พระสมเด็จวัดเกศไชโย
การสร้างพระสมเด็จฯ เกศไชโย พิมพ์มาตรฐาน…เป็นที่ยอมรับของวงการพระว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) นั้น ท่านได้สร้าง พระสมเด็จฯ วัดระฆังฯ, พระสมเด็จฯ เกศไชโย และ พระสมเด็จฯ วัดบางขุนพรหม พระสมเด็จฯ วัดเกศไชโย น่าจะมีอายุพอๆ กับพระสมเด็จฯ วัดระฆัง แต่อาจจะสร้างก่อนพระสมเด็จฯ วัดบางขุนพรหม ไม่นาน ทั้งนี้ก็สอดคล้องกับบันทึกของ ท่านเจ้าคุณทิพยโกษา ที่ให้รายละเอียดไว้
พิมพ์ทรงพระ พิมพ์ของพระสมเด็จฯ เกศไชโย มีเอกลักษณ์แตกต่างจาก พระสมเด็จฯ วัดระฆังฯ และพระสมเด็จฯ วัดบางขุนพรหม คือ ทุกพิมพ์ต้องมี กรอบกระจก และอกมีร่อง หูบายศรี (ยกเว้นพิมพ์ ๗ ชั้นอกตัน) อีกทั้งมีฐานมากกว่า ๓ ชั้น คือ มีฐาน ๖ ชั้น และฐาน ๗ ชั้น (บางท่านว่าบางพิมพ์มีฐาน ๕ ชั้น)
พิมพ์ทรงของพระสมเด็จฯ เกศไชโย มีดังนี้ พิมพ์ ๗ ชั้น ได้แก่ ๑.พิมพ์ ๗ ชั้น นิยม (พิมพ์ใหญ่) ๒.พิมพ์ ๗ ชั้น หูประบ่า ๓.พิมพ์ ๗ ชั้น ไหล่ตรง ๔.พิมพ์ ๗ ชั้น นักเลงโต (แขนติ่ง) ๕.พิมพ์ ๗ ชั้น แข้งหมอน ๖.พิมพ์ ๗ ชั้น อกวี ๗.พิมพ์ ๗ ชั้น แขนกลม ๘.พิมพ์ ๗ ชั้น อกตัน ๙.พิมพ์ ๗ ชั้น พิมพ์ล่ำ และ ๑๐.พิมพ์ ๗ ชั้น ปรกโพธิ์
พิมพ์ ๖ ชั้น ได้แก่ ๑.พิมพ์ ๖ ชั้น อกตัน ๒.พิมพ์ ๖ ชั้น อกตลอด ๓.พิมพ์ ๖ ชั้น แบบ ๗ ชั้น นิยม ๔.พิมพ์ ๖ ชั้น ไหล่ตรง ๕. พิมพ์ ๖ ชั้น ล่ำอกตลอด ๖.พิมพ์ ๖ ชั้น เข่ากว้าง ๗.พิมพ์ ๖ ชั้น พิมพ์ต้อ และพิมพ์ ๕ ชั้น
เนื้อพระ เป็นพระเนื้อผงขาว เช่นเดียวกับ พระสมเด็จฯ วัดระฆัง และพระสมเด็จฯ วัดบางขุนพรหม เนื้อพระละเอียด เพราะผ่านการกรอง และตำผงมาอย่างดี มีมวลสารเป็นจุดสีขาวขุ่น จุดสีแดงอิฐ และจุดสีดำ คล้ายถ่านหรือใบลานเผา จุดสีน้ำตาลของเกสรดอกไม้
พระสมเด็จฯ เกศไชโย มีคราบกรุบาง หรือแทบไม่มีคราบกรุเลย เพราะถูกบรรจุไว้ในที่แห้ง และอยู่ในกรุไม่นานนัก จึงทำให้ดูเหมือนว่ามีอายุน้อยกว่า พระสมเด็จฯ วัดระฆัง หรือ วัดบางขุนพรหม แต่พระที่ถูกใช้สัมผัสจะหนึกนุ่มและเนื้อจัด พระที่ไม่ใช้จะแห้งและสีออกขาว พระบางองค์แตกลายงา พิจารณาโดยรวมแล้ว เนื้อพระจะละเอียดและแข็งกว่าของพระสมเด็จฯ อีกสองสำนัก
อนึ่ง พระสมเด็จฯ เกศไชโย นี้ หากชำรุดหรือหักแล้วจะซ่อมอำพรางไม่ให้เห็นรอยซ่อมยาก เพราะเนื้อพระละเอียด และแน่นมาก
แสดง %d รายการ