พระขุนแผนไข่ผ่าซีก กรุวัดพระรูป
฿ 55,000.00
ให้เช่าพระขุนแผนไข่ผ่าซีก กรุวัดพระรูป ศิลปะสมัยอู่ทองผสมลพบุรี พุทธลักษณะของขุนแผนวัดพระรูปนั้น เป็นพระประทับนั่งอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว พระพักต์จะยาว ด้านหลังอูมแทบทุกองค์ สัณฐานขนาดพระใกล้เคียงกับไข่ไก่ คล้ายไข่ผ่าซีก เลยเรียกกันว่า “พระขุนแผนไข่ผ่า” พุทธคุณของพระขุนแผนวัดพระรูปนั้น ยอดเยี่ยมทางด้านคงกระพัน และเมตตามหานิยม
มีสินค้าอยู่ 1
คำอธิบาย
พระขุนแผนไข่ผ่าซีก กรุวัดพระรูป จ.สุพรรณบุรี
ให้เช่าพระขุนแผนไข่ผ่าซีก กรุวัดพระรูป ศิลปะสมัยอู่ทองผสมลพบุรี พุทธลักษณะของขุนแผนวัดพระรูปนั้น เป็นพระประทับนั่งอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว พระพักต์จะยาว ด้านหลังอูมแทบทุกองค์ สัณฐานขนาดพระใกล้เคียงกับไข่ไก่ คล้ายไข่ผ่าซีก เลยเรียกกันว่า “พระขุนแผนไข่ผ่า” พุทธคุณของพระขุนแผนวัดพระรูปนั้น ยอดเยี่ยมทางด้านคงกระพัน และเมตตามหานิยม
พระขุนแผน อีกหนึ่งกรุที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้เลย อยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี “เมืองในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน” เช่นกัน นั่นคือ “พระขุนแผน กรุวัดพระรูป”
วัดพระรูปตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี ตรงข้ามกับตัวตลาดของจังหวัด เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งสมัยอู่ทองตอนปลาย
โบราณสถานและโบราณวัตถุอันล้ำค่าของวัดเป็นประจักษ์พยานได้อย่างเด่นชัด ทั้งแบบพุทธศิลปะสมัยทวารวดี พระเจดีย์ศิลปะสมัยอู่ทอง รอยพระพุทธบาทไม้จำหลักที่มีศิลปะงดงาม อีกทั้งพระพุทธรูปปางไสยาสน์ก่ออิฐถือปูนขาวโบราณ พุทธศิลปะอู่ทอง
ท่านมหากวีเอกของไทย “สุนทรภู่” ยังได้รจนาในโคลงนิราศเมืองสุพรรณ เมื่อปีพ.ศ. 2378 ตอนหนึ่งว่า
..ฝั่งซ้ายฝ่ายฟากโน้น พิสดาร
มีวัดพระรูปบุราณ ท่านสร้าง
ที่ถัดวัดประตูสาร สงฆ์สู่ อยู่เอย
หย่อมย่านบ้านขุนช้าง ชิดข้างสวน บัลลังก์
สำหรับแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องและพระบูชาแล้ว ชื่อเสียงของ “วัดพระรูป” จะขึ้นชื่อลือชามากว่าเป็นแหล่งกำเนิดพระกรุเก่ามากมายที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของจังหวัด และเป็นที่นิยมสะสมและแสวงหาอย่างกว้างขวาง เรียกขานกันว่า “พระกรุวัดพระรูป” และพระเครื่องที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ “พระขุนแผน” ซึ่งนับเป็นหนึ่งในพระขุนแผนอันดับต้นๆ ของเมืองไทย ทีเดียว พระขุนแผน
กรุวัดพระรูป เข้าใจว่าสร้างในสมัยอู่ทอง ซึ่งนับว่ามีอายุเก่าแก่กว่าพระตระกูลขุนแผนทั้งหมด มีทั้งเนื้อหยาบและเนื้อละเอียด พุทธลักษณะองค์พระประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย ภายในซุ้มเรือนแก้ว พระพักตร์ยาว พิมพ์ด้านหลังเป็นหลังอูม ลักษณะพิมพ์ทรงคล้ายไข่ผ่าซีก โดยแบ่งแยกออกไปอีกเป็น 2 พิมพ์ คือ “พิมพ์ไข่ผ่าซีก” คือ ลักษณะคล้ายไข่ไก่ผ่าซีก และ “พิมพ์แตงกวาผ่าซีก” ซึ่งพิมพ์ทรงจะเรียวยาวและเล็กกว่าพิมพ์ไข่ผ่าซีก
ขุนแผนพระรูปทั้ง 2 พิมพ์นี้มีพุทธคุณเป็นเลิศทางด้านคงกระพันชาตรีและเมตตามหานิยมเป็นที่ปรากฏ โดยเฉพาะ “พระขุนแผนพิมพ์ไข่ผ่าซีก” นั้นค่านิยม ณ ปัจจุบันค่อนข้างสูง ในวงการเรียกว่า “เป็นพระเบ่งได้” คือ เบ่งราคาได้นั่นเอง มาดูจุดพิจารณาแม่พิมพ์สำคัญๆ ที่จะใช้พิจารณาพระแท้กัน …
- พิมพ์นี้จะมีทั้งเนื้อหยาบและเนื้อละเอียด หน้าตาไม่ชัดนัก ปรากฏเม็ดแร่สีน้ำตาลอมแดงกระจายอยู่ทั่วองค์พระ เนื้อจะดูคล้ายพระขุนแผนพิมพ์อื่นแต่มีความแน่นตัวมากกว่า เมื่อถูกเหงื่อจะขึ้นมันเงางาม
- องค์พระคงเอกลักษณ์ของพระพุทธชินราช คือ ประทับนั่งปางมารวิชัย ในซุ้มเรือนแก้ว พระพักตร์เป็นทรงรี ขมับทั้งสองข้างยุบตัวเข้าไป จุดสำคัญคือ “ปลายพระเกศจะมีติ่งงอคล้ายเงี่ยงเบ็ดหรือแฉกลูกศรอยู่ทางซ้ายมือขององค์พระ”
- เหนือขมับซ้ายมีเส้นพิมพ์แตกวิ่งเฉียงไปจรดซุ้ม ส่วนบนของพระกรรณทั้งสองข้างติดไม่ชัดเจน แต่ส่วนตอนล่างเมื่อใช้กล้องส่องจะเห็นรางๆ วิ่งลงมาจรดพระอังสา จุดสำคัญอีกจุดคือ “มีเส้นเอ็นคอวิ่งเชื่อม 1 เส้น”
- ซุ้มเรือนแก้วมีลักษณะพลิ้วโค้ง มีเสาซุ้มรับทั้งสองด้าน ระหว่างเสาซุ้มด้านซ้ายขององค์พระกับลำพระกรซ้ายจะมีจุดเล็กๆ หนึ่งจุด อยู่ตรงกลางเหนือข้อศอกด้านนอกขององค์พระ -เอกลักษณ์สำคัญที่สุด ที่คนโบราณเรียกกันว่า “ตราเบนซ์” คือ เป็นรูปดาวสามแฉกคล้าย “โลโก้รถเมอเซเดสเบนซ์” บางคนเรียกแฉกดาว หรือใบพัดเรือ
- องค์พระประทับนั่งบนฐานบัวหงาย มีเส้นคั่นกลางระหว่างพระเพลากับฐานบัว เส้นนี้จะหนาหน่อย และตรงกลางเส้นจะขาดหาย ส่วนฐานบัวจะคลี่กลับบานออกด้านขวามือ ด้านล่างระหว่างกลีบบัวที่คลี่จะมีเส้นเรียวเล็กๆ ปลายแหลมโค้งสะบัดพลิ้วอย่างงดงาม
นอกจาก “พระขุนแผน กรุวัดพระรูป” ที่โด่งดังแล้ว “พระกรุวัดพระรูป” ยังมีพระพิมพ์อื่นๆ ส่วนใหญ่การเรียกขานนามจะนำมา ผูกกับวรรณคดี อาทิ พระพลายงาม พระขุนไกร พระกุมารทอง (พระยุ่ง) พระมอญแปลง พระนาคปรกชุมพล ฯลฯ