หลวงพ่อรุ่ง วัดหนองสีนวล

หลวงพ่อรุ่ง วัดหนองสีนวล

หลวงพ่อรุ่ง ฆคสุวณฺโณ วัดหนองสีนวล อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ เป็นวัดดั้งเดิมที่เกี่ยวข้อง กับกองบิน ๔ มากที่สุด อยู่ห่างจากพื้นที่กองบิน ๔ ไม่ถึง๑ ก.ม. โดยอยู่ทิศเหนือของ กองบิน ๔ ( หลังกองบิน ๔ ) ซึ่งวัดนี้หลวงพ่อรุ่งเป็นผู้นำสร้าง และเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก

หลวงพ่อรุ่ง ฆคสุวณฺโณ เกิดเมื่อวันพุธที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ.๒๔๑๒ ที่บ้านหัวหวาย อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ โดยบิดาชื่อ แป้น แป้นโต โยมมารดาชื่อ พุ่ม แป้นโต อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดมะปรางเหลือง อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ โดยมีหลวงพ่อปั้น วัดหัวถนน เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อเงิน วัดมะปรางเมือง เป็นกรรมวาจาจารย์ หลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล เป็นอนุสาวนาจารย์ เมื่ออุปสมบทแล้วได้จำ
พรรษา ณ วัดมะปรางเหลือง

ศึกษา – พัฒนา ได้ศึกษาธรรมวินัยที่วัดมะปรางเหลืองกับพระกรรมวาจาจารย์ ทั้งคันถธุระและวิปัสสนาธุระปรากฏว่าท่านสามารถหยั่งรู้ความเป็นไปของสัตว์ในคติภพต่างๆ เมื่อศึกษาจนเป็นที่พอใจในระดับหนึ่งแล้ว ท่านได้กลับมาจำพรรษาที่วัดบ้านเกิดคือวัดหัวหวาย และเมื่อวัดว่างเจ้าอาวาส ท่านก็ได้รับเป็นเจ้าอาวาสวัดหัวหวาย ในขณะที่พรรษาได้ประมาณ ๕ พรรษาต่อมาที่บ้านหัวหวายมีความเดือดร้อนลำเค็ญเกี่ยวกับเรื่องน้ำและสภาวะบีบคั้นด้านอื่นๆ ท่านสงสารญาติโยมจึงได้จาริก แสวงหาทำเลที่ตั้งหมู่บ้านใหม่โดยท่านได้ใช้วิชาที่ศึกษาเล่าเรียนมาเสี่ยงทายหาทำเลที่เหมาะสมประมาณ ๔-๕ ที่ จึงได้มาพบหนองน้ำที่มีนกเขาชุกชุมมากและมีนกเขาตัวหนึ่งสีนวลสวยงามเป็นจุดเด่นอยู่ด้วย ท่านจึงตกลงใจยึดทำที่เหมาะสมกลับไปนำญาติโยมจากบ้านหัวหวายอพยพมาอยู่ครั้งแรก ๓๐ ครอบครัว ต่อมาได้อพยพตามมาเป็นจำนวนมาก ท่านได้รื้อกุฏิและศาลาวัดหัวหวายมาสร้างที่ วัดหนองสีนวลด้วยโดยได้สร้าง วัดหนองสีนวล เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๔๔ ตรงกับรัชสมัยของพระปิยมหาราช ร.๕

ครั้งถึง พ.ศ.๒๔๕๓ ท่านได้พบ แสงศร และได้นำทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.๖ ด้วยตนเอง ซึ่งพระแสงศรดังกล่าว จัดเป็นของสำคัญอีกอย่างหนึ่งในรัชสมัยของพระองค์ด้วย

ความเกี่ยวพันกับหลวงพ่อเดิมฯ หลวงพ่อรุ่งมีความเกี่ยวข้องเป็นญาติกับหลวงพ่อเดิม (เป็นพี่หลวงพ่อเดิม ๑๑ ปี) โดยโยมมารดาของท่านทั้งสองเป็นพี่น้องกันและท่านทั้งสองได้ช่วยกันปฏิบัติศาสนกิจมาโดยลำดับเช่น การก่อสร้างอุโบสถ วัดหนองสีนวล ก็ปรากฏว่าหลวงพ่อเดิมได้มีส่วนช่วยในการก่อสร้างจนสำเร็จลุล่วงอย่างรวดเร็ว

หลวงพ่อรุ่งได้พัฒนาวัดหนองสีนวลมาโดยลำดับจนถึง วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๙ ท่านได้มรณภาพละสังขาร สิริรวมอายุได้ ๗๗ปี พรรษา ๕๔ เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองสีนวล ๔๔ ปี

รูปเหมือนหลวงพ่อรุ่ง กองบิน ๔ ได้ระลึกถึงพระคุณของท่านจึงได้หล่อรูปเหมือนหลวงพ่อรุ่ง เมื่อพ.ศ. ๒๕๓๐ จากโรงหล่อใกล้วัดประดิษฐารามกรุงเทพมหานคร ฐานกว้าง๓๒ นิ้ว หน้าตักกว้าง ๓๒ นิ้ว ส่วนสูง ๓๙ นิ้ว ค่าหล่อ ๓๖,๐๐๐ บาท (สามหมื่นหกพันบาทถ้วน) ได้ทำพิธีพร้อมพิธีพุทธาภิเษก วัตถุมงคล หลวงพ่อเพชรเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ ณ วิหารหลวงพ่อเพชร ด้วย

หลวงพ่อแพ เขมังกโร

หลวงพ่อแพ เขมังกโร

หลวงพ่อแพ เขมังกโร เป็นชาว จ.สิงห์บุรี โดยกำเนิด ซึ่งเป็นดินแดนแห่งวีรชนคนกล้า “ชาวบ้านบางระจัน” อันลือลั่นในประวัติศาสตร์ของชาติไทย

ท่านมีนามเดิมว่า “แพ ใจมั่นคง” ชาตะเมื่อวันจันทร์ที่ ๑ มกราคม ๒๔๔๘ ณ บ้านสวนกล้วย ต.พิกุลทอง อ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี เป็นบุตรของนายเทียน และนางหน่าย ใจมั่นคง เมื่ออายุได้ ๘ เดือน มารดาผู้ให้กำเนิดได้ถึงแก่กรรม นายบุญ และนางเพียร ขำวิบูลย์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นอา ได้ขอด.ช.แพ จากนายเทียน บิดาบังเกิดเกล้า มาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม

พ.ศ. ๒๔๖๓ ด.ช.แพ อายุ ๑๖ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดพิกุลทอง ต.พิกุลทอง อ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี โดยมี พระอธิการพันธ์ จันทสโร เจ้าอาวาสวัดพิกุลทอง เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากนั้นท่านได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดชนะสงคราม กรุงเทพฯ ศึกษาภาษาบาลีไวยากรณ์ จนสอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค

พ.ศ.๒๔๖๙ สามเณรแพ มีอายุครบ ๒๑ ปีบริบูรณ์ ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดพิกุลทอง โดยมี พระมงคลทิพยมุนี (มุ้ย) เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาส กรุงเทพฯ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “เขมังกโร” แปลว่า “ผู้ทำความเกษม”

ภายหลังอุปสมบทแล้ว พระภิกษุแพ ได้กลับมาจำพรรษาที่วัดชนะสงคราม เช่นเดิม

พ.ศ.๒๔๗๐ พระภิกษุแพ สอบเปรียญธรรมได้ ๔ ประโยค และได้หยุดการศึกษาด้านปริยัติธรรม เนื่องจากมีปัญหาด้านสายตา ที่ต้องใช้ในการอ่านตำรับตำรา

หลังจากนั้น ท่านได้เริ่มหันมาศึกษาแนวทางปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน และวิชาไสยเวท โดยได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของ พระครูใบฎีกาเกลี้ยง วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ และ หลวงปู่ศรี วัดพระปรางค์ อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี โดยท่านได้ศึกษาจนเจนจบ และมีความเชี่ยวชาญชำนาญทางนี้มาก

พ.ศ.๒๔๗๔ หลวงพ่อแพ อายุ ๒๖ ปี ได้รับนิมนต์ให้มาเป็นเจ้าอาวาส วัดพิกุลทอง แทนเจ้าอาวาสรูปเดิม ที่ลาสิกขา

ท่านได้พัฒนาวัดพิกุลทองให้เจริญรุ่งเรืองในทุกด้าน ดังปรากฏในทุกวันนี้

สำหรับตำแหน่งหน้าที่การงานสำคัญที่ท่านได้รับ คือ พ.ศ.๒๔๘๓ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.๒๔๘๔ เป็นพระครูสัญญาบัตรในนาม “พระครูศรีพรหมโสภิต” พ.ศ.๒๕๓๙ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นกรณีพิเศษ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมในนาม “พระธรรมมุนี ฯลฯ

ตลอดชีวิตของหลวงพ่อแพ ท่านได้บำเพ็ญสาธารณประโยชน์แก่สังคมอย่างอเนกอนันต์ และได้อุทิศเวลาส่วนใหญ่ให้แก่ชาวบ้านผู้เดือดร้อน หรือตกทุกข์ได้ยากตลอดมา เปรียบเสมือนร่มโพธิ์ร่มไทรของประชาชนทั่วไป จวบจนท่านมรณภาพเมื่อวันพุธที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ สิริอายุ ๙๔ ปี พรรษา ๗๓

ทีมา คมชัดลึก (ปกิณกะพระเครื่อง โดยไพศาล ถิระศุภะ)

หลวงพ่อเผือก วัดกิ่งแก้ว เทพเจ้าแห่งปากน้ำ

หลวงพ่อเผือก วัดกิ่งแก้ว เทพเจ้าแห่งปากน้ำ

ประวัติ หลวงปู่เผือก ปัญญาธโร วัดกิ่งแก้ว จ.สมุทรปราการ

เมืองปากน้ำ สถานที่ตั้งของสนามบินสุวรรณภูมิ ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง จากรุ่นสู่รุ่นอดีตจวบจนปัจจุบัน พระเกจิอีกรูปหนึ่ง ถึงแม้ท่านจะละสังขารไปนานกว่า 50 ปีแล้ว แต่วัตถุมงคลของท่านที่จัดสร้างไว้ กลับได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ลูกศิษย์ลูกหาและนักสะสมเป็นอย่างยิ่ง

ท่านได้รับการยกย่องเป็นเทพเจ้าแห่งปากน้ำ คือ “พระครูกรุณาวิหารี” หรือที่ชาวบ้านทั่วไปนิยมเรียกกันติดปาก ว่า “หลวงปู่เผือก ปัญญาธโร” อดีตเจ้าอาวาสวัดกิ่งแก้ว ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

ทั้งนี้ วัดกิ่งแก้ว ตั้งอยู่ที่ 23 ถนนกิ่งแก้ว หมู่ 13 ต.ราชาเทวะ อ. บางพลี จ.สมุทรปราการ สร้างเมื่อปี 2428 เดิมเรียกว่า “วัดกิ่งไผ่” ต่อมา หม่อมแก้วได้มาทำนุบำรุงและบูรณะพัฒนาวัดให้เจริญมั่นคง จึงได้ขนานนามวัดใหม่ว่า “วัดกิ่งแก้ว” มาจนถึงปัจจุบัน วัดแห่งนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อประมาณปี 2429

กล่าวสำหรับ หลวงปู่เผือก เกิดในสกุล ขุมสุขทอง ที่บ้านคลองสำโรง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม 2412 ตรงกับวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 9 ปีมะเส็ง โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายทองสุขและนางไข่ ขุมสุขทอง มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 8 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 5

เมื่ออายุ 13 ปี โยมบิดาของท่านนำไปฝากเรียนหนังสือกับพระอาจารย์อิ่ม อินทสโร ที่วัดกิ่งแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ จนอายุครบ 15 ปี มีความรู้พออ่านออกเขียนได้ จากนั้นกลับมาช่วยครอบครัวประกอบอาชีพทำนา ทำสวน จวบจนอายุ 18 ปี ถูกคัดเลือกเข้าเป็นทหารเรือในกองประจำการ รับราชการ 2 ปี จึงกลับมาช่วยบิดา-มารดา ประกอบอาชีพกสิกรรม อย่างเดิม

เมื่ออายุครบ 21 ปี ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทตามประเพณีที่วัดกิ่งแก้ว โดยมี หลวงปู่ทอง วัดราชโยธา (วัดราชบัวขาว) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์อิ่ม อินทสโร วัดกิ่งแก้ว เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายา “ปัญญาธโร”

ภายหลังอุปสมบท ได้อยู่จำพรรษาที่วัดกิ่งแก้ว ศึกษาภาษาไทยเพิ่มเติมจนมีความรู้แตก ฉาน จึงเริ่มศึกษาพระธรรมวินัย ศึกษาอักขระขอมและฝึกการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน โดยมีพระอาจารย์อิ่ม เจ้าอาวาสวัดกิ่งแก้ว เป็นผู้อบรมสั่งสอน

พ.ศ.2442 พระอาจารย์อิ่มมรณภาพ ที่ประชุมสงฆ์และชาวบ้านมีความเห็นพ้องกันให้หลวงปู่เผือก ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบแทน หลังจากรับตำแหน่งเจ้าอาวาสแล้ว หลวงปู่เผือก ได้บูรณะวัด โดยมีชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจพร้อมสละกำลังทรัพย์เป็นอย่างดี ได้มีการสร้างถาวรวัตถุขึ้น เช่น อุโบสถ ประดิษฐานพระ พุทธชินราชจำลอง วิหาร ศาลาการเปรียญ มณฑป โรงเรียนพระปริยัติธรรม และโรงเรียนประชาบาล

พ.ศ.2443 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลราชาเทวะ พ.ศ.2446 ได้รับแต่งตั้งเป็น พระสมุห์ฐานานุกรมของพระครูสุนทรสมุทร (จ้อย) เจ้าคณะจังหวัดสมุทรปราการ วัดกลางวรวิหาร และได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2480 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูกรุณาวิหารี”

พ.ศ.2487 ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสงฆ์ องค์การสาธารณูปการ ใน อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

หลวงปู่เผือก เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีความเข้มขลังทางด้านวิทยาคม สั่งสอนคณะศิษยานุศิษย์ ด้วยความเมตตา

พระเครื่องวัตถุมงคลของหลวงปู่เผือก ได้รับความนิยมอย่างมากหลายรุ่นหลายพิมพ์ อาทิ เหรียญรูปหล่อ พระกริ่ง พระเนื้อผง และที่นิยมกันมาก คือ พระผงหลวงปู่เผือก รุ่นขุดสระเล็กและใหญ่ สร้างปี 2460-2465, เหรียญสี่เหลี่ยมหลวงปู่เผือก สร้างปี 2481, พระพุทธชินราชหลวงปู่เผือก สร้างปี 2485-2486 เป็นต้น

วัตถุมงคลหลวงปู่เผือก เล่าขานกันปากต่อปากถึงพุทธคุณอันยอดเยี่ยม ครบถ้วนทั้งทางด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาดปลอดภัย คงกระพันชาตรี ชนะใจนักสะสมพระเครื่องวัตถุมงคล เหตุที่มีการกล่าวขวัญเรียกชื่อวัตถุมงคลว่ารุ่นขุดสระนั้น มีมูลเหตุการจัดสร้าง “วัดกิ่งแก้ว” ที่แต่เดิมเป็นที่ราบลุ่มแวดล้อมไปด้วยคูคลองที่มีสวนล้อมรอบ เวลาฝนตกจะมีน้ำขัง

ในขณะนั้นหลวงปู่เผือกมีความตั้งใจจะสร้างโบสถ์ พื้นที่ถูกขุดดินไปกลายเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ สามารถเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้ เพื่อเป็นอนุสรณ์และสินน้ำใจที่บรรดาศิษย์และชาวบ้านได้ช่วยลงแรงกายแรงใจกัน

หลวงปู่เผือก จึงได้สร้างพระเนื้อผง ขึ้นมาจำนวนหนึ่งเพื่อแจกเป็นที่ระลึก เรียกชื่อพระรุ่นนี้ว่า “พระรุ่นขุดสระ”

หลวงปู่เผือก มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2501 สิริอายุ 89 ปี พรรษา 69