ประวัติ หลวงพ่อเงินพุทธโชติ

หลวงพ่อเงิน พุทธโชติ พระเกจิอาจารย์เลื่องชื่อด้านไสยเวทแห่งเมืองพิจิตร ได้รับยกย่องเป็นเทพเจ้าแห่งอำเภอโพทะเล พุทธคุณที่เล่าสืบทอดกันมา วัตถุมงคลท่านเด่นทางด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาด ให้คุณโชคลาภ เงินทองไหลมาเทมา ค้าขายเจริญรุ่งเรือง การเดินทางปลอดภัย สยบศัตรูหมู่มารทั้งปวง

หลวงพ่อเงินมีนามเดิมว่า เงิน (สมัยนั้นยังไม่มีนามสกุล) เกิดวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2353 ตรงกับวันศุกร์ เดือน 10 ปีฉลู บิดาชื่อ อู๋ เป็นชาวบ้านบางคลาน จ.พิจิตร มารดาชื่อ ฟัก ชาวอำเภอขาณุวรลักษณ์บุรี (เดิมเป็นอำเภอแสนตอ) จ.กำแพงเพชร ตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ไปอยู่กับลุงชื่อนายช่วงที่กรุงเทพฯ เข้าเรียนที่บ้านตองปุ (วัดชนะสงคราม) จังหวัดพระนคร ครั้นอายุ 12 ก็บรรพชาเป็นสามเณร ศึกษาธรรมวินัย เวทย์วิทยาการต่างๆ แตกฉาน ก่อน อุปสมบทเป็นพระภิกษุ จำพรรษาที่วัดตองปุ ร่ำเรียนวิปัสสนา 3 พรรษา จากนั้นมาอยู่วัดคงคาราม (วัดบางคลานใต้) 1 พรรษา ขณะนั้นหลวงพ่อพระอุปัชฌาย์เป็นเจ้าอาวาสอยู่ ท่านเป็นพระเรืองวิชา ชอบเล่นแร่ แปรธาตุ แต่หลวงพ่อเงินเคร่งธรรมวินัย ชอบความสงบ ท่านจึงย้ายออก

กล่าวกันว่าเมื่อจากวัดคงคารามมา ท่านปลูกกุฏิไม้ไผ่มุงหลังคาด้วยแฝกอยู่องค์เดียว และพร้อมกันนั้นได้นำกิ่งโพธิ์มาปักไว้ที่ริมตลิ่ง แล้วอธิษฐานว่า ถ้าท้องถิ่นนี้จะเจริญรุ่งเรืองเป็นอารามต่อไป ขอให้โพธิ์งอกงามแผ่กิ่งก้านสาขาเป็นนิมิตดีต่อไปด้วย เหตุการณ์เป็นจริงดังอธิษฐานไว้ คือปรากฏ วัดวังตะโก เกิดขึ้น โดยหลวงพ่อท่านสร้างเมื่อ พ.ศ.2377 วัดวังตะโก หรือวัดหิรัญญาราม เจริญอย่างรวดเร็ว มีผู้คนเคารพนับถือและถวายตัวเป็นศิษย์ ขอมาฟังธรรม ขอเครื่องรางของขลัง และขอให้หลวงพ่อช่วยรักษาโรคให้ ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์และสมณศักดิ์เป็นเจ้าคุณฝ่ายวิปัสสนา

ชื่อเสียงหลวงพ่อท่านโด่งดังอย่างยิ่ง สาธุชนเลื่อมใสศรัทธา เข้านมัสการท่านมิได้ขาดสาย เล่ากันมาว่า ครั้งที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ทรงศึกษาวิชาในสำนักหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท จนเสร็จสิ้นแล้ว ท่านได้ตรัสถามหลวงปู่ศุขถึงพระอาจารย์ทางวิทยาคม หลวงปู่ศุขตอบว่า “ยังมีอยู่รูปหนึ่งที่พิจิตร คือหลวงพ่อเงิน วัดท่านั่ง บางคลาน ที่ชำนาญทางกสิณยิ่งนัก พระองค์ท่านน่าขึ้นไปขอคำชี้แนะ” กรมหลวงชุมพรฯ จึงเสด็จไปฝากตัวเป็นศิษย์

นอกจากนั้น สมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณ วชิโรรสทรงปกครองคณะสงฆ์ ได้เสด็จไปประทับ ณ วัดบางคลานหลายครั้ง ทรงตรัสชมเชยการปกครองและระเบียบปฏิบัติของหลวงพ่อเงินเป็นอันมาก แล้วทรงสถาปนาหลวงพ่อเงินพุทธโชติ เป็นพระอุปัชฌาย์กิตติมศักดิ์ด้วย

เมื่อมาอยู่วัดวังตะโกและได้พัฒนาวัดจนรุ่งเรือง เป็นที่รู้จักกันไปทั่วว่า หลวงพ่อเงินสามารถรู้ผู้มาเยือนด้วยญาณวิเศษได้อย่างมหัศจรรย์ และยังเป็นหมอที่เชี่ยวชาญในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้อย่างชะงัด สำหรับวัตถุมงคลที่ได้รับความนิยม หลวงพ่อท่านได้สร้างและปลุกเสกไว้หลายชนิด ทั้งพระรูปหล่อ เหรียญหล่อ พระเนื้อดิน และตะกรุด โดยที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ รูปหล่อและเหรียญหล่อ รูปหล่อหลวงพ่อเงิน เป็นพระเนื้อโลหะผสมประเภททองเหลือง มี 2 พิมพ์ คือ พิมพ์นิยมและพิมพ์ขี้ตา สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ.2460 ส่วนเหรียญหล่อหรือเหรียญจอบ มีทั้งพิมพ์จอบใหญ่และพิมพ์จอบเล็ก

หลวงพ่อเงิน พุทธโชติ มรณภาพเมื่อ พ.ศ.2464 สิริอายุ 111 ปี

พระครูสมุห์พินิต

พระครูสมุห์พินิต

ท่านเป็นชาวเพชรบูรณ์ เกิดวันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 ตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 (วันวิสาขบูชา) บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 8 ขวบเศษ เป็นศิษย์หลวงพ่ออุตตมะวัดวังวิเวการาม กาญจนบุรี, หลวงพ่อพูล วัดไผ่ล้อม นครปฐม, หลวงปู่ขุ้ย วัดซับตะเคียน เพชรบูรณ์, หลวงปู่เทียน อกาลิโก(สายหลวงปู่มั่น) ชัยภูมิ, หลวงปู่สรวง เทวดาเล่นดิน และพระเกจิอาจารย์อื่นๆ ทั้งเรียนโดยตรงและเรียนจากตำราอีกเกือบ 40 ท่าน อาทิ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า, หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพธิ์, หลวงปู่รุ่ง วัดท่ากระบือ ฯลฯ ในครั้งที่ธุดงค์ในจังหวัดชัยภูมิ ได้มีโอกาสพบกับหลวงปู่เทพโลกอุดร ซึ่งท่านได้เมตตา ปรับขันธ์ธาตุทำให้เกิดความสมดุล จึงทำให้พระอาจารย์สามารถรวมวิชาคาถาอาคมต่างๆ เข้าเป็นหนึ่งเดียวกันได้ ส่งผลให้วัตถุมงคลที่ท่านอธิษฐานจิตมีพุทธคุณครอบคลุมในทุกด้านทั้งเมตตามหานิยม โชคลาภมหาอำนาจ แคล้วคลาดคงกระพันชาตรี และมหาอุด

พระอาจารย์ตี๋เล็ก ธุดงค์เพื่อปฏิบัติธรรมตั้งแต่ยังเป็นสามเณรจวบจนปัจจุบัน โดยธุดงค์ทั้งในป่าแถบเหนือ อิสาน กลาง และพม่า ในระหว่างการธุดงค์นอกจากจะพบสถานที่สงบสำหรับฝึกปฎิบัติธรรม และกำจัดกิเลสแล้ว ยังทำให้การเจริญวิปัสสนากรรมฐานของท่านเจริญรุดหน้าตามลำดับ นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสพบปะและศึกษาวิปัสสนากรรมฐานเพิ่มเติม และศึกษาวิชาอาคมกับพระอริยสงฆ์หลายรูป

ในคราวที่ท่านไปศึกษาอยู่กับหลวงปู่สรวง เทวดาเล่นดิน จ. ศรีษะเกษ เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน โดยศึกษาวิชาอาคมต่างๆ จากหลวงปู่สรวงในลักษณะที่เป็นปริศนาธรรม ซึ่งพระอาจารย์ตี๋เล็กสามารถศึกษาได้ทั้งหมด (พระธุดงค์ที่ร่วมไปด้วยได้เฉพาะวิชาอาคม) จึงทำให้วัตถุมงคลของท่านมีพุทธคุณทางเมตตามหานิยม โภคทรัพย์ และโชคลาภเป็นเลิศด้วย

ประวัติหลวงปู่คำพันธ์

ประวัติ หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ วัดธาตุมหาชัย ต.มหาชัย อ.ปลาปาก จ.นครพนม (หลวงปู่สอนธรรม)

ประวัติ หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ วัดธาตุมหาชัย ต.มหาชัย อ.ปลาปาก จ.นครพนม (หลวงปู่สอนธรรม)

๏ สถานะเดิม

พระเดชพระคุณพระสุนทรธรรมากร (หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ) อดีตเจ้าอาวาสวัดธาตุมหาชัย บ้านมหาชัย ต.มหาชัย อ.ปลาปาก จ.นครพนม “ เทพเจ้าลุ่มน้ำโขง” ผู้เรืองธรรม มีปฐวีกสิณเป็นเอก เล่นแร่แปรธาตุจนดังสนั่น ชื่อเสียงเลื่องลือ ๒ คาบฝั่งโขง เป็นสมัญญานามที่ผู้คนต่างรู้จักดี

ท่านมีนามเดิมว่า คำพันธ์ ศรีสุวงค์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๘ ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๒ ปีเถาะ ณ บ้านหมู่ที่ ๔ ต.นาแก อ.นาแก จ.นครพนม โยมบิดาชื่อ นาย เคน ศรีสุวงค์ โยมมารดาชื่อ นางล้อม ศรีสุวงค์ เป็นบุตรคนโต มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดาเดียวกัน ๒ คน คือ
( ๑) พระเดชพระคุณพระสุนทรธรรมากร ( คำพันธ์ ศรีสุวงค์)
( ๒) นาย พวง ศรีสุวงค์

วัยเด็กเป็นคนขยันขันแข็ง ช่วยโยมบิดา-มารดาทำนา อุปนิสัยเป็นคนเรียบง่าย เรียบร้อย พูดน้อย จบการศึกษาภาคบังคับ ป. ๔ จากโรงเรียนบ้านโพนคู่ ต.พุ่มแก อ.นาแก จ.นครพนม

๏ การบรรพชาและอุปสมบท

วันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๕ (อายุ ๑๗ ปี) ได้เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดศรีบุญเรือง บ้านหนองหอย ต.นาแก อ.นาแก จ.นครพนม โดยมีพระอาจารย์เชื่อม เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากบรรพชาแล้ว ก็ได้ศึกษาอักษรธรรม และหนังสือสูตรคามแบบโบราณ ในขณะเดียวกันก็ได้ฝึกปฏิบัติกัมมัฎฐานควบคู่ไปด้วย

หลังจากบรรพชาเป็นสามเณรได้ ๓ พรรษา ก็ออกเดินธุดงค์ทรงกรดไปที่จังหวัดเลย พร้อมกับพระภิกษุ ๒ รูป คือ พระภิกษุบุญ และพระภิกษุวัน ก่อนหน้าที่จะได้ฝึกปฏิบัติกัมมัฏฐานนั้น เคยได้รับความรู้เรื่องกัมมัฏฐานมาจาก ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ซึ่งท่านไปอบรมสั่งสอนประชาชนที่วัดโพนเมือง จ.อุบลราชธานี

ท่านพระอาจารย์เสาร์ ให้แนวทางในการปฏิบัติกรรมฐานไว้ว่า “ ให้กำหนดลมหายใจเข้า-ออก” และได้ให้ข้อคิดต่อไปอีกว่า “ ร่างกายของคนเรานั้นเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง มันทำงานอยู่ตลอดเวลา ลมหายใจเข้า-ออกนั้น มีความสำคัญมาก ถ้าลมไม่ทำงานคนเราจะตายทันที ดังนั้นจึงจำเป็นต้องกำหนดลมหายใจ”

นอกจากนั้นท่านพระอาจารย์เสาร์ยังได้ย้ำอีกว่า “ ให้คนเราตีกลองคือขันธ์ ๕ ให้แตก” ซึ่งก็หมายความว่า ท่านให้ทำความเข้าใจขันธ์ ๕ ให้จงดี ให้เข้าใจตามสภาพที่เป็นจริง

หลวงปู่ได้ศึกษาภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติกับท่านพระอาจารย์เสาร์ประมาณ ๑ ปี และได้ยึดแนวทางของท่านเป็นแนวทางในการปฏิบัติเรื่อยมา นับแต่นั้นต่อมาก็ได้ไปศึกษาและปฏิบัติธรรมร่วมกับ อาจารย์ครุฑ ซึ่งเป็นพระขาว (ปะขาว) และได้รับความรู้ในเรื่องการปฏิบัติธรรมจากท่านอาจารย์ครุฑนี้เพิ่มเติมเป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นหลวงปู่คำพันธ์ก็ได้นำเอาแนวทางการปฏิบัติของอาจารย์ทั้ง ๒ มาเป็นแนวทางปฏิบัติกัมมัฎฐาน

หลวงปู่ได้จำพรรษาอยู่ที่จังหวัดเลย เป็นเวลา ๑ พรรษา หลังจากนั้นได้เดินธุดงค์ไปยังจังหวัดเชียงราย ประมาณ ๓-๔ เดือน ต่อมาได้รับข่าวโยมบิดาได้เสียชีวิตลง หลวงปู่จึงได้เดินทางกลับมาทำบุญงานศพบิดาและมาอยู่จำพรรษาที่บ้านเดิม คืออำเภอนาแก

พ.ศ. ๒๔๗๘ อายุ ๒๐ ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ และเริ่มศึกษาพระปริยัติธรรม

พ.ศ. ๒๔๘๒ อายุ ๒๔ ปี มารดาก็ถึงแก่กรรม เวลานั้นเหลือน้องผู้หญิง ๒ คน ซึ่งยังเล็กมาก จึงได้ลาสิกขาบทออกไปเลี้ยงดูน้อง

วันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๘ อายุ ๓๐ ปี ได้กลับเข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุอีกครั้ง ณ พัทธสีมาวัดโพธิ์ชัย บ้านพุ่มแก ต.พุ่มแก อ.นาแก จ.นครพนม ได้รับนามฉายาว่า “ โฆสปัญโญ” ซึ่งแปลว่า “ ผู้มีปัญญาระบือไกล” และได้ออกไปจำพรรษาที่วัดป่าเป็นเวลา ๓ พรรษา

ต่อมาก็ได้ปฏิบัติกัมมัฏฐานพร้อมเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมด้วย ที่วัดพระพุทธบาทจอมทอง บ้านหนองหอยใหญ่ ต.นาแก อ.นาแก จ.นครพนม

หลังจากนั้นได้เดินธุดงค์ไปยังสถานที่ต่างๆ ในเขตจังหวัดนครพนม จังหวัดสกลนคร จังหวัดอุดรธานี จังหวัดหนองคาย และข้ามไปฝั่งลาวประมาณ ๓-๔ เดือน แต่ไม่ได้จำพรรษา แต่กลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านเดิม อยู่ประมาณ ๓ ปี และญาติโยมชาวบ้านก็นิมนต์ท่านให้เข้ามาอยู่จำพรรษาที่วัดบ้าน เพื่อโปรดญาติโยมชาวบ้านบ้าง หลังจากออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ก็ออกเดินธุดงค์ต่อ จนอายุถึง ๔๐ ปี จึงหยุดเดินธุดงค์ แต่ก็พยายามศึกษาปฏิบัติธรรมกัมมัฎฐานมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน

พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้นำญาติโยมประมาณ ๕ ครอบครัว จากบ้านหนองหอยใหญ่ ต.นาแก อ.นาแก มาสร้างบ้านและวัดใหม่ที่โนนมหาชัย ให้ชื่อบ้านว่า “ บ้านมหาชัย” ในปัจจุบันนี้ และได้สร้างวัดใหม่ คือ “ วัดธาตุมหาชัย” ( เดิมชื่อ วัดโฆษการาม) จนเจริญรุ่งเรืองตราบถึงปัจจุบั

๏ การศึกษา

พ.ศ. ๒๔๗๒ สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ที่โรงเรียนบ้านโพนดู่ บ้านโพนดู่ ต.พุ่มแก อ.นาแก จ.นครพนม

พ.ศ. ๒๔๗๙ อายุ ๒๒ ปี สอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี สำนักเรียนคณะจังหวัดนครพนม วัดพระพุทธบาทจอมทอง บ้านหนองหอยใหญ่ อ.นาแก จ.นครพนม

พ.ศ. ๒๔๘๘ อายุ ๓๐ ปี สอบไล่ได้นักธรรมชั้นโท สำนักเรียนคณะจังหวัดนครพนม วัดพระพุทธบาทจอมทอง บ้านหนองหอยใหญ่ อ.นาแก จ.นครพนม

พ.ศ. ๒๔๘๙ อายุ ๓๑ ปี สอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก สำนักเรียนคณะจังหวัดนครพนม วัดพระพุทธบาทจอมทอง บ้านหนองหอยใหญ่ อ.นาแก จ.นครพนม

๏ การศึกษาพิเศษ

– ได้ศึกษาอักษรธรรม อักษรขอม อักษรไทยน้อย อ่านเขียนได้คล่องแคล่ว และมีความชำนาญมาก

– ทรงจำพระปาฏิโมกข์ได้แม่นยำ เป็นพระผู้สวดพระปาฏิโมกข์ในวันทำสังฆกรรมอุโบสถ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๐ เรื่อยมา

๏ ความชำนาญการ

– มีความชำนาญการแสดงพระธรรมเทศนาโวหาร บรรยายธรรม เทศนาธรรม และเทศนาธรรมแบบปุจฉาวัสัชนา ๒ ธรรมาสน์ จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วเขตอีสานเหนือ ยากที่จะหาพระธรรมกถึกรูปอื่นเสมอเหมือนในสมัยนั้น

– มีความชำนาญการเทศนาธรรม ทำนองแหล่ภาษาอีสาน มีความสามารถในการประพันธ์กลอนแหล่ทำนองอีสานได้ เช่น กลอนอัญเชิญพระเวสสันดรเข้าเมือง, พระเวสสันดรทรงพบพระประยูรญาติ, พระเวสสันดรลาป่า, นางมัทรีเดินป่า เป็นต้น

– เป็นพระวิปัสสนาจารย์ใหญ่ สายพระอาจารย์ เสาร์ กนฺตสีโล พระอาจารย์ มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ ฝั้น อาจาโร ให้การอบรมวิปัสสนากรรมฐานประจำที่วัดป่ามหาชัย

วัดป่ามหาชัย เป็นวัดที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ ใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมประชาชน เมื่อปี ๒๕๒๙ เป็นต้นมา และได้พระภิกษุจากอาวาสต่างในจังหวัดนครพนม สนใจแนวทางการปฏิบัติกรรมฐาน เข้ามาเรียนรู้และลองปฏิบัติ เกิดความเข้าใจในหลักพระกรรมฐาน ได้นำไปเผยแผ่ในเขตอาวาสของตน การปฏิบัติธรรมกรรมฐาน ได้แพร่หลายในจังหวัดนครพนม จนถึงปัจจุบัน และยังได้นำพาศิษยานุศิษย์ จัดปฏิบัติธรรมกรรฐานในสถานที่ต่างๆ

วัดป่ามหาชัย จึงเป็นวัดต้นแบบของการฝึกปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ในเขตจังหวัดนครพนม (ประวัติวัดป่ามหาชัย)

– มีความชำนาญการด้านนวัตกรรม การออกแบบก่อสร้างเสนาสนะ ทั้งงานไม้ งานปูน โดยเป็นผู้นำในการก่อสร้างกุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ และพระธาตุมหาชัย (การก่อสร้างครั้งแรกๆ ทำเองทั้งหมด เพราะสมัยนั้นไม่มีช่างผู้ชำนาญการ และเงินงบประมาณมีไม่เพียงพอ)

๏ ลักษณะนิสัยทั่วไป

พระเดชพระคุณหลวงปู่เป็นพระมหาเถระ ที่มีอัธยาศัยใจคอกว้างขวาง เยือกเย็น มีความเมตตา กรุณาต่อศิษยานุศิษย์ ตลอดถึงญาติโยมทุกคนที่เข้าหาท่าน ใครก็ตามที่มีปัญหา หรือมีความทุกข์เข้าหาท่าน จะได้รับการต้อนรับจากท่านอย่างดียิ่ง เสมอกันหมด ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใครก็ตาม ต่อครูบาอาจารย์และพระเถระที่อาวุโสกว่า หลวงปู่จะแสดงอาการอ่อนน้อมถ่อมตนเสมอ โดยไม่เคยจะแสดงอาการแข็งกระด้างใดๆ เลย ด้วยเหตุนี้หลวงปู่จึงเป็นที่เคารพนับถือของศิษยานุศิษย์และญาติโยมโดยทั่วไปเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้แล้ว หลวงปู่ก็ยังเป็นพระเถระที่มีความตั้งใจมั่นคงหนักแน่นอีกด้วย จะเห็นได้จากการที่ท่านตั้งใจจะทำสิ่งใดแล้ว จะต้องทำสิ่งนั้นให้สำเร็จให้จงได้ คงเป็นเพราะความตั้งใจจริงและความตั้งใจมั่นคงนี้เอง ที่ทำให้หลวงปู่ทำสิ่งใดก็สำเร็จลุล่วงด้วยดี และรวดเร็วเกินความคาดหมายทุกประการ

ตัวอย่างเช่น พระธาตุมหาชัย, อุโบสถวัดธาตุมหาชัย, กำแพงล้อมรอบวัดธาตุมหาชัย และกุฏิสงฆ์หลังใหม่ ๒ หลัง ซึ่งสิ่งก่อสร้างแต่ละอย่างล้วนแต่ใช้ค่าก่อสร้างจำนวนมากทั้งสิ้น เมื่อคณะศรัทธาญาติโยมที่มีความเคารพนับถือในตัวหลวงปู่ได้ทราบ ต่างก็มีจิตศรัทธาช่วยกันสละกำลังทรัพย์มาช่วยในรูปของกฐินบ้าง ผ้าป่าบ้าง จนงานก่อสร้างดังกล่าวสำเร็จรวดเร็วเกินคาด

อีกประการหนึ่ง โดยอุปนิสัยแล้ว หลวงปู่ท่านถือการปฏิบัติกัมมัฏฐานเป็นประจำนับตั้งแต่อุปสมบทพรรษาแรก จนกระทั่งมรณภาพ

๏ การมรณภาพ

พระเดชพระคุณพระสุนทรธรรมากร (หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ) ได้ละสังขารอย่างสงบในกุฏิจำพรรษา ด้วยโรคชราภาพ ประกอบกับมีโรคประจำตัวหลายอย่างแทรกซ้อน หลังจากอาพาธมานานหลายปี เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๖ เวลาประมาณ ๐๑.๕๙ น. ณ วัดธาตุมหาชัย สิริรวมอายุได้ ๘๙ พรรษา ๕๙ สร้างความสลดโศกเศร้าให้แก่บรรดาลูกศิษย์ลูกหาที่ใกล้ชิด ตลอดจนพุทธศาสนิกชนทั่วไปที่เลื่อมใสศรัทธาหลวงปู่เป็นอย่างยิ่ง วันนี้…หลวงปู่คำพันธ์ พันธุ์ไม้มีแก่นในตัว ไม่โอ้อวด ไม่ยึดติด ท่านสิ้นใจแต่ไม่สิ้นธรรม

ที่มา http://watpamahachai.com/d1.htm

ประวัติหลวงพ่อโสธร

ประวัติหลวงพ่อโสธร

หลวงพ่อโสธร วัดโสธรวรารามวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา
หลวงพ่อโสธร มีการเล่าขานกันสืบต่อมาว่า ในสมัยล้านช้าง – ล้านนา เศรษฐีพี่น้อง 3 คน ซึ่งอาศัยอยู่ทางเหนือมีจิตเลื่อมใสศรัทธาจะสร้างพระพุทธรูปเพื่อเสริมสร้าง บารมีและเพื่อพูนผลานิสงส์ จึงได้เชิญพราหมณ์มาทำพิธีหล่อพระพุทธรูปปางต่างๆ ตามวันเกิด อันมีปางสมาธิ ปางสะดุ้งมาร และปางอุ้มบาตร แล้วทำพิธีบวงสรวงชุมนุมเทวดาตามโหราศาสตร์ เพื่อทำพิธิปลุกเสกด้วยอันเชิญเข้าสู่วัด

ในกาลต่อมาได้เกิดยุคเข็ญ ขึ้น พม่าได้ยกทัพมาตีไทยหลายครั้งหลานหน จนครั้งสุดท้าย คือ ประมาณครั้งที่ 7 ก็ตีเมืองแตก และได้เผาบ้านเผาเมืองตลอดจนวัดวาอารามต่างๆ หลวงพ่อ 3 พี่น้อง จึงได้ปรึกษากันเห็นว่าเป็นสถานการณ์ขับขัน จึงได้แสดงอภินิหารลงบนแม่น้ำปิง แล้วล่องมาทางใต้ตลอด 7 วัน จนกระทั่งมาถึงแม่น้ำเจ้าพระยาตรงบริเวณที่ปัจจุบันเรียกว่า “สามเสน” จึง ได้แสดงอภินิหารลอยให้ชาวบ้านชาวเมืองเห็น ชาวบ้านนับแสนๆ คน ได้ทำการฉุดหลวงพ่อทั้ง 3 องค์ ถึง 3 วัน 3 คืน ก็ฉุดไม่ขึ้น ตำบลนั้นจึงได้ชื่อว่า “สามแสน” ซึ่งได้เพี้ยนเป็น “สามเสน” ในภายหลัง

หลวง พ่อได้ลอยต่อไปตามลำน้ำบางปะกง เลยผ่านวัดโสธรไปจนถึงใต้คุ้งน้ำใต้วัดโสธร แล้วแสดงอภินิหารให้ชาวบ้านเห็นอีก ชาวบ้านได้ช่วยกันฉุดก็ยังไม่สำเร็จ จึงได้เรียกหมู่บ้านและคลองนั้นว่า “บางพระ” ต่อจากนั้น ก็ลอยทวนน้ำวนอยู่หัวเลี้ยวตรงกองพันทหารช่างที่ 2 สถานที่ลอยวนอยู่นั้นจึงเรียกว่า “แหลมหัววน” และคลองก็ได้ชื่อว่า “คลองสองพี่น้อง” มาจนทุกวันนี้ ต่อ จากนั้นพระพุทธรูปองค์พี่ใหญ่ได้แสดงอภินิหารลอยไปถึงแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม ชาวประมงได้ช่วยกันอาราธนาท่านขึ้นประดิษฐานไว้ ณ วัดบ้านแหลมมีชื่อเรียกกันว่า “หลวงพ่อบ้านแหลม” อีกองค์หนึ่งได้แสดงปาฏิหาริย์ล่องเข้าไปในคลองบางพลี ชาวได้อาราธนาขึ้นประดิษฐานที่วัดบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ มีชื่อเรียกว่า “หลวงพ่อโตบางพลี” พระพุทธรูปองค์สุดท้าย หรือหลวงพ่อโสธรนั้น ได้แสดงอภินิหารลอยมาขึ้นที่หน้าวัดหงส์ ชาวบ้านได้พยายามฉุดขึ้นฝั่งหลายครั้งหลายหน แต่ก็ไม่สามารถอัญเชิญหลวงพ่อขึ้นจากน้ำได้ จนกระทั่งมีอาจารย์ผู้มีความรู้ ทางไสยศาสตร์ผู้หนึ่ง ได้ตั้งศาลเพียงตาาบวงสรวงเอาสายสิญจน์คล้องกับพระหัตถ์พระพุทธรูป และเชิญชวนประชาชนทั้งชาวไทยชาวจีนพร้อมใจกันจับสายสิญจน์ จึงสามารถอาราธนาขึ้นฝั่งได้โดยง่ายใช้คนไม่กี่คน และนำมาประดิษฐานที่วิหารวัดหงส์ได้เป็นผลสำเร็จตามประสงค์เมื่อวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 5 ซึ่ง สันนิฐานว่าน่าจะอยู่ในราวปี พ.ศ.2313 อันเป็นสมัยต้นกรุงธนบุรีนั้นเอง

พระพุทธโสธรเป็นพระ พุทธปฎิมากรปางสมาธิ ประทับอยู่เหนือรัตนบังลังก์ 4 ชั้น ซึ่งปูลาดด้วยผ้าทิพย์ อันมีความหมายถึงการอยู่สูงสุด เป็นพุทธเหนือ พระอริยบุคคล 4 คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์

ตาม ตำนานกล่าวว่า พระพุทธโสธรเดิมเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยสำริดอย่างสวยงามแต่ต่อมา พระสงฆ์ในวัดเห็นว่ากาลต่อไปภายหน้า คนที่กิเลสแรงกล้าจะลักไป เพื่อประโยชน์ส่วนตัว เพื่อความปลอดภัย จึงพอกปูนเสริมให้ใหญ่หุ้มองค์จริงไว้ภายใน

พุทธลักษณะขององค์ หลวงพ่อโสธรที่ปรากฏในปัจจุบันจึงเป็นแบบปูนปั้น ลงรักปิดทองพระวรกายแบบเทวรูป พระพักตร์แบบศิลปะลานนา พระเกตุมาลาแบบปลี อันหมายถึงความอยู่เป็นสุขตามคติของชาวจีน ข้อพระกรข้างขวา มีกำไรรัดตรึง เป็นเครื่องหมายถึงความอาทรห่วงใย ที่หลวงพ่อทรงมีต่อสาธุชน ผู้เคารพบูชาในองค์ท่าน ทรงจีวรแนบเนื้อ มีความกว้างของพระเพลา 3 ศอก 5 นิ้ว (1 เมตร 65 เซนติเมตร ) สูง 1 เมตร 98 เซนติเมตร ขณะนี้ในวัดมีพระพุทธรูปบนแท่นฐานชุกชีทั้งหมด 13 องค์ องค์พระพุทธโสธรคือองค์ที่อยู่ตรงกลาง

เวลาเปิด – ปิด พระอุโบสถหลังใหม่
วันธรรมดา 07.00 – 16.30 น.
วันเสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดต่างๆ 07.00 – 17.00 น.

ครูบาศรีวิชัย

ครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นที่รู้จักกันทั่วไป โดยเฉพาะในเขตล้านนาว่าเป็น “ตนบุญ” หรือ “นักบุญ” อันมีความหมายเชิงยกย่องว่า เป็นนักบวชที่มีคุณสมบัติพิเศษ หรือที่มีการเรียกท่านว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัย พระครูบาศรีวิชัย ครูบาศีลธรรม หรือ ทุเจ้าสิริ (อ่าน “ตุ๊เจ้าสิลิ”) ในขณะที่ท่านเองมักเรียกตนเองว่า พระชัยยาภิกขุ หรือ พระศรีวิชัยชนะภิกขุ

หมาเห็นผี

เมื่อสิบกว่าปีก่อน  ข้าพเจ้าได้พระเนื้อชินเก่ามาก เป็นพิมพ์ท้าวเวสสุวรรณ ไม่ทราบที่  จากผู้เฒ่าผู้แก่คนหนึ่ง   และข้าพเจ้าได้ใช้ติดตัวพร้อมกับแขวนพระองค์อื่นๆ   ที่ใช้ประจำไปด้วยได้มีเหตุการณ์ ที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังดังต่อไปนี้

ข้าพเจ้าได้ขับขี่รถจักรยานเข้าไปในซอยหลังบ้าน ของลูกน้องคนหนึ่งเวลาประมาณ  11 โมงได้ยินเสียงสุนัข ตกใจวิ่งหนี  และส่งเสียงเห่าหอนโหยหวนล่วงหน้าตามหนทางที่ข้าพเจ้าจะไป  จนเงียบเสียงไป นี่คือเหตุการณ์ในครั้งแรก ครั้งที่สอง  และครั้งที่สาม  ก็มีเหตุการณ์คล้ายๆ กันแต่ต่างสถานที่   ซึ่งแต่ก่อนไม่เคยเป็นแบบนี้  ข้าพเจ้าจึงไปเล่าเหตุการณ์ให้เจ้าอาวาสวัดแถวบ้านฟัง ท่านอธิบายว่า ท้าวเวสสุวรรณเป็นเจ้าแห่งผี พอผีเห็นเข้าก็วิ่งหนีแตกตื่นจนสุนัขตกใจ และวิ่งตามและวิ่งหนีด้วย   ตามที่คนโบราณบอกไว้ว่าสุนัขสามารถมองเห็นผีได้    และข้าพเจ้าก็ได้มอบพระพิมพ์ท้าวเวสสุวรรณเนื้อชินองค์นั้น ให้กับคุณพ่อของพรรคพวกกัน ซึ่งท่านเป็นหมอ(ผี)ของชาวบ้าน  เพื่อใช้ปราบสิ่งชั่วร้ายให้กับสังคมเล็กๆต่อไป

ท่านทั้งหลายเมื่อได้อ่านมาถึงตรงนี้   ท่านคิดว่าสุนัข (หมา) มันเห็นท้าวเวสสุวรรณ หรือเห็นผี หรือเห็นข้าพเจ้า  จึงเผ่นป่าราบไป   เอวัง …………………………..

พระร่วง

ความหมายของคำว่าพระร่วง

“พระร่วง” นี้มีความหมายว่าอย่างไร และทำไมจึงมีชื่อว่า “พระร่วง” แต่เท่าที่ทราบกันส่วนมากมักจะรู้กันว่า “พระร่วงส่วยน้ำ”ซึ่งข้อความนี้ในความนี้ในพงศาวดารเหนือกล่าวว่า

มีชายชาวเมืองละโว้คนหนึ่ง ซึ่งคงเคราเป็นนายกองคุมคนส่วยน้ำ สำหรับตักน้ำในทะเลชุบศร ส่งไปถวายพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์เสวย ณ เมืองขอม อยู่มานายคงเครามีลูกชายคนหนึ่งให้ชื่อว่า “ร่วง” เด็กร่วงนั้นเกิดมาเป็นผู้มีบุญด้วยวาจาสิทธิ์ คือถ้าว่าจะอะไรเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นมาแต่กำเนิด แต่ไม่รู้ตัวว่ามีฤทธิเช่นนั้นมาจนอายุได้ 11 ปี วันหนึ่งพายเรือไปในทะเลชุบศรเรือทวนน้ำเด็กร่วงพายเหนื่อยจึงออกปากว่า “นี่ทำไมน้ำไม่ไหลกลับไปทางโน้นมั่ง” พอว่าขาดคำน้ำก็ไหลกลับไปอย่างว่า เด็กร่วงก็รู้ตัวว่ามีวาจาสิทธิ์แต่ปิดความไว้ไม่ให้ผู้อื่นรู้

ครั้งนายคงเคราตายพวกไพร่พร้อมใจกันยกนายร่วงขึ้นเป็นนายกองส่วยน้ำแทนพ่อ พอประจวบเวลานักคุ้มข้าหลวงขอมคุมเวียนบรรทุกกล่องสานสำหรับใส่น้ำเสวยมาถึงเมืองละโว้สั่งให้นายร่วงเกณฑ์ไพร่ตักน้ำเสวยส่งส่วยตามเคย  นายร่วงเห็นว่ากล่องน้ำที่ทำมานั้นหนักจึงสั่งให้ไพร่สานชะลอมขึ้นเป็นอันมาก แล้วให้เอาชะลอมจุ่มลงในน้ำลั่นวาจาสิทธิ์สั่งน้ำให้ขะงอยู่ในชะลอมก็เป็นเช่นว่า นักคุ้มข้าหลวงเห็นเช่นนั้นก็กลัวฤทธิ์นายร่วงรีบรับชะลอมน้ำกลับไปยังเมืองขอม ทูลพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ว่ามีผู้วิเศษเกิดขึ้นที่เมืองละโว้ก็ทรงพระวิตกเกรงว่าจะเป็นกบฏ จึงแต่งกองทหารให้มาจับตัวนายร่วง แต่นายร่วงได้ยินข่าวรู้ตัวก่อนจึงหนีออกจากเมืองละโว้ขึ้นไปยังเมืองเหนือไปชวชเป็นพระภิกษุอยู่ ณ วัดแห่งหนึ่งในเมืองสุโขทัย คนจึงเรียกกันว่า “พระร่วง” เหตุเพราะที่บวชเป็นพระ

ฝ่ายทหารขอมมาถึงเมืองละโว้รู้ว่านายร่วงรู้ตัวหนีขึ้นไปทางเมืองเหนือ ตัวนายทหารขอมก็ตามขึ้นไปเที่ยวสืบเสาะได้ความ แต่ว่านายร่วงหนีไปอยู่ที่เมืองสุโขทัยมิรู้ว่าบวชเป็นพระ แต่ว่าขอมก็ได้ดำดินเข้าไปในเมือง เผอิญไปโผล่ขึ้นในลานวัดที่พระร่วงบวชอยู่ เวลานั้นพระร่วงกำลังกวาดวัดเห็นเข้าก็รู้ว่าเป็นขอม แต่ขอมไม่รู้จักพระร่วงก็ถามว่า “รู้หรือไม่ว่านายร่วงที่มาจากเมืองละโว้อยู่ที่ไหน” พระร่วงก็ลั่นวาจาสิทธิ์สาปว่า “สูอยู่ที่นั่นเถิด รูปจะไปบอกนายร่วง” พอขาดคำ ขอมก็กลายเป็นหินติดคาแผ่นดินอยู่ที่ตรงนั้นด้วยอำนาจวาจาสิทธิ์ของพระร่วง ชาวเมืองสุโขทัยจึงรู้ว่าพระร่วงเป็นผู้มีบุญ

เมื่อพระเจ้ากรุงสุโขทัยสิ้นพระชนม์ พวกเสนาอำมาตย์จึงพร้อมใจกันเชิญพระร่วงขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่า “พระเจ้าศรีจันทราธิบดี”

นอกจากที่ได้กล่าวมานี้แล้วยังมั่นใจได้อีกว่า ในเมืองสุโขทัยนั้น พ่อขุนรวมคำแหงมหาราชก็ยังได้ชื่อว่า “พระร่วง” ดังคำของกรมหมื่นราธิปฯ กล่าวว่า

“หล่ายชั่วสยามชาติรู้            ลืมไฉน

นามพระร่วงบรรลือ               ลั่นแคว้น

วาจาสิทธิ์ฤทธิ์ไท                  รักท่านแท้แล

คอยเชื่อฟังถ้อยแม้น             บิดรฯ”

อีกตอนหนึ่งว่า – – –

พระร่วง พระเลิศเจ้า            ไทใด

พระร่วง พ่อขุนคน                 ทั่วแคว้น

พระร่วง พระเรืองชัย             เรืองโชค ฉลวยแฮ

พระร่วงรวมนี้แม้น                 ยากมีฯ

แต่ที่แปลกมากไม่มีใครทราบว่า พระร่วง นี้ได้กำเนิดเกิดมากับพระเครื่องฯ ได้อย่างไร? เพียงแต่ทราบว่า นามมงคลพระร่วง นี้ได้เรียกกันมาแล้วในสมัยของรัชกาลที่ 4-5 แล้ว และก็ยากที่จะหาหลักฐานมากล่าวอ้างอิงว่า การตั้งชื่อพระร่วงนี้เกิดแต่ในกรุก็ใช่ที่ และก็ยังไม่มีหลักฐานอะไรมาอ้างอิง

แต่ในปัจจุบันคำว่าพระร่วงมักจะเรยกกันกับพระเครื่องประทานพร ทรงเครื่องบ้าง ไม่ทรงบ้าง และเป็นพระตะกั่วสนิมแดง

คำว่าพระร่วงจึงเป็นที่รู้จักกันทุ่วไปตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อาทิเช่น

พระร่วงโรจนฤทธิ์ที่องค์พระปฐมเจดีย์

และนอกจากนี้แล้ว ถ้าปฏิมากรรมของขลังใดๆ ก็ตาม ถ้ามีชื่อขึ้นว่าพระร่วงแล้วพระเครื่องฯ นั้นย่อมแรงไปด้วยอิทธิฤทธิ์ในทางพุทธคุณเป็นยอดตามหลักฐานประวัติศาสตร์ได้กล่าวมาแล้วนั่นเอง

ที่มา — ปฏิมากรรมประเครื่อง แห่งประเทศไทย

สมเด็จพระพุฒาจารย์โต

ประวัติองค์ผู้สร้าง “พระสมเด็จฯ” สมเด็จพระพุฒาจารย์โต(พรหมรังสี)

ในยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมราชย์แห่งราชวงค์จักรี แม้ว่าบ้านเมืองจะอยู่ในระหว่างศึกสงคราม มีสิ่งหนึ่งที่เกิดมาเพื่อเป็นคู่บุญของพระองค์ท่าน และเป็นมิ่งขวัญในด้านศาสนาเป็นอย่างมาก นั่นคือในปี พ.ศ. 2331 จุลศักราช 1150 ปีวอก เดือน 5 ขึ้น 12 ค่ำ ตรงกับวันที่ 17 เดือนเมษายน ในปีที่กล่าวนี้ ได้เกิดอัจฉริยะบุคคลขึ้นผู้หนึ่ง บุคคลผู้นั้นเกิดที่บ้านไก่จัน (ท่าหลวง) อ. ท่าเรือ จ. พระนครศรีอยุธยาฯ

สมัยยังเป็นเด็กมารดาตั้งชื่อให้ว่า “โต” เนื่อจากมีรูปร่างบอบบางมาก และการตั้งชื่อว่าโตนั้น ก็เพื่อเป็นศิริมงคลนั่นเอง โยมมารดาของท่านชื่อ “เกศ” เป็นชาวบ้านท่าอิฐ จ. อุตรดิตถ์ ต่อมาโยมมารดาของท่านได้ย้ายมาอยู่ จ. พระนครศรีอยุธยา และได้ให้กำเนิด เด็กชาย “โต” ขึ้น ณ จัดหวัดนี้
พอเด็กชายโต อายุได้ 12 ปี ก็ได้บวชเป็นเณร ณ วัดสังเวชวิทยารามจังหวัดพระนคร พระบวรวิริยะเถระเป็นอุปัชฌา ในระหว่างที่บวชเป็นเณรอยู่นั้น เด็กชายโตหรือสามเณรโตก็มุ่งเคร่งครัดแต่ในด้านการศึกษาพระธรรม และไม่เคยด่างพล้อยในทางศาสนาเลย กล่าวคือในทางโลกนั้นสามเณรโตก็ไม่เคยเกี่ยวข้องในทางโลกีย์เลย ท่านใช้ชีวิตให้หมดไปในแต่ด้านพระธรรมเพียงอย่างเดียว ซึ่งผิดแผกไปจากสามเณรต่างๆ ที่มุ่งแต่เล่นสนุกโดยมิได้สนใจในด้านการศึกษาพระธรรมเหตุนี้เอง สามเณรโตจึงได้ย้ายมาศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดโฆสิตาราม จังหวัดธนบุรี

พอถึงปี พ.ศ. 2350 สามเณรโตก็มีอายุครบ 20 ปีจึงได้บวชเป็นพระ โดยได้รับพระราชเมตตาจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าให้เป็นนาคหลวงอุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยพระอุปัชฌาสมเด็จพระสังฆราชสุข (ไก่เถื่อน) แห่งวัดมหาธาตุ และได้รับฉายาว่า “พรหมรังสี” ตั้งแต่นั้นมา

หลังจากท่านบวชเป็นพระแล้ว ท่านก็เริ่มศึกษาพระปริยัติธรรมจนแตกฉานยากนักที่จะหาพระอาจารย์สอนได้อีก จนถึงกับกล่าวกันว่า “ท่านได้สำเร็จณาณ” จากความเชี่ยวชาญในพระปริยัติธรรมนั่นเอง ถึงกับทรงเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกให้ไปเทศน์ ณ หน้าพระที่นั่งจนเป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่งนัก และทรงรับสั่งขึ้นว่า “เทศน์ได้ไพเราะมาก” ไม่ว่าแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจะทรงโปรดเท่านั้นก็หาไม่ แม้แต่พระอนุชาซึ่งในระหว่างที่ดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรก็ทรงโปรดพระภิกษุโตเป็นอย่างมาก ถึงกับทรงพระราชทานเรือกันยาหลังคากระแชงให้ไว้ใช้ จากความโปรดปรานของพระอนุชา (รัชกาลที่ 2) ดังกล่าวมานี้ตราบจนกระทั่งถึงแผ่นดินพระสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงกับรับสั่งให้พระภิกษุโตเข้าเฝ้าและรับสั่งที่จะพระราชทานแต่งตั้งพระสมณศักดิ์ให้ แต่พระภิกษุโตกลับปฏิเสธและทูลลา

พอสิ้นแผ่นดินพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระภิกษุโตก็ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงปราศัยกับพระภิกษุโตเป็นอย่างยิ่ง จนเป็นที่พอพระราชหฤทัยแล้ว จึงได้รับคำสั่งแต่งตั้งสมณศักดิ์ให้ พระภิกษุโตก็รับ

ทำไมสมเด็จพระพุฒาจารย์โต (พรหมรังสี) จึงรับพระราชทานสมณศักดิ์

เกี่ยวกับเรื่องนี้มีเรื่องเล่าว่า ในคราวที่พระราชทานสมณศักดิ์เป็นที่พระธรรมกิติเจ้าอาวาสวัดระฆังฯ เมื่อปีพ.ศ. 2395 (ในระหว่างนั้นพระภิกษุโตมีอายุ 65 ปีแล้ว) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งถามพระภิกษุโตว่า ในแผ่นดินพระนั่งเกล้าฯ ทรงโปรดให้แต่งตั้งให้ และทำไมจึงไม่รับ แต่คราวนี้ทำไมจึงไม่หนี พระภิกษุโตจึงถวายพระพรด้วยปฏิภาณเฉียบแหลมว่า ในแผ่นดินพระนั่งเกล้าฯ นั้น ไม่ได้ทรงเป็นเจ้าฟ้า เพียงแต่เป็นพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น ท่านจึงหนีได้ แต่มหาบพิตรพระราชสมภารเจ้าทรงเป็นทั้งเจ้าฟ้าและเจ้าแผ่นดิน ท่านจึงหนีไปไหนไม่พ้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงฟังก็ทรงพระสรวล

ต่อมาในปีพ.ศ. 2397 พระภิกษุโตได้รับพระราชทานสมณศุกดิ์ เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่พระเทพกวี และในปีพ.ศ. 2409 ท่านก็ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์องค์สำคัญ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สมเด็จพระพุฒาจารย์โต (พรหมรังสี) ได้มรณภาพเมื่อปี พ.ศ. 2415 ณ วัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี รวมพระชนมายุได้ 85 ปี มีพรรษา 65 พรรษา

ที่มา หนังสือ “ปฏิมากรรมพระเครื่อง แห่งประเทศไทย”

ตำนานนางกวัก

ตำนานเล่ากันว่า ปู่เจ้าเขาเขียวพันธมิตรร่วมกับท้าวอุณาราช ยักษ์ผู้ทรงฤทธิ์ ได้ส่งลูกสาวคนเดียวที่ชื่อนางกวัก ไปช่วยเหลือดูแลนางประจันทร์ เหตุเพราะนางประจันทร์คอยดูแลบิดา คือ ท้าวอุณาราช ที่ถูกศรพระรามปักกลางอกแล้วสาปเอาไว้ที่เขาวงพระจันทร์อย่างทุกข์ทรมาน

หลังจากนางกวักมาอยู่กับนางประจันทร์แล้ว ชาวเมืองที่เคยเกลียดชังท้าวอุณาราชกลับหามีความคิดเยี่ยงนั้นต่อไปไม่ แม้สำนักของนางประจันทร์จะทุรกันดารปานใด ประชาชนพลเมืองก็ยังเดินทางมาอย่างไม่ย่อท้อ พากันเอาลาภสักการะแก้วแหวนเงินทองมาสำนักของนางประจันทร์ผู้ที่มีความ กตัญญูต่อบุพการีอย่างมาก

ด้วยเหตุจูงใจอย่างนี้ โบราณาจารย์ผู้ชาญฉลาดจึงได้สร้างเครื่องรางเป็นรูปนางกวักขึ้นในลักษณะนั่ง ยกมือขวาครองผ้าสไบเฉียง บูชาด้วยทัพสัมภาระต่างๆ เสกด้วยคาถาหัวใจนางกวัก จนมือขยับไปมาหน้าหลังได้แล้วจึงเสร็จพิธี

หลายเกจิคณาจารย์ผู้สร้าง ไม่ว่าจะเป็นหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว จ.นครปฐม หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ จ.นครสวรรค์ หลวงพ่ออิ่ม วัดหัวเขา มีทั้งสร้างจากไม้แกะและสร้างจากงาแกะ ในรูปแบบลักษณะศิลปะที่มีความแตกต่าง กันออกไป ขนาดของนางกวักจึงมีความแตกต่างกันออกไป บางนางมีขนาดใหญ่สำหรับตั้งโต๊ะบูชา บางนางมีขนาดเล็กสำหรับห้อยคอ

ด้วยคติที่เชื่อกันว่านางกวักเมื่อนำมาบูชาแล้ว ต้องสักการะด้วยน้ำแดง อาหารคาวหวานบ้างตามแต่เหตุปัจจัย จะทำให้ธุรกิจร้านค้านั้นเจริญรุ่งเรือง

หลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน จ.สมุทรสาคร ท่านเป็นพระเกจิขลังศักดิ์สิทธิ์อีกรูปหนึ่ง คราวหนึ่งท่านไปงานบ้านโยมละแวกตลาดในเมือง ครั้นถึงเวลาที่จะต้องเจิมร้านเพื่อเป็นสิริมงคลในวันเปิดร้านใหม่ ทางเจ้าภาพไม่ได้ตระเตรียมบันไดให้ท่านขึ้นไปเจิม เพราะว่าป้ายร้านอยู่สูงมาก ท่านจึงบอกศิษย์ว่าไม่ต้องก็ได้เดี๋ยวทำให้เอง

หลวงปู่ยืนนิ่งกำหนดองค์ภาวนาหลับตาอยู่ครู่ใหญ่ๆ หน้าของท่านเริ่มแดงเป็นสีฝาดแววตาเป็นประกายบ่งบอกถึงความเมตตา แล้วท่านก็สั่งให้ศิษย์ที่ติดตามท่านเอาแป้งเจิมดินสอพอง ผสมน้ำมันจันทน์หอม มา แล้วหลวงปู่เอานิ้วชี้มือขวาจุ่มแป้งเจิมมาเขียนอักขระยันต์กลางฝ่ามือซ้าย ปลายมือหันไปทางป้ายร้าน กำกับด้วยคาถาหัวใจแล้วเป่าลงไปที่กลางฝ่ามือ..เพี้ยง ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ

เพราะทุกคนเห็นเป็นหนึ่งเดียวกันว่ายันต์ที่เขียนบนฝ่ามือหายไป แต่ไปติดอยู่ที่แผ่นป้ายหน้าร้านอย่างอัศจรรย์ ศิษย์ถามว่าหลวงปู่ใช้ยันต์อะไร ท่านตอบว่าใช้ยันต์หัวใจนางกวัก อีก 5 วันเจ้าของร้านไปกราบเล่าความให้หลวงปู่ฟังว่า ตั้งแต่วันเปิดร้านเป็นต้นมาค้าขายดีผิดหูผิดตา หลวงปู่รอดจึงดำริสร้างนางกวักจากไม้ไผ่สีสุกแต่จำนวนไม่มาก ให้แก่ศิษย์ที่ทำการค้าขาย

แต่นางกวักของหลวงปู่ที่สร้างขึ้นนี้มีขนาดเล็กสำหรับห้อยคอ แกะแล้วจุ่มรักปิดทองอร่ามสวย แต่ลายละเอียดไม่มากนัก ด้วยเป็นฝีมือแกะของช่างชาวบ้านที่เป็นลูกศิษย์ ชาวสมุทรสาครต่างหวงแหนนักหากบ้านใครมีนางกวักของหลวงปู่รอด ด้วยเพราะเป็นของเก่าและหายากกว่าเครื่องรางชนิดอื่นๆ ของท่าน ใครเป็นรัฐมนตรีท่องเที่ยวคนใหม่น่าจะหานางกวักไปตั้งในสนามบินสุวรรณภูมิ ให้นางช่วยกวักเรียกนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเมืองไทยเยอะๆ แทนรูปปั้นรามเกียรติ์ คงจะดีไม่น้อย

ที่มา ไทยโพสต์

หลวงปู่ทวดเหยียบน้ําทะเลจืด

ประวัติหลวงปู่ทวดเหยียบน้ําทะเลจืด

หลวงปู่ทวด (หรือ สมเด็จเจ้าพะโคะ, หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด, สมเด็จเจ้าพระราชมุนีสามีรามคุณูปรมาจารย์) เป็นที่รู้จักกันดีในประเทศไทยจากตำนานท้องถิ่นซึ่งยังไม่ปรากฏหลักฐานในทาง ประวัติศาสตร์ยืนยันความมีอยู่จริง ประวัติที่พิมพ์เผยแพร่กล่าวว่าท่านเป็นพระเกจิอาจารย์รูปสำคัญในสมัยกรุง ศรีอยุธยา ผู้ที่ศรัทธาในหลวงปู่ทวดเชื่อกันว่าพระเครื่องที่สร้างเนื่องด้วยท่านจะมี อานุภาพสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองผู้มีพระเครื่องหลวงปู่ทวดในครอบครอง

ปัจจุบันหลวงปู่ทวดถือได้ว่าเป็นพระเกจิอาจารย์ในตำนานที่มีผู้ศรัทธาจำนวนมาก รูปสำคัญ 1 ใน 2 มหาเกจิอาจารย์ของเมืองไทย คู่กับ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) (หลวงปู่โต) ที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์

ประวัติหลวงปู่ทวด

ตามตำนานกล่าวว่าหลวงปู่ทวด เป็นบุตรของนายหู นางจันทร์ ซึ่งเป็นทาสในเรือนเบี้ย(ทาสทำงานใช้หนี้)ของเศรษฐีปานเกิดในปลายรัชสมัยของ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เมื่อ 3 มีนาคม พ.ศ. 2125 ณ บ้านสวนจันทร์(บ้านเลียบ) ต.ดีหลวง(ปัจจุบันเป็นตำบลชุมพล) อ.สทิงพระ(จะทิ้งพระ) จ.สงขลา แรกเกิดมีชื่อว่าปู ขณะท่านเกิดมีเหตุอัศจรรย์คือเกิดฟ้าร้องฟ้าผ่าแผ่นดินสะเทือนเลื่อนลั่น เสมือนหนึ่งว่ามีผู้มีบุญญาธิการมาเกิด เมื่อตัดรกจากสายสะดือแล้วนายหูบิดาของท่านก็นำรกของท่านไปฝังไว้ที่โคนต้น เลียบ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ต้นเลียบในปัจจุบัน เมื่อท่านเกิดมาแล้วก็มีเหตุอัศจรรย์เกิดขึ้นกับท่านเรื่อยมา เป็นต้นว่า ขณะที่ท่านอยู่ในวัยแบเบาะในช่วงฤดูเกี่ยวข้าวบิดามารดาของท่านต้องออกไป เกี่ยวข้าวที่กลางทุ่งนาซึ่งเป็นนาของเศรษฐีปาน ซึ่งท้องนาแห่งนั้นห่างจากบ้านประมาณ 2 กิโลเมตร ที่นาแห่งนั้นมีดงตาลและมะเม่าเป็นจำนวนมากครั้งนั้นจึงเรียกว่าทุ่งเม่า ปัจจุบันตั้งเป็นสำนักสงฆ์ชื่อนาเปล ในสมัยนั้นจึงมีสัตว์ป่าชุกชุมพอสมควร บิดามารดาของท่านจึงผูกเปลของท่านซึ่งเป็นเปลผ้าไว้กับต้นมะเม่าสองต้นและก็ ได้เกี่ยวข้าวอยู่ไม่ไกลจากบริเวณนั้น พอได้ระยะเวลาที่นางจันทร์ต้องให้นมลูก นางจันทร์จึงเดินมาที่ที่ปลูกเปลของลูกน้อย และก็เห็นงูจงอางตัวใหญ่หรืองูบองหลาที่ชาวภาคใต้เรียกกันพันที่รอบเปล นางจันทร์เห็นแล้วตกใจเป็นอันมากจึงเรียกนายหูซึ่งอยู่ไม่ไกลนักมาดูและช่วย ไล่งูจงอางนั้น แต่งูจงอางนั้นก็ไม่ไปไหน นายหูและนางจันทร์จึงตั้งสัตยาธิฐานว่าขออย่าให้งูนั้นทำร้ายลูกน้อยเลย ไม่นานนักงูจงอางนั้นก็คลายวงรัดออกและเลื้อยหายไปในป่านายหูและนางจันทร์ จึงเข้าไปดูลูกน้อยเห็นว่ายังหลับอยู่และไม่เป็นอันตรายใด ๆ และปรากฏว่ามีเมือกแก้วขนาดใหญ่ที่งูจงอางคลายไว้อยู่บนอกเด็กชายปูนั้น เมือกแก้วนั้นมีแสงแวววาวและต่อมาได้แข็งตัวเป็นลูกแก้ว ปัจจุบันได้ประดิษฐานที่วัดพะโคะ

เมื่อเศรษฐีปานทราบเรื่องเข้าก็บีบบังคับขอลูกแก้วเอาจากนายหูและนางจันทร์ บิดามารดาของท่านจึงจำต้องยอมให้ลูกแก้วนั้นแก่เศรษฐีปานซึ่งเป็นนายเงิน แต่ลูกแก้วนั้นเป็นของศักดิ์สิทธิประจำตัวท่าน เมื่อเศรษฐีปานเอาลูกแก้วไปแล้วก็เกิดเภทภัยในครอบครัวเกิดการเจ็บป่วยกัน บ่อย และมีฐานะยากจนลง เศรษฐีปานจึงได้เอาลูกแก้วมาคืนและขอขมาเด็กชายปู และยกหนี้สินให้แก่นายหูและนางจันทร์ ทั้งสองจึงพ้นจากการเป็นทาสและต่อมาก็มีฐานะดีขึ้น ๆ ส่วนเศรษฐีปานก็มีฐานะดีขึ้นดังเดิม เมื่อท่านมีอายุได้ประมาณ 7ขวบ พ.ศ. 2132 บิดามารดาของท่านจึงนำท่านไปฝากไว้เป็นศิษย์วัดเพื่อเล่าเรียนหนังสือ ที่วัดกุฎีหลวงหรือวัดดีหลวงในปัจจุบัน ซึ่งเป็นวัดอยู่ใกล้บ้านท่าน ขณะนั้นมีท่านสมภารจวง ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุงของท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่ เด็กชายปูเป็นเด็กที่หัวดีเรียนเก่งสามารถเล่าเรียนภาษาขอมและภาษาไทยได้ อย่างรวดเร็ว สมภารจวงได้บวชให้ท่านเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ 15 ปี

ตอนที่ท่านบวชเป็นสามเณรนี้เองบิดาของท่านจึงถวายลูกแก้วคืนให้แก่ท่านเป็น ลูกแก้วประจำตัวท่านต่อไป ด้วยความที่เป็นคนใฝ่เรียนใฝ่รู้ตลอดเวลาของท่าน ต่อมาท่านสมภารจวงได้นำไปฝากให้เล่าเรียนหนังสือที่สูงขึ้นสมัยนั้นเรียกว่า มูลบทบรรพกิจ ปัจบันก็คือเรียนนักธรรมนั่นเอง โดยนำไปฝากเรียนไว้กับสมเด็จพระชินเสน ซึ่งเป็นพระเถระชั้นสูงที่ส่งมาจากกรุงศรีอยุธยา ให้มาครองเป็นเจ้าอาวาสวัดสีคูยังหรือวัดสีหยังในปัจจุบัน ห่างจากวัดดีหลวงไปทางเหนือประมาร 4 กิโลเมตร ท่านได้เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและจบหลักสูตรที่วัดสีคูยังนั้น

หลังจากนั้นท่านได้เดินทางเข้ามาศึกษาต่อที่เมืองนครศรีธรรมราชเพื่อเรียน หนังสือให้สูงขึ้น ดดยมาพำนักอยู่ที่วัดเสมาเมือง ซึ่งเป็นสำนักเรียนและมีสมเด็จพระมหาปิยะทัสสี เป็นเจ้าอาวาส และบรรพชาอุปสมบทเป็นพระสงฆ์เมื่ออายุครบกาลอุปสมบท ท่านได้ศึกษาวิชาจากครูบาอาจารย์ต่าง ๆ จนมีความรู้และเป็นผู้ทรงอภิญญามาก และได้แสดงปาฏิหาริย์หลายครั้ง ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์จากสมเด็จพระเอกาทศรศในครั้งสุดท้ายใน ราชทินนามที่ สมเด็จเจ้าพระราชมุนีสามีรามคุณูปรมาจารย์ สุดท้ายเมื่อท่านมีอายุได้ 80 ปี ท่านได้กลับมาจำพรรษาที่วัดพะโคะ วัดบ้านเกิดของท่าน จวบจนมรณภาพ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2225 สิริรวมอายุได้ 99 ปี

ความเชื่อในวัตถุมงคลที่เนื่องด้วยหลวงปู่ทวด

หลวงปู่ทวดเป็นที่รู้จักกันดีในประเทศไทยและรู้จักเป็นอย่างดีในวงการพระ เครื่องมาก จากตำนานและการที่มีผู้เชื่อตำนานดังกล่าวว่าท่านเป็นพระที่มีความ ศักดิ์สิทธิ์มีฤทธิ์ปาฏิหาริย์ที่เก่งกล้ามากรูปหนึ่งจนได้รับสมญานามว่า “หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด”

คาถาสักการบูชาหลวงปู่ทวด

การสักการบูชาให้ตั้งสวด นโม ตสฺส ฯลฯ 3 จบ ตามด้วยคาถานี้ 3 จบเช่นกัน
นโม โพธิสตฺโต อาคนฺติมาย อิติภควา

มีความหมายว่า “ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่เจ้าประคุณสมเด็จหลวงปู่ทวด ผู้เป็นพระโพธิสัตว์ เป็นผู้มีโชคซึ่งเข้ามาสถิตอยู่ในตัวของข้าพเจ้านี้” คำว่า อาคนฺติมาย ควรจะเป็น อาคนฺตีมาย เนื่องจากเป็นคำสนธิระหว่าง อาคนฺติ กับ อิมาย แต่คงเสียงสระสั้นไว้เพื่อความไพเราะของภาษา

อาจารย์ชะเอม แก้วคลาย (ป.ธ.๗) และอาจารย์สุวัฒน์ โกพลรัตน์ (ป.ธ.๙) ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาโบราณของหอสมุดแห่งชาติ ได้วิเคราะห์ไว้ว่า คาถานี้ไม่ถูกหลักไวยากรณ์ภาษาบาลี แต่เป็นการผูกเงื่อนงำในทางความหมาย การผูกประโยคจึงต้องนำศัพท์เข้ามาเพิ่ม ประโยคที่สมบูรณ์จึงควรเป็นดังนี้

โย เถโร โพธิสตฺโต อิติภควา อิมาย ชนาย อาคนฺติ นโม ตสฺส โพธิสตฺตสฺส อิติภควโต เถรสฺส อตฺถุ
[อันว่าพระเถระรูปใดเป็นพระโพธิสัตว์ ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีโชคย่อมมาสู่ชน (หรือบุคคล) ผู้นี้
อันว่าความนอบน้อมขอจงมีแก่พระเถระ ผู้เป็นพระโพธิสัตว์ ที่ได้ชื่อว่าผู้มีโชครูปนั้น]

ประวัติหลวงพ่อเกษม

ครูบาเจ้าเกษม เขมโก สำนักสุสานไตรลักษณ์ จังหวัดลำปาง

ณ ดินแดนถิ่นล้านนา ทางภาคเหนือของประเทศไทย พระอริยะสงฆ์ที่พวกเราทุกคนรู้จักชื่อเสียงคุณงามความดีของท่าน ก็คือ ครูบาศรีวิชัย อริยะสงฆ์องค์แรกของภาคเหนือท่านเปรียบเสมือนประทีปดวงใหญ่ ที่ส่องประกายธรรมไปทั่วทุกสารทิศ ขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านได้ประกอบคุณงามความดีไว้กับแผ่นดินนี้มากมาย ท่านจึงถูกจัดให้เป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ของชาวเหนือ

ประวัติและเรื่องราวต่าง ๆ ของท่าน จึงถูกบันทึกเพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้รับรู้ถึงในยุคปัจจุบัน ประวัติบางตอน ของครูบาศรีวิชัยตอนหนึ่ง กล่าวว่าท่านครูบาศรีวิชัยได้พยากรณ์ไว้ว่าจะมีตนบุญมาเกิดที่ลำปาง ครั้นต่อมาครูบาศรีวิชัยได้มรณภาพไปโดยทิ้งคำพยากรณ์นี้ไว้ ให้ชาวลำปางได้เฝ้ารอคอยการมาจุติของตนบุญ ที่ครูบาศรีวิชัยได้พยากรณ์ไว้ จนเวลาล่วงเลยไปหลายสิบปี ก็ยังไม่ปรากฏ แต่ชาวลำปางก็ยังเชื่อในคำพยากรณ์ของครูบาศรีวิชัย

เมื่อปี พ.ศ.2455 ได้มีครอบครัวเชื้อเจ้าผู้ครองนครลำปางหรือเขลางค์นครใน อดีตหัวหน้าครอบครัวคือ เจ้าหนูน้อย ณ ลำปาง ภายหลังเปลี่ยนนามสกุลใหม่เป็น มณีอรุณ รับราชการเป็นปลัดอำเภอภรรยาชื่อเจ้าแม่บัวจ้อน ณ ลำปาง ทั้งสอง เป็นหลานเจ้าของพ่อบุญวาทย์ วงศ์มานิตย์ เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้าย

ครอบครัวนี้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านท่าเก๊าม่วง ริมแม่น้ำวัง อ.เมือง จ.ลำปาง อยู่กินกันมาอย่างมีความสุข ในที่สุด เจ้าแม่บัวจ้อนได้ตั้งครรภ์ และพอถึงกำหนดคลอดตรงกับวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2455 ตรงกับวันพุทธ เดือนยี่ (เหนือ) ปีชวด ร.ศ.131 ค.ศ.1912 เจ้าแม่บัวจ้อน ให้กำเนิดทารกเพศชาย เป็นลูกคนแรกของครอบครัว

ขณะนั้นไม่มีใครทราบกันเลย ตนบุญ ที่ครูบาศรีวิชัยได้พยากรณ์ไว้นั้นได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว บิดามารดาก็ได้ตั้งชื่อทารกนั้น เกษม ณ ลำปาง เพราะเด็กชายเกษม ณ ลำปาง ได้เกิดมาในเชื้อสายของเจ้าทางเหนือ จึงได้รับการยกย่องของคนทั่วไป ทุกคนต่างเรียกกันว่า เจ้าเกษม ณ ลำปาง หลังจากที่ได้คลอดบุตรมาได้ไม่กี่ปี เจ้าแม่บัวจ้อนได้ให้กำเนิดทารกอีกคน แต่เป็นเพศหญิง ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้องของ เจ้าเกษม สืบสายเลือด แต่ทว่าเจ้าแม่น้อยคนนี้วาสนาน้อย ได้เสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก จึงไม่มีโอกาสได้รู้ว่าพี่ชายของเธอคือ ตนบุญ ที่ชาวลำปางรอคอยเป็นสิบ ๆ ปี

เมื่อวัยเด็ก เจ้าเกษม ณ ลำปาง เป็นคนมีลักษณะค่อนข้างเล็กบอบบาง ผิวขาวแต่ดูเข้มแข็ง คล่องแคล่ว และมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เป็นเด็กที่ชอบซน คืออยากรู้อยากเห็น เมื่อถึงวัยเรียน เจ้าเกษม ณ ลำปาง ได้รับการศึกษาระดับประถมที่โรงเรียนบุญทวงศ์อนุกูล ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำ อ.เมือง จ.ลำปาง สมัยนั้นเปิดเรียนชั้นสูงสุดแค่ชั้นประถมปีที่ 5 เท่านั้น เจ้าเกษม ณ ลำปาง ได้ศึกษาจนจบชั้นสูงของโรงเรียน คือชั้นประถมปีที่ 5 ใน พ.ศ.2466 ขณะนั้นอายุ 11 ปี

เมื่อออกจากโรงเรียนก็ไม่ได้เรียน อยู่บ้าน 2 ปี ใน พ.ศ.2468 อายุขณะนั้นได้ 13 ปี เจ้าเกษม ณ ลำปาง ก็ได้มีโอกาสเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ โดยบรรพชาเป็นสามเณร เนื่องในโอกาสบรรพชาหน้าศพ (บวชหน้าไฟ) ของเจ้าอาวาสวัดป่าดั๊ว ครั้นบวชได้เพียง 7 วันก็ลาสิกขาออกไป ต่อมาอีก 2 ปี ราว พ.ศ.2470 ขณะนั้นมีอายุ 15 ปี เจ้าเกษม ณ ลำปาง ก็ได้มีโอกาสเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์อีกครั้งหนึ่ง โดยบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ที่วัดบุญยืน จ.ลำปาง เมื่อบรรพชาแล้วสามเณรเจ้าเกษม ณ ลำปาง ก็ได้จำพรรษาศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดบุญยืนนั่นเอง สามเณรเจ้าเกษม ณ ลำปาง เป็นคนที่ทำอะไรจริงจัง เรียนทางด้านปริยัติศึกษาธรรมะจนถึง ปี พ.ศ.2474 สามเณรเจ้าเกษม ก็สามารถสอบนักธรรมชั้นโทได้ ครั้นมีอายุได้ 21 ปี อายุครบที่จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุได้แล้ว จึงได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุในปี พ.ศ.2475 ณ พัทธสีมา วัดบุญยืน โดยมีพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมจินดานายก (ฝ่าย) เจ้าอาวาสวัดบุญวาทย์วิหาร ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอในขณะนั้นเป็นพระอุปัชฌาย์ พระคุณเจ้าท่านพระครูอุตตร วงศ์ธาดา หรือที่ชาวบ้านเหนือรู้จักกันในนาม ครูบาปัญญาลิ้นทอง เจ้าอาวาสวัดหมื่นเทศ และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอเมือง จังหวัดลำปางในขณะนั้น เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และยังพระเดชพระคุณท่านพระธรรมจินดานายก(อุ่นเรือน) เจ้าอาวาสวัดป่าดั๊วเป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า เขมโก แปลว่า ผู้มีธรรมอันเกษม

หลังจากได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว พระภิกษุเกษม เขมโกก็ได้ศึกษาทางด้านภาษาบาลี ซึ่งเป็นการศึกษาปริยัติอีกแขนงหนึ่ง ที่สำนักวัดศรีล้อม สมัยนั้นก็มีอาจารย์หลายรูป เช่น มหาตาคำ พระมหามงคลเป็นครูผู้สอน และยังได้ไปศึกษาที่สำนักวัดบุญวาทย์วิหาร ซึ่งมีพระมหามั่ว พรหมวงศ์ และพระมหาโกวิทย์ โกวิทญาโน เป็นครูสอน

ในเวลาเดียวกันนั้น พระภิกษุเจ้าเกษม เขมโก ก็ได้ไปศึกษาทางด้านปริยัติในแผนกนักธรรมต่อที่สำนักวัดเชียงราย ครูผู้สอนคือ พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระเทพวิสุทธิโสภณ เจ้าคณะจังหวัดลำปางสมัยนั้น ปรากฎว่าพระภิกษุเจ้เกษม เขมโก ก็สามารถสอบนักธรรมชั้นเอกได้ในปี พ.ศ.2479 ส่วนทางด้านการศึกษาบาลีนั้น ท่านเรียนรู้จนสามารถเขียนและแปลได้เป็น (มคธ) เป็นอย่างดี แต่ก็ไม่ยอมสอบเอาวุฒิ จนครูบาอาจารย์ทุกองค์ต่างเข้าใจว่าพระภิกษุเกษม เขมโก ไม่ต้องการมีสมณศักดิ์สูง ๆ เรียนเพื่อจะนำเอาวิชาความรู้มาใช้ในการศึกษาค้นคว้าพระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาเท่านั้น

เมื่อสำเร็จทางด้านปริยัติพอควรแล้ว สามารถนำไปปฏิบัติได้โดยไม่หลงทาง ท่านจึงหันมาปฏิบัติต่อไปจนแตกฉาน แค่นั้นยังไม่พอ พระภิกษุเกษม เขมโก ได้เสาะแสวงหาครูบาอาจารย์ที่มีความรู้และมีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ จนกระทั่งได้ทราบข่าวภิกษุรูปหนึ่งมีชื่อเสียงในด้านวิปัสสนา ภิกษุรูปนี้ คือครูบาแก่น สุมโน อดีตเจ้าอาวาสวัดประตูป่อง

ครูบาแก่น สุมโน เป็นพระภิกษุสายวิปัสสนา ถือธุดงค์เป็นวัตร หรือที่เรียกกันว่า พระป่า หรือภาษาทางการเรียกว่า พระภิกษุฝ่ายอรัญญวาสี ตอนนั้นครูบาแก่นท่านได้ธุดงค์แสวงหาความวิเวกทั่วไป ยึดถือป่าเป็นที่บำเพ็ญเพียร นอกจากมีชื่อเสียงในด้านวิปัสสนาแล้ว ท่านยังเก่งรอบรู้ในด้านพระธรรมวินัยอย่างแตกฉานอีกด้วย

หลวงพ่อเกษม เขมโก ครั้งยังเป็นพระหนุ่ม
หลวงพ่อเกษม เขมโก ครั้งยังเป็นพระหนุ่ม

พระภิกษุเกษม เขมโก จึงเดินทางไปขอฝากตัวเป็นศิษย์ และได้อธิบายความต้องการที่จะศึกษาในด้านวิปัสสนา ให้ครูบาแก่นฟัง ครูบาแก่น สุมโน เห็นความตั้งใจจริงของภิกษุเกษม เขมโก ท่านจึงรับไว้เป็นศิษย์ และได้นำภิกษุเกษม เขมโก ออกท่องธุดงค์ไปแสวงหาความวิเวก และบำเพ็ญเพียรตามป่าลึกตามที่ภิกษุเกษม เขมโก ต้องการ จึงถือได้ว่า ครูบาแก่น สุมโน รูปนี้เป็นอาจารย์ทางวิปัสสนากรรมฐานรูปแรกของ พระภิกษุเจ้าเกษม เขมโก

ดั้งนั้น พระภิกษุเกษม เขมโก จึงได้เริ่มก้าวไปสัมผัสชีวิตของภิกษุฝ่ายอรัญญวาสี ประกอบกับจิตของท่าน โน้มเอียงมาทางสายนี้อยู่แล้ว จึงไม่ใช่เป็นเรื่องลำบากสำหรับในการไปธุดงค์ กลับเป็นการได้พบความสงบสุขโดยแท้จริง กับความเงียบสงบซ้ำยังได้ดื่มด่ำกับรสพระธรรมอันบังเกิดท่ามกลางความวิเวก พระภิกษุเกษม เขมโก จึงมุ่งมั่นปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง โดยมีครูบาแก่นแนะอุบายธรรมอย่างใกล้ชิด ระหว่างท่องธุดงค์แสวงหาความวิเวกในที่สงัดตามป่าเขาและป่าช้าต่าง ๆ การฉันอาหารในบาตร คือ อาหารหวานคาวรวมกัน เรียกว่า ฉันเอกา ไม่รวมอาสนะกับสงฆ์อื่น ฉันมื้อเดียว ช่วงบ่ายก็จะเดินจงกรม เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ พร้อมกำหนดจิตจนกระทั่งถึงเย็น เมื่อเสร็จจากการเดินจงกรม ก็กลับมานั่งบำเพ็ญภาวนาต่อไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงประมาณ 5 ทุ่ม เสร็จจากการบำเพ็ญภาวนาก็สวดมนต์ทำวัตรเย็น ในตอนดึกก่อนจำวัดท่านก็ไม่นอนเหมือนคนธรรมดาทั่วไป ท่านจะหมอบเท่านั้น และท่านจะทำเป็นกิจวัตร คือการกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลแผ่เมตตาไปให้กับสรรพสัตว์ทั้งหลาย

หลวงพ่อเกษม เขมโก
หลวงพ่อเกษม เขมโก

จนกระทั่งถึงช่วงเข้าพรรษาที่พระภิกษุจำเป็นต้องยุติการท่องธุดงค์ชั่วคราว ต้องอยู่กับที่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง จะเป็นวัดอาราม หรือถือเอาป่าช้าเป็นวัด โดยกำหนดเขตเอาตามพุทธบัญญัติ ดังนั้นภิกษุเจ้าเกษม เขมโก จึงต้องแยกทางกับอาจารย์คือครูบาแก่น ตั้งแต่นั้นมาภิกษุเจ้าเกษม เขมโก กลับมาจำพรรษาที่วัดบุญยืนตามเดิม พอครบกำหนดออกพรรษาภิกษุเกษม เขมโก ก็ติดตามอาจารย์ของท่าน คือครูบาแก่นออกธุดงค์บำเพ็ญภาวนา ท่านถือปฏิบัติเช่นนี้เรื่อยมา

ต่อมาเจ้าอธิการคำเหมย เจ้าอาวาสวัดบุญยืนถึงแก่มรณภาพลง ทำให้ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบุญยืนว่าง ทางคณะสงฆ์จึงต้องเลือกภิกษุที่มีคุณสมบัติมาปกครองดูแลวัด เพื่อเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อไป คณะสงฆ์จึงได้ประชุมกัน และต่างลงความเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะเป็นภิกษุเกษม เขมโก เพราะเป็นพระที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งเจ้าอาวาสองค์ เมื่อท่านได้รับเลือกเป็นเจ้าอาวาสวัดบุญยืน ท่าก็ไม่ยินดียินร้ายแต่ท่านก็ห่วงทางวัด เพราะท่านเคยจำวัดนี้ ท่านก็เห็นว่า บัดนี้ทางวัดบุญยืนมีภารกิจต้องดูแล ก็ถือว่าเป็นภารกิจทางศาสนา เพราะท่านเองต้องการให้พระศาสนานี้ดำรงอยู่ จึงไม่อาจจะดูดายภารกิจนี้ได้ จึงยอมรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบุญยืน

ครูบาเจ้าเกษม เขมโก อยู่ในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบุญยืนเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ.2492 ท่านก็ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส ทำหนังสือลาออกกับพระเดชพระคุณท่านเจ้าพระอินทรวิชาจารย์ (ท่านเจ้าคุณอิน อดีตเจ้าคณะจังหวัดลำปาง) แต่ก็ถูกท่านเจ้าคุณยับยั้งไว้ ครูบาเจ้าเกษม เขมโก จึงจำใจกลับไปเป็นเจ้าอาวาสวัดบุญยืนอีกระยะหนึ่งนานถึง 6 ปี ท่านคิดว่าควรจะหาภิกษุที่มีคุณสมบัติมาแทนท่าน เพราะท่านอยากจะออกธุดงค์ ดังนั้นท่านจึงตัดสินใจสละตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบุญยืน โดยยื่นใบลากับคณะสงฆ์ในเขตปกครอง ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงเดินทางไปลาออกกับเจ้าคณะจังหวัด ซึ่งอยู่ที่วัดเชียงราย แต่ท่านเจ้าคณะจังหวัดก็ไม่อนุญาต

เรื่องการลาออกจากการเป็นเจ้าอาวาสของหลวงพ่อเกษม เขมโก นี้ดูค่อนข้างจะเป็นเรื่องแปลกพิศดาร แม้แต่การสละตำแหน่งลาภยศท่านยังต้องประสบกับอุปสรรคต่าง ๆ นานา ไม่เหมือนกับพระองค์อื่น ๆ ที่ฟันฝ่าเพื่อแสวงหาลาภยศ เมื่อท่านลาออกไม่สำเร็จประมาณปี พ.ศ.2492 ก่อนเข้าพรรษาในปีนั้น หลวงพ่อก็หนีออกจากวัดบุญยืนก่อนเข้าพรรษา เพียงวันเดียวโดยไม่มีใครรู้ พอเช้าวันรุ่งขึ้นเข้าพรรษา หมู่ศรัทธาก็นำอาหารมาเตรียมถวายในวิหาร ทุกคนรอแล้วรอเล่าก็ไม่เห็นหลวงพ่อเกษม จึงเกิดความวุ่นวายเที่ยวตามหาตามกุฏิก็ไม่พบหลวงพ่อเกษม พอมาที่ศาลาทุกคนเห็นกระดาษวางบนธรรมาสน์เป็นข้อความที่หลวงพ่อเกษมเขียน ลาศรัทธาชาวบ้านยาวถึง 2 หน้ากระดาษ

ข้อความบางตอนที่จำได้มีอยู่ว่า ทุกอย่างเราสอนดีแล้ว อย่าได้คิดไปตามเรา เพราะเราสละแล้วการเป็นเจ้าอาวาส เปรียบเหมือนหัวหน้าครอบครัว ต้องรับผิดชอบภาระหลายอย่าง ไม่เหมาะสมกับเรา เราต้องการความวิเวกจะไม่ขอกลับมาอีก แต่พวกชาวบ้านก็ไม่ละความพยายาม เพราะชาวบ้านเหล่านี้ศรัทธาในตัวหลวงพ่อพอ รู้ว่าหลวงพ่ออยู่ที่ไหนเมื่อรวมกันได้ 40-50 คน ก็ออกเดินทางไปตามหาหลวงพ่อเกษม และไปพบหลวงพ่อที่ศาลาวังทาน หลวงพ่อเกษมได้ปฏิบัติธรรมที่นั่น พวกชาวบ้านได้อ้อนวอนหลวงพ่อ ขอให้กลับวัด บางคนร้องไห้เพราะศรัทธาในตัวหลวงพ่อมาก แต่หลวงพ่อเกษมท่านก็นิ่งไม่พูดไม่ตอบ จนพวกชาวบ้านต้องยอมแพ้ ตลอดพรรษาปี 2492 หลวงพ่อเกษมท่านก็อยู่ที่ศาลาวังทานโดยไม่ยอมกลับวัดบุญยืน

หลวงพ่อเกษม เขมโกกับในหลวงของเรา
หลวงพ่อเกษม เขมโกกับในหลวงของเรา

พวกชาวบ้านจึงพากันเข้าไปพบโยมแม่ของหลวงพ่อ โยมแม่รักหลวงพ่อเกษมมาก เพราะท่านมีลูกชายคนเดียว จึงให้คนพาไปหาหลวงพ่อที่ศาลาวังทาน โดยมี (เจ้าประเวทย์ ณ ลำปาง) ตอนนั้นยังบวชเป็นสามเณรอยู่ โยมแม่ได้ขอร้องให้หลวงพ่อเกษมกลับวัด แต่หลวงพ่อกลับบอกโยมแม่ว่า แม่เฮาบ่เอาแล้วเฮาบ่เหมาะสมกับวัด เฮาชอบความวิเวก เฮาขออยู่อย่างวิเวกต่อไป เฮาจะไปอยู่ที่ป่าเหี้ยว แม่อาง จนทำให้โยมแม่หมดปัญญา ไม่รู้จะขอร้องยังไง ผลที่สุดก็ต้องตามใจหลวงพ่อ วันรุ่งขึ้น หลวงพ่อเกษมก็ออกจากศาลาวังทาน เดินทางไปบ้านแม่อางด้วย เท้าเปล่า เช้ามืดไปถึงป่าเหี้ยวแม่อางก็ค่ำพอดี ฝ่ายโยมมารดาพอกลับมาบ้านก็เกิดคิดถึงพระลูกชาย เพราะเกรงว่าพระลูกชายจะลำบาก จึงออกจากบ้านไปตามหาพระลูกชาย โดยมีคนติดตามไปด้วยชื่อ โกเกตุ โยมแม่สั่งให้โกเกตุ ขนของสัมภาระเพื่อจะไปอยู่บนดอย ของที่เหลือในร้านเพชรพลอยแจกให้ชาวบ้านจนหมดเกลี้ยง ไม่เอาอะไรเลย นอกจากของใช้ที่จำเป็นบางอย่างเท่านั้น

เกตุ พงษ์พันธุ์ ซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดก็พาโยมแม่ไปส่งที่แม่อาง และพวกชาวบ้านเห็นโยมแม่ของหลวงพ่อมา ก็สร้างตูบกระท่อมอยู่ข้างวัดแม่อาง ส่วนหลวงพ่อเข้าบำเพ็ญภาวนาในป่าช้าบนดอยแม่อาง บำเพ็ญภาวนาบารมีวิปัสสนาปฏิบัติธรรมได้หนึ่งพรรษา ทิ้งให้โยมแม่ซึ่งอยู่กระท่อมตีนดอยก็คิดถึงพระลูกชาย โดยแม่ก็ตามไปหาที่ป่าช้าข้างเนินดอย ก็มีชาวบ้านแถวนั้นอาสาสร้างตูบกระท่อมให้โยมแม่พักใกล้ ๆ ที่หลวงพ่อปฏิบัติธรรม โดยโยมแม่บัวจ้อนได้พำนักที่ข้างเนินดอยได้พักหนึ่ งก็ล้มป่วยลงด้วยโรคไข้ป่า ชาวบ้านก็ไปตามหมอทหารมาฉีดยารักษาให้ แต่โยมแม่ท่านมีสติที่เข้มแข็ง และยังได้สั่งเสียเณรเวทย์ว่ามีเงินซาวเอ็ดบาท ให้เก็บไว้ถ้าโยมแม่ตายให้เณรไปบอกลุงมา เมื่อสั่งเสร็จโยมแม่ก็หลับตา เณรเวทย์ก็ไปบอกหลวงพ่อเกษม หลวงพ่อก็มา ท่านได้นั่งดูอาการของโยมแม่ท่านนั่งสวดมนต์ เป็นที่น่าแปลกใจขณะที่หลวงพ่อสวดมนต์ มีผึ้งบินมาวนเวียนตอมไปตอมมาสักครู่ใหญ่ ๆ โยมแม่ก็ถอดจิตอย่างสงบ นัยน์ตาหลวงพ่อเกษมมีน้ำตาค่อย ๆ ไหลขณะที่ท่านแผ่บุญกุศลให้กับโยมแม่ ท่านยังเอ่ยว่า “แหม เฮาว่า เฮาจะบ่ไห้(ร้องไห้) แล้วนา…”

ศพของโยมแม่บัวจ้อน มีเณรเวทย์และชาวบ้านได้มาช่วยจัดการจนเสร็จพิธี ชาวบ้านช่วยเป็นเงินในสมัยนั้นได้ 700 บาท ถือว่ามาก ศพของโยมแม่บัวจ้อนเผาที่ป่าช้าแม่อาง หลังจากที่เสร็จพิธีงานศพโยมแม่จ้อนแล้ว หลวงพ่อก็สั่งเณรเวทย์ ให้กลับไปเรียนธรรมที่วัดบุญยืน
อยู่มาไม่นาน หลวงพ่อก็จากป่าช้าแม่อาง กลับมาบำเพ็ญภาวนาที่ป่าช้าศาลาวังทานอีกเพียงหนึ่งพรรษา ท่านก็เดินทางไปอยู่ที่ป่าช้านาป้อ และกลับมาอยู่ประตูม้า ซึ่งก็คือสุสานไตรลักษณ์ในปัจจุบัน

หลวงพ่อเกษม เขมโก ท่านได้ปฏิบัติธรรมจนเป็นพระที่ขาวสะอาด และเป็นที่เคารพสักการะของคนทั่วประเทศ ศีลบริสุทธิ์ตามพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเป็นพระไม่ติดยึดใคร ต้องการอะไร ขออะไร ไม่เคยปฏิเสธ จนสังขารของท่านดูแล้วไม่แข็งแรง แต่จิตของหลวงพ่อแข็งแรง และท้ายที่สุดหลวงพ่อเกษม เขมโก ได้ละสังขาร ณ ห้องไอซียูโรงพยาบาลศูนย์ภาคเหนือ จังหวัดลำปาง เมื่อเวลา 19.40 น. ของวันจันทร์ที่ 15 มกราคม 2539 ซึ่งตรงกับวันแรม 11 ค่ำ เดือน 2 ยังความอาลัยเศร้าโศกเสียใจมายังหมู่สานุศิษย์ทั่วประเทศ

สรีระศพของหลวงพ่อเกษม เขมโก บรรจุอยู่ในโลงแก้วติดแอร์ ไม่เน่าเปื่อย ณ พระมณฑป อาคารทรงไทยประยุกต์ สำนักสงฆ์สุสานไตรลักษณ์ จ.ลำปาง
สรีระศพของหลวงพ่อเกษม เขมโก บรรจุอยู่ในโลงแก้วติดแอร์ ไม่เน่าเปื่อย ณ พระมณฑป อาคารทรงไทยประยุกต์ สำนักสงฆ์สุสานไตรลักษณ์ จ.ลำปาง

ขอบคุณที่มา ประวัติหลวงพ่อเกษม เขมโก – http://afaps5.com/body/article/kasem_kemgo.pdf

บทสวดพระมหาจักรพรรดิ

คำอัญเชิญภพภูมิ

ลูกขอตั้งสัจจะอธิษฐานกราบขออาราธนาเมตตาบารมีรวมหลวงปู่ทวด หลวงปู่ดู่ ขอหลวงปู่ได้โปรดมีเมตตา  อารธนาบารมีรวม ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยตั้งแต่องค์ปฐมจนถึงองค์ปัจจุบันบรมมหาจักรพรรดิทุกๆพระองค์ บารมีรวมพระปัจเจกพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ พระธรรม และพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย โดยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและอนาคต บารมีรวมหลวงปู่ทวด หลวงปู่ดู่ ท่านอันเป็นที่สุด บารมีรวมหลวงตาม้าเป็นต้น

ขอบารมีหลวงปู่ได้โปรดเมตตาน้อมนำ ภพภูมิต่างๆทั้งหลายในทั่วทั้ง 3 แดนโลกธาตุ  อันประกอบไปด้วยเทพ 6 ชั้นพรหม 20 ชั้น เทพพรหมทุกชั้นฟ้ามหาสมุทรโดย ทั่วทั้งหมื่นแสนโกฎิจักรวาล เทพพรหมเทวาที่เกี่ยวพันกับหลวงปู่ทวด หลวงปู่ดู่ หลวงตาม้าเทพพรหมเทวาที่เกี่ยวพันเกี่ยวข้องกับข้าพเจ้า โดยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและอนาคต ท่านปู่พระอินทร์เจ้าฟ้า  ท่านท้าวจตุมหาราชทั้ง 4 พระยายมราชพร้อมด้วยบริวารทั้งหมด  พระศรีสยามเทวาธิราชทุกๆพระองค์ วีรบุรษและวีรสตรีทั้งหลาย ที่คอยปกป้องรักษาแผ่นดินสยาม  โอปาติกะทั้งหลาย พระฤาษีและดาบสทั้งหลาย  ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองทุกๆจังหวัด พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง  พระราหูวราหก เจ้ากรุงพาลี แม่พระธรณี แม่พระคงคา พระเพลิง พระพาย พระพิรุณ พระยายมราชพร้อมบริวารพญาครุฑ-พญานาคพร้อมด้วยบริวาร คนธรรณ์ ชาวเมืองลับแล และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย  ที่ข้าพเจ้าได้เคยไปอธิษฐานไว้ ขอหลวงปู่ได้โปรดเมตตาน้อมนำ ท่านทั้งหลายมาร่วมสวดบทพระมหาจักรพรรดิ พร้อมกันกับพวกข้าพเจ้า ณ กาลบัดเดี๋ยวนี้ด้วยเถิด

บทบูชาพระ

พุทธัง ชีวิตตัง เม ปูเชมิ
ธัมมัง ชีวิตตัง เม ปูเชมิ
สังฆัง ชีวิตตัง เม ปูเชมิ

กราบพระ ๖ ครั้ง

พุทธัง วันทามิ(กราบ) ธัมมัง วันทามิ(กราบ) สังฆัง วันทามิ(กราบ) ครูอุปัชฌาย์อาจาริยคุณัง วันทามิ(กราบ) มาตาปิตุคุณัง วันทามิ(กราบ) พระไตรสิกขาคุณัง วันทามิ(กราบ)

บทสมาทานศีล ๕

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุท ธัสสะ(๓ ครั้ง)
พุทธัง สรณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ
สังฆัง สรณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ
ปาณาติปาตา เวรมณี สิกขาปะทังสมาธิยามิ
อทินนาทา เวรมณี สิกขาปะทังสมาธิยามิ
อพรัมจริยา เวรมณี สิกขาปะทังสมาธิยามิ
มุสาวาทา เวรมณี สิกขาปะทังสมาธิยามิ
สุราเมรยะ มัชชปมาทัฎฐานา เวรมณี สิกขาปะทังสมาธิยามิ
อิมานิ ปัญจสิกขา ปทานิ สมาธิยามิ(๓ ครั้ง)
สีเลนะ สุคะติง ยันติ สีเลนะ โภคะสัมปทา
สีเลนะ นิพพุติง ยันติ ตัสมา สีลัง วิโส ธะเย

บทอาราธนาพระ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุท ธัสสะ(๓ ครั้ง)
พุทธัง อาราธนานัง กะโรมิ
ธัมมัง อาราธนานัง กะโรมิ
สังฆัง อาราธนานัง กะโรมิ

คาถาหลวงปู่ทวด

น้อมระลึกถึงหลวงปู่ทวด แล้วว่าคาถาดังนี้
นะโม โพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภะคะวา (๓ ครั้ง)

คาถาหลวงปู่ดู่

น้อมระลึกถึงหลวงปู่ดู่ แล้วว่าคาถาดังนี้
นะโม โพธิสัตโต พรหม ปัญโญ (๓ ครั้ง)

บทขอขมาพระรัตนตรัย

โยโทโส โมหะจิตเต นะพุทธัสมิง ปาปะกะโต มะยา ขะมะถะเม กะตัง โทสัง สัพพะปาปัง วินัสสันตุ
โยโทโส โมหะจิตเต นะธัมมัสมิง ปาปะกะโต มะยา ขะมะถะเม กะตัง โทสัง สัพพะปาปัง วินัสสันตุ
โยโทโส โมหะจิตเต นะสังฆัสมิง ปาปะกะโต มะยา ขะมะถะเม กะตัง โทสัง สัพพะปาปัง วินัสสันตุ

บทสวดมหาจักรพรรดิ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุท ธัสสะ(๓ ครั้ง)
* สวดตามกำลังวัน อาทิตย์ ๖, จันทร์ ๑๕, อังคาร ๘, พุธ ๑๗, พฤหัส ๑๙, ศุกร์ ๒๑, เสาร์ ๑๐ *
นะโมพุทธายะ พระพุทธไตรรัตนญาณ มณีนพรัตน์ สีสะหัสสะ สุธรรมา พุทโธ ธัมโม สังโฆ ยะธาพุทโมนะ พุทธะบูชา ธัมมะบูชา สังฆะบูชา อัคคีธานัง วะรังคันธัง สีวลีจะมหาเถรัง อะหังวันทามิ ทูระโต อะหังวันทามิ ธาตุโย อะหังวันทามิ สัพพะโส พุทธะ ธัมมะ สังฆะ
ปูเชมิ

บทอัญเชิญพระเข้าตัว (แผ่เมตตา)

สัพเพพุทธา สัพเพธัมมา สัพเพสังฆา
พะลัปปัตตา ปัจเจกานัญ จะยังพลัง
อรหันตานัญ จะ เตเชนะรักขัง พันธามิ สัพพะโส (สวด ๕ จบ)
พุทธัง อธิษฐามิ ธัมมัง อธิษฐามิ สังฆัง อธิษฐามิ (ให้อธิษฐานเอา)

คำอธิษฐาน ฝึกจิต เร่งสมาธิ เร่งนิมิต

ข้าพเจ้า ……(นามของท่าน)…ผู้เป็นข้ารับใช้แห่งพระพุทธองค์ ขอนอบน้อมและน้อมนำบารมีแห่งพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอริยบุคคลทุกชั้นภูมิ พระโพธิสัตว์ และพระบรมมหาจักรพรรดิ ตั่งแต่อดีต ปัจจุบันและอนาคต ครูบาอาจารย์ทั้งหลายสืบ ๆกันมา โดยมีบารมีรวมของหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญเป็นที่สุด ขอได้โปรดยกจิตของข้าพเจ้า ขึ้นสู่ภาวะ พระกรรมฐานทั้ง 40 ทัศ พระปิติทั้ง 5 และวิปัสสนาญาณทั้ง 9 ขอพระกรรมฐานทั้ง 40 ทัศ พระปิติทั้ง 5 และวิปัสสนาญาณทั้ง 9 จงมาบังเกิดปรากฏ ในกายทวาร ในวจีทวาร ในมโนทวาร ของข้าพระพุทธเจ้า ณ กาลบัดเดี๋ยวนี้เถิด

…….ขอได้โปรดยกจิตของข้าพเจ้า ขึ้นสู่ภาวะเมฆจิต สามารถกำหนดจิต รู้ภาวะการณ์ต่างๆทั้งเหตุ ผล อดีต อนาคต และปัจจุบัน ได้ทุกขณะจิตที่ปรารถนาจะรู้ เมื่อรู้แล้วขอให้เห็นภาพนั้นได้ชัดเจนแจ่มใส และพยากรณ์ได้ตามความเป็นจริงทุกๆประการ เหตุที่จะพึงบังเกิดแก่ข้าพเจ้า ขอให้ข้าพเจ้าได้รู้เหตุนั้นโดยมิต้องกำหนดจิตแม้แต่ประการใด ณ กาลบัดเดี๋ยวนี้เถิด