุดพระอาจารย์จีนก็สิ้นความรู้ที่จะสอนให้ท่าน ท่านจึงหยุดเรียน และเตรียมตัวสำหรับที่จะหาสำนักเรียนใหม่

หลวงพ่อปั้น วัดพิกุลโสกันต์ ตามคำบอกเล่าของพระภิกษุเลี่ยมว่า หลวงพ่อปานได้เรียนรู้วิชามาหลายอย่าง เคยพิมพ์คาถาออกแจกด้วย

เมื่อเห็นว่าพระอาจารย์จีนไม่มีความรู้ที่จะสอนได้อีกต่อไป ท่านจึงคิดเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ เพราะเป็นแหล่งรวมวิชาต่างๆ ท่านจึงได้ไปเรียนให้โยมมารดาของท่านได้รับทราบว่า จะขอลาไปศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ เพราะว่าที่นี่หาอาจารย์สอนไม่ได้อีกแล้ว

โยมมารดาท่านเป็นห่วงว่าท่านเป็นบุตรคนเล็กที่มีอยู่ นอกนั้นออกเรือนไปหมดแล้ว อีกทั้งไม่มีญาติโยมทางกรุงเทพฯ จึงขอร้องไม่ให้ไป ท่านจึงลากลับวัด ด้วยความเด็ดเดี่ยว ท่านตัดสินใจนำจีวรแพรที่โยมมารดาถวายไว้นำไปขาย ได้เงินแปดสิบบาท แล้วตัดสินใจเข้ากรุงเทพฯ โดยไม่บอกให้โยมมารดารู้ จะให้รู้ก็กลัว

จะลงเรือไปแล้ว จึงเข้าไปกราบนมัสการหลวงปู่คล้าย (เจ้าอาวาสวัดบางนมโคสมัยนั้น) ว่าจะไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ หลวงปู่คล้าย จึงแนะนำให้ไปเรียนกับ พระอาจารย์เจิ่น สำนักวัดสระเกศ โดยมอบเงินช่วยเหลือไปอีกจำนวนหนึ่งเพื่อเป็นทุนในการศึกษาเล่าเรียน

ตลอดเวลาท่านจำพรรษาอยู่กับพระอาจารย์เจิ่น ท่านได้พยายามหาความรู้เพิ่มเติม ในด้านคันถะธุระและวิปัสสนาธุระ ตลอดจนพระปริยัติธรรมเพิ่มเติม ซึ่งต่อมาเมื่อท่านกลับมาวัดบางนมโค ปรากฏว่าท่านเป็นพระธรรมกถึกที่เทศนาได้เพราะจับใจ และดึงดูดศรัทธายิ่งนัก

นอกจากวัดสระเกศแล้ว ท่านยังได้มาเรียนเพิ่มเติมที่วัดสังเวช และที่อื่น จนมีความรู้ทางด้านแพทย์แผนโบราณแตกฉานอีกด้วย

จากข้อความในหนังสือ อนุสรณ์ครบ ๑๐๑ ปีหลวงพ่อปาน เขียนไว้ว่า หลวงพ่อปานเคยเล่าให้ฟังว่า ระหว่างอยู่ที่วัดสระเกศนั้น อัตคัตมาก บิณฑบาตบางครั้งก็พอฉัน บางครั้งก็ไม่พอ ได้แต่ข้าวเปล่าๆ จ้องเด็ดยอดกระถินมาจิ้มน้ำปลา น้ำพริก ฉันแทบทุกวัน แต่ท่านก็อดทน ด้วยรับการอบรมเป็นปฐมมาจากพระอุปัชฌาย์ คือ หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ

ท่านว่าอยู่กรุงเทพฯ ๓ ปี ได้ฉันกระยาสารทเพียงครั้งเดียว โดยนางเฟือง คนกรุงเทพฯ นำมาถวาย ได้รับนิมนต์ไปบังสกุลครั้งหนึ่งได้ปัจจัยมาหนึ่งสลึง เจ้าหน้าที่สังฆการีก็มาเก็บเอาไปเสียเลยไม่ได้ใช้ เงินที่ติดตัวไป ท่านก็ใช้จ่ายไปในการศึกษาจนเกือบหมด ท่านเหลือไว้หนึ่งบาท เอาไว้ใช้เมื่อมีความจำเป็นสุดยอดเท่านั้น

ด้วยความอดทนของท่าน ในปีสุดท้ายที่ท่านจะกลับวัดบางนมโคนั้นเอง คืนหนึ่งท่านได้ยินเสียงคนเคาะหน้ากุฏิ ท่านเปิดออกไปก็เจอเทวดามาบอกหวย แล้วเขียนให้ดู แล้วย้ำว่าจำได้ไหม ท่านก็ตอบว่าจำได้ ท่านนอนคิดจนนอนไม่หลับ พอรุ่งเช้าแทนที่ท่านจะแทงหวย ท่านกลับเห็นว่านั่นไม่ใช่กิจของสงฆ์ ตามที่หลวงพ่อสุ่นได้อบรมไว้ ท่านก็ไม่แทง ปรากฏว่าวันนั้นหวยออกตรงตามที่เทวดาบอก ถ้าท่านแทงหวย ก็คงจะรวยหลาย

ท่านอาจารย์แจง ฆราวาสชาวสวรรคโลก จากบันทึกของท่านฤาษีลิงดำว่า ท่านอาจารย์แจง เป็นฆราวาสสวรรคโลก ได้เดินทางล่องลงมาทางใต้ ถึงวัดบางนมโค มาเลื่อมใสในปฏิปทาของหลวงพ่อปาน จึงได้สอนให้รู้ถึง วิธีการปลุกเสกพระและวิธีสร้างพระตามตำราซึ่งเป็นของพระร่วงเจ้า ได้รับการสืบทอดมาจากอาจารย์ซึ่งเขียนไว้ว่า

“ข้าพเจ้าได้รักษาตำราของพระอาจารย์ไว้แล้ว ก็ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระอาจารย์ทุกอย่าง วิชาต่างๆ มีผลดีทุกประการ ถ้าบุคคลใดได้พบแล้วจะนำไปใช้ ให้บูชาพระอาจารย์ของท่าน แต่มิได้ระบุว่าเป็นใคร”

ท่านอาจารย์แจงได้นิมนต์หลวงพ่อปานไปในโบสถ์ตามลำพัง เพื่อถ่ายทอดวิชา ซึ่งนอกจากวิชาการปลุกเสกพระ และทำพระแล้ว ยังได้มหายันต์เกราะเพชร ซึ่งท่านก็ได้ใช้ยันต์เกราะเพชรนี้สงเคราะห์ผู้คนได้มากมาย

หลวงพ่อเนียม วัดน้อย อ.บางปลาม้า สุพรรณบุรี จากหนังสือประวัติหลวงพ่อปาน บันทึกโดยท่านฤาษีลิงดำ เขียนไว้ว่า “หลวงพ่อปานนิยมพระกัมมัฏฐาน หมายความว่า สิ่งที่ท่านต้องการที่สุดและปรารถนาที่สุด คือ พระกัมมัฏฐาน

เรื่องพระกัมมัฏฐานนี้เป็นชีวิตจิตใจของหลวงพ่อปานจริงๆ ท่านเทิดทูนพระกัมมัฏฐานมาก ทั้งๆ ที่ทรงสมาบัติอยู่แล้ว ความอิ่ม ความเบื่อ ความพอใจในพระกัมมัฏฐานของท่านก็ไม่มี ท่านก็มีความปรารถนาจะเรียนพระกัมมัฏฐานให้มันดีกว่านั้น

สมัยนั้นพระที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากเป็นพิเศษ ในสมัยนั้นนะ สายอื่นฉันไม่ทราบ ก็มีหลวงพ่อเนียม วัดน้อย อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี

สมัยนั้นเรือยนต์มันก็ไม่มี ถ้าจะไปก็ต้องไปเรือแจว ถ้าไปเรือ แต่ทว่าทางเดินสะดวกกว่า เดินลัดทุ่งลัดนาลัดป่าไป ป่าก็เป็นป่าพงส่วนใหญ่ ท่านก็ใช้วิธีธุดงค์ สมัยนั้นวิธีธุดงค์เป็นวิธีที่สะดวกที่สุด เรียกว่าใกล้ค่ำที่ไหนปักกลดที่นั่น ชาวบ้านเขาเลี้ยงตอนเช้า ฉันอิ่มแล้วก็ไปกัน พระธุดงค์ฉันเวลาเดียว

ท่านบอกว่า เวลาที่ถึงวัดน้อยเขาร่ำลือกันว่า หลวงพ่อเนียมนี่เก่งมาก ท่านก็เข้าไปหาหลวงพ่อเนียม เข้าไปหานะไม่รู้จักหลวงพ่อเนียมหรอก

ความจริงท่านก็คิดว่าหลวงพ่อเนียมท่านจะเป็นเหมือนหลวงพ่อองค์อื่นๆ ที่ท่านมีชื่อเสียงมาก นุ่งสบง จีวร เป็นปริมณฑล แล้วก็มักจะนั่งเฉยๆ ดีไม่ดีหลับตาปี๋ ก็หลับขยิบๆ เรียกว่าหลับ ไม่สนิทล่ะ คือ แกล้งหลับตาทำเคร่ง

ที่นี้เวลาหลวงพ่อปานไปหาหลวงพ่อเนียม ก็ไปโดนดีเข้า เข้าไปแล้วเจอะหลวงพ่อเนียมที่ไหน ความจริง หลวงพ่อเนียมก็เดินคว้างๆ อยู่กลางวัดนั่นแหละ มีผ้าอาบน้ำ ๑ ผืน ที่ชาวบ้านเขาเรียกว่า ผ้าอาบน้ำฝน สีเหลือง ผ้าอีกผืนแบบเดียวกันคล้องคอเดินไปรอบวัด

หลวงพ่อปานก็บอกว่า เมื่อท่านเห็นนะ ก็ไม่รู้หลวงพ่อเนียม เห็นพระแก่ๆ ผอมๆ นุ่งผ้าลอยชายผืนหนึ่ง เข้าไปถึงก็กราบๆ หลวงพ่อปานบอกว่า “เกล้ากระผมมาจากเมืองกรุงเก่าขอรับ กระผมจะมานมัสการหลวงพ่อ ขอเรียนพระกัมมัฏฐาน”

หลวงพ่อเนียมก็ทำท่าเป็นโมโห บอกว่า ไม่มีวิชาอะไรจะสอน พร้อมทั้งกล่าวขับไล่ไสส่งออกจากวัด หลวงพ่อปานก็นั่งทนฟังอยู่ ในที่สุดเห็นท่าจะไม่ได้เรื่อง ก็เลี้ยวหาพระในวัดไปขออาศัยนอน แล้วก็ถามว่า พระองค์นั้นน่ะชื่ออะไร พระท่านก็บอกว่า องค์นี้แหละชื่อ หลวงพ่อเนียม ล่ะ

พอวันรุ่งขึ้น หลวงพ่อปานก็เข้าไปหา ก็ถูกด่าว่าอีกอย่างหนัก ท่านยืนยันจะเรียนให้ได้ หลวงพ่อเนียม เลยสั่งว่า ๒ ทุ่ม ให้นุ่งสบงจีวรคาดสังฆาฎิไปหาในกุฏิ

พอตอนกลางคืน หลวงพ่อปานเข้าไปหาท่าน ปรากฏว่ารูปร่างท่านผิดไปมาก ผิวดำ ผอมเกร็งแบบเก่า ไม่มี ท่านนุ่งสบงจีวรพาดสังฆาฏิเหลืองอร่ามผิวกายสมบูรณ์ ร่างกายก็สมบูรณ์ หน้าตาอิ่มเอิบ รัศมีกายผ่องใส สวยบอกไม่ถูก

หลวงพ่อปานตรงเข้าไปกราบ ๓ ครั้งแล้วก็นั่งมอง ท่านก็นั่งมองยิ้มๆ แล้วท่านก็ถามว่า “แปลกใจรึคุณ” หลวงพ่อปานก็ยกมือนมัสการ บอกว่า “แปลกใจขอรับหลวงพ่อ รูปร่างไม่เหมือนตอนกลางวัน”

ท่านก็บอกว่า “รูปร่างน่ะคุณมันเป็นอนัตตา หาความเที่ยงแท้ไม่ได้ มันจะอ้วนเราก็ห้ามไม่ได้ มันไม่มีอะไรห้ามได้เลยนี่คุณ พระพุทธเจ้าท่านกล่าวว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกล้วนอนิจจัง เห็นไหม ไปเจอตัวอนิจจังเข้าแล้วซิ”

หลวงพ่อปานบอกว่า ตอนนี้ล่ะเริ่มสอนกัมมัฏฐาน อธิบายไพเราะจับใจฟังง่ายจริงๆ พูดได้ซึ้งใจทุกอย่าง เวลาท่านพูดคล้ายๆ ว่าจะบรรลุพระอรหันตผลไปพร้อมๆ ท่าน ท่านสอนได้ดีมาก

พอสอนเสร็จเรียบร้อยแล้วก็บอกให้ไปพักที่กุฏิอีกหลังหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้กับกุฏิของท่าน แล้วเวลาทำกัมมัฏฐานกลางคืน หลวงพ่อปานวางอารมณ์ผิด ท่านจะร้องบอกไปทันที บอก “คุณปานเอ๊ย คุณปาน นั่นคุณวางอารมณ์ผิดแล้วตั้งอารมณ์เสียใหม่มันถึงจะใช้ได้” นี่หลวงพ่อปานบอกว่า ท่านมีเจโตปริยญาณแจ่มใสมาก

ท่านเรียนพระกัมมัฏฐานอยู่กับหลวงพ่อเนียม ๓ เดือน แล้วจึงกลับ ก่อนหลวงพ่อปานจะกลับ หลวงพ่อเนียมก็บอกว่า “ถ้าข้าตายนะ หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน เขาแทนข้าได้ ถ้ามีอะไรสงสัยก็ไปถาม หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน”

หลวงพ่อปานได้เรียนคาถาพระปัจเจกพุทธเจ้าเมื่อช่วงตอนปลายของชีวิต คาถาพระปัจเจกพุทธเจ้านี้ท่านไปเรียนกับ ครูผึ้ง ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

ตอนนั้นครูผึ้ง เป็นฆราวาส อายุ ๙๙ ปี เพราะได้ข่าวว่าครูผึ้งเป็นคนพิเศษ เวลาขอทานมาขอ ให้คนละ ๑ บาท สมัยนั้นเงิน ๑ บาท มีค่ามาก เงิน ๑๐๐ บาท ๒๐๐ บาท สามารถสร้างบ้านได้ ๒ หลัง มีครัวได้ ๑ หลัง เวลาทำบุญแกจะช่วยรายละ ๑๐๐ บาท ไม่ใช่เงินเล็กน้อย

เมื่อทราบข่าว หลวงพ่อจึงไปขอเรียนกับแก คาถาปัจเจกพุทธเจ้านี้ เรียกว่า คาถาแก้จน ท่านได้เรียนมาและพิมพ์แจกเป็นทานแก่สาธุชนนำไปปฏิบัติ และมีผลดีจบสืบทอดกันมาจนทุกวันนี้

ประวัติ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค จ.พระนครศรีอยุธยา
ประวัติ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค จ.พระนครศรีอยุธยา

กลับมาตุภูมิ

หลังจากที่หลวงพ่อปานได้เสร็จสิ้นการเรียนจากกรุงเทพฯ แล้วท่านก็หวนคิดถึงโยมมารดาที่ท่านจากมาถึง ๓ ปี จึงเดินทางกลับวัดบางนมโค พร้อมกับความรู้ที่ได้รับมา

ท่านได้ระลึกถึงว่า การเล่าเรียนของท่านลำบากมาก จึงอยากจะจัดสอนหนังสือแก่พระภิกษุสามเณรและบุตรธิดาชาวบางนมโค ให้มีความรู้ จึงนิมนต์พระภิกษุเกี้ยว ที่อยู่สำนักเดียวกับท่านมาด้วย เพื่อจัดสอนหนังสือ เมื่อมาถึงแล้วท่านก็นำมากราบนมัสการหลวงปู่คล้าย และได้ไปหาโยมมารดาให้ได้ชมบุญ

อุปนิสัยและปฏิปทาของหลวงพ่อปาน

จากปากคำของผู้ทราบเคยอยู่ใกล้ชิดกับท่าน และเรื่องเล่าสืบต่อกันมา พอจะอนุมานได้ดังนี้ จากบันทึกของท่านหลวงพ่อฤาษีลิงดำ บันทึกไว้ว่า

“หลวงพ่อปานท่านมีลักษณะของชายชาตรีที่มีผิวพรรณขาวละเอียด ลักษณะสมส่วน เสียงดังกังวานไพเราะ มีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสชวนให้ศรัทธาปสาทะ เป็นอย่างยิ่ง ดวงตาบ่งบอกถึงความเมตตาปรานีในสัตว์โลกทั้งหลาย ต้อนรับผู้คนที่มาหาไม่เลือก เศรษฐี ผู้ดี ไพร่ ใครไปก็ไต่ถามว่ากันว่าถ้าหลวงพ่อพูดจากับผู้ใดแล้วนั้น มักจะจับจิตจับใจ ที่ใจชั่วมัวเมามาก็กลับตัว แม้แต่ผู้นับถือคริสต์ศาสนาก็ยังหันมานับถือพระพุทธศาสนา”

ตลอดเวลาท่านจะไม่แสดงทีท่าว่าเหน็ดเหนื่อยหรือทำให้ผู้ที่มาหาเสื่อมศรัทธาเลย วันหนึ่งๆ จะมีคนมาหาท่าน เพื่อขอความช่วยเหลือนับเป็นจำนวนร้อยๆ คน ไหนจะให้รดน้ำมนต์ ไหนจะต้องพ่น ไหนจะขอยา ไหนจะมาปรึกษาถึงเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ

บางคนก็เรียกว่าหลวงพ่อ บางคนเรียกว่าหลวงปู่บ้าง เป็นเราๆท่านๆ น่ากลัวจะนั่งไม่ทน เพราะตั้งแต่เพลจนกระทั่งถึงเวลาประมาณ ๔ หรือ ๕ ทุ่มนั่นแหละท่านถึงจะพักผ่อน และเป็นอย่างนี้อยู่ประจำทุกวัน จนกระทั่งท่านมรณภาพ

ท่านไม่ยินดียินร้ายในทางโลกธรรมแต่ประการใด คงปฏิบัติธรรมเหมือนพระแก่ๆ รูปหนึ่งที่ไม่ต้องการยศบรรดาศักดิ์ หรือชื่อเสียงดีเด่นแต่อย่างใด ท่านคงหวังแต่ทำหน้าที่ให้ความสุขสบายแก่พระสงฆ์และชาวบ้านทั่วไป ตามกำลังความสามารถเท่านั้น

ด้วยความไม่ติดอยู่ในยศฐาบรรดาศักดิ์ ท่านจึงได้ปฏิเสธตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางนมโค กล่าวคือ เมื่อหลวงปู่คล้ายเจ้าอาวาสวัดบางนมโครูปก่อนมรณภาพลง ทายกทายิกาพระภิกษุสงฆ์ได้พร้อมใจกันอาราธนาท่าน ขึ้นครองวัดบางนมโคแทน

ท่านก็ไม่รับ ท่านให้เหตุผลว่า ท่านหน่ายเสียแล้วจากกิเลสอันจะมาเป็นเครื่องขวางกั้นทางพระนิพพาน กลับแนะนำท่านสมภารเย็น ซึ่งเวลานั้นเป็นพระลูกวัดธรรมดาขึ้นรับตำแหน่งแทน ส่วนท่านขอเป็นพระลูกวัดต่อไปอย่างเดิม

ด้วยความที่ท่านได้เสริมสร้างความเจริญให้แก่ท้องถิ่นบางนมโค และสถานที่อื่นๆ มากมาย โดยไม่ได้หวังจะได้รับยศฐาบรรดาศักดิ์ตอบแทน แม้ว่าจะมีเชื่อพระวงศ์ชั้นสูง จะมาเป็นลูกศิษย์ของท่านอยู่มากมายก็ตาม

ในที่สุดความดีของท่าน ทางฝ่ายบ้านเมืองจึงตอบแทนความเป็นผู้เสียสละของท่าน ด้วยการมอบถวายสมณศักดิ์ให้แก่ท่าน เป็นที่ “พระครูวิหารกิจจานุการ” ในวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๔๗๔ โดยมี

๑.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ
๒.พระวรวงศ์เธอ กรมพระนครสวรรค์ศักดิ์พินิจ
๓.หม่อมเจ้าโฆษิต
๔.หม่อมเจ้านภากาศ
๕.ท้าววรจันทร์

ข้าราชการและบรรดาสานุศิษย์ของท่าน ได้นำพัดยศพระราชทานมาให้ท่านถึงที่วัด โดยนำไปมอบให้ท่านในพระอุโบสถ ตามพระบรมราชโองการ ท่ามกลางคณะสงฆ์และชาวบ้านต่างแซ่ซ้องสาธุการกันถ้วนหน้า แต่หลวงพ่อปานเองท่านก็วางเฉยด้วยอุเบกขา

และแม้จะได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นที่พระครูวิหารกิจจานุการแล้ว ท่านเองก็ยังคงเป็นหลวงพ่อปานรูปเดิม ปฏิบัติกิจวัตรอย่างที่แล้วๆ มา แต่ผู้ที่ยินดีที่สุด กลับเป็นบรรดาศิษยานุศิษย์

หลวงพ่อปานรักษาโรค

ในเรื่องการรักษาโรคช่วยชีวิตคนของหลวงพ่อปาน เป็นที่เลื่องลือมากในสมัยนั้น ผู้คนต่างแห่กันมาที่วัดจนแน่นขนัด จนไม่มีที่รับรองแขกเพียงพอ วิชาการรักษาโรคและวิชาการบางอย่างที่หลวงพ่อปานสำเร็จ และนำมาช่วยเหลือผู้ได้รับทุกข์ เท่าที่เกิดปฏิหาริย์และได้รับการบันทึกไว้มีมากมาย

ตัวอย่างเช่น รักษาโรคด้วยน้ำมนต์ โรคที่ท่านรักษาด้วยน้ำมนต์ เรียกว่าโรคภายใน เช่น บางคนถูกของ ถูกคุณ ถูกเขากระทำมา โรคที่เกิดจากกรรมเวร ถูกผีสิง เป็นต้น

บางครั้งก็ต้องแป้งเสกควบคู่ด้วย ในตอนเพล ขณะที่ท่านพักผ่อน ท่านจะทำการเสกน้ำมนต์เตรียมไว้ล่วงหน้า เพื่อเวลาอาบจะได้สะดวก และท่านได้ใช้เวลาในการอาบนั้นบริกรรมเสกเป่าเฉพาะรายอีกด้วย

น้ำมนต์ของท่านนี้ศักดิ์สิทธิ์นัก และกรรมวิธีในการรักษาโรคด้วยน้ำมนต์ แบ่งออกเป็น ๓ ช่วงระยะ คือ

ช่วงแรก ท่านจะเรียกคนไข้มาหาแล้วถามชื่อเสียงเรียงนาม ถามอาการแล้วยื่นหมากให้คำหนึ่ง

คาถาที่ใช้เสกหมากนี้ ท่านบอกผู้ใกล้ชิดว่าใช้ดังนี้ จะขลังหรือไม่อยู่ที่จิตของผู้ทำ “ตั้ง นะโม ๓ จบ แล้วว่า โสทาย นะโม พุทธายะ ลัมอิทังโล นันโทเทติ ยาทาโลเทตีติ”

เมื่อคนไข้ได้รับหมากเสกแล้วให้เคี้ยวให้แหลก บ้วนน้ำหมากทิ้งเสียสามที กลืนลงคอไป ให้คนไข้สังเกตุดูว่าหมากนั้นมีรสอะไร แล้วบอกหลวงพ่อปาน จากนั้นก็จะทำการรักษาตามวิธีของท่าน หลวงพ่อปานท่านบอกว่า รสหมากนั้นบอกโรคได้ดังนี้

รสเปรี้ยว แสดงว่า ต้องเสนียดที่อยู่อาศัยเข้ามาเกี่ยวข้อง คือมีของต้องห้ามอยู่กับบ้าน เช่น มีไม้ไผ่ผูกส่วนต้นสาวนปลายอยู่ในบ้าน มีตออยู่ใต้ถุนบ้าน ที่เรียกว่า ปลูกเรือนคล่อมตอ หรืออย่างอื่น ต้องจัดการเรื่องนี้เสียก่อนแล้วจึงรักษาหาย ส่วนมากแล้วหลวงพ่อปานจะใช้ญาณดูแล้วบอกว่ามีอย่างไหนบ้าง ให้แก้เสียก่อน

รสหวาน แสดงว่า ต้องแรงสินบนอย่างใดอย่างหนึ่ง คนไข้หรือคนในบ้านบนไว้ต้องนึกให้ออกว่า ตนเคยบนบานศาลกล่าวอะไรบ้าง ถ้านึกได้ผู้ป่วยไข้จะต้องเอาดอกไม้ธูปเทียนไปจุดบูชากลางแจ้ง ขอทำการแก้บนให้ถูกต้องในภายหน้าต่อไป

เมื่อกลับมาหาท่าน ท่านจะรดน้ำมนต์ให้ รดแล้วจะต้องให้กินหมากเสกอีกว่า หมดสิ้นหรือยัง ถ้าไม่มีรสหวานก็หมดแล้ว ถ้ายังหวานอยู่ก็ต้องนึกดูก็ต้องแก้บนอีก แล้วจึงรักษาหาย

รสขม แสดงว่าต้องคุณคน คือ ถูกของที่มีผู้ใช้เดียรัจฉานวิชานำมาไว้ในตัว เช่น ในท้องมีตะปูบ้าง มีเข็มเย็บผ้าบ้าง ไม้กลัดผูกกากบาทบ้าง ด้ายตราสังข์มัดศพ เปลวหมูบ้าง หนังสัตว์บ้าง ของเหล่านี้จะทำให้คนไข้เจ็บปวดเสียดแทงในร่างกายเป็นที่ทรมานนัก

คนไข้ประเภทนี้ส่วนใหญ่เป็นหญิง ที่เป็นชายมีน้อย โดยมากพวกนี้มักจะรับจ้างทำร้ายผู้อื่น หรือไม่ก็ปล่อยไปตามยถากรรม ถูกใครก็เจ็บไป ทำร้ายใครไม่ได้ก็กลับมาเข้าตัวเอง เคยมีแขกผู้หนึ่งถูกของของตัวเอง หลวงพ่อปานท่านแก้ให้แล้วขอสัญญา ให้เลิกอาชีพนี้เสีย

คนไข้ประเภทนี้ หลวงพ่อท่านจะเสกน้ำมนต์พิเศษใส่กระป๋องน้ำ เพื่อให้คนไข้แช่เท้าทั้งสองข้างไว้ เพื่อเวลารดน้ำมนต์ ของที่อยู่ในตัวจะได้หลุดออกมาทางเท้าอยู่ในกระป๋องน้ำมนต์

มีอาการยันหมาก มึนงงศีรษะเวียนศีรษะ อย่างนี้หลวงพ่อท่านว่าถูกคุณผี คือมีอาการใช้ผีมาเข้าสิง คนไข้นั้นจะสำแดงอาการกิริยาผิดปกติ

ถ้าผียังสิงอยู่ จะไม่ยอมกินหมากเสกหลวงพ่อ ต้องใช้อำนาจจิตบังคับให้กิน ถ้าผีแกล้งออกไปชั่วระยะ คนไข้จะยอมกินหมากแล้วมีอาการยันหมาก ผีประเภทนี้เป็นผีตายโหง ที่มีผู้มีวิชานำวิญญาณมาใช้ทำอันตรายคน ทำให้เสียสติเพ้อคลั่ง เสียคน เป็นต้น

คนไข้ประเภทนี้ หลวงพ่อปานท่านจะทำน้ำมนต์พิเศษจากพระดินเผาของท่านเอง ซึ่งท่านมักจะใส่ในกระเป๋าอังสะของท่านอยู่เสมอ เพื่อทำน้ำมนต์ให้คนไข้อาบ และใช้มีดหมอของท่านกดกลางศีรษะ และรดน้ำมนต์คนไข้นั้นเรื่อยไปจนกว่าผีจะออก ถ้าดิ้นรนก็ต้องมีคนมาช่วย จับและรดน้ำมนต์ในระหว่างที่ท่านกดมีดหมอและบริกรรมอยู่

คนไข้ประเภทนี้เมื่อหายแล้วจะจำอะไรไม่ได้เลย และท่านมักจะให้สายสิญจน์มงคลไว้คล้องคอ กันถูกกระทำซ้ำอีก

รายที่มีอาการร้อนหูร้อนหน้า แสดงว่าร้ายแรงมาก ถึงขนาดที่ถูกน้ำมันผีพราย ประเภทนี้จะอาการป้ำๆ เป๋อๆๆ คุ้มดีคุ้มร้าย ชาวบ้านเรียกว่า ลมเพลมพัด ขาดสติ ปวดศีรษะบ่อยๆ คนไข้ชนิดนี้ท่านจะให้แช่เท้าในกระป๋องด้วยเหมือนกับที่ถูกคุณคน เมื่อเวลารดน้ำมนต์นั้น น้ำมันพรายจะซึมออกมา เป็นฝ้าน้ำมันลอยอยู่ในน้ำให้เห็น

หลวงพ่อบอกว่า คนไข้ประเภทนี้หายยาก เพราะว่าน้ำมันซึมอยู่ในร่างกาย ต้องมารักษาบ่อยๆ เป็นเวลาติดต่อกันนานๆ จนกว่าจะหมดน้ำมันพราย และท่านมักจะสั่งห้ามกินน้ำมันสัตว์ เพราะจะไปเพิ่มน้ำมันให้กับน้ำมันพราย

หมากเสกของท่านนี้ ถ้ากินแล้วร้อนลึกเข้าไปในทรวงอก ท่านว่าเป็นโรคฝีในท้อง วัณโรค ประเภทนี้นอกจากรดน้ำมนต์แล้ว ยังต้องกินยาคุณพระควบไปด้วยอีกทางหนึ่ง เป็นการขับถ่ายพิษร้ายออกจากร่างกาย

รักษาโรคด้วยยาพระพุทธคุณ

นอกจากน้ำมนต์แล้ว ท่านยังมียาคุณพระพุทธคุณให้กินอีกด้วย ยานี้มีสรรพคุณแก้โรคได้ทุกชนิด แล้วแต่ชนิดของโรค

คือ ยานี้เป็นยาอธิษฐานของหลวงพ่อปาน นอกจากจะรักษาโรคแล้ว ยังเป็นยาที่หลวงพ่อปานให้กิน เวลาท่านรดน้ำมนต์แก้ถูกกระทำไปแล้ว

ยาของท่าน ท่านจะบอกกับผู้ใกล้ชิดว่า ตำรับยานี้เป็นของหลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ องค์อุปัชฌาย์ของท่าน มอบให้ท่านเป็นทายาทแทนเมื่อหลวงพ่อสุ่นล่วงลับไปแล้ว มี ๒ ขนาน(คัดมาจากหนังสืออนุสรณ์ ๑๐๐ ปี หลวงพ่อปาน)

พระคาถาของหลวงพ่อปาน

(ว่า “นะโม ฯลฯ” ๓ จบ)

พระคาถาบทนำ ว่าครั้งเดียว
“พุทธะ มะอะอุ นะโมพุทธายะ”

พระคาถาพระปัจเจกะโพธิ์
ว่า ๓ จบ หรือ ๕ จบ หรือ ๗ จบ หรือ ๙ จบ ก็ได้ แต่ต้องสม่ำเสมอ จึงจะเกิดผล
“วิระทะโย วิระโคนายัง วิระหิงสา วิระทาสี วิระทาสา วิระอิตถิโย พุทธัสสะ มาณี มามะ พุทธัสสะ สวาโหม”

คาถามหาพิทักษ์
“จิตติ วิตัง นะกรึง คะรัง”
ใช้ภาวนาขณะใส่กุญแจ ปิดหีบ ปิดตู้ ปิดประตูหน้าต่างฯ

คาถามหาลาภ
“นะมามีมา มะหาลาภา อิติพุทธัสสะ สุวัณณังวา ระชะตังวา ธะนังวา พึซังวา อัตถังวา ปัตถังวา เอหิ เอหิ อาคัจเฉยยะ อิติมึมา นะมามิหัง”
ใช้สวดภาวนาก่อนนอน ๓ จบ และตื่นนอนเช้า ๓ จบ เป็นการเรียกทรัพย์เรียกลาภ

พระคาถา ๓ บทนี้ เป็นคาถาที่ศักดิ์สิทธิ์มาก หากผู้ใดนำไปใช้จะเกิดโชคลาภมั่งมีเงินทองอย่างมหัศจรรย์

ท่านมรณภาพวันที่ ๒๖ กรกฏาคม ๒๔๘๑ รวมสิริอายุ ๖๓ ปี ๔๓ พรรษา.

ประวัติหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า

ประวัติหลวงปู่ศุข เกสโร วัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท

พระครูวิมลคุณากร หรือ หลวงปู่ศุข เกสโร เจ้าอาวาสวัดปากคลองมะขามเฒ่า ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน ท่านได้บูรณะซ่อมแซมเสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรมขึ้นมาใหม่ ชาวบ้านต่างพากันเลื่อมใสศรัทธาในวัตรปฏิบัติและพระเวทวิทยาคมของท่าน ท่านได้มีศิษย์เอกเป็นถึงเชื้อพระวงศ์ คือ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ท่านได้ถ่ายทอดวิชาอาคมต่างๆ ให้กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์จนหมด รวมถึงมีตำนานเกี่ยวกับกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ที่ได้นำผ้าเจียดจากหลวงปู่ศุขไปแจกให้แก่ทหารเรือ เพื่อทำการทดลองอาคม โดยมี ยัง หาญทะเล ซึ่งเป็นทหารคนสำคัญ เป็นผู้รับอาสาทดลอง

httpv://www.youtube.com/watch?v=R1xAvKZg-Ig


นามเดิม :-
ศุข นามสกุล เกษเวช (ต่อมาลูกหลานได้ใช้ เกษเวชสุริยา ก็มี)
เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน ๔ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๙๐ ที่บ้านมะขามเฒ่า ( เรียกกันในสมัยนั้น ปัจจุบันเรียก บ้านปากคลอง ) ตำบลมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท

โยมบิดา – มารดา :- ชื่อ นายน่วม และนางทองดี ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลมะขามเฒ่า มีบุตรและธิดา ด้วยกัน ๙ คน ได้แก่
๑. หลวงปู่ศุข
๒. นางอ่ำ
๓. นายรุ่ง
๔. นางไข่
๕. นายสิน
๖. นายมี
๗. นางขำ
๘. นายพลอย
๙. หลวงพ่อปลื้ม

ปัจจุบันยังมีลูกหลานของท่านอยู่ที่บ้านใต้วัดมะขามเฒ่าอีกหลายคน หรือแม้แต่ร้านค้าขายภายในบริเวณวัดเองก็ยังมี

หลวงปู่นั้น ท่านมีลุงคนหนึ่งชื่อ แฟง ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลบางเขน จังหวัดพระนคร ( ในสมัยนั้น ) มีอาชีพ ทำสวน ไม่มีบุตรหรือธิดา จึงได้มาขอหลานจากโยมบิดามารดาหลวงปู่ศุขไปเลี้ยง โยมท่านก็อนุญาตให้เลือกเอา ลุงแฟงก็เลือกเอาคนโต หรือ เรียกว่าคนหัวปี คือ หลวงปูศุข เข้าใจว่าขณะนั้นอายุประมาณ ๑๐ ขวบ เมื่อหลวงปู่ศุขไปอยู่กับลุงแฟง เจริญเติบโตที่ตำบลบางเขน

เมื่อหลวงปู่ฯ อยู่ในวัยฉกรรจ์ ท่านได้เดินทางเข้ามากรุงเทพฯ ทำมาหากินค้าขายเล็กๆ น้อยๆ โดยยึดลำคลองบางเขน ซึ่งมีปากคลองเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาตอนใต้จังหวัดนนทบุรีลงมา ปัจจุบันอยู่ข้างทางเข้าวัดทางหลวง เป็นที่ทำมาหากิน

คลองบางเขนนี้ทอดขึ้นไปเชื่อมกับคลองรังสิต เมื่อก่อนนี้เป็นเส้นทางหลักในการคมนาคมทางน้ำที่สำคัญและกว้างขวางเป็นอย่างมาก เมื่อการคมนาคมทางบกเจริญขึ้น การสัญจรทางน้ำก็หมดความสำคัญลง ปัจจุบันคงจะตื้นเขินไปแล้วก็ได้ เพราะขาดการทะนุบำรุงเท่าที่ควร

หลวงปู่ฯ ท่านทำมาหากินอยู่ในคลองบางเขนอยู่ระยะหนึ่ง จนอายุได้ ๑๘ ปี ได้ภรรยาชื่อ นางสมบูรณ์ และเกิดบุตรชายคนหนึ่งชื่อ สอน เกศเวชสุริยา

หลวงปู่ฯ ท่านครองเพศฆราวาสอยู่ไม่นาน พออายุท่านครบ ๒๒ ปี ท่านได้ลาไปอุปสมบท ณ วัดโพธิ์บางเขนหรือปัจจุบันชื่อว่า วัดโพธิ์ทองล่าง ซึ่งอยู่ปากคลองบางเขนตอนล่าง ส่วนวัดโพธิ์ทองบน อยู่ตอนเหนือของปากคลองบางเขน ตอนบนบริเวณจังหวัดปทุมธานี

อุปสมบท :-
การอุปสมบทของหลวงปู่ศุขนั้น ท่านได้อุปสมบทเมื่ออายุได้ ๒๒ ปี ที่วัดโพธิ์บางเขน ( ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดโพธิ์ทองล่าง ) โดยมี พระครูเชย จนฺทสิริ วัดโพธิ์บางเขน เป็น พระอุปัชฌาย์ พระถายมเป็นพระคู่สวด การอุปสมบทนี้มีลุงแฟงเป็นผู้อุปการะทั้งสิ้น ส่วนโยมบิดามารดาไม่ได้มาร่วมพิธีด้วย เพราะการเดินทางสมัยนั้นลำบากมาก จากชัยนาทถึงกรุงเทพฯ ก็กินเวลาอย่างน้อย ๒ ถึง ๓ วัน จึงจะถึง

พระอุปัชฌาย์ของท่านชื่อ หลวงพ่อเชย จันทสิริ อดีตท่านเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทองล่าง ซึ่งเป็นพระสงฆ์ฝ่ายรามัญที่ถือเคร่งในวัตรปฏิบัติและพระธรรมวินัยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลวงพ่อเชยท่านยังเป็นอาจารย์ทางฝ่ายวิปัสสนาธุระมีความรู้และความชำนาญรู้แจ้งแทงตลอด อีกทั้งทางด้านวิทยาคมก็แก่กล้าเป็นยิ่งนัก หลวงปู่ฯ ท่านได้รับถ่ายทอดวิชาความรู้จากอุปัชฌาย์ของท่านมาพร้อมกับอาจารย์เปิง วัดชินวนาราม และหลวงปู่เฒ่า วัดหงษ์ จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นศิษย์ในสายหลวงพ่อเชย วัดโพธิ์ทองล่างเหมือนกัน

เมื่อได้อุปสมบทแล้วอยู่กับพระอุปัชฌาย์ เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยพอสมควรแล้ว ท่านก็ได้ออกเดินธุดงค์หาที่สงบฝึกวิปัสสนากัมมัฏฐาน และวิชาอาคมต่าง ๆ จากสำนักที่มีชื่อเสี่ยงโด่งดังในสมัยนั้นจนชำนาญดีแล้ว จึงกราบลาอาจารย์กลับบ้านเกิดของท่าน โดยมาพักอยู่ที่วัดร้างแห่งหนึ่งข้างหมู่บ้านของท่าน ชื่อวัดอู่ทอง ปัจจุบันนี้เรียกว่า วัดปากคลอง ชาวบ้านแถวนั้นมีความศรัทธาเลื่อมใสจึงนิมนต์ให้ท่านจำพรรษาอยู่ที่นั้น เพื่อที่ว่าจะได้สร้างวัดขึ้นมาใหม่ ดังนั้นท่านจึงได้อยู่ ณ ที่นั้นมาจนท่านมรณภาพ ในระหว่างที่ท่านมีชีวิตอยู่นั้น ได้เริ่มพัฒนาในท้องถิ่นให้เจริญรุ่งเรืองด้วยจากวัดร้างที่ไม่มีอะไรเลย จนถึง พุทธาวาส ธรรมาวาส และสังฆาวาส เป็นวัดที่สมบูรณ์แบบจนถึงทุกวันนี้ ยังมีพระอุโบสถและมณฑป ปรากฏให้เห็นอยู่ ส่วนการอบรมสั่งสอนนั้นท่านได้แนะแนวการประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ให้เห็นคุณและโทษของผลการปฏิบัติตนในทางที่ดีหรือไม่ดีอย่างไร จนประชาชนแถวนั้นมีความประพฤติดีมีศีลธรรมเป็นส่วนมาก

หลวงปู่ฯ ท่านเพลินอยู่ในธรรมเสียหลายปี จนกระทั่งมารดาท่านที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท ได้ชราภาพลงตามอายุขัย และความเจ็บไข้มาเยือนอยู่บ่อยครั้ง ด้วยความเป็นห่วงเป็นใยในบิดามารดาของท่านจึงได้เดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาเดิม และได้อยู่จำพรรษาปีแรกๆ ที่วัดอู่ทองปากคลองมะขามเฒ่า ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่โบราณที่อยู่ลึกเข้าไปในคลองมะขามเฒ่า หรือบริเวณต้นแม่น้ำท่าจีนในปัจจุบัน แต่ทว่าสภาพของวัดอู่ทองขณะนั้นได้เกิดการชำรุดทรุดโทรมลงตามสภาพ เกินกว่าที่จะบูรณปฏิสังขรณ์ให้กลับคืนมาสู่สภาพที่ดีได้ต่อไป ท่านจึงได้ขยับขยายออกมาที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และได้สร้างกุฏิขึ้นครั้งแรกหนึ่งหลังพอเป็นที่อยู่อาศัยไปพลางก่อน

สืบต่อมามารดาของหลวงปู่ๆ ได้ถึงแก่กรรมและได้จัดการฌาปนกิจศพ และในงานนี้เอง หลวงปู่ฯ ท่านได้สร้างวัตถุมงคลในรูปพระพิมพ์สี่เหลี่ยมซุ้มรัศมีออกแจกเป็นของที่ระลึกเป็นครั้งแรก เมื่อผู้ที่ได้รับแจกพระเครื่องจากท่านไปได้ปรากฏอภินิหารทางอยู่ยงคงกระพัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องกันเขี้ยวงา คือสุนัขกันไม่เข้า ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่บังเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เพราะบ้านนอกอย่างในชนบทสมัยก่อนนั้นไม่ค่อยจะมีรั้วรอบขอบชิดเสียเป็นส่วนใหญ่ ก็ได้อาศัยสุนัขที่เลี้ยงไว้เป็นยามเฝ้าบ้าน ฉะนั้นการที่จะแวะเวียนไปบ้านหนึ่งบ้านใดนั้นจะต้องระวังเรื่องสุนัขลอบกัดให้ดี มิฉะนั้นท่านจะถูกสุนัขกัดเอาง่ายๆ พระของหลวงปู่ฯ จึงมีชื่อเรื่องสุนัขกันไม่เข้า เป็นปฐมเหตุก่อน จึงบังเกิดความนิยมไปขอท่านมาแขวนคอบุตรหลานเพื่อกันเขี้ยวงาและภยันตรายต่างๆ สมัยก่อนพระวัดปากคลอง เนื้อตะกั่ว จะมีแขวนอยู่ในคอเด็กในท้องถิ่นเกือบจะทุกคน แล้วถ้าจะไปขอพรหลวงปู่ศุข ท่านมักจะถามว่า “เอ็งมีลูกกี่คน?” ท่านจะให้ครบทุกคน

กิตติศัพท์ในความขลังประสิทธิในพระพิมพ์สี่เหลี่ยมของท่านจึงค่อยๆ เผยแพร่จากปากหนึ่งไปสู่อีกปากหนึ่ง ในเวลาไม่ช้าไม่นาน คุณวิเศษของท่านจึงค่อยๆ โด่งดังขจรขจายไปทั่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัดปากคลองมะขามเฒ่า ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอันเป็นเส้นทางคมนาคมสายหลัก การขนส่งสินค้า ตลอดจาการทำมาค้าขาย จะขึ้นล่องจะต้องอาศัยสายน้ำเจ้าพระยาเพียงแห่งเดี่ยวเท่านั้น เพราะในสมัยนั้นถนนหนทางทางบกยังทุรกันดาร พอตกเพลาพลบค่ำพ่อค้าแม่ขายเรือเล็กเรือใหญ่จะมาอาศัยนอนค้างแรมที่แพหน้าวัดของท่าน เพื่ออาศัยบารมีของท่านช่วยป้องกันขโมยขโจรที่จะมาประทุษร้ายต่อเลือดเนื้อชีวิตและทรัพย์สิน ถ้าจะเปรียบไปแล้วหน้าวัดของท่านจึงเป็นเสมือนหนึ่งเป็นชุมทางที่สำคัญนี่ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ช่วยเสริมส่งให้เกียรติคุณของท่านแผ่ขยายไปทั่วทุกภาคของประเทศ ชื่อเสียงของท่านจึงเป็นที่รู้จักกันดี “หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า”

กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

เสด็จในกรมหลวงชุมพรฯฝากตัวเป็นศิษย์ :-
อนึ่ง มีผู้กล่าวว่าท่านมีวิชาอาคมเวทย์มนต์เก่งมาก สามารถเสกใบไม้ให้เป็นตัวต่อ ตัวแตน เสกหัวปลีให้เป็นกระต่าย เสกก้านกล้วยให้เป็นงูได้ และเรื่องอภินิหารของขลัง คงกระพันชาตรี มีอีกมากมาย อาจจะเป็นด้วย บุญกุศลของหลวงปู่ศุข กับ เสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระบิดาแห่งราชนาวี ซึ่งเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ นับลำดับราชสกุลวงศ์เป็นพระองค์ที่ ๒๘ และเป็นพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่ ๑ ในเจ้าจอมมารดาโหมด ธิดาพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ได้สร้างสมกันมาแต่ชาติปางก่อน ดลบันดาลให้เสด็จในกรมฯ ซึ่งทรงศรัทธาเลื่อมใสในทางมหาพุทธาคมอยู่แล้วได้เสด็จประพาสไปในภาคเหนือ จึงเป็นเหตุให้หลวงปู่ศุขและพระองค์ท่านได้พบกัน และเป็นที่ต้องอัธยาศัยซึ่งกันและกัน จึงได้ฝากตัวเป็นศิษย์ – อาจารย์ เพื่อจักได้ศึกษาทางมหาพุทธาคม และปรากฏว่า พระองค์เป็นศิษย์ที่มีความรู้ความสามารถได้ศึกษาแตกฉานจนกระทั่งหลวงพ่อเองก็หมดความรู้ จึงได้ให้เสด็จในกรมฯ ไปศึกษาเคล็ดวิชากับหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จังหวัดพิจิตรต่อ ดังเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วนั้นและได้วาดภาพพุทธประวัติด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง ที่อุโบสถด้านในหน้าอุโบสถ ซึ่งปรากฏจนทุกวันนี้ หลวงปู่ศุข ท่านมีเมตตามากจึงมีศิษย์เป็นอันมากที่มาเรียนวิชาเหล่านี้ ท่านได้รับสมณศักดิ์ เป็นพระครูวิมลคุณากร และเป็นเจ้าคณะแขวง ( ปัจจุบันเรียกว่าเจ้าคณะอำเภอ ) เป็นองค์แรกของอำเภอวัดสิงห์ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเมื่อใด

เมื่อหลวงปู่ศุข ท่านมีลูกศิษย์อย่างเสด็จในกรมฯ จึงเป็นกำลังสำคัญให้ท่านสามารถที่สร้างวัดปากคลองมะขามเฒ่าให้เสร็จสมบูรณ์ ถาวรวัตถุทางพุทธศาสนาที่คงเหลือเป็นประจักษ์พยานในปัจจุบันนี้ก็คือ ภาพเขียนฝีมือเสด็จในกรมฯ บนฝาผนังพระอุโบสถ วัดปากคลองมะขามเฒ่า ที่ยังรักษาไว้ได้อย่างสมบูรณ์ และเป็นภาพเขียนฝีมือเสด็จในกรมฯ บนฝาผนังพระอุโบสถ วัดปากคลองมะขามเฒ่า ที่ยังรักษาไว้ได้อย่างสมบูรณ์ และเป็นภาพเขียนสีน้ำที่ทางกรมศิลป์ยกย่องว่าเสด็จในกรมฯ ทรงฝีมือในการเขียนภาพเป็นอย่างมาก และทรงสอดแทรกอารมณ์ขันในภาพพระพุทธเจ้าชนะมาร ในกระแสน้ำที่พระแม่ธรณีบีบมวยผมทำให้เกิดอุทกธาราหลากไหลพัดพาเอาทัพพระยามารไปนั้น พระองค์ท่านเขียนเป็นภาพลิงใส่นาฬิกาและหนีบขวดวิสกี้กำลังเดินตุปัดตุเป๋ไปเลย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฤาษีปัญจวัคคีเมื่อเห็นเจ้าชายสิทธัตถะเลิกทรมานการหันมากินอาหาร ก็นึกว่าพระองค์คงจะถ้อถอยละความเพียรแล้ว จึงพากันผละหนีพระองค์ไปนั้น เสด็จในกรมฯ ท่านเขียนใบหน้าของฤาษีปัญจวัคคี โดยสอดอารมณ์ที่ยิ้มเยาะเย้ยหยันอย่างไม่อะไรไยดีต่อพระองค์ เน้นความรู้สึกได้เด่นชัดมาก

ฝีมือของเสด็จในกรมฯ อีกชิ้นหนึ่งก็คือภาพเขียนสีน้ำมันเป็นรูปหลวงปู่ศุขยืนเต็มตัวและถือไม้เท้า ภาพนี้เขียนขึ้นในขณะที่หลวงปู่มีอายุมากแล้วจึงต้องเดินสามขา

ศิลปวัตถุในพุทธศาสนาที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า นอกจากพระอุโบสถแล้วยังมีมณฑปจตุรมุขประดิษฐ์บานรอยพระพุทธบาท ประตูทั้ง ๔ บานนั้นแกะด้วยไม้สัก แกะลวดลายลึกถึงสามชั้น เคยมีคนสมคบกันเอาบานประตูมณฑปจตุรมุขออกขาย เอาลงมากรุงเทพฯ เตรียมใส่เรือกระแชงในคลองมหานาคเพื่อออกต่างประเทศ ด้วยดวงวิญญาณในหลวงปู่ศุขท่านผูกพันอยู่กับศาสนาวัตถุที่ท่านสร้างเอาไว้ในบวรพุทธศาสนา ท่านจึงเข้าประทับทรงจากหิ้งบูชาจังหวัดนครสวรรค์ รับเอาท่านแม่ทัพที่นครสวรรค์ (ขออภัยผู้เขียนจำชื่อท่านไม่ได้) และมารับเอาท่านนายอำเภอประจำจังหวัดชัยนาทในขณะนั้น คือ คุณสุธี โอบอ้อม แล้วนั่งรถเข้ากรุงเทพฯ ร่างทรงหลวงปู่ฯ ได้พาคณะลดเลี้ยวเข้าครอกเข้าซอยจนมาถึงเรือกระแชงที่บรรทุกบานประตูมณฑปเตรียมขนออกนอกได้อย่างทันท่วงที ยึดเอาบานประตูทั้ง ๔ บาน คืนกลับไป ขณะนั้นยังคงเก็บรักษาไว้ที่วัดป่าพานิชวนาราม อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท และยังไม่ได้ส่งคืนวัดปากคลองมะขามเฒ่า เพราะเหตุอะไรนั้น ชาวจังหวัดชัยนาทเขาทราบกันดี

ปัจจุบันชาวจังหวัดชัยนาทผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ได้ร่วมกันสร้างรูปหุ่นขี้ผึ้งไว้ที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า เพื่อจะได้ทำการสักการบูชาโดยทั่วกัน กรมทหารเรือเห็นความสำคัญ จึงได้ทำการบูรณะซ่อมแซมมณฑป เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕ ทำให้ประชาชนทั้งใกล้และไกลต่างจังหวัด หลั่งไหลมาสักการะบูชาทุก ๆ วันมิได้ขาด วัดปากคลองมะขามเฒ่า จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของจังหวัดชัยนาทต่อไป

เรื่องทรงเจ้าเข้าผีนี้ จะไม่เชื่อก็ไม่ได้ แต่ที่ทรงจริงๆ นั้นมันมีน้อย อย่างในกรณีดวงวิญญาณหลวงปู่ศุขประทับทรงแล้วซอกแซกลงมาจากนครสวรรค์ถึงกรุงเทพฯ เกือบ ๓๐๐ กม. แล้วยังพาคณะเข้าครอกตรอกซอยจนถึงเรือกระแชงที่จอดลอยลำอยู่ในคลองมหานาคนั้นมันเป็นการเดินทางที่สลับวับซ้อนและวกวนน่าดู แต่ร่างทรงก็พาคณะไปจนพบและยึดบานประตูกลับคืนมาได้นั้น มันเป็นเหตุการณ์อันมหัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง และบานประตูมณฑปทั้ง ๔ บานดังกล่าวแล้วนั้น ทั้งเสด็จในกรมฯ และหลวงปู่ศุขได้ช่วยกันสร้างเป็นชิ้นสุดท้าย ระบุปี พ.ศ. ๒๔๖๕ อยู่ที่ซุ้มหน้ามณฑปอีกด้วย

ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์นอกจากจะถูกอัธยาศัยกันเป็นยิ่งนัก จักเดินทางไปมาหาสู่กันเสมอแล้ว ถ้าเสด็จในกรมฯ ติดราชการงานเมือง หลวงปู่ก็จะลงมาหา โดยเสด็จในกรมฯ ได้สร้างกุฏิอาจารย์ไว้กลางสระที่วังนางเลิ้ง ซึ่งเต็มไปด้วยดอกบัววิคตอเรีย มีใบกลมใหญ่ขนาดถาด และรู้สึกว่ากลางใบจะมีหนามคมด้วย อันนี้ได้รับคำบอกเล่าจากลุงผล ท่าแร่ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ติดสอยห้อยตามหลวงปู่ฯ มาแต่เล็ก ท่านเป็นชาวอุตรดิตถ์หรือพิษณุโลกจำได้ไม่ถนัดนัก หลวงปู่ศุขท่านขอพ่อแม่มาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม เมื่อสิ้นบุญหลวงปู่ฯ ท่านก็เลยลงหลักปักฐานได้ภริยาอยู่ที่ตำบลท่าแร่ อำเภอวัดสิงห์ ชัยนาท เลยเรียกกันติดปากว่า ลุงผล ท่าแร่

แต่อย่างไรก็ตาม ภายในกำหนด ๑ ปี หลวงปู่ศุขท่านจะต้องลงมากรุงเทพฯ ๑ ครั้งเป็นอย่างน้อย เพราะเสด็จในกรมท่านจะกระทำพิธีไหว้ครูราวๆ เดือนเมษายน งานจะจัดเป็น ๓ วัน วันแรกไหว้ครูกระบี่กระบอง วันที่สองไหว้ครูหมอยาแผนโบราณ และวันที่สามจะไหว้ครูทางวิทยายุทธ์พุทธาคมและไสยศาสตร์ จัดเป็นงานใหญ่มีมหรสพสมโภชทุกคืนกับมีการแจกพระเครื่องรางของขลังจากหลวงปู่ศุขอีกด้วย แต่ในระยะหลังๆ หลวงปู่ศุขท่านมีอายุมากแล้วสุขภาพไม่ค่อยจะสมบูรณ์เท่าใดนัก ท่านจึงไม่ค่อยจะได้ลงมา

จากการที่ผู้เขียนได้เคยศึกษาตำราอักขระเลขยันต์จากอาจารย์ท่านมหาโพธิ์ วัดคลองมอญ อำเภอวัดสิงห์ ชัยนาท ผู้สืบสายมาจากท่านใบฎีกายัง วัดหนองน้อย อำเภอวัดสิงห์ ชัยนาท ซึ่งเป็นฐานาในหลวงปู่ศุข และเป็นลูกศิษย์เอกของหลวงปู่ศุขรูปหนึ่ง ตำราอักขระเลขยันต์ซึ่งคุณหมอสำนวน ปาลวัฒน์วิไชย แห่งโรงพยาบาลประจำจังหวัดชัยนาท ซึ่งท่านได้ใช้เวลาค้นคว้าและรวบรวมพระเครื่องในหลวงปู่ศุข ตลอดจนประวัติและเรื่องราวของท่านตลอดมาเป็นเวลาหลายสิบปี ได้นำออกมาตีพิมพ์เผยแพร่เป็นหนังสือรวมเล่มขนาดหนานั้น ได้ตีพิมพ์ตำราอักขระเลขยันต์ของหลวงปู่ศุขที่สอนให้กับลูกศิษย์ของท่างลงไปด้วย และบางตอนบางหน้ายังเป็นลายมือของหลวงปู่อีกด้วย นับว่าเป็นการเปิดหูเปิดตาสำหรับผู้ที่สนใจจริงๆ แต่ทว่าในตำราอักขระเลขยันต์ของท่านนั้นเป็นความรู้ขั้นพื้นฐานทั่วๆ ไป ซึ่งมีอยู่ในตำรามหาพุทธาคมที่เราได้ร่ำเรียนกันอยู่ในปัจจุบันนี้ อย่างเช่นการเรียนสูตรสนธ์จากคัมภีร์รัตนมาลา ในพระอิติปิโส ๕๖ พระคาถาห้องพระพุทธคุณ ลงเป็นยันต์เกราะเพชรหรือตาข่ายเพชร ยันต์พระไตรสรณาคมน์ตลอดจนคัมภีร์นะ ๑๐๘ และ นะพินธุ หรือ นะปฐมกัลป์ หรือ นะโมพุทธายะใหญ่ และยันต์ประจำตัวของท่านที่ท่านใช้อยู่เป็นประจำก็คือ ตัวพุทธมวันโลก ที่ท่านใช้จารลงที่หลังพระพิมพ์สี่เหลี่ยมของท่าน นอกจากนั้นยังลงด้วยยันต์สามลง มะ อะ อุ ที่ขมวดยันต์ลงหลังรูปถ่ายของท่าน เรียกว่า ยันต์เพชรหลีกน้อย นอกจากนั้นท่านจะนิยมหนุนหรือล้อมด้วยธาตุทั้ง ๔ คือ นะ มะ พะ ทะ

อนึ่งการที่ท่านทำพระเครื่องรางของขลังได้ประสิทธิมีฤทธิ์มีเดชทั้งๆ ที่ใช้อักษรเลขยันต์พื้นๆ นั้น เป็นเพราะอำนาจจิตที่ท่านได้ฝึกฝนมานั้นกล้าแกร่งยิ่งนัก โดยเฉพาะกสิณธาตุทั้ง ๔ มี ดิน น้ำ ไฟ ลม นั้นเป็นพื้นฐานที่สำคัญ เป็นบ่อเกิดแห่งอำนาจอิทธิฤทธิ์ทางใจเลยทีเดียว สำหรับการสำเร็จวิชาชั้นสูงเรียกว่า มายาการ คือความเชื่อถือ และการปฏิบัติ ที่มุ่งหมายให้เกิดผล ด้วยการใช้พลัง หรืออำนาจเหนือธรรมชาติ เช่น ของขลัง พิธีกรรม หรือหลีกลี้ลับ บังคับให้เป็นไปตามที่ตนต้องการ เช่น ท่านเสกใบมะขามให้เป็นตัวต่อตัวแตน เสกหัวปลีให้เป็นกระต่าย ตลอดจน การผูกหุ่นพยนต์ด้วยฟางข้าว เสกคนให้เป็นจระเข้ เป็นต้น มันเป็นมายาการชั้นสูง คือการบังคับให้เป็นไปตามที่ตนต้องการ แท้ที่จริงแล้วใบมะขามก็คงเป็นใบมะขาม หัวปลีก็คงเป็นหัวปลี และหุ่นฟางก็คงเป็นหุ่นฟางเหมือนเดิม เว้นแต่ด้วยอำนาจจิตของท่านทำให้เราเห็นไปเอง

จากหนังสือ “พระกฐินพระราชทาน สมาคมศิษย์อนงคาราม ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เรื่องพระใบมะขาม” ท่านผู้เขียนอดีตเป็นพระมหา มีหน้าที่ไปอุปัฏฐากหลวงปู่ศุข ขณะที่อาราธนาท่านมาปลุกเสกพระชัยวัฒน์ และพระปรกใบมะขาม (พ.ศ. ๒๔๕๙) ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

“เมื่อข้าพเจ้าไปอุปัฏฐากหลวงพ่อแล้ว มีชาวบ้านชาววัดมาขอให้หลวงพ่อลงกระหม่อมบ้าง ลงตะกรุดพิสมรบ้าง โดยยื่นแผ่นเงิน ทอง นาก ให้ลงคาถา บางคนขอเมตตา บางคนขอการค้าขาย หลวงพ่อให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ลง

ข้าพเจ้าถามว่าการค้าขาย จะให้ลงว่ากระไร?

หลวงพ่อบอกว่า “นะชาลิติ”

บางคนขอเมตตา ข้าพเจ้าถามว่า จะให้ลงว่ากระไร?

หลวงพ่อพูดติดตลกว่า “เมตยายไม่เอาหรือ เอาแต่เมตตาเท่านั้นหรือ?”

คนขอจึงบอกขอเมตตาอย่างเดียว ข้าพเจ้าถามว่า จะให้ลงว่ากระไร?

ท่านบอกว่า “นะเมตตา โมกรุณา พุทธปราณี ธายินดี ยะเอ็นดู”

ข้าพเจ้าจึงบอกว่า “หลวงพ่อครับ ผมไม่มีความขลัง ลงไปก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไร”

หลวงพ่อบอกว่า “มันอยู่ที่ผมเสกเป่านะคุณมหา”

ข้อนี้ยืนยันว่าเป็นความจริง เพราะระหว่างนั่นข้าพเจ้าให้หลวงพ่อลงกระหม่อม แล้วท่านเสกเป่าไปที่ศีรษะตั้งหลายครั้ง เมื่อท่านเป่าที่กระหม่อมที่ไร ข้าพเจ้าขนลุกชันทั่วทั้งตัวทุกครั้ง ทั้งที่ข้าพเจ้าฝืนใจไม่ให้ขนลุกก็ลุกซู่ทุกครั้งที่ท่านเป่า ข้อนี้เป็นมหัศจรรย์จริงๆ ข้าพเจ้าคิดว่าจะเป็นแต่ข้าพเจ้าคนเดียว ไปสอบถามภิกษุอุปัฏฐากรูปอื่นๆ ก็ได้รับคำตอบเช่นเดียวกัน ข้อนี้ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า “ท่านสำเร็จสมถะภาวนาแน่ๆ”

อนึ่ง ท่านเป็นพระที่น่าเคารพนับถือ สำรวมในศีลเป็นอย่างดี ไม่ใคร่พูดจา นั่งสงบอารมณ์เฉยๆ ไม่ถามอะไร ท่านก็ไม่ตอบไม่พูด บางอย่างข้าพเจ้าถามหลวงพ่อ หลวงพ่อก็ตอบเลี่ยงไปทางอื่น เช่น “เขาว่าหลวงพ่อเสกใบไม้เป็นต่อ และเสกผ้าเช็ดหน้าเป็นกระต่ายได้ และแสดงให้กรมหลวงชุมพรฯ เห็นจนยอมเป็นศิษย์”

หลวงพ่อตอบข้าพเจ้าว่า “ลวงโลก” แล้วท่านก็นิ่งไม่ตอบว่าอะไรอีก

หลวงพ่อพูดต่อไปว่า “เวลานี้กรมหลวงชุมพรฯ ไปต่างประเทศ (เข้าใจว่าไปรับเรือพระร่วง) ถ้าอยู่ก็ต้องมาหาท่าน และปรนนิบัติท่านจนท่านกลับวัด และว่ากรมหลวงชุมพรฯนี้ตกทะเลไม่ตาย แม้จะมีสัตว์ร้ายก็ไม่ทำอันตรายได้”

หลวงพ่ออยู่ที่กุฏิสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) พุทธสรมหาเถรเป็นเวลาสิบวันเศษ ได้ทราบว่าสมเด็จเรียนวิทยาคมกับหลวงพ่ออีกด้วย

มรณภาพ :-
ท่านมรณภาพเมื่อ เดือน ๑ ปีกุน พ.ศ. ๒๔๖๖ ไม่ปรากฏวันที่ที่แน่นอน คำนวณอายุได้ ๗๖ ปี วันสวดพระพุทธมนต์ทำศพอยู่ ๗ วัน ๗ คืน จึงประชุมเพลิง

อนึ่ง การที่เราคนรุ่นหลังจักเขียนเรื่องราวและวัตรปฏิบัติของหลวงปู่ศุข ซึ่งท่านมรณภาพล่วงไปแล้วกว่าครึ่งศตวรรษให้ได้ใกล้เคียงกับความจริงนั้น นับว่าเป็นเรื่องที่ยากมากๆ อาศัยหลักฐานทางเอกสารที่หลงเหลืออยู่บ้าง จากการไต่ถามบรรดาลูกศิษย์ลูกหาของท่านซึ่งส่วนมากจักล้มหายตายจากกันไปเสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น การที่ท่านได้รับรู้จากการเขียนของ “ท่านมหา” ซึ่งเคยอุปัฏฐากหลวงปู่ ดังกล่าวแล้วนั้นคงจักทำให้ท่านมองเห็นสภาพของหลวงปู่ศุข ได้ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด

หลวงพ่อปานพบลาวเก่งวิชาไสยศาสตร์

หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค

วันหนึ่งเวลาเย็น มีลาวคนหนึ่งเดินมาทางหลังวัด เข้ามาอาศัยนอนอยู่ในป่าช้า คือมันมีกระท่อมเล็กๆ อยู่หลังหนึ่งที่คนตายชื่อว่า ตาสุด เวลาตายแล้วเขาปลูกกระท่อมหลังนั้น เป็นที่เก็บศพ แต่ว่าขณะนั้นศพเผาไปแล้ว แต่ว่ากระท่อมเขาไม่ได้รื้อ เป็นที่อาศัยของพระเจริญสมณธรรม

พระที่เจริญกรรมฐานไปอยู่ที่นั่น เวลากลางวันกลางคืนตามแต่อัธยาศัย ลาวก็มา นอนอยู่ในที่นั้น จ้างเด็กตักนํ้าไปให้ ถังละ ๑ สตางค์ เมื่อลาวมาพักอยู่ในตอนเย็นเมื่อถึงเวลาตีสอง หลวงพ่อปานลุกขึ้นเรียกฉัน ฉันนอนอยู่ใกล้ๆ บอกให้ไปตามพระมาให้หมด ถึงตีสองแล้ว

ฉันก็ไปตามพระมา ไม่รู้ท่านประสงค์อะไรก็บอกว่า เมื่อพระมาครบถ้วนแล้ว
ท่านก็บอกว่า ดูอะไรนี่
ฉันมองเห็นตะขาบตัวเท่าแขนฉัน ขดกลมอยู่หน้าเตียงของท่าน ก็ถามว่าอะไรครับหลวงพ่อ ท่านบอกนี่แหละ “คุณคน”
ถามว่า ตะขาบเป็นคุณคนได้หรือครับ ตะขาบทำไมตัวโต
ท่านบอกเป็นตะขาบวิชา ไอ้ลาวคนนั้นมันทำฉัน มันจะฆ่าฉัน
พอท่านบอกเท่านั้น พระหนุ่มๆ ก็ทำท่าฮึดฮัด จะไปเล่นงานลาว
ท่านบอกไม่ต้อง กรรมของเขาให้เขารับไป อย่าไปทำเขา ถ้าทำแล้วมันบาป
ท่านบอกว่า ตะขาบตัวนี้เขาเสกมาให้กัดฉัน ถ้ามันกัดฉันได้ละก็ฉันตาย แก้ไม่ทันหรอกมั้ง พวกแกนี่แก้ไม่ได้ ไม่มีใครมีความรู้ แก้ก็ไม่ทัน แต่ว่าบังเอิญฉันตื่นขึ้นมาก่อน เห็น ตะขาบมันวิ่งมาด้วยความไว ฉันก็เลยใช้หวายขีดเส้นสะกัด มันก็หยุดอยู่แค่เส้นที่ฉันขีด แล้วฉันก็เอาหวาย วนๆ มันก็ขดไปตามหวายที่ฉันวง

ท่านบอกว่า เอาอย่างนี้ก็แล้วกันนะ ของ ๆ ใครก็ให้เขานะ เราไม่รับ เราไม่ได้ทำมานี่ แต่เมื่อเขาทำมาเราก็คืนให้เขา มันจะเป็นอะไรก็เป็นเรื่องของเขา เราไม่ได้ตั้งใจให้เขาตาย ท่านก็เอาหวายขีด วงย้อนกลับ คือคลายตัว ตะขาบก็คลายไปตามเส้นที่ท่านขีด เมื่อตะขาบตั้งตัวตรง คือคลายเป็นตัวตรงแล้ว ท่านก็เอาหวายเคาะกระดานข้างหลัง ตรง ๆ แต่ห่าง ๆ ตะขาบ ๓ ครั้ง ตะขาบก็หายปั๊บไปทันตา ในพริบตาเดียว ไม่รู้ว่าตะขาบไปอย่างไร ทั้ง ๆ กุฏิก็มีข้างฝา ปิดหน้าต่างประตูหมด แต่ตะขาบหายออกไปอย่างไร ไม่มีใครรู้

เมื่อตะขาบหายไปแล้ว ท่านก็สั่งว่ารีบไป ถามว่ารีบไปไหนครับ
ท่านบอก พวกเธอรีบไปที่ลาวนั่น หามมันมาหาฉัน ประเดี๋ยวมันจะตายเสีย มันจะแก้ไม่ทัน ของๆ มันเล่นงานมันเสียแล้ว พระทั้งวัดก็เฮโลไปที่ลาว ที่ไหนได้เจ้าลาวคนนั้น นอนร้องครวญครางฮือฮา บวมทั้งตัว
พวกเราก็รีบหามมาหาท่าน
ท่านก็ปล่อยให้ยังบวมอยู่อย่างนั้น ยังปวดอยู่อย่างนั้น แล้วท่านก็สอบสวนว่า
ตะขาบเธอทำมาใช่ไหม
ทีแรกเขาไม่รับ
ท่านบอก ถ้าไม่รับก็ตายเสียเถอะ เป็นของของเธอ ไม่ใช่ของของฉัน
ไอ้เจ้าลาวคนนั้นทนไม่ไหวก็บอกรับ รับว่าทำ
ถามว่า ทำทำไม
บอก จะฆ่าท่าน
ถามว่า จะฆ่าฉันทำไม
บอก จะฆ่าให้ตาย เพราะว่าทำมาทีไรก็แก้ได้ทุกที
ผลที่สุดท่านก็บอกว่า ถ้าหากเธอไม่ฆ่าฉัน ฉันจะไม่ตายเหรอ ฉันก็ต้องตายเหมือนกัน เธอจะฆ่าฉันให้มันบาปทำไม ในที่สุดลาวก็ขอให้ท่านแก้ ให้ท่านรักษาให้หาย ท่านก็บอกรักษาให้หายได้ แต่เธอต้องให้สัญญาก่อนว่า
๑. หายแล้ว เธอจะบวช
๒. เมื่อบวชแล้ว เธอจะละวิชาความรู้นี้ทั้งหมด ไม่ทำต่อไป

ถ้าเธอให้สัญญากับฉัน ฉันจะรักษา ถ้าเธอไม่ให้สัญญากับฉัน ฉันจะไม่รักษา เจ้าลาวคนนั้นดื้อแพ่งอยู่พักหนึ่ง แต่ในที่สุด ก็ทนความเจ็บปวดไม่ไหว ก็ยอมรับ เมื่อยอมรับท่านก็นำนํ้ามาขันหนึ่งมาทำเป็นนํ้ามนต์ เอามาพรมๆ แล้วให้ลาวคนนั้นดื่ม พอดื่มเข้าไปประเดี๋ยวเขาก็หาย ชักจะหายปวด บรรเทาปวดลงไป แล้วก็บอกว่า ชักจะปวดอุจจาระ

ท่านก็บอกว่า ให้ไปถ่ายอุจจาระที่กลางนอกชาน ให้ถ่ายร่องให้มันค้างดินอยู่ เราก็ไม่เข้าใจถามว่า หลวงพ่อทำไมทำอย่างนั้นละครับ มันสกปรก ท่านบอก ไม่เป็นไร ประเดี๋ยวเธอจะเห็นของดี ไอ้ของที่ออกมาไม่ใช่อุจจาระ เป็นไอ้ตะขาบตัวเมื่อกี้

ผลที่สุดก็เป็นความจริง เมื่อเขาถ่ายอุจจาระมาแล้ว ท่านก็บอกให้เอาไฟไปส่องดู ก็ปรากฏว่าเป็นโซ่เส้นเล็กๆ ผูกลวดหนามไว้เต็ม เอาลวดหนามพันเข้าไว้ นี่ตะขาบเขาทำด้วยโซ่พันไปด้วยลวดหนาม ในเมื่อเข้าไปในตัวแล้วมันก็บาดลำไส้ พุง อวัยวะต่างๆ ท่านบอกว่า ของอย่างนี้เมื่อเข้าไปอยู่ในตัวแล้ว มันจะทำอันตรายเต็มที่ เพราะเขาทำเต็มที่ ถ้ามันขยายตัวเต็มที่เมื่อไหร่ อวัยวะภายในก็จะขาด เพราะมันทนต่อความถ่วงของเหล็ก หรือว่าทนต่อลวดหนามไม่ไหว

ก็เป็นอันว่าลาวคนนั้นก็ยอมรับ ก็บวช เมื่อหายดีเรียบร้อยแล้ว ท่านก็ไปนิมนต์ พระครูรัตนาภิรมย์ มาเป็นอุปัชฌาย์ บวชให้ และลาวคนนั้น ก็เลิกจากการปฏิบัติอย่างนั้น เพราะอาศัยที่เขาฝึกอย่างนั้นมีสมาธิสูงอยู่แล้ว เมื่อเวลาเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา หลวงพ่อปานก็สอนให้เจริญพระกรรมฐาน รู้สึกว่าเขาทำได้ดีมาก ทำได้รวดเร็วมาก จนกระทั่งได้อภิญญา พรรษาเดียวนะเขาได้อภิญญา ๕ แต่ยังเป็นฌานโลกีย์ ทำอะไรต่ออะไรได้หมดทุกอย่าง เมื่อเขาทำได้แล้ว ฉันเองก็เข้าไปถามเขาว่า เสียดายความรู้เดิมไหม

เขาบอก ไม่เสียดาย แต่ว่าเสียดายเวลา เวลาที่ไปฝึกฝนความรู้เดิม ที่มันเป็นทางของบาป และ อกุศล ทำตนให้ตกไปในอบายภูมิ ถ้ารู้ว่าวิชาอย่างนี้มีเขาศึกษาเสียนานแล้ว แล้วเขาก็ได้อภิญญานานแล้ว เมื่อออกพรรษา เขาก็ขอลากลับ เพราะบ้านเขาอยู่จังหวัดอุบลราชธานี

เขาบอกว่าเขาจะไปสอนลูกศิษย์ลูกหาเขาปฏิบัติตามนี้บ้าง และก็เพื่อนของเขาอีกหลายคน ที่ยังใช้วิชาความรู้เดิม รับจ้างทำคนให้ตาย รับจ้างทำคนให้ป่วยไข้ไม่สบาย เขาจะไปโปรดพวกนั้น ให้เลิกละจากกรรมประเภทนั้น ให้กลับมาประพฤติปฏิบัติในสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน

ก่อนที่เขาจะไป หลวงพ่อปานได้เรียกมาฝึกวิปัสสนาญาณ ๓ เดือน เมื่อท่านพอใจแล้วท่านก็ส่งไป ก็ปรากฏว่าพระองค์นั้นเป็นพระอภิญญา และมีวิปัสสนาญาณพอสมควร เมื่อไปจังหวัด อุบลราชธานี ก็ได้ไปสอนลูกศิษย์ลูกหา
ให้ได้อภิญญาสมาบัติกันมากมาย

เมื่อถึงเวลาที่ หลวงพ่อปานไหว้ครู วันเสาร์ ๕ เดือนไหนก็ตามถ้าข้างขึ้น ๕ คํ่า ตรงกับวันเสาร์ หรือวันเสาร์ ๕ หลวงพ่อปาน ท่านต้องไหว้ครูท่าน เขาก็พาลูกศิษย์ลูกหาของเขา สมัยนั้น ไอ้รถเรือมันก็ไม่ค่อยจะมี ต้องเดินกันมา ในระยะทางไกล จนกว่าจะถึงทางรถไฟรถยนต์

รถยนต์ก็หายาก ก็มีรถไฟเป็นส่วนมาก ต้องใช้เวลาตั้งเดือน ถึงจะมาถึงสำนักของอาจารย์ได้ เขาก็อุตส่าห์มากัน มากันในวันไหว้ครู รู้สึกมากันคราวละมาก ๆ ลูกศิษย์ของเขามีกี่คน เขาต้องพามาจนหมด เรียกว่าทุกคนต้องเก็บหอมรอมริบไว้ เพื่อวันเสาร์ ๕ เมื่อถึงวันเสาร์ ๕ ก็ต้องไหว้ครู ตามที่ครูบาอาจารย์กำหนดไว้ นี่รู้สึกว่าเคร่งครัดมาก

เป็นอันว่า วิชาหมอของท่าน ที่ท่านเรียนมานี่ เป็นประโยชน์มาก นอกจากจะรักษาคนไข้ให้หายแล้ว ยังได้ลูกศิษย์ลูกหาที่ดี ๆ สำเร็จอภิญญาสมาบัติก็มาก และเป็นนายช่าง เป็นอะไรต่ออะไรก็มี

เครดิต : เรื่องเล่าชาวสยาม

พระนางจามเทวี

พระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรหริภุญไชย

พระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรหริภุญไชย ชาติกำเนิดของพระนางจามเทวี มีที่มาจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน ทั้งจากตำนาน พงศาวดารและหลักฐานอื่น ในตำนานจามเทวีวงศ์ กล่าวว่าพระนางเป็นธิดาของกษัตริย์แห่งกรุงละโว้ ได้เดินทางพร้อมพระสงฆ์ผู้ทรงพระไตรปิฏกและช่างผู้มีฝีมือหลากหลายประเภท 500 คน จากเมืองละโว้ สู่นครหริภุญไชย (อ้างอิงจาก จามเทวีวงศ์ ตำนานมูลศาสนา และมูลศาสนา สำนวนล้านนา) อีกสำนวนหนึ่งซึ่งเป็นมุขปาฐะ สำนวนพื้นบ้าน กล่าวว่า พระนางจามเทวีนั้นทรงมีชาติกำเนิดเป็นชาวหริภุญไชยมาแต่เดิม โดยเป็นบุตรีของคหบดีผู้หนึ่ง นามว่า อินตา ส่วนมารดาไม่ทราบชื่อ ทั้งสองเป็นชาวเมงคบุตร อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านหนองดู่ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ได้มีการบันทึกตามพระชาตาพระนางจามเทวีเมื่อแรกประสูติไว้ว่าตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะโรง พ.ศ. ๑๑๗๖ เวลาจวนจะค่ำ

พระนางจามเทวีไปสู่ราชสำนักละโว้

เมื่อพระนางจามเทวีเจริญพระชนมายุได้ ๑๓ พรรษา ใกล้จะรุ่นสาว ได้สำเร็จซึ่งวิชาการทั้งหลายเป็นการบริบูรณ์แล้ว ท่านสุเทวฤๅษีจึงได้ผูกดวงและตรวจสอบชะตา ทราบว่ากุมารีผู้เป็นบุตรบุญธรรมของท่านจะมีวาสนาเป็นถึงจอมกษัตริย์ ปกครองบ้านเมืองอันใหญ่โตซึ่งจะรุ่งเรืองไปในภายภาคหน้า จึงตกลงใจว่าจะต้องส่งเด็กหญิงไปสู่ราชสำนักเพื่อรับการอภิเษกขึ้นเป็นเชื้อพระวงศ์ให้สมควรแก่การที่จะได้เป็นใหญ่ต่อไป และที่เหมาะสมในสายตาท่านฤๅษีคือ ราชสำนักแห่งกรุงละโว้ ซึ่งเป็นราชสำนักที่เจริญรุ่งเรืองที่สุดแห่งหนึ่งในสุวรรณภูมิเวลานั้น

ท่านสุเทวฤๅษีจึงได้เนรมิตแพขึ้น ส่งกุมารีน้อยล่องไปตามน้ำจากเมืองเหนือ โดยพญากากะวานรและบริวารจำนวนหนึ่งโดยสารแพไปด้วย อีกทั้งยังฝากหนังสือไปฉบับหนึ่งเพื่อกราบทูลพระเจ้ากรุงลวปุระว่ากุมารีน้อยนี้จะไปช่วยละโว้ประหารศัตรู เด็กหญิงและวานรทั้งหลายล่องตามลำน้ำไปเป็นเวลานานหลายเดือนจึงเข้าสู่เขตกรุงลวปุระ ประชาชนชาวละโว้สองฝั่งลำน้ำได้โจษขานถึงแพเล็กๆ นี้ด้วยความประหลาดใจครั้นถึงท่าน้ำหน้าวัดชัยมงคล แพเนรมิตก็มิได้ล่องตามน้ำต่อไปกลับลอยวนเวียนอยู่บริเวณนั้น ชาวบ้านเห็นเหตุเป็นอัศจรรย์และต่างพากันชื่นชมเด็กหญิงซึ่งมีผิวพรรณผุดผ่องน่ารักน่าเอ็นดูอย่างยิ่ง ความทราบถึงบรรดาขุนนาง จึงได้ไปตรวจดูที่ฝั่งน้ำ เห็นความจริงประจักษ์แก่ตาจึงรีบกลับเข้าพระราชวังกราบบังคมทูล พระเจ้าจักวัติ ผู้ครองกรุงลวปุระให้ทรงทราบทันที

เจ้าแผ่นดินกรุงลวปุระได้เสด็จไปยังท่าน้ำหน้าวัดชัยมงคลพร้อมด้วยมเหสีในทันทีนั้น เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นความเป็นไปทั้งหมด พระองค์ทรงมีรับสั่งให้ทหารที่ตามเสด็จชะลอแพเนรมิตเข้าสู่ฝั่ง แต่เหตุการณ์อันไม่มีใครคาดคิดก็บังเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง กำลังของเหล่าทหารแห่งกรุงลวปุระไม่อาจชักลากแพเข้าสู่ท่าน้ำได้ ไม่ว่ากษัตริย์จะมีพระบัญชาให้เพิ่มจำนวนทหารมากขึ้นสักเท่าใดก็ตาม การณ์อันเป็นไปโดยอัศจรรย์ดังนี้ ทำให้เจ้าแผ่นดินทรงประจักษ์แจ้งแก่พระปรีชาญาณว่า กุมารีแรกรุ่นในท่ามกลางฝูงวานรบนแพนี้คงจะเป็นผู้มีบุญญาธิการมากมาย และแพนั้นก็คงจะเป็นแพวิเศษที่สามัญชนจะไปแตะต้องมิได้ พระองค์จึงเสด็จจากที่ประทับพร้อมด้วยพระมเหสีและทรงยึดเชือกที่ผูกแพนั้นไว้ด้วยพระหัตถ์ของทั้งสองพระองค์

และแล้วเหตุอัศจรรย์ก็บังเกิดขึ้นอีกเป็นคำรบสาม พระเจ้ากรุงลวปุระและพระมเหสีเพียงแต่ทรงชักเชือกนั้นด้วยแรงเฉพาะสองพระองค์ แพวิเศษก็ลอยเข้าสู่ท่าน้ำได้โดยง่าย และดูราวกับเทพยดาฟ้าดินจะทรงอำนวยพรให้แก่ประพฤติเหตุอันอัศจรรย์นี้ เพราะเมื่อแพวิเศษลอยเข้าเทียบท่าน้ำ ได้มีฝนโปรยปรายเป็นละอองบางเบา ยังความสดชื่นแก่ทุกคนในที่นั้น ประชาชนทั้งสองฝั่งลำน้ำได้เห็นต่างก็พากันชื่นชมพระบารมีของทั้งสองพระองค์ และสรรเสริญบุญญานุภาพของกุมารีน้อยไปทั่วทั้งพระนคร

พระเจ้ากรุงละโว้และพระมเหสีได้รับกุมารีน้อยไว้ด้วยความเสน่หาอย่างยิ่ง พระมเหสีนั้นถึงกับเสด็จเข้าไปสวมกอดและจุมพิตกุมารีตั้งแต่แรกขึ้นสู่ฝั่ง พระเจ้ากรุงละโว้ผู้เต็มไปด้วยความปิติในพระหฤทัยได้ทรงน้ำกุมารีผู้น่ารักขึ้นประทับบนราชรถ และต่างพากันเสด็จเข้าสู่ราชสำนักกรุงลวปุระท่ามกลางประชาชนที่มาเฝ้าชมพระบารมีสองข้างทางด้วยความชื่นชมยินดีโดยทั่วหน้า

พระธิดาแห่งกรุงลวปุระ

ในราชสำนักกรุงละโว้ กุมารีได้รับการผลัดเปลี่ยนฉลองพระองค์ให้งดงามสมพระเกียรติ ครั้นแล้วได้เสด็จสู่ท้องพระโรงอันเป็นที่ประชุมเหล่ามุขมนตรีเสนาอำมาตย์ทั้งหลาย กษัตริย์และพระมเหสีก็เสด็จออกประทับบนพระบัลลังก์ มีพระราชดำรัสให้พระราชครูพยากรณ์ดวงชะตาของเด็กหญิง พระราชครูได้คำนวณกาลชะตาโดยละเอียดแล้วถวายคำพยากรณ์ว่า “ขอเดชะ กุมารีน้อยผู้นี้เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งบุญญานุภาพและพระบารมีอันยิ่งใหญ่ ต่อไปภายหน้าจักได้เป็นถึงจักรพรรดินีครองแว่นแค้น ปรากฏพระเกียรติยศเกริกไกรไปทั่ว แม้ว่าพระราชาและเจ้าชายพระองค์ใดได้เสกสมรสด้วยก็จักเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยรัตนะทั้ง ๗ ประการอย่างแน่นอน”

พระเจ้ากรุงละโว้ทรงทราบดังนั้นก็ทรงเปี่ยมด้วยความโสมนัสอย่างยิ่ง เพราะได้ประจักษ์แก่พระปรีชาญาณว่าเทพยดาฟ้าดินได้ประทานกุมารีผู้นี้แด่พระองค์และกรุงลวปุระ ทั้งพระองค์เองและพระมเหสียังมิได้ทรงมีพระโอรสธิดา จึงทรงมีพระราชโองการให้จัดพระราชพิธีอภิเษกกุมารีวีขึ้นดำรงพระยศเป็นพระธิดาแห่งกรุงละโว้และได้ทรงเฉลิมพระนามใหม่ประกาศไว้ในพระสุพรรณบัฏว่า เจ้าหญิงจามเทวี ศรีสุริยวงศ์ บรมราชขัตติยนารี รัตนกัญญา ลวะปุรีราเมศวร
ตำนานว่า วันประกอบพิธีอภิเษกนั้นเป็นวันที่ ๓ ภายหลังพระนางจามเทวีเสด็จเข้าสู่ราชสำนักลวปุระ ตรงกับวารดิถีอาทิตยวารขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะเมีย พุทธศักราช ๑๑๙๐ เวลานั้นทรงมีพระชนมายุได้ ๑๔ พรรษา เจ้าหญิงพระองค์แรกแห่งนครลวปุระทรงถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นปฐมว่า
“ข้าฯ ขอกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันพิทักษ์รักษากรุงละโว้ว่าข้าฯ จะเป็นมิตรที่ดีต่อท่านทั้งหลาย จะขอปกปักษ์พิทักษ์รักษาอาณาจักรละโว้ด้วยชีวิต จะปฏิบัติทุกทางที่จะยังความสุขให้ทั่วพระราชอาณาจักรแห่งนี้”

สิ้นพระราชดำรัส ปวงเสนาอำมาตย์และพสกนิกรทั้งหลายต่างพากันแซ่ซ้องถวายพระพรพระธิดาพระองค์ใหม่ ทั้งราชสำนักและบ้านเมืองกระหึ่มด้วยเสียงมโหรีปี่พาทย์ที่บรรเลงเพลงสรรเสริญ มีการบังเกิดพระพิรุณโปรยปรายเป็นละอองชุ่มเย็นไปทั่วเมืองละโว้เป็นกาลอัศจรรย์อีกครั้งหนึ่ง
ภายหลังพระราชพิธีอภิเษก พระเจ้ากรุงละโว้ได้พระราชทานพระธิดาในพระเจ้าทศราชแห่งกรุงรัตนปุระ ๒ พระองค์ คือ เจ้าหญิงปทุมวดี และ เจ้าหญิงเกษวดี ให้เป็นพระพี่เลี้ยงคอยถวายการดูแลพระธิดาพระองค์ใหม่ รวมทั้งเป็นผู้ถวายการสอนวิชาศิลปะศาสตร์แขนงต่างๆ เพิ่มเติมแก่พระธิดาน้อยด้วย

สงครามชิงเจ้าหญิงจามเทวี

เจ้าหญิงจามเทวีได้เสด็จประทับในราชสำนักกรุงลวปุระ และเจริญพระชันษาขึ้นโดยเป็นที่รักใคร่เสน่หาของพระราชา พระมเหสี พระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนเสนาอำมาตย์และประชาชนชาวละโว้ทั้งหมด เวลาได้ล่วงเลยจนพระองค์ทรงเจริญพระชนมายุได้ ๒๐ พรรษา ปรากฏว่าทรงมีพระสิริโฉมงดงามเป็นที่เลื่องลือไปยังทุกอาณาจักรอันใกล้เคียง พระปรีชาญาณและบุญญานุภาพแห่งพระองค์นั้นก็แผ่ไพศาล เป็นที่หมายปองของเจ้าครองนครต่างๆ

ความงดงามในพระรูปแห่งพระองค์หญิงจามเทวีนั้น เป็นที่เล่าลือกันว่าไม่มีหญิงใดจะทัดเทียมทั้งสิ้น ดังมีบรรยายไว้ในตำนานต่างๆ ว่า
“ดวงพระพักตร์เป็นรูปไข่ พระเนตรดำซึ้งเป็นแวววาวและต้องผู้ใดแล้วยังผู้นั้นให้งงงวยไปด้วยพิษเสน่หา พระขนงโก่งเรียวยาวประดุจคันธนูขณะน้าวสาย พระนาสิกโด่งคมสันรับกับพระพักตร์ ริมพระโอษฐ์แดงระเรื่อดุจชาดป้าย พระทนต์เรียบขาวสะอาดเป็นเงางามดุจไข่มุก ขณะยุรยาตรพระวรกายอันอ่อนไหวให้ชวนพิศ เวลาก้าวพระบาทนั้นประดุจพระนางหงส์เมื่อเยื้องย่างกราย พระวรกายหอมดังกลิ่นดอกบัวหลวง หาสตรีใดเทียบมิได้”

พระเจ้ากรุงละโว้ทรงพระดำริว่าพระธิดาของพระองค์ทรงมีพระชันษาสมควรที่จะเสกสมรสแล้ว จึงได้ทรงกำหนดให้เจ้าหญิงจามเทวีทรงหมั้นหมายกับ เจ้าชายรามราช แห่งนครรามบุรี ซึ่งอยู่ใกล้กรุงลวปุระ ตามตำนานเจ้าชายรามราชนั้นทรงเป็นพระญาติของพระเจ้ากรุงละโว้ และทรงมีพระจริยาวัตรดีงามเหมาะสมกับเจ้าหญิงจามเทวีอยู่ วันที่ประกอบพระราชพิธีหมั้นตรงกับวันพฤหัสบดี ข้างขึ้น เดือน ๖ พุทธศักราช ๑๑๙๖ เจ้าผู้ครองนครทั้งหลายต่าง พากันส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายเป็นเกียรติแก่พระราชพิธีดังกล่าวอย่างมโหฬาร ภายหลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีแล้ว ก็มีมหรสพสมโภชกันอย่างเอิกเกริกในกรุงละโว้ เป็นที่รื่นเริงสนุกสนานแก่ไพร่บ้านพลเมืองทั่วไปโดยถ้วนหน้า

แต่แล้ว เรื่องยุ่งยากก็เกิดขึ้นในปีนั้นเอง เมื่อเจ้าชายแห่งนครโกสัมพีได้ส่งพระราชสาส์นพร้อมเครื่องราชบรรณาการมากมายมาถวายพระเจ้ากรุงลวปุระ พร้อมทั้งแจ้งความประสงค์จะขอเจ้าหญิงจามเทวีไปเป็นพระชายาเพื่อเป็นเกียรติแก่นครโกสัมพี ซึ่งเป็นนครใหญ่เหมาะสมด้วยศักดิ์ศรีแห่งพระนาง พระเจ้ากรุงละโว้ได้ทรงตอบสสาส์นนั้นไปตามความเป็นจริงว่าทรงหมั้นเจ้าหญิงจามเทวีไว้กับเจ้าชายรามราชแล้ว การณ์กลับกลายเป็นว่าเจ้าชายแห่งโกสัมพีทรงลุแก่โทสะ ทรงมีพระดำริว่ากรุงละโว้คงไม่ประสงค์จะมีสัมพันธไมตรีกับกรุงโกสัมพีเสียแล้ว จึงทรงรวบรวมกองทัพโดยความช่วยเหลือของพระญาติ พระวงศ์ และพระราชาแห่งกลิงครัฐที่เป็นพันธมิตร ทำให้กองทัพของพระองค์เป็นกองทัพใหญ่มีกษัตริย์เป็นผู้นำทัพทั้งสิ้น ในราวเดือนอ้าย ปลายปี พ.ศ. ๑๑๙๖ กองทัพนี้ได้ยกเข้าโจมตีนครรามบุรีเป็นอันดับแรก อาจเป็นเพราะความแค้นหรือนครนั้นอยู่ในเส้นทางการเดินทัพก่อนจะถึงละโว้ก็เป็นได้

แน่นอน กองทัพที่รักษานครรามบุรีนั้นไม่มีความหวังที่จะต้านทานข้าศึกที่ยกพลมามากมายขนาดนั้นได้ เจ้าชายรามราชต้องทรงนำกองทหารเท่าที่มีตั้งรับข้าศึกไว้เพื่อประวิงเวลา และส่งสาส์นขอความช่วยเหลือจากกรุงลวปุระอย่างเร่งด่วนที่สุด

ทางละโว้เมื่อทราบข่าวก็จัดประชุมกันโดยทันที บรรดาแม่ทัพนายกองได้ถวายความเห็นแก่พระเจ้ากรุงละโว้ว่า ไม่น่าจะทำศึกกับกองทัพโกสัมพีเพราะว่าเป็นกองทัพขนาดใหญ่มาก เสนาบดีต่างๆ ก็กราบบังคมทูลว่า เห็นทีคราวนี้จะต้องรับไมตรีจากเจ้าชายแห่งโกสัมพีเสียแล้ว แต่ในท่ามกลางความอกสั่นขวัญแขวนของทุกคนในที่ประชุม เจ้าหญิงจามเทวีซึ่งประทับอยู่ในที่นั้นด้วยได้ทรงมีพระดำรัสว่า “น่าจะต้องเข้าร่วมสงคราม”

ทุกคนในที่นั้นล้วนตกตะลึงพรึงเพริด แม้แต่พระบิดาและพระมารดา เจ้าหญิงผู้ทรงพระสิริโฉมแห่งลวปุระตรัสต่อไปอย่างเด็ดเดี่ยวว่า พระองค์จะทรงนำทัพเอง เวลานั้นพระมเหสีจึงรีบทัดทานว่า เป็นหญิงจะนำทัพไปออกศึกได้อย่างไร พระธิดาก็ตรัสตอบว่า “หากว่าหม่อมฉันไม่ออกศึกเสียเอง กรุงลวปุระซึ่งเป็นเมืองใหญ่ก็จะเป็นที่ครหาต่อไปได้ อีกทั้งเหล่าประเทศราชจักต้องแข็งข้อเพราะเห็นว่าละโว้อ่อนแอ ปัญหาต่างๆ จะบังเกิดตามมาอีกมากมายนัก และที่สำคัญยิ่ง คือ กองทัพของโกสัมพีที่ยกมาครั้งนี้เป็นทัพกษัตริย์ เจ้าชายแห่งละโว้จะทำศึกก็ไม่มี จึงสมควรที่พระบิดาเจ้าจะพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ลูกหญิงของพระองค์ออกกระทำศึกจะเป็นการเหมาะสมแก่พระเกียรติยศของบรรดากษัตริย์ที่ทรงนำทัพมานั้นด้วย”

ด้วยจำนนต่อเหตุผลนั้น และพระเจ้ากรุงละโว้ทรงระลึกได้ว่าเมื่อแรกรับพระธิดาองค์นี้เข้าวัง ทราบความที่ท่านสุเทวฤๅษีฝากมาว่าพระธิดาพระองค์นี้จะมาช่วยบำราบอริราชศัตรู และจากเหตุการณ์ที่ล่วงมาแล้วก็แสดงว่า พระธิดานี้ทรงมีบุญญาธิการแก่กล้านัก เห็นทีศัตรูจะทำอันตรายมิได้เป็นแน่ พระเจ้ากรุงละโว้และพระมเหสีทรงอนุญาตให้พระธิดาทรงจัดทัพจากกรุงลวปุระไปช่วยเจ้าชายรามราชและโปรดฯ ให้นิมนต์สมเด็จพระสังฆราชเจ้าและพระสงฆ์ผู้ทรงสมณศักดิ์เข้ามายังพระอาราหลวงโดยพร้อมกันเพื่อประกอบพิธีถวายพระพรชัยเจ้าหญิงจามเทวีเสียก่อน

จากนั้นเจ้าหญิงจามเทวีทรงมีรับสั่งให้ขุนศึกทั้งหลายเตรียมทัพทันที ทรงให้พระพี่เลี้ยงทั้งสองช่วยกันจัดทัพหน้าเป็นชาย ๒๐๐๐ คน หญิง ๕๐๐ คน รวมกับพญากากะวานรและบริวารทั้ง ๓๕ ตัวที่ติดตามมาจากระมิงค์นคร เมื่อการจัดทัพสำเร็จเสร็จสิ้น พระนางจามเทวีเสด็จประทับเบื้องหน้าทวยทหารทั้งปวง ตรัสว่า “เพื่อปิตุภูมิ เราจะขอทำหน้าที่และยอมสละชีวิตก่อนท่านทั้งหลาย แต่ถ้าผู้ใดไม่เต็มใจไปราชการด้วยครั้งนี้เราจะไม่เอาโทษ จะปลดปล่อยทันที”
บรรดาทหารได้ยินรับสั่งเช่นนั้นก็พากันโห่ร้องถวายพระพรกันเซ็งแซ่ ทุกคนถวายสัตย์ปฏิญาณว่า จะขอตายเพื่อพระนางและผืนแผ่นดินละโว้โดยไม่มีใครคิดจะหนีจากการสู้รบเลย กองทัพของเจ้าหญิงจามเทวีนี้แม้จะมีไพร่พลไม่สู้มาก แต่ไม่นานต่อมาก็ได้กำลังสมทบจากกองทัพนครต่างๆ ที่มีสัมพันธไมตรีกับกรุงละโว้มาแต่เดิม ตามตำนานว่ากองทัพจากพันธมิตรที่มาช่วยกรุงละโว้ครั้งนี้มาจากกรุงรัตนปุระทัพหนึ่ง เมืองชากังราวทัพหนึ่ง และเมืองอัตตะปืออีกทัพหนึ่ง ล้วนแต่กษัตริย์และพระราชวงศ์องค์สำคัญทรงนำทัพมาเองทั้งสิ้น

ครั้งท้องฟ้าแจ่มใส เห็นเป็นศุภมิตรอันดีแล้ว พระเจ้ากรุงละโว้จึงพระราชทานพระแสงอาญาสิทธิ์แก่พระธิดาของพระองค์เจ้าหญิงจามเทวีทรงนำไพร่พลเดินทางออกจากละโว้ทันที เมื่อเดินทัพไปถึงเขตนครเขื่อนขัณฑ์ จึงส่งม้าเร็วเชิญพระอักษรไปกราบทูลพระคู่หมั้นว่าพระนางกำลังนำทัพไปช่วยแล้ว ขอให้ทรงทิ้งเมืองเสีย อพยพชาวเมืองออกไปแล้วแกล้งทำเป็นล่าถอยทัพไปเรื่อยๆ ไปทางเทือกเขาสุวรรณบรรพต ซึ่งเจ้าชายรามราชก็ทรงทำตามแผนการนั้นทุกอย่าง ดังนั้นเมื่อทหารรามบุรีชุดสุดท้ายทิ้งพระนครไปแล้วฝ่ายโกสัมพีเข้ายึดเมืองได้ จึงพบกับเมืองร้างที่ไม่มีคนอยู่อาศัย เมื่อเห็นว่ากองทัพและประชาชนชาวรามบุรีกำลังมุ่งหน้าไปทางเทือกเขาสุวรรณบรรพต จึงรีบเร่งติดตามไปทันที

ส่วนพระธิดาแห่งกรุงลวปุระก็ทรงนำกองทัพทั้งหมดไปตั้งค่ายรอที่เขาสุวรรณบรรพตเรียบร้อยแล้ว และทรงแบ่งกองทัพทั้งหมอออกเป็น ๓ ส่วนโอบล้อมเทือกเขา เมื่อกองทัพฝ่ายรามบุรีล่าถอยมาถึง กองทัพฝ่ายโกสัมพีได้ตามติดเพื่อไล่ขยี้อย่างเมามันจนกระทั่งเข้ามาตกในวงล้อมฝ่ายละโว้ ด้วยเหตุนั้นทัพหน้าของโกสัมพีทั้งหมดจึงถูกโจมตีย่อยยับภายในเวลาอันรวดเร็ว รี้พลมากมายต้องสูญเสียไปในสมรภูมินี้

ในที่สุดทัพหลวงของทั้งสองฝ่ายก็เข้าห้ำหั่นกัน กองทัพละโว้และพันธมิตรสามารถยันทัพฝ่ายโกสัมพีได้อย่างเหนียวแน่น และได้รับความเสียหายมากมายด้วยกันทั้งสองฝ่าย พระนางจามเทวีจึงได้ส่งพระราชสาส์นถวายเจ้าชายโกสัมพีว่า “ข้าแต่เจ้าพี่ สงครามครั้งนี้เหตุเกิดจากเรื่องส่วนตัวระหว่างเจ้าพี่กับหม่อมฉัน มิควรที่จะให้ชีวิตทวยราษฏร์ทั้งหลายต้องมาล้มตาย จะเป็นที่ครหาแก่หมู่เทพยาดาและมนุษย์ทั้งหลายเปล่าๆ ขอเชิญเจ้าพี่แต่ทหารมาทำการสู้รบกันตัวต่อตัว ให้เป็นขวัญตาแก่ไพร่ฟ้าเข้าแผ่นดินเถิด”

จอมทัพแห่งโกสัมพีเมื่อประจักษ์ความจริงจากราชสาส์นนั้นว่าหญิงที่ตนหลงรักกลายเป็นผู้นำทัพฝ่ายตรงข้ามที่จะต้องมาประหัตประหารกัน ก็ทรงวิตกไปหลายประการ พระองค์ไม่คาดคิดเลยว่าจะต้องมาสัประยุทธ์กับเจ้าหญิงโฉมงามที่พระองค์หมายปอง และยังเป็นเจ้าหญิงพระองค์เดียวกับที่วางแผนการอันชาญฉลาดที่ทำให้กองทัพของพระองค์ต้องประสบความพินาศย่อยยับถึงเพียงนี้ อีกทั้งพระองค์ยังเคยทรงทราบมาว่า เจ้าหญิงทรงเป็นศิษย์พระฤๅษีคาถาอาคมก็คงจะเชี่ยวชาญ มิฉะนั้นไหนเลยจะมาเป็นแม่ทัพ สถานการณ์เช่นนี้ก็ทำให้พระองค์ไม่อาจตัดสินพระทัยอย่างไรได้ ต่อจากนั้นอีก ๒ วัน กองทัพทั้งสองจึงหยุดการสู้รบในรูปแบบของการระดมกำลังทหารทั้งหมด แล้วเปลี่ยนเป็นจัดขุนศึกของแต่ละฝ่ายออกสู้รบกันตัวต่อตัวแทน

ล่วงไปได้ ๖ วันในการทำสงครามนี้ บรรดากษัตริย์และทวยทหารทั้งสองฝ่ายต้องเอาชีวิตไปทิ้งเป็นอันมาก โดยเฉพาะที่ได้รับความเสียหายหนักที่สุดคือ กองทัพฝ่ายโกสัมพี เพราะเสียขุนศึกที่เป็นเจ้านายประเทศพันธมิตรไป ๒ พระองค์ ในขณะที่ขุนศึกพันธมิตรของละโว้สิ้นพระชนม์ไปเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น
ลุวันที่ ๗ ก็ถึงเวลาที่ทั้งสองต้องเผชิญหน้ากัน เพื่อผลแพ้ชนะที่เด็ดขาด ท่ามกลางสายตาของทหารหาญทั้งหลาย เจ้าชายแห่งโกสัมพีถึงแก่ทรงตกตะลึง เมื่อเจ้าหญิงจามเทวีผู้ทรงพระสิริโฉมงดงามยิ่งกว่าสตรีใดที่พระองค์ทรงเคยทอดพระเนตรมาก่อนปรากฏพระองค์ในชุดขุนศึกฝ่ายละโว้อันงดงามวิจิตรแพรวพราย พร้อมด้วยพระแสงอาญาสิทธิ์เลอค่าที่ได้รับพระราชทานมาจากพระบิดา เจ้าหญิงผู้เลอโฉมทอดพระเนตรเห็นอีกฝ่ายตกตะลึงอยู่เช่นนั้น จึงตรัส
“เจ้าพี่จะมัวยืนเหม่ออยู่ด้วยเหตุอันใดเล่า หม่อมฉันขอเชิญเจ้าพี่มาประลองฝีมือกัน อย่าให้ทหารทั้งหลายต้องพลอยยากลำบากด้วยเราต่อไปอีกเลย”
เจ้าชายแห่งโกสัมพีได้สดับเช่นนั้นพระสติจึงกลับคืนมา ทรงมีรับสั่งย้อมถามทันทีว่า

“การศึกครั้งนี้ใยพระนางต้องทำพระวรกายมาให้เปรอะเปื้อนโลหิตอันมิบังควรสำหรับสตรีเพศ หรือละโว้นั้นจะสิ้นแล้วซึ่งชายชาตรี” “อันละโว้จะสิ้นชายชาตรีนั้นหามิได้” เจ้าหญิงทรงมีพระดำรัสตอบ “ แต่หม่อมฉันเป็นราชธิดาแห่งเสด็จพ่อ เสด็จแม่ เป็นเอกธิดาภายใต้เศวตฉัตร อันบุรุษมีใจสตรีก็มีใจ ผิว่าหม่อมฉันพลาดพลั้งเจ้าพี่ก็เอาชีวิตหม่อมฉันไปเถิด หากเจ้าพี่พลาดพลั้งก็ขอได้โปรดอภัยให้แก่หม่อมฉัน” เจ้าชายโกสัมพีทรงเห็นความหาญกล้าของพระนางเช่นนั้น ก็ยังไม่ทรงตัดสินพระทัยจะประลองฝีมือกันโดยทันที และเนื่องจากเห็นว่าเวลาใกล้เที่ยงวันด้วย จึงทรงมีรับสั่งว่าขอเชิญน้องหญิงและไพล่พลพักเหนื่อยกันก่อนเถิด พอบ่ายอ่อนเราจึงค่อยมาสู้กั้น พระนางก็ทรงเห็นชอบด้วย

และแล้ว เมื่อเวลาที่จะต้องสู้รบกันจริงๆ มาถึง เจ้าชายแห่งโกสัมพีจึงได้ทรงประจักษ์แก่พระองค์เองอีกคำรบหนึ่งว่า เจ้าหญิงแห่งลวปุระที่พระองค์หมายปองนี้ไม่เพียงแต่จะทรงมีพระสิริโฉมงดงามและทรงพระปรีชาเยี่ยมยอดในการวางแผนการรบเท่านั้น พระนางเธอยังทรงมีวิชาเพลงดาบที่เหนือกว่าพระองค์อีกด้วย ในที่สุดหลังจากการดวลดาบกันตัวต่อคัว เจ้าชายทรงเพลี่ยงพล้ำถูกนางจามเทวีฟันพระกรได้รับบาดเจ็บ ผลแพ้ชนะก็ปรากฏแก่ตาเหล่าทหารทั้งหลาย และด้วยเหตุนั้นเองทหารฝ่ายโกสัมพีทั้งปวงเกิดแตกตื่นพากั้นถอยทัพ ทหารละโว้ก็ติดตามตีซ้ำ ยังความเสียหายย่อยยับแก่กองทัพผู้รุกรานเป็นอันมาก เจ้าชายแห่งโกสัมพีทรงอับอายและเสียพระทัยเกินกว่าจะทรงยอมรับความพ่ายแพ้ครั้งนี้ ได้ปลงพระชนม์พระองค์เองเสียในที่รบ กองทัพโกสัมพีที่เหลือก็เสียขวัญแตกพ่ายถูกจับเป็นเชลยจำนวนมาก

ชัยชนะในการสงครามนี้นำมาซึ่งความชื่นชมยินดีแก่พระเจ้าแผ่นดินและพระมเหสี ตลอดจนบรรดาเสนาอำมาตย์ ทหารและประชาชนชาวละโว้เป็นอันมาก เมื่อพระธิดาแห่งกรุงลวปุระทรงนำกองทัพกลับถึงพระนครจึงได้มีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ ตามตำนานว่าอยู่ในช่วงสามเดือน ปีพุทธศักราช ๑๑๙๖

แต่เจ้าหญิงจามเทวีนั้น มิได้ทรงปิติยินดีในชัยชนะที่ทรงได้รับเลย แม้จะทรงได้รับการสรรเสริญจากราชสำนักรวมทั้งประชาชน ตลอดจนกษัตริย์ผู้ครองนครที่เป็นพันธมิตรตลอดไปจนถึงประเทศราชและอาณาจักรอื่นๆ ที่อยู่ห่างไกลออกไป จนชื่อเสียงของพระนางขจรขจายไปทั่ว พระนางยังทรงระลึกถึงภาพอันสยดสยองของเหล่ากษัตริย์และทหารทั้งสองฝ่ายที่ต้องล้มตายเพราะพระนางเป็นต้นเหตุ จึงทรงมีรับสั่งให้สร้างศาลาเป็นจำนวนเท่ากับกษัตริย์ที่สิ้นพระชนม์ในครั้งนี้ ทรงสร้างวัดขึ้นในพื้นที่อันเป็นสมรภูมิรบนั้นด้วยวัดหนึ่งและเปลี่ยนชื่อสุวรรณบรรพตเสียใหม่ว่า “วังเจ้า” เพราะเหตุที่กษัตริย์และเจ้านายทั้งหลายมาสิ้นพระชนม์ที่นี่จำนวนมากนั่นเอง

ส่วนพระศพของเจ้าชายแห่งโกสัมพีนั้น พระนางได้ทรงนำปรอทจากสุวรรณบรรพตมากรอกพระศพ ทำการตกแต่งให้สมพระเกียรติก่อนที่จะตั้งพระศพบำเพ็ญกุศลไว้ระยะหนึ่งแล้วจึงถวายพระเพลิงร่วมกับกษัตริย์และเจ้านายพระองค์อื่น หลังจากนั้นทรงจัดให้มีพิธีสงฆ์เพื่อบำเพ็ญกุศลแก่ดวงพระวิญญาณและทหารที่เสียชีวิตอีกครั้ง พระอัฐิก็โปรดฯให้อัญเชิญกลับไปยังโกสัมพีและนครที่มาช่วยโกสัมพีรบ

ภายหลังพิธีการต่างๆ เสร็จสิ้น พระเจ้ากรุงละโว้จึงทรงจัดพระราชพิธีสยุมพรพระธิดาของพระองค์กับเจ้าชายรามราช โดยจัดอย่างยิ่งใหญ่ครบครันตามราชประเพณีโบราณทุกประการ ตำนานว่าวันประกอบพระราชพิธีอภิเษกสมรสนั้นตรงกับวันข้างขึ้น เดือน ๖ ปีขาล หรือพุทธศักราช ๑๑๙๘ จากนั้นองค์ขัตติยนารีแห่งละโว้เสด็จไปเมืองรามบุรีกับพระสวามีเพื่อปรับปรุงสภาพภายในเมืองเสียใหม่พร้อมทั้งวางแผนราชการงานเมืองให้เป็นปึกแผ่น จะเห็นว่าเจ้าหญิงจามเทวีได้ทรงแสดงให้เห็นพระปรีชาญาณอันเหมาะสมแก่การที่จะต้องทรงเป็นจอมกษัตริย์ต่อไปในกาลข้างหน้าตั้งแต่ยังดำรงพระยศเป็นพระธิดาแห่งเจ้ากรุงละโว้เท่านั้น

ตำนานพื้นเมืองบางฉบับว่า ภายหลังราชพิธีอภิเษกสมรสแล้ว พระเจ้ากรุงลวปุระทรงมอบเวนราชสมบัติให้เจ้าชายรามราชขึ้นครองนครลวปุระต่อไป แต่ข้อนี้ตำนานอื่นไม่มี

สุเทวฤๅษีสร้างนครหริภุญไชย

ณ ดินแดนทางภาคเหนือซึ่งเป็นถิ่นประสูติของเจ้าหญิงจามเทวีนั้น เดิมเป็นที่ตั้งของเมืองมิคสังคร ซึ่งท่านสุเทวฤๅษีได้สร้างไว้ให้โอรสธิดาของท่าน ซึ่งบังเกิดจากนางเนื้อที่ได้มาดูดกินน้ำมูตรของท่านฤๅษีที่มีอสุจิปนอยู่เข้าไป รวมกับผู้บังเกิดอย่างอัศจรรย์ในรอยเท้าสัตว์ ๓ ชนิด คือ ช้าง แรด และวัว หรือ โคลานซึ่งท่านฤๅษีไปพบเข้าภายหลังลงจากดอยสุเทพ เจ้าผู้ครองมิคสังครองค์แรกนี้มีพระนามว่า กุนรฤษี โดยมีพระชายาเป็นพี่น้องกันคือ มิคุปปัตติ ทั้งสองพระองค์ได้ครองนครโดยตั้งอยู่ในโอวาทของพระสุเทวฤๅษีได้ ๗๗ ปี มีโอรส ๓ พระองค์ คือ เจ้ากุนริกนาสหรือกุนริสิคนาส เจ้ากุนริกทังษะ และเจ้ากุนริกโรส พระธิดาอีก ๑ องค์ ชื่อเจ้าปทุมาเทวี ท่านสุเทวฤๅษีจึงได้สร้างเมืองให้พระโอรสทั้ง ๓ ปกครององค์ละเมือง เมื่อพระเจ้ากุนรฤษีสวรรคต เจ้ากุนริกนาสจึงเสด็จกลับไปครองเมืองมิคสังคร แล้วกลับไปครองเมืองรันนปุระที่ท่านฤๅษีสร่างไง้ให้แต่เดิมอีก บางตำนานก็ว่าท่านฤๅษีเนรมิตเมืองใหม่ให้อีกเมืองหนึ่งให้เจ้ากุนริกนาสละจากเมืองมิคสังครไปปกครอง ชื่อรมยนคร เพราะท่านฤๅษีเกิดเห็นว่าเมืองมิคสังครเป็นที่ไม่สมควร

รมยนครแห่งนี้ต่อมาได้ประสบภัยพิบัติ เนื่องจากเจ้าครองนครเป็นผู้ปราศจากทศพิธราชธรรม ไม่เอาใจใส่ในความเดือดร้อนของอาณาประชาราษฎร์ คือ เกิดมีคดีลูกตบตีมารดาของตน เมื่อมารดาเข้าร้องทุกข์ต่อเจ้าครองนคร กลับได้รับกาตัดสินว่าการใดๆ ที่ลูกกระทำไปเป็นการถูกต้องแล้ว ซ้ำลงโทษให้ไล่ผู้เป็นแม่นั้นไปจากเมืองอีกด้วย หญิงนั้นจึงได้ร้องไห้วิงวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ยังผลให้เทวะทั้งหลายพิโรธ บันดาลให้เกิดอาเพศและภยันตรายต่างๆ ผู้คนในเมืองนั้นได้รับความเดือดร้อน จนในที่สุดบรรดาผู้มีศีลธรรมได้พากันอพยพไปเสียจากเมือง เทวดาทั้งหลายจึงบันดาลให้มหาอุทกท่วมนครนั้นล่มจมไปหมดสิ้น กล่าวกันว่าที่ที่เคยเป็นเมืองรมยนครนั้นมีชื่อปรากฏภายหลังว่า หนองมอญ

ท่านสุเทวฤๅษีเฝ้ามองความเป็นไปต่างๆ ด้วยความสลดใจ และเห็นว่าบรรดาผู้มีศีลธรรมจากนครเหล่านั้นยังคงพากันเร่ร่อนอยู่ จึงได้เชิญฤๅษีพี่น้องของท่านคือ ท่านสุกทันตฤๅษีที่ละโว้ ท่านสุพรหมฤๅษีที่สุภบรรพต รวมทั้งเหล่าฤๅษีผู้มีตบะแก่กล้าอื่นๆ มาประชุมกันและช่วยกันสร้างเมืองขึ้นมาใหม่ โดยให้นกหัสดีลิงก์นำหอยสังข์ขนาดใหญ่จากมหาสมุทรมาเป็นแบบ แล้วใช้ไม้ขีดแผ่นดินเป็นวงไปตามสัณฐานของเปลือกหอยสังข์นั้น วงขอบปากหอยก็เกิดเป็นคูน้ำคันดินขึ้น พระดาบสทั้งสองจึงประกาศไล่รุกขเทวดาทั้งหลายภายในเขตเมืองใหม่ให้ออกไปอยู่ที่อื่น ยังแต่รุกขเทวดาอนาถาองค์หนึ่งทุพพลภาพไม่สามารถจะย้ายไปจากที่นั่นได้ จึงขออาศัยอยู่ที่เดิมต่อไปจนกว่าจะจุติ ท่านฤๅษีทั้งสองก็อนุญาตและสถานที่ซึ่งรุกขเทวดาเฒ่านั้นอาศัยเป็นเนินดินพูนสูงกว่าที่อื่น นครนี้จึงมีชื่อเรียกต่อมาว่า ลำพูน
ในตำนานระบุว่าเวลาสร้างเมืองนั้นตรงกับวันอาทิตย์ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๓ ปีขาล พ.ศ. ๑๑๙๘ ใช้เวลาสร้าง ๒ ปี สัณฐานนครเมื่อแรกสร้างมีปริมณฑลโดยรอบได้ ๒๒๕๐ วา หรือ ๑๒๗ เส้นกับ ๑๐ วา พระฤๅษีทั้งสองได้ประกอบสัมภาระสำหรับนครแห่งใหม่พร้อมด้วยป้อมปราการ ประตูเมือง หอรบทั้งปวง อีกทั้งพระราชนิเวศน์มณเฑียรสถาน อุทยานหลวงและสถานที่ต่างๆ ทั้งท้องพระคลังครบถ้วน เมื่อสำเร็จแล้วท่านฤๅษีทั้งสองได้ปรึกษากันว่าเมืองใหม่แห่งนี้งดงามนัก ใครหนอที่จะสมควรมาครองราชย์สมบัติในเมืองนี้
ท่านสุกทันตฤๅษีจึงแนะว่า “สมเด็จพระเจ้ากรุงละโว้ทรงมีราชธิดาคือ พระนางจามเทวี เป็นผู้มีสติปัญญาสามารถฉลาดรอบรู้สรรพกิจขัตติยราชประเพณี มีมารยาทและพระอัธยาศัยเสงี่ยมงามพร้อมมีน้ำพระทัยโอบอ้อมอ่อนน้อมตั้งอยู่ในศีลสัตย์ยุติธรรม สมควรจะเป็นเจ้าเป็นใหญ่ปกครองพสกนิกรในนครนี้ได้ ควรเราไปทูลขอราชบุตรีนี้จากพระเจ้ากรุงละโว้มาปกครองนครนี้เถิด”
ท่านสุเทวฤๅษีเห็นชอบด้วย จึงได้แต่งทูตผู้หนึ่ง ซื่อนายควิยะเชิญศุภอักษรและเครื่องราชบรรณาการและบริวารอีก ๕๐๐ คน รวมทั้งท่านสุกทันตฤๅษีลงเรืองล่องไปตามแม่น้ำปิงไปยังกรุงละโว้ กราบบังคมทูลขอเจ้าหญิงจามเทวีไปเสวยราชย์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งเมืองที่สร้างขึ้นใหม่โดยไม่ช้า

พระนางจามเทวีเสด็จไปหริภุญไชย

เมื่อคณะท่านสุกทันตฤๅษีและนายควิยะถึงเมืองละโว้ พระบิดาของเจ้าหญิงจามเทวีได้จัดให้ทั้งหมดพำนักอยู่ทางทิศตะวันออกของเมือง วันต่อมาทั้งหมดจึงได้เข้าเฝ้า ณ พระราชวังแห่งลวปุระ ท่านสุกทันตฤๅษีได้ถวายพระพรว่า
“ในวันนี้ตูทั้งหลายชื่อดังนี้น้อมนำมายังบรรณาการของฝากอันท่านสุเทวฤๅษีมาถวายมหาราชเจ้า และท่านสุเทวฤๅษีตนนี้เป็นสหายด้วยเราแท้จริง เธอชวนเราไปช่วยสร้างพระนครอันหนึ่งหนน้ำขุนโพ้น พระนครอันนั้นก็สำเร็จบริบูรณ์เรียบร้อยทุกประการแล้ว บัดนี้สุเทวฤๅษีมีความปรารถนาอยากจะใคร่ได้เชื้อชาติท้าวพระยาที่อื่นที่ประกอบไปด้วยศีลและปัญญา ทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมไปเสวยราชสมบัติในพระนครที่นั้น อำมาตย์จึงได้แนะนำว่า เชื้อชาติท้าวพระยาผู้ดีหาไม่มีในที่แห่งอื่น แต่รู้ข่าวว่าพระราชธิดาของมหาราชเจ้าพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่านางจามเทวี ถ้าเราได้พระนางมาเสวยราชสมบัติเป็นนางพระยาในพระนครนี้จะสมควรยิ่งนัก
เหตุดังนี้ ท่านสุเทวฤๅษีจึงได้ให้นายควิยะพร้อมด้วยบริวารมีประมาณ ๕๐๐ คน น้อมนำมายังเครื่องบรรณาการของฝากกับด้วยตัวเรา ให้นำทูลถวายมหาราชเจ้า เพื่อให้เราทูลขอพระนางจามเทวีราชธิดาของพระองค์ไปเสวยราชสมบัติเป็นนางพระยาในนครนั้นด้วย ขอมหาราชเจ้าได้ทรงพระเมตตา โปรดประทานพระอนุญาตให้พระนางได้ไปเสวยราชสมบัติในพระนครนั้นด้วย”
พระเจ้ากรุงละโว้เมื่อทรงสดับข่าวอันเป็นมหามงคลเช่นนั้น จึงทรงมีพระดำรัสตอบว่า
“ข้าแต่เจ้าฤๅษี เราจะตอบในบัดเดี๋ยวนี้ยังไม่ได้ จะต้องไต่ถามลูกเขาดูเสียก่อน เหตุว่าข่าวสาส์นอันพระสุเทวะให้มาถึงเรานั้นยากนักหนา ถ้าหากเราให้เขาไป เขาพอใจไปก็ดีอยู่ ถ้าเขาไม่พอใจจะไป เราจะบังคับให้เขาไปนั้นเป็นไปไม่ได้”
จากนั้นจึงทรงมีรับสั่งให้อำมาตย์นำข้อความที่ท่านสุกทันตฤๅษีกราบทูลนั้นไปทูลเจ้าหญิงจามเทวี เมื่อพระนางสดับแล้ว ก็ทรงเข้าพระทัยได้ดีทุกอย่าง จึงได้กราบทูลพระบิดาว่า
“ข้าแต่พระบิดาเจ้า หม่อมฉันขอกราบทูลใต้เบื้องบาทพระบิดาเป็นเจ้า เมื่อพระบิดาทรงมีพระประสงค์จะให้หม่อมฉันไปเสวยราชสมบัติในพระนครหนขุนน้ำโพ้น หม่อมฉันขอรับพระราชทานไปตามพระประสงค์พระบิดาทุกประการ ถ้าหากว่าพระบิดาไม่พอพระทัยในการไปเช่นนั้น หม่อมฉันก็ไม่สามารถจะล่วงพระอาญาพระบิดาไปได้”
พระเจ้ากรุงละโว้ทรงสดับเช่นนั้นแล้ว จึงทรงมีพระดำรัสแก่พระธิดาว่า “ข่าวสารอันเจ้าฤๅษีผู้ประกอบไปด้วยฤทธานุภาพให้มาถึงเรา ๒ พ่อลูกนี้เป็นอันประเสริฐยิ่งนัก บัดนี้พ่อจักให้เจ้าไปเสวยราชสมบัติเป็นนางพระยาหนขุนน้ำตามคำพ่อเจ้าฤๅษีขอมานั้นแท้จริง”
พระนางจึงทรงได้รับพระราชทานพระราชนุญาตที่จะเสด็จออกจากละโว้ แม้ว่าขณะนั้นพระนางจะทรงพระครรภ์ได้ ๓ เดือนแล้ว ตำนานมูลศาสนากล่าวว่าส่วนพระสวามีนั้น พระเจ้ากรุงละโว้ก็ทรงตั้งให้เป็นที่อุปราชครองเมืองรามบุรี และเพราะว่าเวลานั้นเจ้าหญิงจามเทวีทรงพระครรภ์อยู่ พระเจ้ากรุงละโว้จึงทรงมีพระราชโองการให้เจ้าชายรามราชเข้าเฝ้า ว่าการที่ท่านสุเทวฤๅษีส่งทูตมาขอเจ้าหญิงจามเทวีไปเป็นนางพระยา พ่อก็มีความปรารถนาอยากจะให้ไปนี้แหละ เจ้าจงอยู่เป็นอุปราชากับพ่อ หากมีความพอใจในหญิงใดพ่อจะจัดให้ตามความประสงค์ทุกประการ เจ้าชายรามราชจึงกราบทูลว่าขุนน้ำโพ้นไกลนักหนาทีเดียว ผิว่าตามใจของพระองค์แล้วพระองค์ก็ไม่อยากจะให้พระนางจากไป จึงแม้เช่นนั้นพระองค์ก็เห็นดีในพระประสงค์พระเจ้ากรุงละโว้ทุกอย่าง ทูลแล้วเสด็จกลับวัง และแก่เจ้าหญิงจามเทวีว่า

“น้องรัก บัดนี้พระราชบิดาเราพระองค์มีพระประสงค์จะให้น้องไปเป็นนางพระยาในพระนครขุนน้ำโพ้น พระองค์ตรัสดังนี้ พระน้องเจ้าจงไปเป็นนางพระยา เสวยราชสมบัติให้ชอบในทศพิธราชธรรมเถิด ความสวัสดีจงมีแก่พระน้องนางเทอญ”
เจ้าหญิงจามเทวีก็กราบไหว้พระสวามี แล้วทูลตอบว่า

“สาธุ ข้าแต่พระองค์ผู้มีบุญ หม่อมฉันจักได้อำลาพระบาทพลัดพรากไปไกลครั้งนี้ ขอพระราชสามีเป็นเจ้าแห่งหม่อมฉันนี้จงได้อยู่เป็นอุปราชากับด้วยพระราชบิดาของหม่อมฉัน ตามจารีตประเพณีอันเป็นคลองแห่งอุปราชาอันดีมาแต่ก่อน ให้เหมือนดังเมื่อเราทั้งสองยังอยู่พร้อมเพรียงกันนั้นทุกประการเทอญ”
แต่ในจามเทวีวงศ์กล่าวว่าเจ้าชายรามราชออกบวชเสียในขณะนั้น เจ้าหญิงจามเทวีจึงทรงอยู่ในฐานะไร้พระสวามี ทางลำพูนจึงได้ส่งสาส์นมาทูลขอดังกล่าว ตำนานพื้นบ้านว่าเจ้าหญิงจามเทวีทรงรับที่จะครองเมืองลำพูนเพราะว่าเมืองลำพูนเวลานั้นราษฎรเดือดร้อนด้วยขาดผู้นำ และพระนางก็ระลึกถึงพระคุณท่านสุเทวฤๅษีที่เคยชุบเลี้ยงมาแต่ก่อน

และด้วยเหตุนั้น จึงมีพระราชโองการอภิเษกเจ้าหญิงจามเทวีขึ้นเป็นกษัตริย์ โดยเฉลิมพระนามใหม่ดังปรากฏไว้ในพระสุพรรณบัฏว่า พระนางเจ้าจามเทวี บรมราชนารีศรีสุริยวงศ์ องค์บดินทร์ ปิ่นธานีหริภุญไชย

จากนั้นได้พระราชทานพระราชทรัพย์ ข้าราชบริพารตามเสด็จจำนวนมาก รวมทั้งพระสงฆ์ พราหมณ์ ผู้เชี่ยวชาญในศิลปวิทยาต่างๆ ตามคำกราบบังคมทูลของพระนางจามเทวีสำหรับที่จะไปสร้างบ้านเมืองแห่งใหม่นั้นให้บริบูรณ์ยิ่งขึ้น หมู่คนทั้งหลายที่พระนางจามเทวีทูลขอนั้น และได้รับพระราชทานอย่างครบถ้วนนั้นได้แก่
1. พระมหาเถระที่ทรงปิฎก ๕๐๐ รูป
2. หมู่ปะขาวทั้งหลายที่ตั้งอยู่ในเบญจศีล ๕๐๐ คน
3. บัณฑิต ๕๐๐ คน
4. หมู่ช่างแกะสลัก ๕๐๐ คน
5. ช่างแก้วแหวน ๕๐๐ คน
6. พ่อเลี้ยง ๕๐๐ คน
7. แม่เลี้ยง ๕๐๐ คน
8. หมู่หมอโหรา ๕๐๐ คน
9. หมอยา ๕๐๐ คน
10. ช่างเงิน ๕๐๐ คน
11. ช่างทอง ๕๐๐ คน
12. ช่างเหล็ก ๕๐๐ คน
13. ช่างเขียน ๕๐๐ คน
14. หมู่ช่างทั้งหลายต่างๆ ๕๐๐ คน (คือช่างโยธา) ๕๐๐ คน

บรรดาพสกนิกรไพร่ฟ้าชาวละโว้ที่ทราบข่าวและพากันมารอฟังข้อตกลงอยู่ภายนอกพระราชวังอย่างล้นหลามต่างก็อนุโมทนาในการตัดสินพระทัยของพระนาง แม้จะมีความอาลัยรักในเจ้าหญิงผู้ทรงบุญญานุภาพของพวกเขาเหลือที่จะพรรณนาได้ เวลาต่อมาพระนางจามเทวีก็กราบบังคมทูลลาพระเจ้ากรุงละโว้ พระมเหสี พระสวามี และพระญาติพระวงศ์ ต่างก็โศกากันแสงสั่งซึ่งกันและกัน ครั้นคลายความเศร้าแล้ว จึงเสด็จพร้อมด้วยพระพี่เลี้ยงทั้งสองพระองค์นำผู้คนและทรัพย์สมบัติทั้งหมดออกจากนครลวปุระท่ามกลางความอาลัยรักของประชาชนที่มาเฝ้าส่งเสด็จจากพระนครไปครั้งนี้จะเป็นการจากไปชั่วนิรันดร์ จะไม่มีชาวละโว้คนใดได้เห็นเจ้าหญิงผู้งดงามของเขาอีก

ตามตำนานว่า พระนางจามเทวีและข้าราชบริพารทั้งหมดได้เดินทางโดยกระบวนเรือขึ้นไปตามลำน้ำมุ่งสู่ดินแดนล้านนา และสิ่งสำคัญ ๒ สิ่ง ซึ่งพระนางได้นำไปด้วย คือ พระแก้วขาว ซึ่งว่ากันว่าเป็นองค์เดียวกับที่ประดิษฐาน ณ วัดเชียงมั่น จ.เชียงใหม่เวลานี้องค์หนึ่ง กับ พระรอดหลวง ซึ่งประดิษฐานที่วัดมหาวัน จ.ลำพูนอีกองค์หนึ่ง บางตำนานว่าระหว่างที่ยังมิได้เสด็จถึงนครลำพูนนั้น พระนางได้ทรงศีลและฉลองพระองค์ขาวโดยตลอด
จากเรื่องในตำนาน เส้นทางที่เสด็จโดยชลมารคนั้นเกินระยะเวลายาวนานกว่า ๗ เดือน โดยได้หยุดพัก ณ ตำบลต่างๆ ตายรายทาง ได้แก่
· เมืองบางประบาง ว่ากันว่าจะเป็นปากบางหมื่นหาญ ใกล้ปากน้ำพุทราเวลานี้
· เมืองคันธิกะ ว่ากันว่าจะเป็นนครสวรรค์
· เมืองบุราณะ ยังไม่แน่ใจว่าเป็นเมืองอะไรในปัจจุบัน
· เมืองเทพบุรี ปัจจุบันคือ บ้านโดน
· เมืองบางพล ปัจจุบันอยู่ใน จ.กำแพงเพชร
· เมืองรากเสียด คือ เกาะรากเสียดเวลานี้
· หาดแห่งหนึ่ง เกิดน้ำรั่วเข้าเรือพระที่นั่ง จึงเรียกกันต่อมาว่า หาดเชียงเรือ
· ตำบลหนึ่ง พระนางจามเทวีทรงมีรับสั่งให้พระพี่เลี้ยงและข้าราชบริพารนำสิ่งของทั้งหลายอันเปียกชุ่มน้ำขึ้นตาก จึงเรียกสถานที่นี้ต่อมาว่า บ้านตาก
· ตำบลหนึ่ง เป็นที่รวมน้ำแม่วังต่อกับแม่ระมิงค์ รี้พลทั้งหลายพากันง่วงเหงาอยู่ พระนางเองก็ดูเหงาๆ ไป จึงได้เรียกต่อมาว่า จามเหงา หรือ ยามเหงา ครั้นต่อมาจึงเพี้ยนเป็นสามเงาในทุกวันนี้ ตำนานว่าพระนางโปรดให้สร้างวัดขึ้นแห่งหนึ่ง ประดิษฐานพระพุทธรูปและพระสาวกให้คนทั้งหลายสักการบูชาสรณาคมน์ ที่นั้นจึงได้ชื่อเวลาต่อมาว่า พุทธสมาคม
· ตำบลหนึ่ง มีแก่งน้ำมีหน้าผาชะโงกเงื้อมลงปรกแม่น้ำ ที่นั่นนางกำนัลคนหนึ่งเสียชีวิต พระนางจามเทวีจึงพระราชทานเพลิงศพและฝั่งอัฐิไว้ ต่อมาพระนางเสด็จลงสรง ทรงเสี่ยงสัตยาธิฐานว่า
“ข้าน้อยจักนำพระศาสนาและราชประเพณีไปประดิษฐานยังแว่นแคว้นลำพูนในครั้งนี้ หากเจริญรุ่งเรืองดังมโนรถอันมุ่งหมาย ขอเทพยดาจงดลบันดาลให้มีน้ำไหลหลั่งลงมาจากเงื้อมผานี้ให้ข้าน้อยได้สรงสรีระในกาลบัดนี้เถิด พอสิ้นคำอธิษฐาน ก็บังเกิดเหตุอัศจรรย์มีอุทกธาราโปรยปรายหลั่งไหลตกลงมาจากเงื้อมผานั้นให้พระนางได้สรงสนานเป็นที่สำราญพระหฤทัย สถานที่นั้นจึงได้ปรากฏชื่อต่อมาว่า ผาอาบนาง ยังมีน้ำตกโปรยจากผาลงมาในลำน้ำจนถึงทุกวันนี้
· ตำบลหนึ่ง ปรากฏว่ามีผาตั้งขวางทางน้ำอยู่ ไม่เห็นช่องที่เรือจะผ่านไปได้ พระนางจามเทวีจึงทรงมีรับสั่งให้คนไปสำรวจพบช่องทางน้ำเลี้ยวพันหน้าผานั้นอยู่อีกด้านหนึ่ง จึงเคลื่อนกระบวนเรือไปถึงบริเวณหน้าผา ณ ที่นั่น พระนางโปรดฯ ให้ช่างเขียนทำรูปช้างแปรหน้าคืนไว้ สถานที่นั้นจึงมีนามปรากฏต่อมาว่า ผาแต้มบ้าง ผาม่านบ้าง เพราะเหตุว่ารูปทรงของหน้าผาเหมือนผ้าม่านขึงขวางลำน้ำไว้
· เมืองร้างแห่งหนึ่ง ที่นี่พระนางจามเทวีทรงให้หยุดกระบวนเรือพักแรม ปรากฏว่ามีเต่าจำนวนมากมายมารบกวนคน สถานที่นั้นจึงเรียกว่า ดอยเต่า
· ตำบลหนึ่ง มีชื่อว่า บ้านโทรคาม เป็นรมณียสถานอันพอพระทัยนัก พระนางโปรดฯ ให้พักแรมอยู่ ณ ที่นี้ และทรงสร้างพระสถูปขึ้นพระองค์หนึ่ง ประทานพระนามว่า วิปะสิทธิเจดีย์ เมื่อสร้างเสร็จได้มีพิธีฉลองและกระทำการสักการบูชาเป็นอันมาก
· ท่าเชียงทอง มีชาวบ้านหญิงชายพากันออกมาคอยรับเสด็จจำนวนมาก พระนางจึงทรงมีรับสั่งให้พระนางกำนัลผู้หนึ่งถามคนทั้งหลายนั้นว่า
“ดูกร ชาวพ่อชาวแม่ทั้งหลาย แต่นี้ถึงเมืองลำพูน ยังประมาณมากน้อยเท่าไร” คนเหล่านั้นตอบว่า “ข้าแต่มหาราชเทวีเป็นเจ้า แต่นี้ถึงเมืองลำพูนนั้น ข้าทั้งหลายได้ยินมาว่าหนึ่งโยชน์แล”

ด้วยเหตุดังกล่าว สถานที่นี้จึงได้ชื่อต่อมาว่า เมืองฮอด และได้มีการหยุดประทับแรมกันเป็นครั้งสุดท้ายที่ท่าเชียงทองนั้นเอง พระนางจามเทวีทรงมีพระดำริว่าแม้จะใกล้ชานเมืองลำพูนแล้ว แต่ก็ควรจะหยุดพักกระบวนเรือและตั้งเวียงเล็กขึ้นบริเวณนอกเมืองเสียก่อน ไม่ควรรีบร้อนเข้าไปในเมือง จากนั้นทรงปรึกษากับข้าราชบริพารทั้งหลายเพื่อกำหนดสถานที่ตั้งค่ายประทับแรม โหราจารย์ได้ถวายความเห็นให้ทรงเสี่ยงธนูดูตามประเพณีที่มีมาแต่ก่อน จึงโปรดฯ ให้กระทำดังนั้น ปรากฏว่านายขมังธนูน้าวคันศรส่งลูกธนูไปทางทิศเหนือด้วยกำลังแรง ลูกธนูไปตกอยู่ ณ สถานที่แห่งหนึ่งเป็นชัยภูมิอันเหมาะสม พระสงฆ์ทั้งหลายจึงเจริญพระพรว่าพระนางควรจะหยั่งรากพระศาสนาลง ณ ที่นั้นเป็นเบื้องแรก พระนางจึงโปรดฯ ให้ก่อพระอารามขึ้น พร้อมด้วยพระมหาเจดีย์ยังจุดที่ลูกธนูตก และยังโปรดฯ ให้หล่อพระพุทธรูปเท่าพระองค์บรรจุพระบรมธาตุประดิษฐานไว้ในพระอารามตามที่บรรดาพระเถระทั้ง ๕๐๐ ได้ถวายพระพร พระมหาเจดีย์นั้นปัจจุบันอยู่ในวัดละโว้ ส่วนพระพุทธรูปนั้นต่อมาก็มีปาฏิหาริย์ศักดิ์สิทธิ์ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บคนทั้งหลายจึงเรียกว่า “พระยา” มาจนทุกวันนี้
นอกจากพระพุทธรูปซึ่งพระนางโปรดฯ ให้สร้างเท่าพระองค์สำหรับประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุนั้นแล้ว บรรดาเสนามหาอำมาตย์ที่ตามเสด็จ เป็นต้นว่าพระยาแขนเหล็ก และพระยาบ่เพกก็โดยเสด็จพระราชกุศลสร้างพระพุทธรูปด้วยคนละองค์สององค์ พระพุทธรูปทั้งหลายจึงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองเหนือตั้งแต่นั้น
จากนั้น พระนางจามเทวีจึงทรงสถาปนาเวียงเล็กขึ้น ประกอบด้วยพระราชนิเวศน์เรือนหลวงสำหรับเสด็จประทับรวมทั้งที่พักคณะผู้ติดตามทั้งหมด พระนางและปวงเสนาประชาราษฏร์ที่ตามเสด็จต่างอาศัยอยู่ในเวียงเล็กนั้นด้วยความสุขสบาย สถานที่ดังกล่าวจึงได้ชื่อว่า รมย์คาม และคนทั้งหลายเรียกกั้นสืบมาว่า บ้านระมัก จากนั้นท่านสุกทันตฤๅษีและนายควิยะได้เดินทางล่วงหน้าต่อไปยังเมืองลำพูนเพื่อแจ้งข่าวการเสด็จมาถึง

ท่านสุเทวฤๅษีรวมทั้งไพร่บ้านพลเมืองทั้งหลายพอทราบข่าวก็พากันตกแต่งพลับพลารับเสด็จไว้ทางทิศตะวันออก ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเคยเสด็จประทับตรัสพุทธพยากรณ์มาแต่ก่อน และสองข้างถนนที่จะเสด็จพระดำเนินด้วยราชวัตรฉัตรธงบุปผชาติต่างๆ จากนั้นท่านสุเทวฤๅษีจึงนำชาวเมืองเชิญเครื่องบูชาสักการะอย่างเต็มอัตราไปเฝ้าเตรียมรับเสด็จตั้งแต่ชานเมืองด้วยความปิติอย่างยิ่ง ไม่ช้ากระบวนเสด็จของพระนางจามเทวีก็มาถึงโดยสถลมารค พระนางเมื่อทอดพระเนตรเห็นท่านสุเทวฤๅษีซึ่งเปรียบเสมือนบิดาก็ตื้นตันพระทัยเสด็จออกจากราชยานมากราบ พระฤๅษีทั้งสองได้กราบบังคมทูลขอให้พระนางสละเพศนักพรตกลับเป็นกษัตริย์และขอให้ทรงเสวยราชย์ยังพระนครแห่งนี้ จากนั้นจึงแห่แหนพระนางไปยังพลับพลา ที่นั่นได้มีพระราชพิธีราชาภิเษก ท่านสุเทวฤๅษีกราบบังคมทูลเชิญพระนางเสด็จขึ้นประทับบนกองสุวรรณอาสน์เพื่อทรงสรงน้ำพระมูรธาภิเษกทและวันที่เสด็จขึ้นเสวยสิริราชสมบัตินั้นตรงกับวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย พุทธศักราช ๑๒๐๒ พระชนมายุได้ ๒๖ พรรษา ปรากฏพระนามเมื่อทรงรับการราชาภิเษกในพระสุพรรณบัฏว่า พระนางเจ้าจามเทวี บรมราชนารี ศรีสุริยวงศ์ องค์บดินทร์ ปิ่นธานีหริภุญไชย

เมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว ๗ วัน พระครรภ์ได้ครบทศมาส พระนางจามเทวีจึงทรงมีประสูติกาลพระโอรส ๒ พระองค์ในวันเพ็ญเดือน ๓ ราชกุมารทั้งคู่ทรงศิริลักษณ์งามละม้ายกัน เป็นที่ปิติยินดีไปทั้งพระนคร พระนางได้พระราชทานนามพระเชษฐาว่า พระมหันตยศ และพระอนุชาว่า พระอนันตยศ

นครหริภุญไชยในปฐมรัชกาล

พระนางจามเทวี ทรงสถาปนาความรุ่งเรืองแก่นครหริภุญไชยของพระนางมากขึ้นไปอีก จนเป็นนครในอุดมคติที่มนุษย์ทั้งหลายใฝ่ฝันอย่างแท้จริง โดยตำนานนั้นกล่าวว่าอาณาประชาราษฎร์เป็นสุขสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติโดยถ้วนหน้า เฉพาะบ้านใหญ่นั้นมีจำนวนถึง ๔๐๐๐ บ้าน บ้านน้อยอีกเป็นอันมาก มีไร่นาเรือกสวนบริบูรณ์ และพสกนิกรต่างมีใจศรัทธาสร้างวัดขึ้นเป็นจำนวนถึง ๒๐๐๐ แห่ง สำหรับถวายพระสงฆ์ผู้ทรงพระไตรปิฎกมาจากละโว้ ๕๐๐ รูป แยกย้ายผลัดเปลี่ยนกันสั่งสอนเผยแผ่พระศาสนา วัดทั้ง ๒๐๐๐ แห่งนั้นต่อมาก็มีภิกษุจำพรรษาเต็มพระอารามทุกแห่ง ยิ่งไปกว่านั้น พระนางยังโปรดฯ ให้เฟ้นหาบัณฑิตที่ชำนาญการสวดพระธรรมอีก ๕๐๐ คนสำหรับช่วยสวดพระธรรมในวัดทั้ง ๒๐๐๐ แห่งนั้นด้วย

บรรดาผู้คนซึ่งตามเสด็จพระนางจามเทวีมาแต่กรุงละโว้นั้น พระนางก็โปรดฯ ให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่กันทางทิศตะวันออกของพระนคร ชาวมิคสังครเดิมอยู่ทิศตะวันตก พวกที่รอดตายมาจากรมยนครอยู่ทิศใต้ และตระกูลที่เกิดจากรอยเท้าสัตว์นั้นก็อยู่ภายในเมือง

ต่อมาพระนางมีพระดำริว่า เวลานี้พระโอรสทั้ง ๒ ก็ยังเยาว์พระชันษาอยู่ ถ้ามีข้าศึกมาเบียดเบียนจะเป็นการลำบาก จึงโปรดฯ ให้มีพระราชพิธีพลีกรรมสังเวยเทพยดาผู้รักษาพระนคร ขอประทานช้างมงคลตัวประเสริฐสำหรับใช้ในการสงคราม เทวะทั้งหลายจึงดลใจช้างเชือกหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยคชลักษณ์อันบริบูรณ์ทุกประการ คือมีกายขาวประดุจเงินเลียง และงาสีเขียว พลัดออกจากโขลงที่ใกล้ตีนดอยอ่างสรงแล้วมุ่งลงใต้มายังนครหริภุญไชย เวลานั้นก็เกิดเหตุอัศจรรย์ มีฝนตกตลอด ๗ วัน ๗ คืน เมื่อมาถึงพระนคร พระนางจามเทวีทรงพอพระทัยยิ่งนัก ทรงมีพระราชโองการให้เสนาอำมาตย์ทั้งหลายจัดเครื่องบูชาข้าวตอกดอกไม้และดุริยดนตรีแห่ไปรับมายังโรงช้างทางทิศตะวันออก ประดับด้วยแก้วแหวนเงินทองอันงดงามเลอค่า จากนั้นทรงสถาปนาเป็นพระคชาธารคู่พระบารมี และโปรดฯ ให้มีมหรสพสมโภชในเมืองถึง ๓ วัน ๓ คืน

ช้างนี้ คนรุ่นหลังต่างพากันเรียกว่า ช้างภู่ก่ำงาเขียว กล่าวกันว่ามีอานุภาพยิ่ง คือเวลาใกล้เที่ยงหากใครไปยืนเบื้องหน้าช้างก็จะเกิดมีอันเป็นไปต่างๆ ถ้าไม่บวงสรวงด้วยข้าวตอกดอกไม้เสียแล้วก็อาจถึงแก่ชีวิตเลยทีเดียว

ในตำนานพื้นเมืองกล่าวว่า พระนางจามเทวีไม่เพียงแต่ทรงเอาพระทัยใส่ในการศาสนา จนเมืองหริภุญไชยเป็นประดุจพุทธนครเท่านั้น ในด้านยุทธศาสตร์การป้องกันพระนครพระนางก็โปรดฯ ให้สร้างด่านไว้ที่ชายแดนที่เวียงนอกและเวียงสามเสี้ยว ปัจจุบันก็คือบริเวณหมู่บ้านกอกและทุ่งสามเสี้ยว เขต อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ นอกจากนี้ก็โปรดฯ ให้จัดการซ้อมรบเพื่อทดสอบความพลั่งพร้อมของกำลังพล โดยทรงออกอุบายให้ด่านที่เวียงนอกและเวียงสามเสี้ยวแกล้งตั้งตัวเป็นกบฏและทรงมีรับสั่งให้จัดทัพไปปราบปรากฏว่าฝ่ายพระนครชนะศึก แต่แม้ว่าจะเป็นการซ้อมรบแต่ต่างฝ่ายก็ไม่รู้กันเป็นเหตุให้เกิดการสูญเสียชีวิตมากมาย พระนางจึงทรงอุปถัมภ์เลี้ยงดูครอบครัวของทหารที่ตายในการสู้รบครั้งนี้ให้เป็นสุขต่อไป ผู้ที่รอดชีวิตก็พระราชทานบำเหน็จความดีความชอบตามควรแก่ฐานะ

พระนางจามเทวี ได้ทรงปกครองเมืองหริภุญไชยต่อมาด้วยทศพิธราชธรรมแท้จริง พระนางทรงสั่งสอนบรรดาเสนาข้าราชสำนัก ตลอดจนพสกนิกรทั้งหลายตั้งอยู่ในธรรมเสมอ นครหริภุญไชยจึงเป็นที่สงบสุขน่าปิติยินดีราวกับเมืองสวรรค์ในโลกมนุษย์

สงครามขุนวิลังคะ

ด้วยพระนางจามเทวีทรงเป็นจอมกษัตริย์ผู้ทรงปกครองนครหริภุญไชยที่รุ่งเรือง ทั้งพระนางเองก็ทรงมีพระรูปเลอโฉม พระปรีชาญาณหลักแหลม เป็นที่สรรเสริญแก่บรรดาประเทศใหญ่น้อยทั่วไป บรรดาเจ้าครองนครหลายองค์จึงใคร่จะได้พระนางไปเป็นพระมเหสี แต่ผู้ที่แสดงความปรารถนานั้นก่อนคนอื่นก็คือ ขุนวิลังคะ ผู้นำชาวลัวะ ซึ่งส่งทูตพร้อมเครื่องบรรณาการถึง ๕๐๐ สาแหรก มาถวายสาส์นทูลเชิญพระนางเสด็จไปเป็นพระมเหสีแห่งระมิงค์นคร ซึ่งบางตำนานว่าตกในราวๆ ต้นปี พ.ศ. ๑๒๒๖ เมื่อพระนางทรงมีรับสั่งให้เข้าเฝ้า ทูตลัวะก็กราบบังคมทูลอย่างวางอำนาจว่า
“ข้าแต่มหาราชเทวีเป็นเจ้า ขุนแห่งข้าพเจ้ามีนามว่าวิลังคราชอยู่ทิศดอยละวะโพ้น เป็นใหญ่กว่าลัวะทั้งหลาย ใช้ให้ข้าพเจ้าทั้งหลายนำเครื่องบรรณาการมาถวายพระนางบัดนี้ โดยเหตุที่ขุนวิลังคราชมีความรักใคร่ในพระเทวีเป็นเจ้า จักเชิญพระแม่เจ้าไปเป็นอัครมเหสี”
พระนางจามเทวีทรงพิโรธมาก เพราะการกระทำเช่นนี้ถือเป็นการหมิ่นพระเดชานุภาพ และเป็นการแสดงอำนาจคุกคามพระนางอย่างแท้จริง แต่ยังทรงตรัสถามอย่างพระทัยเย็นว่า “ดูกรท่านอำมาตย์ เรายังไม่เคยได้เห็นขุนผู้นั้นแม้สักหนเดียวเลย ขุนผู้นั้นหน้าตาเป็นอย่างใดเล่า”
ทูตลัวะทูลตอบว่า “ขุนแห่งข้าพเจ้านั้นรูปร่างหน้าตาก็เหมือนดังตัวข้าพเจ้านี้แหละ”
พระนางจึงทรงมีรับสั่งว่า “ผิว่าขุนแห่งท่านมีหน้าตาเหมือนดังท่านแล้ว อย่าว่าแต่มาเป็นผัวเราเลย แม้แต่มือเราก็ไม่จักให้ถูกต้อง ท่านจงรีบไปเสียให้พ้นจากเรือนเราเดี๋ยวนี้”

แล้วทรงขับไล่ทูตลัวะออกไปเสียจากพระนคร ทูตลัวะผู้นำรีบนำผู้คนกลับไปเมืองระมิงค์ ด้วยความวิตกว่าตนรับเชิญสาส์นเจ้าเหนือหัวมาครั้งนี้หวังว่าจะได้รับความดีความชอบ แต่ต้องกลับกลายเป็นผู้นำข่าวร้ายไปสู่เจ้านครลัวะแทนเสียแล้ว ขุนวิลังคะได้ทราบเช่นนั้นก็บังเกิดความโกรธอย่างรุนแรงสั่งเตรียมยกทัพบุกเข้าทำลายนครหริภุญไชยให้พินาศทันที เพราะถึงเมืองของพระนางจามเทวีจะเจริญรุ่งเรืองและมั่นคงด้วยปราการหอรบต่างๆ พร้อมสรรพเพียงใดก็ยังเป็นเมืองเล็กอยู่ แต่เมื่อความโกรธผ่อนคลายลงบ้างและเพราะเห็นว่าเป็นเมืองพระพุทธศาสนา จะเข้าตีเสียเลยก็ไม่เหมาะสม จึงส่งสาส์นเกลี้ยกล่อมอีกครั้งหนึ่ง ก็ได้รับคำตอบว่า พระนางยังไม่ตัดสินพระทัยเสด็จไปยังระมิงค์นครเพราะพระนางเพิ่งมีพระประสูติกาลพระโอรส พระวรกายยังไม่บริสุทธิ์พอจะทรงรับการอภิเษกเป็นพระมเหสีแห่งชาวลัวะได้ ขอให้รอไปก่อน ขณะเดียวกันภายในเมืองหริภุญไชยพระนางจามเทวีก็โปรดฯ ให้สั่งสมเสบียงและอาวุธยุทโธปกรณ์ไว้อย่างเต็มที่ รวมทั้งเตรียมกำลังทหารให้พร้อมรบที่สุด ทางฝ่ายขุนวิลังคะได้รับคำตอบเช่นนั้นก็เบาใจและรั้งรออยู่อย่างนั้น บางตำนานว่าหลงกลรอต่อไปเป็นเวลานานถึง ๗ ปีทีเดียว

ในที่สุดขุนวิลังคะก็ตาสว่างว่าตนเสียรู้ จึงนำทัพเข้าล้อมเมืองด้วยทหารจำนวนถึง ๘๐๐๐๐ คน พระนางจามเทวีก็ทรงมีพระราชโองการให้พระโอรสทั้งสองซึ่งเจริญพระชมมายุได้ ๗ พรรษาแล้วขึ้นประทับเหนือช้างภู่ก่ำงาเขียวนำทัพออกศึก โดยพระมหันตยศประทับคอช้าง พระอนันตยศประทับกลางช้าง กองทัพของหริภุญไชยมีจำนวนเพียง ๓๐๐๐ คน แต่เมื่อกองทัพของทั้งสองฝ่ายประจันหน้ากัน พลรบชาวลัวะก็ให้บังเกิดอาการหน้ามืดตามัวหมดกำลัง เพราะเผชิญหน้ากับช้างภู่ก่ำงาเขียวในเวลาเที่ยงวันพอดี จนในที่สุดไม่มีผู้ใดทนได้ก็พากันแตกทัพอลหม่านโดยไม่ทันได้สู้รบทิ้งอาวุธและสิ่งของไว้เป็นอันมาก พระนางจามเทวีจึงทรงมีรับสั่งให้ชาวพระนครพรากับออกไปรวบรวมสิ่งของเหล่านั้นไปเป็นของตนเองเสีย ทำเลที่ทหารลัวะทิ้งของไว้นั้นจึงมีชื่อว่า ลัวะวาง ในกาลต่อมา

หลังจากนั้น พระนางจามเทวีจึงเสด็จไปยังระมิงค์นครในฐานะผู้ชนะศึก เพื่อทรงช่วยเหลือบำรุงขวัญประชาชนให้กลับเป็นปกติสุขอีกครั้ง จากนั้นจึงพระราชทานเอกราชให้แก่ชาวระมิงค์นครมิให้ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของหริภุญไชยเป็นการแสดงพระกรุณา โดยจารึกไว้ในพระสุพรรณบัฎเมื่อวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีจอ พ.ศ. ๑๒๓๐

ในตำนานจามเทวีวงศ์มีขยายความเรื่องเกี่ยวกับลัวะต่อไปอีกคือ ภายหลังการสงครามขุนวิลังคะ พระมหันตยศและพระอนันตยศ ก็ทรงได้พระธิดาขุนวิลังคะเป็นชายาด้วย ดังนั้นพระนางจามเทวีจังทรงมีพระสุณิสาลำดับแรกเป็นเจ้าหญิงชาวลัวะ

เรื่องเผชิญพวกลัวะนี้ ตำนานพื้นเมืองอีกฝ่ายหนึ่งกล่าวไว้พิสดารออกไป คือ หลวงมิลังคะ (ไม่ใช่ขุนวิลังคะ) ผู้นำเผ่าลัวะเกิดหลงใหลพระสิริโฉมแห่งพระนางจามเทวีจนไม่เป็นอันกินอันนอน จึงได้แต่งทูตมาสู่ขอ แต่พระนางจามเทวีไม่ทรงสนพระทัยและไม่ให้คำตอบใดๆ ทั้งสิ้น เป็นเหตุให้หลวงมิลังคะยกไพร่พลมาประชิดเมือง พระนางจึงทรงพระดำริว่า ถ้าจะรบกับหลวงมิลังคะบ้านเมืองคงย่อยยับแน่ จึงออกอุบายแก่หลวงมิลังคะว่า หากหลวงมิลังคะพุ่งเสน้า (ธนู) จากดอยสุเทพมาตกกลางเมืองลำพูนพระนางก็จะทรงตกลงเป็นพระมเหสี หลวงมิลังคะจึงดีใจถือธนูขึ้นดอยสุเทพ บริกรรมคาถาอาคมแล้วพุ่งเสน้าจากดอยสุเทพเพียงครั้งแรกก็มาตกที่นอกเมืองทางทิศตะวันตก ห่างกำแพงเมืองไปเพียงไม่กี่วาเท่านั้น สถานที่เสน้าตกนี้เรียกกันว่า หนองเสน้า เวลาต่อมา
พระนางจามเทวีทรงเห็นเช่นนั้นก็หวั่นพระทัยนัก ทรงเกรงว่าหากให้มีการพุ่งเสน้าเป็นครั้งที่ ๒ และ ๓ คงจะมาตกกลางเมืองแน่ จึงทรงออกอุบายอีกครั้งหนึ่ง ให้ข้าราชบริพารนำซิ่นในมาตัดเย็บเป็นหมวกส่งไปให้หลวงมิลังคะสวม ข้างหลวงมิลังคะนั้นพอได้รับของฝากจากพระนางก็ดีใจเป็นที่สุด รีบสวมหมวกนั้นแล้วลองพุ่งเสน้าเป็นครั้งที่ ๒ และ ๓ ปรากฏว่าเสน้ากลับลอยไปตกห่างจากตัวเมืองยิ่งกว่าเดิมหลายเท่า จึงได้พบว่าเสียรู้และถูกทำลายคาถาอาคมเสียแล้ว เลยหมดกำลังใจที่จะพุ่งเสน้าต่อไป พระนางจามเทวีจึงมิได้เป็นราชินีของชาวลัวะด้วยเหตุดังกล่าว แต่ต่อมาชาวลัวะกับชาวลำพูนก็ยังได้มีสัมพันธ์ต่อกันบ้างในรุ่นหลังจากนั้น

อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี
อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี

สร้างพุทธปราการและกำเนิดเขลางค์นคร
ในตำนานมูลศาสนาและจามเทวีวงศ์กล่าวว่า ในลำดับต่อมาพระนางจามเทวีทรงอภิเษกพระมหันตยศซึ่งมีพระชนม์มายุ ๗ พรรษาขึ้นเป็นกษัตริย์ครองหริภุญไชยแทนพระนาง และมีการมหรสพสมโภชเป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน ต่อมาก็อภิเษกพระอนันตยศขึ้นเป็นพระอุปราช รวมเวลาที่พระนางทรงเสวยราชย์ในกรุงหริภุญไชยได้ ๗ ปี เมื่อพระมหันตยศได้เสวยราชย์แล้ว ทรงดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทแห่งพระมารดาทุกประการ นครหริภุญไชยจึงยิ่งเจริญรุ่งเรือง พสกนิกรดำรงอยู่ด้วยความสุข ในเมืองไม่มีโจรผู้ร้าย มีแต่ความสงบร่มเย็นในพระศาสนา

เมื่อถึงเวลานี้ พระนางจามเทวีก็เสด็จประทับอยู่ในพระราชสำนักแห่งพระนางด้วยความสุขอย่างบริบูรณ์แล้ว เช้าวันหนึ่งพระนางตื่นบรรทมขึ้นมา เป็นเวลาที่อากาศแจ่มใสน่าสบายอย่างยิ่ง พระนางยังทรงประทับอยู่ ณ ที่ไสยาสน์ ระลึกถึงห้วงเวลาทั้งหลายที่ผ่านมาแล้วบังเกิดความปิติในพระหฤทัยว่าสิ่งใดที่พระนางปรารถนาไว้เวลานี้พระนางก็ถึงพร้อมด้วยสิ่งนั้นแล้วทั้งหมด ทรงมีพระดำริว่ากัลยาณกรรมอันพระนางได้ทำมาแล้วในกาลก่อน พระนางจึงได้มาสำเร็จในชาตินี้ กรรมอันเป็นกุศล ควรที่พระนางคิดทำไว้ในอนาคตก่อนที่จะชราภาธ ด้วยพระดำริเช่นนั้นเอง พระนางก็ทรงสรงน้ำ ฉลองพระองค์แล้วนำข้าราชบริพารออกสำรวจรอบพระนคร เห็นสถานที่ต่างๆ ที่เหมาะสมพระนางก็โปรดฯ ให้สร้างพระอารามแห่งใหม่ขึ้น ๔ มุมเมืองนั้น ได้แก่

1. วัดอรัญญิกกรัมมการาม ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพระนคร ทรงสร้างวิหารและพระพุทธรูป แล้วถวายให้เป็นที่อยู่แห่งสงฆ์ มีพระสังฆเถระเป็นประธาน
2. วัดอาพัทธาราม ทางทิศเหนือของพระนคร มีวิหารหลังหนึ่ง สำหรับพระสงฆ์ผู้มาแต่ลังการาม
3. วัดมหาวนาราม ทางทิศตะวันตกของพระนคร สร้างพระวิหาร พระพุทธรูป และกุฏิสำหรับให้พระสงฆ์จำพรรษา
4. วัดมหารัดาราม ทางทิศใต้ของพระนคร สร้างพระวิหาร พระพุทธรูปอย่างงดงาม ให้พระสงฆ์จำพรรษาและเลี้ยงดูด้วยข้าวด้วยน้ำ

อาณาประชาราษฏร์ต่างพากันอนุโมทนาและโดยเสด็จพระราชกุศลด้วยการสร้างวัดเพิ่มเติม อีกเช่นกัน เมื่อถึงเทศกาลต่างๆ ก็พากันหอบลูกจูงหลานเข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรม ไม่เว้นแม้แต่เสนามหาอำมาตย์ หริภุญไชยจึงเท่ากับเป็นพระพุทธนครอันรุ่งเรืองยิ่งนัก นอกจากนี้ยังปรากฏภายหลังว่า พระเดชานุภาพแห่งพระนางแผ่ขึ้นไปถึงที่ใด ณ ที่นั้นจะมีวัดที่ได้ทรงสร้างหรือเกี่ยวข้องเป็นประจักษ์พยานอยู่ ตัวอย่างเช่น วัดพระธาตุดอยคำ และวัดพระธาตุดอยน้อย ใน จ. เชียงใหม่เวลานี้ เป็นต้น

ส่วนพระอนันตยศนั้นเมื่อทรงเป็นอุปราชแล้วก็หามีความพอพระทัยไม่ ด้วยทรงมีพระดำริว่าพระเชษฐาธิราชประสูติมาพร้อมกัน พระเชษฐาธิราชได้เสวยราชสมบัติแล้วพระองค์ก็น่าจะได้ครองเมืองบ้าง จึงกราบทูลพระนางจามเทวีตามพระดำรินั้น พระนางเมื่อสดับแล้ว จึงพระราชทานพระราโชวาทว่า
“ลูกรักของแม่ ถ้อยคำที่เจ้ากล่าวกับแม่นี้ แม่ก็เห็นสมควรอยู่ แต่ถึงกระนั้นก็ดี พวกเราได้มาอยู่เมืองหริภุญไชยนี้ก็ด้วยเหตุท่านสุเทวฤๅษี หากเจ้ามีความปรารถนาดังนั้น แม่จะให้เจ้าไปกราบเรียนท่านสุเทวฤๅษีดูก่อน”

แล้วพระนางจึงโปรดฯ ให้หาบัณฑิตผู้ฉลาดด้วยโวหารมาคนหนึ่ง ให้โดยเสด็จพระโอรสไปช่วยกราบเรียนท่านสุเทวฤๅษีที่พำนัก ท่านสุเทวฤๅษี เมื่อทราบเรื่องแล้วจึงถวายคำแนะนำแก่พระอนันตยศให้ไปไหว้ฤๅษีพุทธชฏิลที่ดอยโชติบรรพต ไปหาพรานเขลางค์ที่ดอยลุทธบรรพต และไปกราบท่านสุพรหมฤๅษี ที่ดอยเขางามริมแม่น้ำวังกะนที เพื่อขอให้ช่วยสร้างพระนครแห่งใหม่ พระอนันตยศทรงดำเนินการตามนั้นทุกอย่าง จึงได้ท่านสุพรหมฤๅษีและพรานเขลางค์ไปช่วยกันสร้างเมือง ท่านสุพรหมฤๅษีได้ตรวจดูทำเลอันเหมาะสมแล้วจึงใช้อำนาจเนรมิตเมืองใหญ่ขึ้นแห่งหนึ่ง แล้วเอาชื่อพรานเขลางค์มาตั้ง พระนครแห่งใหม่จึงปรากฏชื่อมาจนทุกวันนี้ว่า เขลางค์นคร ครั้นแล้วท่านสุพรหมฤๅษีก็ถวายการราชาภิเษกพระเจ้าอนันตยศขึ้นเสวยราชสมบัติในพระนครแห่งใหม่

พระเจ้าอนันตยศทรงระลึกถึงพระมารดา จึงส่งอำมาตย์ผู้หนึ่งอัญเชิญพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระนางจามเทวีเพื่อกราบบังคมทูลเชิญเสด็จมาประทับยังเขลางค์นครแห่งนี้ พระนางเมื่อทรงทราบความเช่นนั้นก็ทรงมีความปิติในพระหฤทัยมาก จึงได้เสด็จพระราชดำเนินจากหริภุญไชยนครมาถึงเขลางค์นคร เมื่อเสด็จเข้าสู่ตัวตัวเมือง ได้ทอดพระเนตรเห็นบ้านเมืองบริบูรณ์ด้วยโภคสมบัติก็พอพระทัยมาก และโปรดฯ ให้จัดพระราชพิธีราชาภิเษก พระเจ้าอนันตยศอย่างเป็นทางการขึ้นอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นให้มีมหรสพสมโภช ๗ วัน ๗ คืน และได้เสด็จไปนมัสการท่านสุพรหมฤๅษีซึ่งได้เดินทางกลับไปดอยเขางามก่อนหน้านั้นแล้วด้วย เมื่อเสด็จกลับเขลางค์นคร พระเจ้าอนันตยศโปรดฯ ให้สร้างปราสาทก่อด้วยไม้อ้อสำหรับถวายอภิเษกพระมารดาเป็นพิธีใหญ่ แล้วถวายราชสมบัติพระตำหนักที่ประทับ พระนางจามเทวีได้เสด็จอยู่ในเขลางค์นครนี้ ๖ เดือน แต่ในจามเทวีวงศ์ว่าต้องทรงอยู่ถึง ๖ ปี

เหตุที่จะต้องทรงอยู่ถึง ๖ ปี ก็เนื่องจากภายหลังพระราชพิธีอภิเษกที่พระเจ้าอนันตยศจัดถวาย และมีมหรสพสมโภชต่อมาอีก ๗ วัน พอถึงวันที่ ๘ พระเจ้าอนันตยศก็ปรารถนาจะได้พระนางไว้เสด็จประทับสิริมงคลในเมืองใหม่ของพระองค์ตลอดไป จึงกราบทูลพระมารดาว่า “ข้าแต่พระมารดาเจ้า ขอพระมารดาเจ้าจงอยู่ในพระนครนี้กับข้าพระบาทจนถึงกำหนดพระชนมายุเถิด ข้าพระบาทไม่อาจจะว่างเว้นพระมารดาเจ้าให้นานนักได้ ก็อีกประการหนึ่งครั้นเมื่อพระมารดาเจ้าอยู่ในพระนครนี้ บุญภาคส่วนการจำแนกแจกบุญกุศลก็จะบังเกิดมีแก่ข้าพระบาทเหลือล้น ขอพระมารดาเจ้าได้ทรงพระกรุณาโปรดทรงรับการเชื้อเชิญเสด็จของข้าพระบาทเพื่ออนุเคราะห์แก่ข้าพระบาทเถิด”

พระนางจามเทวีได้สดับดังนั้นก็ทรงมีพระดำริว่า พระโอรสทั้งสองพระองค์นี้พระองค์ทรงเสน่หาเหมือนกัน จะทรงรักองค์ใดองค์หนึ่งมากกว่าแม้เท่าปลายผมก็หามิได้ แต่พระเจ้าอนันตยศนี้เพิ่งจะครองราชย์ได้ไม่นาน จะสามารถหรือไม่สามารถปฏิบัติภารกิจอันสำคัญให้สำเร็จเรียบร้อยหรือก็ยังไม่ทราบ ดังนั้น จึงสมควรที่พระนางจะประทับที่เขลางค์นครเพื่อทรงช่วยเหลือพระโอรสบริหารราชการไปสักระยะหนึ่งก่อน จึงทรงรับสั่งว่า “ลูกรัก ถ้าลูกปรารถนาอย่างนี้ แม่จะอยู่ในพระนครนี้กับลูก ๓ ปี แล้วแม่จึงจะกลับไปอยู่กับพี่ชายของลูกที่หริภุญไชยภายหลัง”

พระเจ้าอนันตยศก็พอพระทัย ถวายราชสมบัติแด่พระมารดาแล้วกราบทูลว่าพระองค์จักไปเที่ยวเล่นภายนอกพระนคร แล้วจึงทรงนำข้าราชบริพารจำนวนหนึ่งไปประพาสในป่าอันรื่นรมย์นอกเมือง จากนั้นเสด็จไปหาท่านสุพรหมฤๅษีแจ้งให้ทราบถึงสิ่งที่กระทำทุกอย่าง ท่านสุพรหมฤๅษีจึงเนรมิตเมืองใหม่อีกแห่งหนึ่งถวายพระเจ้าอนันตยศ เมืองใหม่ที่สร้างขึ้นในเนินอันย้อยมาตามแนวเขลางค์นคร มีปราสาทราชมณเฑียรและบ้านเรือนพร้อมสรรพ ชื่อว่า “อาลัมพางค์นคร”
ต่อมาพระเจ้าอนันตยศก็เสด็จประทับในอาลัมพางค์นครนั้นให้พระมารดาเสด็จประทับในเขลางค์นครแทน จากนั้นพระองค์ก็เสด็จไปเยี่ยมพระนางในเขลางค์นครนั้นไต่ถามสารทุกข์ต่างๆ และถวายการรับใช้ทุกวันบ้าง สองสามวันหรือห้าวันบ้าง พระนางจามเทวีจึงเท่ากับทรงบริหารราชกิจในการสร้างเขลางค์นครให้เจริญรุ่งเรืองด้วยพระองค์เองเช่นเดียวกับที่พระนางทรงสร้างหริภุญไชยมาก่อน ครั้นพอได้ ๓ ปี พระนางก็มีรับสั่งจะลาพระเจ้าอนันตยศกลับหริภุญไชย พระเจ้าอนันตยศก็กราบทูลอ้อนวอนว่า

“ข้าแต่พระมารดาเจ้า เมื่อพระมารดาเจ้าอยู่ในพระนครนี้ จิตของข้าพระบาทก็เป็นสุข ครั้นเมื่อพระมารดาเจ้าเสด็จไปแล้วความสุขอะไรจะบังเกิดมีแก่ข้าพระบาท เพราะเหตุนั้น ขอพระมารดาเจ้าอย่าได้ละทิ้งข้าพระบาทเลย ถ้าพระมารดาละทิ้งข้าพระบาทไปเสียแล้วชีวิตของข้าพระบาทก็จะตั้งอยู่ไม่ได้นานเป็นแน่”
พระนางฟังแล้วก็พระทัยอ่อน จึงทรงมีรับสั่งตอบว่า “เอาเถิดลูกรัก ถ้าลูกปรารถนาอย่างนี้แม่จะอยู่กับลูกอีกสามปี แต่จากนี้ไปลูกจงอยู่ในเขลางค์นคร แม่จะไปอยู่ในอาลัมพางค์นคร ถ้าความประสงค์ของแม่ไม่เป็นที่ชอบใจของลูก แม่จะกลับหริภุญไชย”

พระโอรสจำต้องยอมรับเงื่อนไขนั้น พระนางจามเทวีจึงเสด็จไปประทับที่อาลัมพางค์นครแทน เหตุที่ทรงเปลี่ยนที่ประทับดังกล่าวก็เพราะทรงมีพระดำริว่าหากทรงอยู่ในเขลางค์นครต่อไป ความเป็นกษัตริย์ของพระโอรสก็จะไม่ปรากฏแก่คนทั้งหลาย และยังจะมีผู้ครหานินทาพระนางเสียด้วย พระเจ้าอนันตยศจึงต้องว่าราชการต่อไปในเขลางค์นคร และเสด็จไปเฝ้าพระมารดาที่อาลัมพางค์นครเป็นระยะๆ แทน

เมื่อเวลาผ่านไปอีกสามปี พระนางจามเทวีจะเสด็จกลับหริภุญไชย พระโอรสก็อ้อนวอนพระนางอีก แต่คราวนี้พระนางไม่ทรงตามพระทัยพระโอรสของพระนางแล้ว ประจวบด้วยเวลานั้นพระนางเกิดประชวร จึงต้องเสด็จกลับไปรักษาพระองค์ที่หริภุญไชย ซึ่งพระโอรสก็ต้องจำยอม

แต่ในตำนานพื้นเมืองกลับกล่าวถึงเรื่องนี้ไปอีกอย่างหนึ่ง ต่างกับจามเทวีวงศ์ และตำนานมูลศาสนาดังที่กล่าวมาแล้วอย่างสิ้นเชิง นั่นคือพระนางจามเทวีได้ครองสิริราชสมบัติบริหารราชการแผ่นดินนครหริภุญไชยไปถึงต้นเดือน ๘ ปีกุน พ.ศ. ๑๒๓๑ จึงทรงสละราชสมบัติพระราชทานพระเจ้ามหันตยศขึ้นครองหริภุญไชยแทน และในวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ปีเดียวกัน ก็มีการราชาภิเษกพระเจ้าอนันตยศขึ้นครองเขลางค์นคร เวลานั้นพระนางทรงมีพระชมมายุได้ ๕๕ พรรษาแล้ว และก็มิได้กล่าวถึงรายละเอียดการสร้างเขลางค์นคร อีกทั้งมิได้กล่าวถึงการที่พระนางเสด็จประทับทั้งในเขลางค์นครและอาลัมพางค์นครด้วย ตามตำนานพื้นเมืองซึ่งจะเล่าต่อไปข้างหน้านี้ พระนางจามเทวีภายหลังสละราชบัลลังก์แล้วก็ยังมิได้ตัดขาดจากราชการงานเมืองในหริภุญไชยเสียทีเดียว ยังเสด็จอยู่ในพระราชวังเพื่อช่วยเหลือพระเจ้ามหันตยศในการสร้างและปกครองพระนครต่อไปอีกระยะหนึ่ง

ตำนานพระธาตุลำปางหลวง

วัดพระธาตุลำปางหลวง
วัดพระธาตุลำปางหลวง

ใน จ.ลำปาง ปัจจุบัน ยังคงปรากฏวัดสำคัญคือ วัดพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งมีตำนานเกี่ยวข้องกับพระนางจามเทวี กล่าวคือได้กล่าวกันว่าพระนางได้เสด็จมาปฏิสังขรณ์วัดนี้ครั้งหนึ่ง การเสด็จมาครั้งนั้นได้ทิ้งร่องรอยไว้ในตำนานท้องถิ่นจำนวนมาก ดังจะเล่าโดยสังเขปดังนี้

ตามตำนานพระธาตุลำปางหลวง เล่าว่าเมืองลำปางเป็นเมืองโบราณมาแต่ก่อน ชื่อว่า ลัมภะกัปปะนคร มีพระเจดีย์บรรจุเส้นพระเกศาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอันพระเจ้าปเสนทิโกศลโปรดให้สร้างได้แต่เดิม ครั้นถึงรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดีย พระกุมารกัสสปะเถระและพระเมฆิยะเถระได้อันเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานเพิ่มอีก ซึ่งก็คือพระธาตุลำปางหลวงองค์ปัจจุบันนี้ นับว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มาก

ต่อมา ในรัชสมัยพระนางจามเทวี คราวหนึ่งพระนางเสด็จไปราชการศึกที่แม่สลิต ขากลับเสด็จผ่านมาตั้งค่ายที่สบยาว คืนนั้นเวลาก่อนรุ่งสาง ขณะที่พระนางประทับสำราญพระอิริยาบถอยู่ในค่ายพระบรมสารีริกธาตุดังกล่าวก็แสดงปาฏิหาริย์ลอยจากลัมภะกัปปะนครไปตกกลางค่ายพักของพระนาง
แต่พระเทวีเป็นเจ้าเข้าพระทัยว่า ชาวบ้านแถวนั้นหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วยการจุดไฟโตนดให้มาตก พอรุ่งเช้าจึงโปรดฯ ให้เสนาบดีผู้ใหญ่เข้าเฝ้า และตรัสเล่าสิ่งที่ทอดพระเนตรในคืนนั้น แต่ปรากฏว่า พระธาตุเสด็จครั้งนั้นพระนางทอดพระเนตรเพียงพระองค์เดียว บรรดาแม่ทัพนายกองแม้จนพวกอยู่เวรยามไม่มีใครเห็นเลย

เมื่อเกิดความสับสนกันขึ้น ล่ามพันทอง ซึ่งเข้าเฝ้าอยู่ในที่นั้นด้วยจึงกราบทูลว่า “ข้าแต่พระแม่เจ้า ที่พระแม่เจ้าได้เห็นไฟโตนดตกนั้น หาใช่ไฟโตนดไม่ ความจริงแล้วเป็นพระบรมสารีริกธาตุ อันตั้งอยู่ที่วัดลัมภะกัปปะนครที่เสด็จแสดงปาฏิหาริย์ให้พระแม่เจ้าอยู่หัวได้ทราบ ทั้งนี้ด้วยบุญญาธิการของพระแม่เจ้าอยู่หัวต่างหาก”

พระนางจามเทวีทราบเช่นนั้นก็ดีพระทัยนัก โปรดฯ ให้ยกทัพเดินทางต่อไปจนถึงลัมภะกัปปะนคร เมื่อไปถึงพระธาตุก็ได้เสด็จเข้ากราบนมัสการ เวลานั้นชาวบ้านชาวเมืองที่ทราบข่าวพากันมาเฝ้าชมพระบารมีเนืองแน่นไปหมด พระนางจึงทรงมีพระราชปฏิสันถานถึงความทุกข์สุขของพวกเขาเหล่านั้น ชาวบ้านก็กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า “ข้าแต่พระเทวีเป็นเจ้า ด้วยพระบารมีปกเกล้าแผ่ความร่มเย็นแก่พวกข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายมาช้านาน คงมีแต่น้ำบริโภคที่ยังความเดือดร้อนให้เท่านั้น กล่าวคือ ทุกวันเวลานี้จะใช้น้ำต้องเอาเกวียนไปบรรทุกมาจากห้วยแม่วังและห้วยแม่ยาวอันเป็นระยะทางไกลมาก เมื่อจะขุดบ่อในบริเวณนี้ก็หาสายน้ำมิได้ จึงเป็นอันจนใจพวกข้าพระพุทธเจ้ายิ่งนัก”

พระนางจามเทวีได้สดับคำกราบบังคมทูลเหล่านั้นแล้ว จึงทรงเสี่ยงสัจจาธิษฐานเบื้องหน้าองค์พระธาตุว่า
“ถ้าสถานที่นี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระอรหันต์เถระเจ้าได้อัญเชิญมาแต่ชมพูทวีปจริงแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าขอให้มีสายน้ำแตกออกจากใจกลางเมืองนี้ เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยแก่หมู่คนทั้งหลายอันได้รับความเดือนร้อนด้วยเถิด”

จากนั้นพระนางกราบนมัสการลาองค์พระธาตุ และเสด็จขึ้นช้างพระที่นั่งยาตราทัพไปสู่เมืองตาล เมืองรมณีย์ อันเป็นที่สำราญของพระองค์ต่อไป
เย็นวันนั้นเอง ผู้คนในเมืองลัมถะกัปปะนครก็พบสายน้ำพุ่งออกมาจากดินใจกลางเมืองจริงๆ จึงพากันขุดแต่งให้เป็นบ่อด้วยความปลื้มปิติในพระบุญญานุภาพแห่งพระนางจามเทวี น้ำในบ่อนั้นใส เย็น มีรสหอมอร่อย ต่างกับน้ำบ่อธรรมชาติอื่นๆ อย่างเทียบกันไม่ได้

เมื่อพ่อเมืองให้คนนำไหอย่างนี้มาบรรจุน้ำนั้นหามไปถวายพระนางจามเทวีที่เมืองตาล พระนางทรงพอพระราชหฤทัย จึงเสด็จกลับมาตั้งค่ายพักที่เมืองลัมภะกัปปะนครอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นได้ทรงเตรียมพระราชพิธีสมโภชพระบรมธาตุเป็นพิเศษ มีการเฉลิมฉลองกันถึง ๗ วัน ๗ คืน โดยพระนางได้ถวายนมัสการที่นาราคานับล้านเบี้ยให้เป็นที่นาของพระบรมสารีริกธาตุ ถวายล่ามพันทองกับนางดอกไม้ที่เป็นบาทบริจาริกาให้เป็นผู้ปฏิบัติรักษาองค์พระธาตุรวมทั้งข้าพระชายหญิงอีก ๘ ครัว นอกจากนั้นยังพระราชทานทาสชายหญิงอีก ๒ ครัว ให้คอยดูแลบ่อน้ำอันเกิดจากสัจจาธิษฐานแห่งพระองค์ ก่อนจะยกทัพกลับบ้านเมืองของพระนาง

สถานที่ที่เกี่ยวข้องกับตำนานนี้ปัจจุบันมีอยู่จริงทั้งหมด เช่น บริเวณที่พระนางจามเทวีทรงตั้งค่ายพัก และเกิดปาฏิหาริย์พระธาตุเสด็จ คือ บริเวณที่ปากห้วยแม่ยาวไหลมาบรรจบแม่วัง ห่างจากวัดพระธาตุลำปางหลวงไปประมาณ ๒ กิโลเมตร เมืองตาล เมืองรมณีย์ที่เป็นที่สำราญของพระนางนั้น ก็เล่ากันว่าคือเมืองร้างอยู่บริเวณดอยขุนตาล ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของที่ว่าการอำเภอห้างฉัตร ส่วนบ่อน้ำที่เกิดจากพระสัจจาธิฐาน ปัจจุบันเรียกว่าน้ำบ่อเลี้ยง และทั้งแถบนั้นก็ไม่มีบ่อน้ำไหนอีกเลย ชาวบ้านต้องอาศัยน้ำจากบ่อนี้เท่านั้น

ในวัดพระธาตุลำปางหลวงทุกวันนี้ ยังมีอาคารสำคัญแห่งหนึ่ง คือ วิหารพระเจ้าศิลา บ้างก็เรียกวิหารละโว้หรือวิหารจามเทวี เล่ากันว่าพระเจ้าละโว้ พระบิดาพระนางจามเทวีได้มาสร้างไว้เพื่อประดิษฐานพระเจ้าศิลา ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหินสีเขียวปางนาคปรก บางตำราว่าพระนางจามเทวีทรงสร้างไว้ด้วยพระองค์เองก็มี นับว่าเป็นของสำคัญคู่บ้านคู่เมืองลำปากอีกสิ่งหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับพระนางยังปรากฏหลักฐานมาจนถึงปัจจุบัน

จากตำนานนี้ จะเห็นว่าพระนางจามเทวีทรงมีบุญญานุภาพยิ่งใหญ่แท้จริง จนพระธาตุคู่เมืองลำปางยังเสด็จให้ทอดพระเนตรเพื่อจะได้ทรงช่วยเหลือชาวเมืองที่เดือนร้อน ซึ่งพระสัจจาธิษฐานครั้งนั้นมีอานุภาพมาก ถึงกับทำให้เกิดสายน้ำขึ้นเลี้ยงดูประชาชนต่อมาเป็นเวลานับพันปีได้

บั้นปลายรัชสมัย
ครั้นบ้านเมืองสงบสุข ประชากรทั้งมวลร่มเย็นภายใต้พระบารมีและเดชานุภาพแห่งพระเจ้ามหันตยศเป็นที่บริบูรณ์แล้ว เมื่อถึงวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะโรง พ.ศ. ๑๒๓๖ พระนางจามเทวีซึ่งทรงมีพระชนมายุได้ ๖๐ พรรษาแล้วจึงทรงละจากการกำกับดูแลราชการแผ่นดินทั้งปวง และทรงสละเพศฆราวาสฉลองพระองค์ขาวเสด็จไปประทับทรงศีลที่วัดจามเทวี และทรงเอาพระทัยใส่ต่อการทำนุบำรุงพระศาสนายิ่งขึ้นอีกมากมาย พระพี่เลี้ยงทั้งสอง คือ เจ้าหญิงปทุมวดีและเจ้าหญิงเกษวดีซึ่งก็ทรงชราภาพแล้วเช่นกันก็เสด็จออกจากราชสำนักฉลองพระองค์ขาวไปประทับทรงศีล ณ สำนักศิวะการาม ที่เมืองหน้าด่าน นับได้ว่าเป็นการแยกจากพระนางจามเทวีครั้งแรกหลังจากที่เจ้าหญิงทั้งสองได้ถวายการปรนนิบัติดูแลพระนางมาเป็นเวลาถึง ๖๖ ปีเต็ม และก็เป็นการแยกจากกันชั่วนิรันดร์

เพราะอีก ๓๖ ปี คือ พ.ศ. ๑๒๗๒ เจ้าหญิงทั้งสองก็สิ้นพระชนม์ ณ สำนักศิวะการามนั้นเอง พระเจ้ามหันตยศโปรดฯ ให้รักษาพระศพไว้ ๑ ปี จึงมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๑๒๙๓ ปีนั้นพระนางจามเทวีก็ยังทรงมีพระชันษายืนถึง ๙๗ เป็นที่อบอุ่นใจแก่พสกนิกรของพระนางอยู่

แต่ในอีกไม่กี่เดือนถัดมานั้นเอง พระนางก็เสด็จสวรรคตเมื่อวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๘ พ.ศ. ๑๒๙๔ รวมพระชันษาได้ ๙๘ ปี ท่ามกลางความตกตะลึงของไพร่ฟ้าทั่วแผ่นดินหริภุญไชยนครและเขลางค์นคร เพราะก่อนหน้าที่จะเสด็จสวรรคตนั้นไม่ทรงประชวรด้วยโรคใดๆ ทั้งสิ้น และได้สิ้นพระชมม์ไปขณะทรงบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานอยู่นั้นเอง เมื่อถึงตอนนี้พระเจ้าอนันตยศก็เสด็จจากเขลางค์นครมาช่วยพระเชษฐาธิราชเปลี่ยนฉลองพระองค์พระศพเป็นพัสตราภรณ์แห่งกษัตริย์หริภุญไชยเป็นครั้งสุดท้าย ท่ามกลางความเศร้าโศกของทวยราษฏร์ทั้งสองนคร เวลานั้นทั้งเมืองมีแต่เสียงร่ำไห้ เจ้าผู้ครองนครบ้านใกล้เรือนเคียงต่างก็เสด็จมารวมทั้งมาจากระมิงค์นครด้วย และร่วมเป็นเจ้าภาพในการประดิษฐานพระศพและจัดให้มีการบำเพ็ญพระราชกุศลสวดอภิธรรมตลอดระยะเวลา ๑ เดือนเต็ม จากนั้นจึงรักษาพระศพไว้ที่วัดจามเทวีอีก ๒ ปี ก่อนที่จะประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงเมื่อวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๖ ปีวอก พ.ศ. ๑๒๗๖
วันถวายพระเพลิงนั้นเป็นวันสุดท้ายที่ชาวนครหริภุญไชยได้มีโอกาสเฝ้าถวายความจงรักภักดีจอมกษัตริย์ของพวกเขา กระบวนแห่ที่ใหญ่โตสมพระเกียรติยศได้อันเชิญพระศพออกจากวัดจามเทวีไปยังพระเมรุมาศ ณ เชตุวันพนาเวศ เมื่อเสด็จพระราชพิธีถวายพระเพลิงแล้ว ได้อัญเชิญพระอัฐิไปประดิษฐานไว้ที่วัดจามเทวี ในกาลนั้นกษัตริย์แห่งหริภุญไชย เขลางค์ และระมิงค์ได้เสด็จไว้ทุกข์เป็นเวลา ๑ ปี

ส่วนในตำนานมูลศาสนา และจามเทวีวงศ์ที่ต่างออกไปนั้น พระนางจามเทวีไม่ทรงมีพระชันษายืนเลย เพราะได้ทรงเสวยราชย์ในนครหริภุญไชยเพียง ๗ ปี แล้วสละราชบัลลังก์พระราชทานพระเจ้ามหันตยศ จากนั้นเสด็จไปประทับที่เขลางค์นครกับอาลัมพางค์นครกับพระเจ้าอนันตยศอีก ๖ ปี ครั้นเริ่มประชวรเสด็จกลับมายังหริภุญไชย ทรงเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยทักษิณาวรรตแล้วทรงศีลต่อไปอีกเพียง ๘ วัน พระโรคาพาธก็กำเริบแรงกล้าจนถึงเสด็จสวรรคต และเมื่อถึงวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพนั้น ด้วยกุศลกรรมอันพระนางได้สั่งสมมา และทั้งได้เจริญพระไตรลักษณ์ด้วยการเปล่งวาจาว่า ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา เมื่อจุติจากมนุษยโลกนี้ก็ได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตเทวโลก

ในจามเทวีวงศ์ กล่าวว่าพระเจ้ามหันตยศโปรดฯ ให้จัดพิธีบูชาสักการะพระศพเป็นการใหญ่ ๗ วัน แล้วก่อพระเมรุมาศสำหรับถวายพระเพลิงได้จัดการถวายพระเพลิงพร้อมทั้งดุริยดนตรีฟ้อนรำประโคมเป็นระยะเวลาถึง ๗ วัน แล้วก่อพระเมรุมาศสำหรับถวายพระเพลิงได้จัดการถวายพระเพลิงพร้อมด้วยมีดุริยดนตรี ฟ้อนรำประโคมเป็นระยะเวลาถึง ๗ วัน จากนั้นดับพระเพลิงนั้นด้วยน้ำหอม แล้วตั้งกระบวนเชิญพระอัฐิธาตุ พระเจดีย์นั้นเบื้องบนมีพระพุทธรูปหุ้มด้วยแผ่นทองคำ จึงมีนามว่าสุวรรณจังโกฏิเจดีย์

ตำนานมูลศาสนากล่าวว่าภายในเจดีย์นั้นนอกจากเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิธาตุแล้ว ยังได้บรรจุเครื่องประดับของพระนางไว้ด้วย เป็นต้นว่า ซ้องและหวีรอง รวมทั้งได้บรรจุงาทั้งสองของช้างภู่ก่ำงาเขียวคู่พระบารมีของพระนางไว้ด้วยกัน สุวรรณจังโกฏิเจดีย์จึงกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของนครหริภุญไชยต่อมาจนทุกวันนี้

กรมหลวงชุมพร

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
เกียรติคุณของพระองค์ท่านไพศาลขนาดไหน เห็นจะไม่ต้องบรรยายความ พระอาจารย์ของพระองค์ยิ่งยงขนาดไหนก็เห็นจะไม่ต้องพรรณนาอีกเหมือนกัน แต่ก็อดที่จะกล่าวถึงมิได้ พระเกจิอาจารย์องค์สำคัญๆ ในอดีตนั้น ล้วนแล้วแต่ได้เคยมีความสัมพันธ์กับพระองค์ทั้งสิ้น เป็นต้นว่า หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติฯ จ.พระนครศรีอยุธยา หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว จ.กาญจนบุรี หลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก ธนบุรี และยังมีอีกหลายองค์ที่เสด็จ ในกรมได้เสด็จไป ทรงพบและร่ำเรียน ทางเวทมนตร์คาถา และไสยเวทย์ด้วย

httpv://www.youtube.com/watch?v=j5xqcaPq8hM

แต่โอกาสนี้จะขอกล่าวถึง “เมื่อเสด็จกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เสด็จไป ทรงพบกับหลวงพ่อเงิน บางคลาน โพธิ์ทะเล จ.พิจิตร” ตามบันทึกความด้วยสมองของผู้ตามเสด็จไปในครั้งนั้น คือคนสนิทของพระองค์ที่มีชื่อว่า “นายหลิ่ม”

ครั้นเมื่อ…กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เสด็จไปยังวัดปากคลองมะขามเฒ่า ชัยนาท อยู่เสมอๆ ด้วยความศรัทธามั่นต่อหลวงพ่อศุข เกจิอาจารย์ ผู้ปราดเปรื่องเรื่องเวทมนตร์คาถาอาคมนั้น พระองค์ได้พบกับความมหัศจรรย์ทางพุทธเวทย์เป็นที่ประจักษ์แก่สายตานับครั้งไม่ถ้วน จึงยกให้หลวงพ่อศุข เป็นอาจารย์ของพระองค์ ได้รับการถ่ายทอดวิชานานัปการ อันประมาณมิได้จากหลวงพ่อเป็นถ้วนทั่ว ฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ มีปรีชาสามารถ ปรากฏตามเรื่องราวของพระองค์กับหลวงพ่อศุข ดังที่ได้เคยมีผู้รจนาไว้จำนวนมาก เป็นที่ทราบความกันดีแล้วๆ นั้น จึงมิขอกล่าวถึงอีก แต่จะกล่าวถึงครั้งหนึ่งที่หลวงพ่อศุขได้ทูลเสด็จในกรมมีความว่า

“ถ้าจะดูของดีๆ แปลกๆ นอกเหนือจากของฉันแล้ว ก็เห็นจะมีเกลอกันกับฉันอีกองค์หนึ่ง เคยศึกษามาจากอาจารย์เดียวกัน คือท่านเงิน อยู่บางคลาน โพธิ์ทะเล เมืองพิจิตร หากจะไปหาก็จงบอกว่า ฉันแนะทางมาเถิด”

เมื่อเสด็จในกรมได้ทราบดังนั้นแล้ว จึงมีความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะเดินทางไปยังเมืองพิจิตร เพราะพระองค์ชอบ ในการแสวงหาบรรดาเกจิอาจารย์ผู้ทรงวิทยาอาคมขลังอยู่เป็นทุนแล้ว และเมื่อสบโอกาสอันเหมาะควรแล้ว จึงได้ชวนกันกับนายหลิ่มคนสนิท เดินทางไปเมืองพิจิตรทันที

พิจิตร สมัยนั้นเส้นทางไม่สะดวกเหมือนสมัยนี้ พิจิตรเป็นเพียงเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่ง ซึ่งรายรอบไปด้วยป่าทึบโดยทั่วไป ระยะทางจากเมือง ไปยังหมู่บ้านรอบๆ พิจิตร กางกั้นด้วยป่าทึบบ้างป่าโปร่งบ้าง ห้วยละหานลำธารคุ้งคดเลาะลัดอยู่ทั่วๆ ไป การเดินทางจึงลำบาก ส่วนใหญ่นิยมใช้ช้างเดินทางเป็นหลัก เพราะจะต้องอาศัยความแข็งแกร่งของช้างเท่านั้น ที่จะผ่านไพรแบบนั้นไปได้

โพธิ์ทะเล เป็นตำบลที่ห่างเมืองพิจิตรไปทางทิศใต้ใกล้เขตชุมแสง นครสวรรค์ จึงถูกปกคลุมไปด้วยป่าไม้เป็นส่วนใหญ่ สำหรับ บางคลาน อันเป็นที่ตั้งของวัดบางคลานก็เป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ ริมแม่น้ำยม ชิดเขตชุมแสง ซึ่งเต็มไปด้วยป่าโปร่งพันธุ์ใหญ่ๆ เกือบทั้งสิ้น รายรอบไว้ทุกด้าน

เสด็จในกรมฯ กับคนสนิทคือ นายหลิ่ม ใช้ช้างเป็นพาหนะเดินทางจากเมืองนครสวรรค์ ขึ้นไปในฤดูแล้งของปีหนึ่ง ผ่านออกไปทางป่าทึบเมืองชุมแสง ลัดเลาะไปปากเกยชัยแหล่งชุกชุมด้วยจระเข้ ป่าเปลี่ยว เข้าเขตป่าลึกของชุมแสง

ขณะที่กำลังเดินทางอยู่ วันหนึ่งตอนพระอาทิตย์กำลังพลบค่ำ และถึงเวลาพักช้าง เสด็จกรมหลวงฯ และนายหลิ่มได้ทำเลค้างแรมได้แล้วจึงเตรียมจะจัดทำอาหารนั้นเอง

ก็ปรากฏร่างชายแก่ในชุดห่มขาว แต่คล่ำไปด้วย ความเก่าและขาดวิ่น หนวดเครายาวรุงรังนั่งสงบนิ่ง อยู่ในซุ้มไม้ใกล้กันนั้น

ดวงตาหลับสนิท ริมฝีปากขมุบขมิบ บริกรรมพระเวทอยู่ตลอดเวลา เสด็จในกรม จึงตรงเข้าไปหา พร้อมกับนายหลิ่มคนสนิท ทันทีที่เดินเข้าไปใกล้ซุ้มไม้ อันร่มครึ้มนั้นชายแก่ก็ลืมตาขึ้น

เสด็จในกรม ทราบได้ดีว่าเป็นผู้ทรงศีล จึงทำความเคารพและ ถามว่าเป็นใคร ก็ได้รับคำตอบว่าชื่อ เหมือน เที่ยวหาความสงบอยู่ตามป่าเขตนี้ เพื่อบำเพ็ญสมาธิ หลบหนีจากผู้คนหาความวิเวกอยู่ตามลำพัง

หลังจากสนทนากันจนเป็นที่พอใจแล้ว นายหลิ่ม จึงชวนเสด็จในกรมให้กลับไปจัดการเรื่องที่พักและอาหารเสียก่อน สักครู่ เสด็จในกรมได้หันไปมองทางชายแก่นั้น น่าประหลาดใจ ไม่พบชายแก่ชื่อเหมือนคนนั้นเสียแล้ว จึงให้นายหลิ่มเดินตามหาในละแวกนั้นก็ไม่พบ เป็นที่แปลกมากในเวลาเพียงไม่นานนักที่ชายแก่ขนาดนั้น จะหลบเร้นหายไปได้อย่างรวดเร็ว นับเป็นเรื่องปาฏิหาริย์โดยแท้

ลัดเลาะตามไพรทึบ จนถึงชายฝั่งแม่น้ำยม คนนำทางพาเลียบชายฝั่งแม่น้ำยมขึ้นไปทางเหนือ ฤดูแล้งน้ำในแม่น้ำยมขอดแห้ง สักครู่ก็พบวัดเก่าแก่อยู่ฝั่งตรงข้าม คนนำทางบอกว่า นั่นคือ วัดบางคลาน ที่ต้องการมาพบ หลวงพ่อเงิน

เสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ได้ข้ามแม่น้ำยม ซึ่งมีน้ำไม่มากนัก ช้างเดินข้ามสบาย สอบถามหา หลวงพ่อเงิน ได้ความว่า ออกป่าไปได้สองวันแล้ว ไม่ทราบว่าจะกลับมาเมื่อใด บางทีก็เป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็มๆ บางทีก็เจ็ดวัน พระในวัดรูปหนึ่งได้บอกกับเสด็จในกรมว่า ก่อนหน้าที่หลวงพ่อเงินจะออกไปป่าได้พูดเปรยขึ้นกับพระหลายรูปว่า

“อีกสองวันจะมีคนดี เขามาหาฉัน เห็นทีจะอยู่ไม่ได้แน่ ต้องออกป่าสักพัก” แล้วท่านก็ออกป่าในเย็นวันนั้น

เสด็จในกรมทรงแปลกพระทัยมาก ครั้นจะคอยอยู่ก็เกรงว่าจะไม่พบ และไม่ทราบว่านานเท่าใดหลวงพ่อจึงจะออกจากป่า จึงตัดสินพระทัยคอยอยู่สองคืน แล้วจึงกลับไปยังนครสวรรค์

ขณะเดินมาถึงกลางทาง ได้พบกับชายแก่ที่ชื่อเหมือนอีก เสด็จในกรมอยู่บนหลังช้างได้เห็น ชายแก่ผู้นั้นเดินอยู่กลางทุ่งหญ้าไกลๆ จำได้ถนัด เพราะหลังคุ้มและใส่ชุดขาวเก่าคร่ำคร่าขาดวิ่น จึงเร่งช้างให้เข้าไปใกล้โดยเร็ว และทันใดนั้นเอง ชายแก่ก็ลับหายไปในทุ่งหญ้าอย่างรวดเร็ว ถึงแม้เสด็จในกรมจะนั่งช้าง เดินหาจนทั่วบริเวณก็หาพบไม่ ได้ทอดพระทัยและตรัสกับนายหลิ่มว่า เป็นเรื่องแปลกเหลือเกิน มาพิจิตรคราวนี้ต้องการ พบใครก็ไม่พบ

เสด็จในกรมพักอยู่ที่นครสวรรค์ได้ ๑๐ วัน ตั้งใจจะกลับกรุงเทพฯ แต่ลังเลพระทัย จึงชวนนายหลิ่มว่า ลองขึ้นไปพิจิตรใหม่อีกครั้ง ก่อนออกเดินทางเสด็จในกรมให้นายหลิ่มหาซื้อ เสื้อคอจีนหนึ่งตัว ไม้คานหนึ่งอัน กางเกงจีนหนึ่งตัว สาแหรกและเข่งสองชุด หมวกกุ้ยเล้ยหนึ่งใบ แล้วจึงออกเดินทางด้วยช้างกับคนนำทาง ตรงไป วัดบางคลาน อีกครั้งหนึ่ง

ระหว่างทางได้ไปพบ จระเข้เผือกขนาดใหญ่ นอนขวางลำน้ำอยู่ที่ปากเกยชัย เสด็จในกรมให้นายหลิ่มเอาขันตักน้ำมาทำน้ำมนต์ แล้วทรงปลุกเสกร่ายพระเวทย์บริกรรมทำน้ำมนต์อยู่เป็นเวลานาน แล้วเทน้ำมนต์ลงไปในน้ำ ซึ่งจระเข้นอนขวางทางอยู่ ทันทีที่น้ำมนต์เทออกจากขัน กระทบผิวน้ำ จระเข้เผือก ที่นอนสงบนิ่งอยู่ ก็ฟาดหางไปมา แล้วดำน้ำหายไปทันที เหลือแต่พรายน้ำวนเป็นวงกลมอยู่เบื้องหน้าเสด็จในกรม

จากนั้นเสด็จในกรม จึงได้เดินทางต่อไป จนลุถึงริมฝั่งแม่น้ำยม ขณะนั่งพักช้างปล่อยช้างกินหญ้ากินน้ำอยู่นั่นเอง ก็เหลือบไปที่โคนต้นไม้ใหญ่ ใกล้กันนั้นเห็นชายแก่ชื่อเหมือนที่พบกันครั้งก่อนนั่งหลับตาสงบนิ่งอยู่ เสด็จในกรมจึงรีบตรงเข้าไปแสดงความเคารพ

ผู้เฒ่าเหมือนลืมตาขึ้น แล้วบอกว่า “พรุ่งนี้เข้าไปหาท่านจึงจะพบ”

เสด็จในกรมนั่งฟังโดยไม่ได้กล่าวอะไร ผู้เฒ่าเหมือนก็เอ่ยขึ้นอีกว่า “หลวงพ่อท่านไม่ชอบเจ้าชอบนาย”

เสด็จในกรมนั่งเงียบฟังเฉยอยู่ ผู้เฒ่าเหมือนได้ล้วงลงไปในย่าม แล้วหยิบแหวนทองเหลืองออกมาจากย่าม แล้วส่งให้เสด็จในกรมแล้วพูดว่า

“เก็บไว้ให้จงดี ฉันทำเตรียมไว้แต่ครั้งก่อน แต่ยังเป็นยามไม่เหมาะ จึงให้ไม่ได้”

เสด็จในกรมรับแหวนจากมือผู้เฒ่า แล้วก้มลงพิจารณาแหวนนั้น เป็นแหวนทองเหลืองอมดำออกสีคล้ำๆ ตรงกลางแหวนมีเหล็กแร่สีดำ เป็นมันฝังอยู่เม็ดเล็กๆ หนึ่งเม็ด แล้วมีอักขระขอมลงด้วยเหล็กจารรอบๆ วง เสด็จในกรมตรัสว่า คงจะเป็น เหล็กไหล แล้วเงยหน้าขึ้นไปมองทางผู้เฒ่าเหมือน ปาฏิหาริย์ ผู้เฒ่าเหมือนหายไปจากตรงนั้นแล้ว รวดเร็วอย่างไม่คาดฝัน เสด็จในกรมถึงกับอุทานออกมา แล้วหันมามองทางนายหลิ่ม ซึ่งนั่งอ้าปากค้างอยู่

เลียบฝั่งแม่น้ำยม อันแห้งขอดขึ้นไปทางเหนือเหมือนครั้งที่แล้ว มุ่งหน้าตรงเข้า วัดบางคลาน ทันที พบพระอยู่หน้าวัด เสด็จในกรมถามว่า หลวงพ่ออยู่หรือเปล่า ก็ได้รับคำตอบว่า อยู่ที่กุฏิพลางชี้มือไปที่กุฏิ เสด็จในกรมจึงมุ่งหน้าตรงไปที่กุฏิทันที แต่ก็พบกับความว่างเปล่า ไม่มีหลวงพ่อเงินบนกุฏิ ไม่มีหลวงพ่อเงินในบริเวณวัด พระเณรช่วยกันหาเป็นเวลานานก็ไม่พบหลวงพ่อ

เสด็จในกรมนั่งคอยอยู่ที่กุฏิ จนเย็นเห็นว่าไม่พบแน่ จึงสั่งคนนำทางและนายหลิ่มให้เดินทางกลับในวันนั้น ข้ามแม่น้ำยมมายังฝั่งชุมแสง พักแรมอยู่ในละเมาะไม้ใกล้ชายฝั่ง แล้วตรัสกับนายหลิ่มว่า “พรุ่งนี้เช้ากลับแน่ พักนครสวรรค์สักสองคืนแล้วเข้ากรุง”

เช้าวันรุ่งขึ้นในตอนสาย เสด็จในกรมถามหาสิ่งของที่ให้นายหลิ่มซื้อมาจากนครสวรรค์ เมื่อได้ของครบแล้ว บอกให้นายหลิ่มไปคอยที่ริมฝั่งแม่น้ำ แล้วเสด็จในกรมหายเข้าไปในป่าสักครู่ ก็ออกมาที่ริมฝั่งแม่น้ำยม ฝั่งตรงข้ามหน้าวัดในชุดชาวจีนหาบของสวมหมวกกุ้ยเล้ย บอกให้นายหลิ่มเดินตามหลังไปห่างๆ แล้วเสด็จข้ามแม่น้ำยม มุ่งไปยังวัดบางคลานทันที ถึงศาลาหน้าวัดเห็นพระแก่รูปร่างใหญ่โต ลักษณะท่าทางน่าจะเป็น หลวงพ่อเงิน นั่งหันหลังออกมาฝั่งที่ขึ้นไป ตัดสินพระทัยแน่นอนว่า ต้องเป็น หลวงพ่อเงิน แน่ จึงรีบวางหาบของแล้ววิ่งเข้าไปทางข้างหลัง เมื่อถึงจึงโอบมือรัดเอวเอาไว้แน่น พลางตรัสขึ้นด้วยเสียงอันดังว่า

“ได้หลวงพ่อแล้ว ได้หลวงพ่อแล้ว”

หลวงพ่อหันหน้ามามอง แล้วเอ่ยขึ้นด้วยเสียงอันดังเช่นกันว่า

“เสียท่าเขาแล้ว เสียท่าเขาเข้าแล้ว”

เสด็จในกรมก้มเข้ากราบหลวงพ่อเงิน พอเงยหน้าขึ้นมาหลวงพ่อเงินได้พูดว่า

“วันนี้เป็นยามดี ที่เราจะได้พบกับลูกศิษย์ท่านศุข นี่พยายามดีเหลือเกิน”

จากนั้นหลวงพ่อเงินได้เดินนำเสด็จในกรมขึ้นไปบนกุฏิ เมื่อถึงบนกุฏิได้นั่งสนทนาถามถึงทุกข์สุขของหลวงพ่อศุขว่าเป็นอย่างไรบ้าง อยู่พอสมควร หลวงพ่อเงินก็เอ่ยขึ้นกับเสด็จในกรมว่า

“คอยสักครู่เถอะ ฉันจะสรงน้ำก่อน”

หลวงพ่อเงินพูดแล้วลุกขึ้นจากที่นั่งเดินหายเข้าไปในกุฏิ เป็นเวลาไม่กี่อึดใจ ก็ปรากฏเสียงดัง “กริ๊ก กริ๊กๆๆ” ขึ้นที่กาน้ำซึ่งวางอยู่ข้างเสากลางกุฏิ ทั้งเสด็จในกรมและนายหลิ่มหันไปที่กาน้ำนั้นทันที เสียง “กริ๊ก กริ๊ก กริ๊ก” ยังดังอยู่ต่อไป ทำความแปลกใจให้เสด็จในกรมอย่างยิ่ง จึงอดทนต่อความสงสัยต่อไปไม่ได้ ตรงเข้าไปที่กาน้ำนั้นทันที พลางเปิดฝาออกดูว่ามีสิ่งใดอยู่ภายใน ทันทีที่เสด็จในกรมเปิดฝาออกก็ถึงกับพรึงเพริดพระทัยแทบไม่เชื่อสายตาตนเอง ร้องเรียกว่า

“ไอ้หลิ่มมาดูอะไรนี่ซิ” นายหลิ่มรีบตรงเข้าไปก้มมองดูในกา ถึงกับอ้าปากค้างพูดอะไรไม่ถูก เพราะว่าภาพที่ปรากฏในกาน้ำใบนั้นคือ

ร่างของหลวงพ่อเงินขนาดเล็กเท่าปลายนิ้วก้อย มือกำลังสรงน้ำถูเนื้อถูตัวอยู่อย่างขะมักเขม้น น้ำในกากระเพื่อมไปมา จนกระฉอกกระเด็นออกมานอกกาน้ำ

เสด็จในกรมค่อยๆ ปิดฝากาลงอย่างฉงนพระทัยเป็นอย่างยิ่ง พลางตรัสกับนายหลิ่มว่า

“ไม่เสียเที่ยวที่มาเมืองพิจิตร หลวงพ่อท่านพูดไว้ถูกทีเดียวว่า จะได้ดูของแปลกๆ นอกเหนือจากท่านก็ให้มาที่นี่”

มงคลหมา 20 ประการ

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ได้เคยยกเรื่องความดีของสุนัข ซึ่งท่านเรียกว่า “มงคลหมา” หลวงปู่กล่าวว่าบางครั้งสัตว์ยังดีกว่าบางคน และสัตว์แต่ละชนิดก็มีดีอยู่ในตัวเอง เนื้อความตามหนังสือกล่าวว่า…

เรื่องที่หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ชอบพูดประกอบในเวลาที่ท่านสั่งสอนศิษย์ หรือบางครั้งในการแสดงพระธรรมเทศนา ท่านมักจะยกเรื่องความดีของสุนัข ซึ่งท่านเรียกว่า มงคลหมา หลวงปู่ ได้พิจารณาเกี่ยวกับสัตว์ ซึ่งเป็นสายของสัตว์โลก มีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เหมือนกัน

หลวงปู่บอกว่าบางครั้งสัตว์ยังดีกว่าคนบางคนเลยอีก สัตว์ทุกจำพวกมันมีดีประจำอยู่ในตัวของมัน ตามภูมิของมัน การพิจารณาชีวิตของสัตว์อันเป็นเครือของวัฎฏสงสารเหมือนกันนี้ เป็นการหาอุปมาเครื่องเปรียบเทียบ

ดังนั้นเวลามีโลกธรรมครอบงำ เราก็สามารถพิจารณาหาเหตุผลมายับยั้งชั่งใจได้ เช่น ถ้าใครเขาด่าเปรียบเปรย ว่าเราเป็นหมา ก็ไม่น่าจะโกรธ เพราะหมาก็มีความดีหลายอย่าง

หลวงปู่ดื้อท่านบอกว่า ลองพิจารณาดูให้ดี จะเห็นว่าหมาก็มีมงคล คือ ความดีประจำตัว อย่างน้อยก็ ๒๐ ประการ คือ

๑. หมาวิ่งได้เร็ว คนวิ่งตามไม่ทัน

๒. หมาเดินกลางคืนได้ ไม่ต้องจุดไฟ

๓. หมาเข้าป่าหนามไม่ปักตีน

๔.. หมามีจมูกเป็นทิพย์

๕. หมากินอาหารได้ไม่เลือก

๖. เวลาเยี่ยวมันยกขาไหว้ธรณี

๗. ก่อนนอนหมาเดินเวียนสามรอบ

๘. เวลาสืบพันธุ์ หมาไม่รู้จักอาย

๙. หมารู้จักเจ้าของดี

๑๐. ถ้ามีแขกแปลกหน้ามา หมามันเห่า

๑๑. หมาออกลูกไม่ต้องมีแม่หมอ

๑๒. หมากินอาหารก้างไม่ติดคอ

๑๓. หมาไม่เคยห่มผ้า

๑๔. เวลานอนหมาไม่หนุนหมอน

๑๕. หมาไม่ต้องปูที่นอน

๑๖. หมากินข้าวแล้วไม่ต้องกินน้ำ

๑๗. หมาไม่ต้องคิดบุญคิดบาป

๑๘. หมานอนตากแดดได้นานถึง ๓ ชั่วโมง

๑๙. ไม่ถึงฤดูกาลไม่มีการสืบพันธุ์

๒๐. หมาตกน้ำไม่ตาย ว่ายน้ำได้เร็วกว่าคน

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม

หลวงปู่ท่านบอกว่า คนเราหากไม่มีดีก็สู้สัตว์ไม่ได้ และจะถูกตราหน้าว่าเป็นคนประพฤติถอยหลัง ไม่สมกับที่เกิดมาเป็นมนุษย์ หมาบางตัวที่เขาเลี้ยงไว้ มียศถึงนายพันเอกมีเงินเดือนหลายพันบาท ใครจะว่าหมาไม่ดีก็ว่าไม่ได้

ลูกสาวคุณนายเลี้ยงมาแต่เล็กๆ หมดเงินเป็นแสน เวลาโตขึ้นมาทำให้พ่อแม่ต้องเสียใจ ต้องลำบาก เดือดร้อนเนรคุณก็มี เรื่องเช่นนี้ไม่มีในหมา

หลวงปู่ยกมงคลหมาขึ้นมาแสดง เพื่อให้เราเห็นเป็นเครื่องเปรียบเทียบว่า คนเราถ้าไม่มีศีลธรรมก็ไม่ต่างอะไรจากสัตว์ เพราะมีการกิน การนอน การสืบพันธุ์ เหมือนกัน ก็เท่านั้น

ประวัติวัดเกตุการาม

พระบรมธาตุเจดีย์วัดเกตุการาม

ตามศิลาจารึก วัดเกตุการามได้สร้างเมื่อสมัยกษัตริย์ราชวงค์มังรายพญาสามฝั่งแกน พระราชบิดาของพญาติโลกราช ชื่อเดิมคือวัดสระเกษ พญาสามฝั่งแกนโปรดฯให้พระยาเมือง พระยาคำ และพระยาลือ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1971 ภายในวัดมีพระเจดีย์เกศแก้วจุฬามณี ซึ่งเป็นที่สักการะของชุมชน เป็นจีดีย์บูชาโดยผู้ที่เกิดในปีของสุนัขตามราศีจีน พระเจดีย์เกศแก้วจุฬามณี เป็นเจดีย์ ประธานทรงระฆังแบบล้านนา ซึ่งจำลองจากพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาว์ดึงส์ เพื่อให้สาธุชนได้สัการะ ฐานเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยวแบบย่อเก็จ มีซุ้มจระนำประดิษฐานองค์พระทั้งสี่ทิศ ส่วนบนตั้งแต่ปากระฆังถึงปลียอดประดับด้วยทองจังโกดุนลาย โดยรอบมีเจดีย์บริวารทั้งสี่มุม

นอกนั้นมีพระวิหารที่หาดูได้ยาก เป็นอาคารที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 9 ห้อง มีเสาคู่ในรองรับหลังคาหน้าจั่ว และเสาคู่นอกรับแนวหลังคา ปีกนกย่อเก็จ สามตอน ในแนวตะวันออก-ตก หน้าบันประดับลวดลายแกะสลักลายพรรณพฤกษา ปิดทองนาคะตัน เป็นไม้แกะสลักลวดลายเครือเถาบัวหัวเสาประดับด้วยแก้วอังวะ ตัวเสามีลายทอง หางหงส์ ประดับด้วยไม้เป็นรูปนาคลำยอง ประดับด้วยแก้วอังวะ ลงรักปิดทอง มีประตูทางเข้าสามทาง หลังคาทรงจั่ว เรียงซ้อนกัน 5 ชั้น 2 ตับ และเนื่องด้วย ชุมชนอยู่ในย่านการค้าเก่าของชาวจีนที่ตั้งอยู่ริมน้ำปิง สิ่งก่อสร้างในยุคหลังที่ได้บูรณะขึ้น จึงมีศิลปะจีนปนอยู่

พระบรมธาตุเจดีย์เกศแก้วจุฬามณี สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระธาตุประจำปีนักษัตรปีจอ (หมา)

พระบรมธาตุเจดีย์เกศแก้วจุฬามณี สวรรค์ชั้นดาวดึงส์

พระธาตุประจำปีจอ (หมา) พระธาตุประจำปีนี้ เดิมเป็นพระบรมธาตุเจดีย์เกศแก้วจุฬามณี ซึ่งเชื่อกันว่าประดิษฐานอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ต่อมาภายหลังได้มีการสร้าง พระธาตุอินทร์แขวน ประเทศพม่า หรือพระบรมธาตุเจดีย์วัดเกตุการาม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ จึงใช้พระธาตุนี้ในการสักการะแทน

สำหรับคนที่เกิดในปีนักษัตร ปีจอ หรือปีหมา ท่านสามารถกราบนมัสการพระธาตุประจำปีเกิดเพื่อเป็นศิริมงคล คือ พระบรมธาตุเจดีย์เกศแก้วจุฬามณี ซึ่งเป็นเจดีย์ที่อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นสวรรค์ที่อยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ เป็นเจดีย์ที่บรรจุ เครื่องทรงและพระเมาฬีของเจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งทรงสละทิ้งเมื่อคราวออกผนวช และยังเป็นที่เก็บรักษาพระเขี้ยวแก้ว ของพระพุทธองค์ หลังการถวายพระเพลิงพระบรมศพอีกด้วย

เมื่อเจดีย์จุฬามณีเป็นเจดีย์ที่อยู่ไกลถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จึงมีการสมมติให้เจดีย์องค์หนึ่งในประเทศพม่า เป็นที่กราบ ไหว้แทน ซึ่งตามพุทธประวัติกล่าวไว้ว่าเป็นเจดีย์ที่ประดิษฐานพระทันตธาตุที่พระอินทร์นำมาจากพระบรมธาตุที่โทณพราหมณ์ได้แอบซ่อนไว้ เมื่อครั้งมีการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าให้เจ้าเมืองต่าง ๆ และมีตำนานเล่าว่าพระอินทร์เป็นผู้นำลามาแขวนไว้ริมหน้าผาให้ผู้คนบูชา คนไทยจึงเรียกเจดีย์องค์นี้ว่า “พระธาตุอินทร์แขวน”

พระธาตุอินทร์แขวน ตั้งอยู่บนก้อนหินสูง ๕.๕ เมตร ใต้พระเจดีย์ี่เป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุ โดยอนุญาต ให้เฉพาะ ผู้ชายเท่านั้นที่จะข้ามเข้าไปกราบและปิดทองถึงองค์พระธาตุได้

สำหรับในประเทศไทย นอกจากนมัสการด้วยการบูชารูปแล้ว เพื่อความสะดวกในการเดินทางเพื่อกราบไหว้ ยังสามารถเดินทางมากราบนมัสการได้พระบรมธาตุเจดีย์วัดเกตุการาม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เพราะชื่อของวัด ออกเสียงพ้องกับพระเกศแก้วจุฬามณีเจดีย์

พระบรมธาตุเจดีย์วัดเกตุการาม
พระบรมธาตุเจดีย์วัดเกตุการาม

วัดเกตุการามตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิง ในเขตย่านการค้าของชาวต่างชาติ ตามประวัติว่าสร้างโดยพญาสามฝั่งแกน เมื่อ พ.ศ. ๑๙๗๑ แต่พระเจดีย์ได้พังทลายลงในปี พ.ศ.๒๑๒๑ พระสุทโธรับสั่งให้สร้างขึ้นใหม่ให้เป็น เจดีย์ทรงลังกา แบบล้านนา นอกจากนี้ภายในวัดยังมีพระวิหารใหญ่ที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ และพิพิธภัณฑ์เก็บของใช้พื้นบ้านให้ชม (เปิด ๘.๐๐ -๑๖.๐๐ น.)

นอกจากนี้การลอยโคมก็ถือเป็นการบูชาพระเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์อีกวิธีหนึ่งของชาวล้านนา

คำนมัสการพระธาตุวัดเกตุการาม จังหวัดเชียงใหม่ (ตั้งนโม 3 จบ)
ตาวะติงสายะ ปุรัมเม เกสะจุฬามะณี สะรีระปัพพะตา ปูชิตาสัพพะ เทวานัง ตังสิระสา ธาตุอุตตะมัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา

คำแปล ข้าพเจ้าขอวันทาพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี ที่ประดิษฐ์ที่อยู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของปวงเทพยดา ด้วยเศียรเกล้า ตลอดทุกเมื่อแลฯ